เปิด 10 ข้อสังเกต กมธ.วิสามัญฯ ต่อร่างกฎหมายที่ดินและสิ่งปลูกสร้างฯ
ปัจจุบัน ประเทศไทยมีที่ดินจำนวนหนึ่ง ซึ่งยังไม่มีการประเมินราคาที่ดิน โดยกระจายอยู่ทั่วประเทศ กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น ควรประสานงานให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกแห่ง เตรียมความพร้อม โดยการสำรวจจำนวนที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ยังไม่มีราคาประเมินให้แล้วเสร็จก่อนร่างพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ.... มีผลบังคับใช้
ถึงโค้งสุดท้ายแล้วสำหรับร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. ..... ที่ค้างในรัฐบาลคสช.มานาน ล่าสุดได้ถูกบรรจุเป็นวาระพิจารณาเร่งด่วนในที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) วันที่ 15 พฤศจิกายนนี้ ซึ่งในรายงานของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. .... จำนวน 109 หน้า
ในรายงานเล่มนี้ มีการระบุ คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติฯ ได้ปรับปรุงสาระสำคัญของกฎหมายฉบับนี้ เช่น
1.อัตราภาษี ได้ปรับลดเพดานอัตราภาษีลงประมาณ 40% รวมทั้งกำหนดให้มีอัตราภาษีเพื่อจัดเก็บภาษีใน 2 ปีแรก ส่วนปีที่ 3 เป็นต้นไป ให้เป็นไปตามร่างกฎหมายที่เสนอ โดยรัฐบาลเป็นผู้ออกพระราชกฤษฎีกากำหนดอัตราภาษีที่จัดเก็บจริง
2.การลดหย่อนภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ใช้ประโยชน์ในการประกอบเกษตรและที่อยู่อาศัย โดยกำหนดให้เจ้าของที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาได้รับยกเว้นมูลค่าของฐานภาษีทั้งหมดของที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างในการคำนวณภาษีในเขต อปท.เดียวกันไม่เกิน 50 ล้านบาท และลดหย่อนภาษีให้กับประชาชนที่มีที่อยู่อาศัยหลังหลัก (มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎรในวันที่ 1 มกราคมของปีภาษีนั้น) โดยให้เจ้าของบ้านและที่ดินได้รับยกเว้นไม่เกิน 50 ล้านบาท และกรณีเป็นเจ้าของเฉพาะที่ดินได้รับยกเว้นไม่เกิน 10 ล้านบาท
3. เพิ่มเติมบทเฉพาะกาลเพื่อบรรเทาภาระภาษีให้กับผู้เสียภาษีมีภาระภาษีเพิ่มขึ้นใน 3 ปีแรก
4.เพิ่มเติมกระบวนการออกข้อบัญญัติของอปท.ในกรณีการจัดเก็บภาษีในอัตราที่สูงกว่าอัตราที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา โดยอปท.ต้องเสนอให้คณะกรรมการภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างประจำจังหวัดและสภาท้องถิ่นอนุมัติก่อน
5. ปรับปรุงบทลงโทษ มีการปรับลดโทษทางแพ่ง และปรับปรุงโทษอาญาโดยกำหนดให้มีโทษจำคุกเฉพาะในกรณีการกระทำผิดต่อพนักงานเจ้าหน้าที่และการแจ้งความเท็จโดยมีเจตนาเพื่อหลีกเลี่ยงภาษี
6.กำหนดทรัพย์สินที่ได้รับการยกเว้นภาษีตามมาตรา 8 เพิ่มเติม ได้แก่ ที่ดินอันเป็นพื้นที่สาธารณูปโภคตามกฎหมายว่าด้วยการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
ขณะเดียวกัน คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. ....ยังได้มีข้อสังเกตเสนอต่อที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณา นอกจากเหนือจากตัวบทกฎหมาย ไว้อย่างน่าสนใจ ดังนี้
1.ในการพิจารณาประเมินภาษีและการวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการชุดต่างๆ ตามร่างพระราชบัญญัตินี้ ควรมีผู้เกี่ยวข้องด้านการเกษตรเข้าไปมีส่วนร่วมในการให้ข้อมูลเพื่อประกอบการพิจารณาและการวินิจฉัยอุทธรณ์ด้วย เพราะการประกอบอาชีพด้านเกษตรกรรมมีอยู่หลายประเภท ตลอดจนจะต้องคำนึงถึงนโยบายรัฐด้านการเกษตรกรรม รวมถึงสถานะของผู้ประกอบเกษตรกรรมที่ต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นลักษณะของเกษตรกรรายย่อยบุคคล หรือรายกลุ่มที่รวมตัวกันประกอบอาชีพตามกฎหมาย
