รบ.ไม่ควรแทรกแซงสินค้าเกษตร! เบื้องหลัง ป.ป.ช.ออกมาตรการป้องโกงนโยบายข้าว
โชว์เหตุผลเบื้องหลังมาตรการ ป.ป.ช.ชง รบ.บิ๊กตู่ ยันไม่ควรแทรกแซงสินค้าเกษตร แต่ต้องมีมาตรการช่วยเหลือ ยกกรณีแทรกแซงสินค้าขนสัตว์ออสเตรเลีย เจอทุจริต-บิดเบือนกลไกตลาด ชี้จำนำข้าวที่ผ่านมา แอบแฝงเจตนาทุจริต กักตุนข้าวเพื่อผลประโยชน์ในการโกงข้าวจีทูจี
จากกรณีคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เสนอมาตรการเพื่อป้องกันการทุจริตเกี่ยวกับการจัดทำนโยบายเรื่องข้าว และการระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) โดยยกกรณีตัวอย่างสมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่ออกนโยบายรับจำนำข้าว และระบายข้าวแบบจีทูจีโดยทุจริตนั้น (อ่านประกอบ : 3 จุดตายทุจริตจีทูจียุค‘ปู’! เบื้องลึกเหตุผลทำไม ป.ป.ช.ชง รบ.แก้ปัญหานโยบายข้าว, ยกสารพัดเรื่องฉาวยุค‘ปู’-เบื้องหลังมาตรการ ป.ป.ช.ชง รบ.ล้อมคอกทุจริตนโยบายข้าว)
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า คณะอนุกรรมการฯ ที่เสนอมาตรการป้องกันการทุจริตดังกล่าว ศึกษาระบบการแทรกแซงตลาดสินค้าเกษตรของรัฐบาลแล้ว เห็นว่า การทุจริตจากโครงการรับจำนำข้าวและการระบายข้าวแบบจีทูจี เป็นการแสวงหาผลประโยชน์จากข้าว ซึ่งเป็นสินค้าเกษตรหลักของประเทศไทย โดยรัฐบาลเข้าแทรกแซงตลาดจากการรับจำนำข้าวเพื่ออ้างว่าจะได้สร้างเสถียรภาพทางด้านราคา แต่แท้จริงแล้วพฤติการณ์ดังกล่าว แอบแฝงไว้ด้วยเจตนาทุจริต กักตุนข้าวของรัฐบาลไว้ในสต็อกจำนวนมาก เพื่อที่จะแสดงบทบาทเป็นผู้ส่งออกข้าวเสียเอง หวังต้องการสร้างอำนาจต่อรองในตลาดโลก
การทุจริตที่เกิดขึ้นในชั้นการระบายข้าว หรือขายข้าวจากสต็อกของรัฐบาล มีผลต่อเนื่องมาจากการดำเนินนโยบายโครงการรับจำนำหรือรับซื้อข้าวเปลือกของรัฐบาล เป็นขั้นตอนการทุจริตที่สำคัญ และมีวิธีการทุจริตซับซ้อนหลายขั้นตอนสอดประสานกันทั้งระบบ ดังนั้นเพื่อให้การแก้ไขปัญหาดังกล่าวเป็นไปอย่างครอบคลุมรอบด้าน
เมื่อกล่าวถึงนโยบายโครงการรับจำนำข้าวในช่วงปี 2554-2557 พบว่า รัฐบาลแถลงนโยบายต่อรัฐสภา เรื่องยกระดับสินค้าเกษตรและให้เกษตรกรเข้าถึงแหล่งเงินทุน เริ่มต้นจากการรับจำนำข้าวเปลือกเจ้าและข้าวเปลือกหอมมะลิ ความชื้นไม่เกินร้อยละ 15 ที่ราคาเกวียนละ 15,000 บาท และ 20,000 บาท ตามลำดับ นโยบายดังกล่าว เป็นไปเพื่อการแทรกแซงตลาดสินค้าเกษตรกรโดยการประกันราคาข้าว และเป็นการสร้างอำนาจผูกขาดโดยรัฐ หรืออำนาจเหนือตลาด
คณะอนุกรรมการฯ เห็นว่า การแทรกแซงตลาดสินค้าเกษตร โดยหลักการแล้ว รัฐบาลไม่ควรแทรกแซง เนื่องจากข้าวเป็นสินค้าเกษตรที่กลไกตลาดสามารถทำงานได้ดีอยู่แล้ว แต่ก็ยังคงมีสาเหตุบางประการที่รัฐบาลไม่ควรเข้าไปแทรกแซงกลไกตลาด เช่น กรณีปริมาณข้าวที่ผลิตได้ในประเทศมีจำนวนมาก ส่งผลให้อุปทานข้าวเพิ่มมากขึ้น และราคาข้าวลดลง รัฐบาลจึงจำเป็นต้องดูดซับอุปทานดังกล่าวโดยการแทรกแซงตลาด ไม่ว่าจะเป็นการรับจำนำหรือการรับซื้อข้าว เมื่ออุปทานข้าวลดลงจะทำให้เกิดดุลยภาพระหว่างอุปสงค์และอุปทาน ส่งผลให้ราคาข้าวสูงขึ้น เกษตรกรก็สามารถขายข้าวได้ราคาดีขึ้น เป็นต้น
