บทสรุป ป.ป.ช.ปิดประตูโกงระบายข้าวจีทูจี วางสารพัดกฎเหล็ก-ต้องโชว์สัญญาสาธารณะ
“…การชี้แจงของรัฐบาลช่วงปี 2554-2557 อ้างว่า สัญญาฉบับนี้ไม่สามารถเปิดเผยได้ เนื่องจากเป็นความลับ และเป็นไปเพื่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ กล่าวคือ การระบายข้าวจากสต็อกของรัฐบาลโดยวิธีการซื้อขายแบบจีทูจีได้ดำเนินการตามโครงการรับจำนำข้าวเปลือกของรัฐบาลที่ผ่านมา เป็นไปในลักษณะปกปิดข้อมูลข่าวสาร ส่อให้เห็นว่าเป็นการดำเนินการที่ไม่มีความโปร่งใส เป็นการปฏิบัติที่ขัดกับหลักการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี…”
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานแล้วว่า คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชงมาตรการป้องกันการทุจริตการดำเนินนโยบายเกี่ยวกับข้าว และการระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) ให้กับคณะรัฐมนตรีชุดปัจจุบันไปดำเนินการ โดยยกผลการศึกษา สำนวนการไต่สวนข้อเท็จจริง และคำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง คดีไม่ระงับยับยั้งความเสียหายในโครงการรับจำนำข้าว (มี น.ส.ยิ่งลักษณ์ เป็นจำเลย ปัจจุบันหลบหนี) และคดีระบายข้าวแบบจีทูจีโดยทุจริต (มีนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีต รมว.พาณิชย์ จำคุก 42 ปี นายภูมิ สาระผล อดีต รมช.พาณิชย์ จำคุก 36 ปี กับพวกเป็นจำเลย)
ผลการศึกษาโดยคณะอนุกรรมการฯ สรุปได้ว่า รัฐบาลไม่ควรดำเนินโครงการแทรกแซงสินค้าเกษตรกร โดยเฉพาะข้าวที่เป็นพืชเศรษฐกิจหลัก ขณะเดียวกันการระบายข้าวแบบจีทูจีที่ผ่านมา มีช่องโหว่ 3 ประการ ได้แก่ การส่งมอบสินค้าที่ใช้วิธีส่งมอบหน้าคลัง (Ex Warehouse) เปิดช่องให้มีการนำข้าวเวียนขายในประเทศ การไม่เช็ครัฐวิสาหกิจคู่สัญญาว่าได้รับมอบอำนาจจากรัฐบาลต่างประเทศจริงหรือไม่ และการชำระเงินในรูปแบบแคชเชียร์เช็คซึ่งส่งผลให้กระบวนการทุจริตสมบูรณ์ (อ่านประกอบ : 3 จุดตายทุจริตจีทูจียุค‘ปู’! เบื้องลึกเหตุผลทำไม ป.ป.ช.ชง รบ.แก้ปัญหานโยบายข้าว)
ในช่วงท้ายของผลการศึกษาดังกล่าว คณะอนุกรรมการฯ สรุปปัญหาทั้งหมด ล้วนเกิดจากการที่รัฐไม่เปิดเผยสัญญาต่อสาธารณชนทราบเพื่อช่วยกันตรวจสอบ ?
อย่างไร สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org สรุปสาระสำคัญ ดังนี้
‘ความโปร่งใส’ เป็นประเด็นหนึ่งที่ถูกหยิบยกขึ้นมาอย่างสม่ำเสมอว่า การบริหารงานภาครัฐต้องเป็นไปเพื่อความโปร่งใส ตรวจสอบได้ การทำสัญญาการค้าระหว่างประเทศแบบจีทูจี เป็นการดำเนินงานภาครัฐอย่างหนึ่ง จำเป็นต้องพิจารณาเสียก่อนว่า สัญญาการค้าระหว่างประเทศแบบจีทูจีต้องเปิดเผยหรือไม่
จากการชี้แจงของรัฐบาลช่วงปี 2554-2557 อ้างว่า สัญญาฉบับนี้ไม่สามารถเปิดเผยได้ เนื่องจากเป็นความลับ และเป็นไปเพื่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ กล่าวคือ การระบายข้าวจากสต็อกของรัฐบาลโดยวิธีการซื้อขายแบบจีทูจีได้ดำเนินการตามโครงการรับจำนำข้าวเปลือกของรัฐบาลที่ผ่านมา เป็นไปในลักษณะปกปิดข้อมูลข่าวสาร ส่อให้เห็นว่าเป็นการดำเนินการที่ไม่มีความโปร่งใส เป็นการปฏิบัติที่ขัดกับหลักการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี เช่น กรณีการระบายข้าวที่ได้จากการดำเนินโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2554/55 และข้าวเปลือกนาปรัง ปี 2555 ที่กระทรวงพาณิชย์รายงานให้คณะรัฐมนตรีทราบว่า ขายข้าวแบบจีทูจี 6 สัญญา จำนวน 7.328 ล้านตัน
