ป.ป.ช.เปลือยปมบริจาคเงินให้ ร.ร.-ชี้ต้นตอแป๊ะเจี๊ยะเพราะความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา
ป.ป.ช. ชำแหละปัญหาระดมทุนบริจาคเงินให้โรงเรียน เผยต้นตอ ‘แป๊ะเจี๊ยะ’ เกิดขึ้นเพราะความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ชี้ที่ผ่านมาไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ ที่ต้องให้โดยไม่หวังผล แต่กลับเป็นช่องทางแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ระหว่างผู้มีอำนาจรับนักเรียน-ผู้ปกครอง ถือว่าไม่ถูกต้อง
จากกรณีคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ส่งมาตรการป้องกันการทุจริตในการเรียกรับทรัพย์สินหรือประโยชน์ตอบแทนเพื่อโอกาสในการเข้าเรียนในสถานศึกษา สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ที่เสนอแก่คณะรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบเมื่อวันที่ 5 ก.พ. 2562 ที่ผ่านมา โดยให้ยกเลิกระบบรับนักเรียนแบบพิเศษ และโควตาจากสมาคมผู้ปกครองและครู รวมถึงมีข้อเสนอแนะให้กระทรวงศึกษาธิการสุ่มตรวจสอบรายได้ของสถานศึกษา และตรวจสอบบัญชีรายยรับ-รายจ่ายสถานศึกษาช่วงรับสมัครนักเรียนนั้น (อ่านประกอบ : ต้องสุ่มตรวจ ร.ร.-เปิดบัญชีรับ-จ่าย! มาตรการ ป.ป.ช.ชง ก.ศึกษาฯแก้ปัญหา‘แป๊ะเจี๊ยะ’)
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้ศึกษาตอนหนึ่งถึงกรณีปัญหาเกี่ยวกับการระดมทรัพยากรและการบริจาคเงินให้สถานศึกษา โดยระบุว่า เมื่อครั้งคณะกรรมการ ป.ป.ช. ยังเป็นคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ (คณะกรรมการ ป.ป.ป.) ได้เคยมีข้อสังเกตและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับกรณีการบริจาคเงินหรือสิ่งของต่าง ๆ โดยกำหนดให้โรงเรียนหรือสมาคมงดรับการบริจาคเงินหรือสิ่งของต่าง ๆ ในช่วงระยะเวลาที่มีการคัดเลือก การรับมอบตัวนักเรียนเข้าเรียน และไม่อนุญาตให้ผู้ปกครองนักเรียนกรองเงินบริจาคไว้ล่วงหน้าก่อนที่จะมีการประกาศผลการสอบเข้าเรียน โดยหากจะมีการบริจาคเงินหรือสิ่งของต่าง ๆ เพื่อช่วยเหลือโรงเรียน ให้มีการดำเนินการภายหลังจากเวลาที่กล่าวมาแล้ว และการรับบริจาคจะต้องเป็นไปตามความสมัครใจ และเต็มใจ
อย่างไรก็ดีจากการศึกษาและรวบรวมข้อเท็จจริงในทางปฏิบัติ พบว่า การบริจาคเงินและทรัพย์สิน รวมทั้งการรับเงินหรือทรัพย์สินที่มีผู้บริจาคให้โรงเรียน กลับไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย ระเบียบ กฎเกณฑ์ ข้อกำหนด เนื่องจากการบริจาคเงินหรือสื่อของต่าง ๆ เป็นช่องทางให้เกิดการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ระหว่างโรงเรียนและผู้ปกครองของนักเรียนเพื่อให้ได้เข้าเรียน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานศึกษาที่มีการแข่งขันสูง ถือเป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้อง และเกิดความไม่โปร่งใสเป็นธรรมกับนักเรียนทุกคน
แม้ว่ากฎหมายจะกำหนดให้มีการแยกจากกันเด็ดขาดระหว่างการบริจาค และการรับเด็กเข้าเรียนเนื่องจากการรับผลประโยชน์เพื่อให้เด็กเข้าเรียนเป็นสิ่งที่รัฐทำไม่ได้ และการบริจาคหรือช่วยเหลือทางการศึกษาเป็นเรื่องที่รัฐควรส่งเสริม กล่าวคือ การรับประโยชน์เพื่อให้เด็กเข้าศึกษาในโรงเรียนไม่สามารถกระทำได้ แต่การสนับสนุนให้ภาคเอกชนสนับสนุนการศึกษาเป็นสิ่งที่กฎหมายกำหนดไว้ให้ช่วยบริจาคเพื่อสนับสนุนการศึกษา แต่ในทางปฏิบัติเป็นเรื่องที่ตรวจสอบและป้องกันได้ยาก เนื่องจากเป็นเรื่องของการสมยอมกันของทั้งสองฝ่าย คือผู้มีอำนาจในการรับเด็กเข้าเรียน และผู้ปกครองนักเรียนโดยมีผลประโยชน์ร่วมกัน อีกทั้งสถานศึกษาและผู้ปกครองต่างมีมุมมองต่อพฤติการณ์ในลักษณะดังกล่าวว่ามิใช่เรื่องผิด เพราะเงินบริจาคหรือสิ่งของดังกล่าวจะถูกนำไปใช้พัฒนาโรงเรียน ซึ่งท้ายที่สุดนักเรียนย่อมได้รับประโยชน์