2.ในด้านการจัดทำหลักเกณฑ์สำหรับที่ดินหรือสิ่งปลูกส้รางที่ใช้ประโยชน์ในการประกอบเกษตรกรรม ตามมาตรา 34 วรรคสอง ควรให้มีความชัดเจนและเป็นธรรมกับผู้เสียภาษีในภาคเกษตรกรรม
3.ที่ดินที่ไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้อันเนื่องมาจากข้อจำกัดในทางกฎหมาย เช่น ที่ดินในพื้นที่ ซึ่งมีกฎหมายห้ามไม่ให้มีการก่อสร้างอาหารเพื่อความปลอดภัยในการบิน ที่ดินที่มีข้อจำกัดทางผังเมือง หรือที่ดินที่ไม่สามารถใช้ประโยชน์อันเนื่องมาจากลักษณะทางกายภาพ เช่นที่ดินที่ไม่มีทางออกสาธารณะ ที่ดินที่ไม่มีสาธารณูปโภคเข้าถึงพื้นที่ได้ หรือที่ดินที่ไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้อันเนื่องมาจากปัญหาด้านความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน อาจจัดให้มีการบรรเทาภาระภาษีตามความเหมาะสม
4.สมควรให้มีการจัดทำฐานข้อมูลการถือครองที่ดินของผู้เสียภาษีในระบบอิเล็กทรอนิกส์ และเชื่อมโยงข้อมูลดังกล่าวให้ครบถ้วนทั่วประเทศโดยเร็ว
5.สมควรให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการจัดส่งข้อมูลและการใช้ข้อมูลเกี่ยวกับรูปแปลงที่ดินและเอกสารสิทธิของที่ดินและสิ่งปลูกสร้างของผู้เสียภาษี ใช้ความระมัดระวังไม่ให้มีการเปิดเผยหรือเผยแพร่ข้อมูล หรือทำให้ข้อมูลดังกล่าวรั่วไหว รวมทั้งต้องจัดให้มีระบบการป้องกันข้อมูลส่วนบุคคลของผู้เสียภาษีด้วย
6.หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างควรที่จะทำการประชาสัมพันธ์เพื่อให้ผู้เสียภาษีเข้าใจในบทนิยาม ของคำว่า สิ่งปลูกสร้างว่า หมายความรวมถึง โรงเรือน อาคาร ตึก ห้องชุด แพ หรือสิ่งปลูกสร้างที่บุคคลอาจเข้าอยู่อาศัยหรือใช้สอยได้ หรือที่ใช้เป็นที่เก็บสินค้า หรือประกอบการอุตสาหกรรมหรือพาณิชยกรรม แต่ไม่หมายรวมถึง เครื่องจักร หรือส่วนควบที่มีลักษณะเป็นเครื่องจักรกลไกหรือเครื่องผลิตสินค้า หรือโครงสร้างและส่วนประกอบของเครื่องผลิตสินค้า
7.ในโอกาสต่อไปสมควรที่จะให้มีการจัดทำร่างกฎหมายอีกฉบับที่เกี่ยวกับการถือครองที่ดิน เพื่อให้มีการกระจายการถือครองที่ดินที่เหมาะสม
8.สมควรให้มีการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายให้แก่กรมที่ดินในการดำเนินการจัดทำ และส่งข้อมูลรูปแปลงที่ดินและข้อมูลเอกสารสิทธิของที่ดินและสิ่งปลูกสร้างให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
9.เนื่องจากปัจจุบัน ประเทศไทยมีที่ดินจำนวนหนึ่ง ซึ่งยังไม่มีการประเมินราคาที่ดิน โดยกระจายอยู่ทั่วประเทศ ดังนั้น กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น ควรประสานงานให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกแห่ง เตรียมความพร้อม โดยการสำรวจจำนวนที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ยังไม่มีราคาประเมินให้แล้วเสร็จก่อนร่างพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ.... มีผลบังคับใช้
10.ก่อนที่อัตราภาษีจะใช้จัดเก็บในช่วง 2 ปีแรกจะสิ้นสุดการบังคับ ให้มีการกำหนดอัตราภาษีที่จะจัดเก็บตามพระราชกฤษฎีกาเป็นการล่วงหน้า เพื่อให้ภาคธุรกิจได้รับรู้ข้อมูลเกี่ยวกับอัตราภาษีที่จะใช้จัดเก็บจริงล่วงหน้าและสามารถใช้วางแผนการลงทุนได้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
นักเศรษฐศาสตร์ มธ.ให้คะแนน 6 เต็ม 10 ร่างกม.ภาษีที่ดินฯ เข้าสู่การพิจารณาสนช.15 พ.ย.นี้
ก่อนเข้า สนช. วาระ 2-3 'สกนธ์ วรัญญูวัฒนา'วิพากษ์ กม.ภาษีที่ดินคนรวยได้ประโยชน์
นักวิชาการห่วงอัตราภาษีที่ดินต่ำ ทำท้องถิ่นเก็บเงินได้น้อย-เป็นภาระรัฐบาล
กลุ่มแลนด์ วอชท์ มองคลังปรับเพดานภาษีที่ดินใหม่ ไม่ช่วยลดความเหลื่อมล้ำตามเป้าหมาย