ต้องสุ่มตรวจ ร.ร.-เปิดบัญชีรับ-จ่าย! มาตรการ ป.ป.ช.ชง ก.ศึกษาฯแก้ปัญหา‘แป๊ะเจี๊ยะ’
ป.ป.ช. ชง ก.ศึกษาฯ แก้ปัญหา ร.ร.รับเงิน ‘แป๊ะเจี๊ยะ’ ยันควรบูรณาการร่วม สพฐ. หามาตรการที่เป็นรูปธรรม สร้างกลไกตรวจสอบระบบ ป้องปรามทุจริต เน้นสุ่มตรวจสถานศึกษาแข่งขันสูง จี้เปิดบัญชีรับ-จ่ายทุกแห่ง เพื่อความโปร่งใส ใครทำผิดให้ลงโทษหนัก พีอาร์ประชาชนให้รู้ว่าการบริจาคคือการให้สินบน ผิดกฎหมาย
จากกรณีคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ส่งมาตรการป้องกันการทุจริตในการเรียกรักทรัพย์สินหรือประโยชน์ตอบแทนเพื่อโอกาสในการเข้าเรียนในสถานศึกษา สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ที่เสนอแก่คณะรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรีเพิ่งมีมติรับทราบเมื่อวันที่ 5 ก.พ. 2562 ที่ผ่านมา มีสาระสำคัญคือ ให้ยกเลิกระบบรับนักเรียนแบบพิเศษของกระทรวงศึกษา รวมถึงยกเลิกระบบโควตานักเรียนจากสมาคมผู้ปกครองและครู สมาคมศิษย์เก่า และสมาคมที่เกี่ยวข้องกับสถานศึกษา เนื่องจากพบว่า เป็นกลไกสำคัญเปิดช่องให้มีการทุจริต เรียกรับผลประโยชน์หรือ ‘แป๊ะเจี๊ยะ’ นั้น (อ่านประกอบ : ชำแหละบทบาท ส.ผู้ปกครอง-ครู ตัวแปรสำคัญ? ต้นตอเปิดช่องจ่าย ‘แป๊ะเจี๊ยะ’, งบไม่เท่ากัน-ส.ผู้ปกครองมีอิทธิพลฝากเด็ก!เบื้องหลัง ป.ป.ช.ชง ครม.แก้ปม ‘แป๊ะเจี๊ยะ’)
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีข้อเสนอแนะไปถึงกระทรวงศึกษาธิการเพื่อให้แก้ไขปัญหาดังกล่าว ตอนหนึ่งว่า เห็นควรให้มีการดำเนินการร่วมกันระหว่างกระทรวงศึกษาธิการกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ในการพิจารณากำหนดแนวทางหรือมาตรการตรวจสอบภายใน เพื่อให้กลไกการตรวจสอบดำเนินการเกี่ยวกับการรับนักเรียนของโรงเรียนทั่วประเทศเป็นไปตามนโยบายและแนวปฏิบัติการรับนักเรียนโดยเคร่งครัด ให้มีการดำเนินการตรวจสอบขั้นตอนการรับนักเรียนทั้งก่อน ช่วงที่มีการรับ และหลังการรับนักเรียน และมอบหมายให้หน่วยงานด้านกำกับดูแลในระดับเขตพื้นที่การศึกษา และระดับจังหวัด ได้แก่ คณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด คณะกรรมการรับนักเรียนของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา หรือหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง บูรณาการทำงานร่วมกัน และทำงานเชิงรุก รวมถึงจัดทำแผนแก้ไขปัญหาการรับนักเรียน กำหนดมาตรการป้องกันและปราบปรามไม่ให้เกิดปัญหาเด็กฝาก และการรับเงินเพื่อแลกเปลี่ยนอย่างเป็นรูปธรรม เช่น การสุ่มตรวจสอบการรับนักเรียนของสถานศึกษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งสถานศึกษาที่มีการแข่งขันสูง เป็นต้น
นอกจากนี้เห็นควรให้มีการสุ่มตรวจสอบรายได้ของสถานศึกษาทั้งก่อน และหลังช่วงเวลารับนักเรียน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการตรวจสอบเงินบริจาคของสถานศึกษาที่มีอัตราแข่งขันสูงเป็นประจำทุกปี เพื่อสร้างกลไกการตรวจสอบ และป้องปรามปัญหาการบริจาคเงินหรือทรัพย์สินเพื่อแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ในการเข้าเรียน รวมทั้งกำหนดให้มีการเปิดเผยข้อมูลรายรับ-รายจ่ายของแต่ละสถานศึกษา ข้อมูลการรับเงิน หรือทรัพย์สินที่มีผู้บริจาคให้แก่สถานศึกษา และจัดทำฐานข้อมูลที่เกี่ยวข้อง เช่น ชื่อผู้บริจาค วัตถุประสงค์ของการบริจาค เผยแพร่บนเว็บไซต์ของโรงเรียนแต่ละแห่ง เพื่อให้สาธารณชนตรวจสอบได้ทุกขณะ
ทั้งนี้เห็นควรให้มีการดำเนินการลงโทษอย่างเคร่งครัด ในกรณีสถานศึกษาหรือผู้มีอำนาจของสถานศึกษาไม่ปฏิบัติตามระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการรับนักเรียนเข้าศึกษาต่อ เพื่อเป็นการป้องกันแก้ไขปัญหาการเรียกรับทรัพย์สินหรือประโยชน์ตอบแทนเพื่อโอกาสในการเข้าเรียนในสถานศึกษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเห็นควรให้มีการกำหนดมาตรการคุ้มครองผู้แจ้งเบาะแส หรือผู้ให้ข้อมูลการกระทำทุจริต ซึ่งเป็นผู้ปฏิบัติภายในหน่วยงาน เช่น ครู อาจารย์ หรือบุคลากรทางการศึกษา และบุคคลภายนอก
ขณะเดียวกันเห็นควรให้มีการดำเนินการประชาสัมพันธ์และสร้างความรู้ความเข้าใจผู้ปกครอง นักเรียน ประชาชน รวมทั้งเจ้าพนักงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง รับทราบถึงความผิดและบทลงโทษกรณีการเรียก รับ หรือยอมจะรับทรัพย์สินเพื่อโอกาสในการเข้าเรียน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีของเงินบริจาค ทั้งนี้การกระทำดังกล่าว ไม่อาจถือได้ว่าเป็นเงินบริจาค แต่ถือว่าเป็นเรื่องของสินบน ในฐานะผู้รับสินบน กับผู้ให้สินบน มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา และกฎหมาย ป.ป.ช.
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/