การแทรกแซงตลาดสินค้าเกษตรของรัฐบาลเป็นมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรจากภาครัฐรูปแบบหนึ่ง เกิดขึ้นในหลายประเทศ เพื่อทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของเกษตรกรดีขึ้นเมื่อสามารถขายสินค้าได้ราคาสูง ดังเคยเกิดขึ้นในประเทศออสเตรเลีย เรื่อง การแทรกแซงตลาดอุตสาหกรรมขนสัตว์เพื่อช่วยเหลือเกษตรกร รัฐบาลกลางออสเตรเลียรับซื้ออุปทานของสินค้าเกษตร (ขนสัตว์) ไว้ เพื่อจะเก็บรักษาและปล่อยสู่ตลาด ลดความผันผวนด้านราคา ผ่านโครงการรักษาเสถียรภาพด้านราคา แต่สุดท้ายล้มเหลวเพราะเกิดจากการทุจริตและการบิดเบือนกลไกตลาดจาภาครัฐ ทั้งนี้การแทรกแซงสินค้าเกษตรของรัฐบาล ปัจจุบันลักษณะการกระทำดังกล่าวอาจเป็นการกระทำผิดข้อตกลงกับพันธะสัญญาขององค์การการค้าโลก (WTO) ที่กำหนดไม่ให้มีการอุดหนุนสินค้าเกษตรภายในประเทศ และการอุดหนุนส่งออก
คณะอนุกรรมการฯ เห็นว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นจากการแทรกแซงตลาดสินค้าเกษตร ทั้งไทยและหลายประเทศทั่วโลก แสดงให้เห็นว่า รัฐบาลไม่ควรแทรกแซงสินค้าเกษตร แต่ควรมีมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร ประกอบเกษตรกรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญปี 2560 แนวนโยบายแห่งรัฐ มาตรา 73 ดังนั้นข้อเสนอแนะด้านนโยบาย จึงมุ่งเน้นไปยังการกำหนดนโยบายของรัฐบาล หรือคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข. ตั้งขึ้นสมัยรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา) ดังนี้
1.รัฐฐาลต้องมีนโยบายที่ชัดเจนที่มุ่งเน้นช่วยเหลือเกษตรกร โดยจัดให้มีมาตรการหรือกลไกที่จะช่วยให้เกษตรกรประกอบเกษตรกรรมอย่างมีประสิทธิภาพ ได้ผลผลิตที่มีปริมาณและคุณภาพสูง สามารถดำเนินการช่วยเหลือสินค้าเกษตรให้มีราคาสูงขึ้น โดยใช้กลไกของการเพิ่มตลาดและลดต้นทุนการผลิต
2.สำหรับการระบายข้าวแบบจีทูจี ให้คณะอนุกรรมการพิจารณาระบายข้าว ภายใต้คณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) ดำเนินการเท่าที่จำเป็น ยึดหลักประสิทธิภาพ ประสิทธิผล และกลุ่มเป้าหมายให้ชัดเจน โดยคำนึงถึงต้นทุน และผลประโยชน์ของนโยบายดังกล่าว โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาระทางการคลัง
3.คณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว ควรกำหนดกรอบนโยบาย และเป้าหมายของการบริหารจัดการเรื่องข้าวในแต่ละปีอย่างเหมาะสม
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/
อ่านประกอบ : ขยายผลจาก‘บุญทรง’!มติทางการ ป.ป.ช. ไต่สวน‘ทักษิณ-ยิ่งลักษณ์-เจ๊แดง’ คดีข้าว-มันจีทูจี
หมายเหตุ : ภาพประกอบจาก ไทยรัฐออนไลน์