ต่อมากรมการค้าต่างประเทศ เผยแพร่ข้อมูลข่าวสารให้สาธารณชนได้ทราบทำนองว่า การขายข้าวแบบจีทูจีเป็นการดำเนินการตามกรณีที่รัฐบาลไทยจัดทำบันทึกความเข้าใจ (MOU) และบันทึกความตกลง (MOA) กับรัฐบาลประเทศผู้ซื้อ เช่น อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ บังกลาเทศ และอยู่ระหว่างการเจรจาการจัดทำบันทึกความเข้าใจกับประเทศโกตดิวัวร์ โดยมีกรอบปริมาณขายข้าว MOU และ MOA ประมาณ 8 ล้านตัน การเจรจาซื้อขายข้าวแบบจีทูจีไม่สามารถเปิดเผยต่อสาธารณชนได้ เพราะการเจรจาซื้อขายแบบจีทูจี ต้องอาศัยความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเป็นหลัก โดยเฉพาะประเทศผู้ซื้อที่ไม่ต้องการให้เปิดเผยข้อมูล เนื่องจากเป็นเรื่องที่มีความอ่อนไหวสูง เป็นข้อมูลด้านความมั่นคงทางอาหารของประเทศผู้ซื้อ
การอ้างว่าทำสัญญาหรือการตกลงขายข้าวแบบจีทูจี เป็นเรื่องที่ไม่สามารถเปิดเผยให้สาธารณชนทราบได้ เพราะเหตุต่าง ๆ ดังกล่าว น่าจะเป็นการกล่าวอ้างที่ไม่สอดคล้องกับแนวทางที่กรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เคยปฏิบัติ และได้ปฏิบัติในเวลาต่อมา ดังเช่นการระบายข้าวแบบจีทูจี กรณีต่อไปนี้
1.กรณีการรตกลงซื้อขายข้าวภายใต้กรอบการเจรจาระหว่างหน่วยงานราชการไทยกับรัฐบาลต่างประเทศ เช่น การขายข้าวให้โกตติวัวร์ มีการตกลงซื้อขายข้าวแบบจีทูจีกับไทยในเดือน มิ.ย. 2555 ปริมาณ 2.4 แสนตัน โดยมีข้อเท็จจริงในการดำเนินการตามกรณีนี้ว่า ระหว่างวันที่ 26 มิ.ย.-2 ก.ค. 2555 อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศและผ็แทนการค้าไทยเดินทางไปเยือนประเทศโกตติวัวร์ เพื่อเจรจาซื้อขายข้าวแบบจีทูจี พบปะกับ รมว.พาณิชย์ โกตติวัวร์ และลงนามในสัญญาซื้อขายดังกล่าวคิดเป็นมูลค่า 145 ล้านเหรียญสหรัฐอเมริกา หรือราว 4,350 ล้านบาท
2.กรณีการขายข้าวให้รัฐบาลประเทศจีน เมื่อปี 2557 กรมกาค้าต่างประเทศมีหนังสือเชิญให้ผู้ประกอบการเสนอราคาปรับปรุงข้าวสาร เพื่อส่งมอบให้ COFCO ในเงื่อนไข FOB โดยกรมการค้าต่างประเทศทำสัญญาซื้อขายข้าวกับ COFCO หน่วยงานรัฐวิสาหกิจประเทศจีนที่ได้รับมอบอำนาจจากรัฐบาลจีนจริง มีกำหนดส่งมอบข้าวเป็นรายงวด โดยเป็นข้าวจากโครงการรับจำนำปีการผลิต 2556/2557
ดังนั้น เพื่อให้เกิดความโปร่งใสในการดำเนินงานภาครัฐ เห็นควรให้กรมการค้าต่างประเทศ ในฐานะผู้มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการพิจารณาลงนามในสัญญาเปิดเผยการค้าระหว่างประเทศแบบจีทูจีทั้งฉบับ แต่หากกรมการค้าต่างประเทศไม่สามารถเปิดเผยสัญญาทั้งฉบับได้ ก็ควรเปิดเผยข้อมูลบางส่วนของสัญญา เช่น ปริมาณข้าว ชนิดของข้าว ราคาข้าว วิธีการส่งมอบเงิน และการชำระเงิน เป็นต้น