นอกจากนี้กรณีการระดมทรัพยากรของโรงเรียนในกรณีการรับบริจาคและสิ่งของบริจาคนั้น แม้จะมีระเบียบกำหนดว่า ห้ามระดมทุนในช่วงที่มีการรับนักเรียน แต่พบว่า มีช่องทางคือโรงเรียน/ผู้มีอำนาจในการพิจารณาให้เด็กเข้าเรียน จะให้มีการบริจาคและดำเนินการออกใบเสร็จรับเงินภายหลังจากช่วงที่มีการรับนักเรียนในภายหลัง ซึ่งเงินดังกล่าวไม่อาจทราบได้ว่าเข้าเป็นรายรับ หรือเงินบริจาคของทางโรงเรียนจริงหรือไม่
พฤติการณ์ดังกล่าวส่อให้เห็นได้ว่า การระดมทรัพยากรในรูปแบบเงินบริจาค ระหว่างโรงเรียนกับผู้ปกครองบางราย มีเจตนาเป็นไปโดยมีเงื่อนไขผูกพันกับการเข้าเรียน ประกอบกับการบริจาคทรัพย์สินให้โรงเรียนนั้น นอกจากการบริจาคในรูปของเงินบริจาค ยังมีการบริจาคเป็นอสังหาริมทรัพย์ เช่น การบริจาคเครื่องปรับอากาศพร้อมติดตั้ง การบริจาคเป็นอาคารเรียน อาคารเอนกประสงค์ เสาธงชาติ เป็นต้น ทั้งนี้การบริหารจัดการทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดที่ได้รับจากการบริจาคของโรงเรียนควรต้องมีการควบคุมอย่างเคร่งครัด เนื่องจากการระดมทรัพยากร และการบริจาคเงินดังกล่าวอยู่ในความรับผิดชอบของแต่ละโรงเรียน และการบริจาคอาจมีผลต่อการตัดสินใจในการรับเด็กเข้าศึกษาในโรงเรียนด้วย
ป.ป.ช. ระบุอีกว่า แม้การเรียก รับ หรือยอมจะรับ ‘แป๊ะเจี๊ยะ’ จะเป็นความสมยอมกันระหว่าง พ่อ แม่ หรือผู้ปกครอง กับผู้มีอำนาจของโรงเรียน เพื่อให้บุตร หลานของตนได้เข้าเรียนในโรงเรียนที่มีชื่อเสียง ซึ่งมีผลมาจากผู้ปกครองมีความเชื่อว่าคุณภาพทางการศึกษาของแต่ละโรงเรียนมีความแตกต่างกัน จึงพยายามหาช่องทางเพื่อให้บุตร หลาน ได้เข้าเรียนในโรงเรียนที่มีคุณภาพดีกว่า ด้วยเหตุนี้จึงเป็นช่องว่างให้เจ้าพนักงานของรัฐ หรือบุคคลที่มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวข้องกับการรับนักเรียนเข้าเรียนในระดับต่าง ๆ มีโอกาสในการแสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบ ทั้งในรูปแบบของการเรียก รับ หรือยอมรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใด เพื่อแลกกับการที่บุตร หลานของตน จะได้รับสิทธิในการเข้าเรียน
อย่างไรก็ดีแม้พฤติการณ์ดังกล่าวจะเป็นลักษณะการสมประโยชน์ทั้งสองฝ่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้ประเด็นเรื่องการบริจาคเป็นช่องทางหรือเป็นเงื่อนไขสำหรับการรับเด็กเข้าเรียน เป็นไปเพื่อแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ หรือมีเงื่อนไขผูกพันที่จะให้ประโยชน์ต่อผู้ใดโดยเฉพาะนั้น พฤติการณ์ลักษณะดังกล่าวมิใช่ความหมายของการบริจาคที่แท้จริง และสุ่มเสี่ยงที่จะเป็นกรณีของ ‘สินบน’
สอดคล้องกับมติคณะกรรมการ ป.ป.ช. เมื่อปี 2550 เคยวินิจฉัยคดีว่า เงินบริจาค หมายถึง เงินที่ให้โดยไม่หวังผลตอบแทนใด ๆ แต่หากเป็นการให้เงินเพื่อตอบแทนการกระทำใด ๆ ไม่อาจถือเป็นเงินบริจาคได้ และเป็นความผิดฐานเจ้าพนักงานรับสินบน ผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149 และตามกฎหมาย ป.ป.ช. ดังนั้นควรมีการประชาสัมพันธ์สร้างความรู้ความเข้าใจให้กับผู้ปกครอง นักเรียน และประชาชนถึงความผิด และบทลงโทษด้วย
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/
อ่านประกอบ :
ชำแหละบทบาท ส.ผู้ปกครอง-ครู ตัวแปรสำคัญ? ต้นตอเปิดช่องจ่าย ‘แป๊ะเจี๊ยะ’
งบไม่เท่ากัน-ส.ผู้ปกครองมีอิทธิพลฝากเด็ก!เบื้องหลัง ป.ป.ช.ชง ครม.แก้ปม ‘แป๊ะเจี๊ยะ’