เพื่อสร้างความโปร่งใสและตรวจสอบได้ให้กับการระบายข้าวจีทูจี เป็นการค้าของรัฐบาลไม่ว่าจะกำไรหรือขาดทุน ย่อมส่งผลต่อภาษีของประชาชน และเห็นควรให้กรมการค้าต่างประเทศจัดทำคู่มือเผยแพร่ให้ประชาชนได้รับทราบสิทธิในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารดังกล่าว เพื่อให้ร่วมกันตรวจสอบการบริหารงานของรัฐ
สำหรับขั้นตอนการระบายข้าวจีทูจีนั้น คณะอนุกรรมการฯ สรุปว่า การแก้ไขข้อตกลงและเงื่อนไขของสัญญาระบายข้าวแบบจีทูจีเป็นหนึ่งในองค์ประกอบที่ถูกนำมาใช้ในกระบวนการทุจริต ในส่วนนี้จึงมุ่งเน้นแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับ สัญญาระบายข้าวแบบจีทูจี โดยควรจัดระบบและวางหลักเกณฑ์ของการทำสัญญา ดังนี้
1.ควรกำหนดให้มีสัญญามาตรฐาน (Standard Contract) พร้อมทั้งกำหนดให้มีระเบียบ หลักเกณฑ์ หรือคู่มือที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติตามสัญญา และเห็นควรกำหนดเงื่อนไขในการแก้ไขสัญญา โดยให้นำพฤติการณ์ทุจริตที่เกิดขึ้นมาประกอบการพิจารณา ไม่ว่าจะเป็น คู่สัญญารัฐ ควรทำสัญญากับรัฐบาลหรือตัวแทนของรัฐอย่างแท้จริง วิธีการส่งมอบข้าวไม่ควรส่งมอบด้วยวิธี Ex Warehouse วิธีการชำระเงินควรชำระแบบ L/C ราคาข้าวไม่ควรกำหนดราคามิตรภาพหรือราคาที่ต่ำกว่าตลาด
2.ควรจัดประเภทของข้อตกลงและเงื่อนไขของสัญญาการค้าระหว่างประเทศแบบจีทูจี เช่น ข้อตกลงและเงื่อนไขใดสามารถแก้ไขได้โดยไม่ต้องขออนุมัติ หรือข้อตกลงและเงื่อนไขใดแก้ไขได้แต่ต้องขออนุมัติก่อน หรือข้อตกลงและเงื่อนไขใดไม่สามารถแก้ไขได้เลย เป็นต้น
3.หากพิจารณาแล้ว เป็นไปตามข้อ 2. ควรกำหนดให้มีกฎ ระเบียบ หรือหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการขออนุญาตจากผู้มีอำนาจ รวมทั้งกำหนดให้มีเหตุผลประกอบในการเปลี่ยนแปลงข้อตกลงและเงื่อนไขในสัญญาด้วยว่ามีความจำเป็นอย่างไร จึงต้องการแก้ไขเปลี่ยนแปลงสัญญา
4.ควรกำหนดขั้นตอนการลงนามสัญญาการค้าระหว่างประเทศแบบจีทูจีว่า มีความจำเป็น หรือควรผ่านการตรวจร่างสัญญาจากสำนักงานอัยการสูงสุด (อสส.) หรือไม่ พร้อมกับการจัดทำคู่การปฏิบัติงาน (Guideline)
นี่คือบทสรุปทั้งหมดจากผลการศึกษาของ ป.ป.ช. ด้วยความหวังว่าจะ ‘ปิดประตู’ การทุจริตในนโยบายของรัฐที่เกี่ยวกับข้าว และการระบายข้าวจีทูจี ไม่ให้ ‘ซ้ำรอย’ กับรัฐบาลที่ผ่านมาในอดีต
ท้ายที่สุดจะทำได้จริงหรือไม่ คงต้องติดตามผลงานกันในรัฐบาลชุดต่อไป!
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/
อ่านประกอบ :
ป.ป.ช.จี้รัฐทำระเบียบขายข้าวจีทูจีให้ชัด-ไม่ควรให้นักการเมืองเป็น ปธ.อนุฯ
ห้ามชำระเป็นแคชเชียร์เช็ค-งดขายราคามิตรภาพ!โชว์บทสรุป ป.ป.ช.ป้องโกงข้าวจีทูจี
3 จุดตายทุจริตจีทูจียุค‘ปู’! เบื้องลึกเหตุผลทำไม ป.ป.ช.ชง รบ.แก้ปัญหานโยบายข้าว
รบ.ไม่ควรแทรกแซงสินค้าเกษตร! เบื้องหลัง ป.ป.ช.ออกมาตรการป้องโกงนโยบายข้าว
ยกสารพัดเรื่องฉาวยุค‘ปู’-เบื้องหลังมาตรการ ป.ป.ช.ชง รบ.ล้อมคอกทุจริตนโยบายข้าว
ขยายผลจาก‘บุญทรง’!มติทางการ ป.ป.ช. ไต่สวน‘ทักษิณ-ยิ่งลักษณ์-เจ๊แดง’ คดีข้าว-มันจีทูจี