ฝรั่งเศส ห้ามเด็กใช้โทรศัพท์มือถือในโรงเรียน : บทเรียนถึงประเทศไทย
การใช้กฎหมายห้ามเด็กใช้โทรศัพท์มือถือในโรงเรียนจึงเป็นที่เข้าใจได้ว่า คนฝรั่งเศสมองเห็นปัญหาความเปราะบางของเด็กที่ถูกเชื่อมต่อกับโลกด้วยเทคโนโลยี จึงพยายามสร้างภูมิคุ้มกันและปกป้องเด็กจากการถูกแรงกดดันของสังคมดิจิทัล
คงไม่มีใครปฏิเสธว่าเทคโนโลยีมีประโยชน์ต่อมนุษย์และมนุษย์จำเป็นต้องพึ่งพาเทคโนโลยีตั้งแต่เกิดจนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต แต่เรามักไม่ให้ความสำคัญกับภัยที่แฝงมากับเทคโนโลยี เพราะผลกำไรและความสะดวกสบายที่เทคโนโลยีมอบให้มักบดบังตาจนเราลืมไปว่า เทคโนโลยีมีสองด้านเสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเทคโนโลยีประเภท Gadget และ Application ต่างๆ นั้น ถูกออกแบบมาเพื่อการเสพติดตั้งแต่ต้น
ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจที่นักเทคโนโลยีคนดังๆของโลกตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เช่น สตีฟ จ็อบส์ คริส แอนเดอสัน อีแวน วิลเลียม รวมถึง ทิมคุก ฯลฯ ต่างจำกัดการใช้อุปกรณ์ Gadget แก่ลูกหลานของตัวเองทั้งสิ้น เพราะบุคคลเหล่านี้รู้ถึงภัยจากเทคโนโลยีมาตั้งแต่แรก ในขณะที่คนทั้งโลกแทบไม่รู้ถึงภัยเงียบเหล่านี้มากนัก ยังคงปล่อยลูกหลานให้เพลิดเพลินต่อเทคโนโลยีที่ออกแบบมาเพื่อล่อตาล่อใจจนนำไปสู่การเสพติดทางพฤติกรรมและส่งผลทางลบอื่นๆในที่สุด
ประโยคที่คนทั่วไปพูดกันว่า ”โทรศัพท์มือถือคือบุหรี่ชนิดใหม่” จึงเป็นคำพูดที่ไม่เกินความจริง
การที่ประเทศฝรั่งเศสออกกฎหมายห้ามเด็กนักเรียนใช้โทรศัพท์มือถือในโรงเรียนจึงสะท้อนถึงด้านลบของเทคโนโลยีที่พิสูจน์ว่า เทคโนโลยีนั้น ถ้าใช้มากเกินไปจะส่งผลกระทบต่อสังคมอย่างหลีกเลี่ยงไม่พ้น โดยเฉพาะเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 15 ปี เป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงจากภัยของเทคโนโลยีประเภทโทรศัพท์มือถือและแท็บเล็ตอย่างยิ่ง
นอกจากประเทศฝรั่งเศสแล้ว ในช่วงเวลาเดียวกันโรงเรียนแห่งหนึ่งใน ประเทศ สปป.ลาว ซึ่งมีความใกล้ชิดกับฝรั่งเศสในหลายๆด้าน เริ่มมีการห้ามเด็กนักเรียน ใช้โทรศัพท์มือถือในโรงเรียนแล้วเช่นเดียวกัน
ประเทศฝรั่งเศสเล็งเห็นปัญหาการใช้โทรศัพท์ของเด็กมาอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่การบังคับใช้กฎหมายห้ามใช้สมาร์ทโฟนในระหว่างการเรียนการสอนตั้งแต่ปี 2010 เป็นต้นมา และด้วยนโยบายของประธานาธิบดีฝรั่งเศสคนปัจจุบัน ทำให้ประเทศฝรั่งเศสต้องออกกฎหมายห้ามใช้โทรศัพท์มือถือในโรงเรียนที่เรียกกันว่า “Detox law” เพิ่มเติม เพราะเท่าที่ผ่านมา พบว่า เด็กนักเรียนมีพฤติกรรมเปลี่ยนไป โดยนักเรียนส่วนใหญ่มักไม่ออกไปเล่นสนุกสนานตามประสาเด็กเมื่อถึงเวลาพัก ในทางตรงข้ามแต่ละคนกลับเพลิดเพลินกับการอยู่หน้าจอโทรศัพท์หรือแท็บเล็ต ซึ่งเป็นเรื่องที่ผิดปกติของวัยเด็กและนักการศึกษาเห็นว่าพฤติกรรมของเด็กที่ใช้เวลาอยู่หน้าจอเกือบตลอดเวลานั้นถือเป็นปัญหาทางการศึกษา
ก่อนที่กฎหมายจะผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภา รัฐบาล ฝรั่งเศสได้ส่งสัญญาณเตือนต่อสังคมถึงมาตรการดังกล่าวมาเป็นระยะๆ นอกจากมีการเสนอให้ห้ามใช้โทรศัพท์มือถือของเด็กแล้ว ยังมีผู้เสนอให้ครูและเจ้าหน้าที่ของโรงเรียนควรจะต้องถูกห้ามใช้โทรศัพท์มือถือในโรงเรียนเพื่อเป็นตัวอย่างด้วย แต่ประเด็นนี้ถูกตัดออกไป มีเกล็ดเล่ากันว่า ในขณะที่กำลังถกเถียงกันอย่างเข้มข้นในเรื่องกฎหมายการห้ามเด็กใช้โทรศัพท์มือถือในโรงเรียนนั้นบรรดานักกฎหมายที่นั่งอยู่ในห้องต่างนั่งก้มหน้าจดจ่ออยู่กับจอโทรศัพท์กันเกือบทุกคน
ประเด็นที่น่าสนใจที่มีการถกกันในที่ประชุมก่อนที่จะมีการนำเสนอกฎหมายดังกล่าวสู่สภาคือ “สิทธิในการไม่เชื่อมต่อ” ของเด็กตามกฎหมาย ซึ่งมีนัยสำคัญต่อการนำเทคโนโลยีมาใช้เป็นอย่างมาก เพราะในขณะที่ภาครัฐของประเทศต่างๆกำลังสนับสนุนให้ขยายโครงข่ายทางเทคโนโลยีให้ทั่วถึงเพื่อให้ประชาชนได้เข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้มากที่สุดด้วยการเชื่อมต่อกับใครต่อใครในโลกด้วยอินเทอร์เน็ตเพื่อประโยชน์ต่างๆนานาโดยเสรีนั้น แต่ดูเหมือนว่าคนฝรั่งเศสกลับเห็นว่า การถูกเชื่อมต่อกับโลกผ่านเทคโนโลยี จนทำให้เด็กมีพฤติกรรมติดจอนั้นเป็นเสมือนแรงกดดันจากสังคมดิจิทัล ที่ทำให้เด็กถูกผลักเข้าไปเชื่อมต่อกับสังคมออนไลน์โดยไม่รู้ตัวและฝรั่งเศสได้ใช้มาตรการทางกฎหมายเพื่อป้องกันภัยแก่เด็กจากการคุกคามของเทคโนโลยีในระหว่างที่เด็กอยู่ในโรงเรียน ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงแนวความคิดของคนฝรั่งเศสที่รับรู้กันโดยทั่วไปว่าเป็น “ นักเหตุผลนิยม “ (Rationalist) ที่ยืนหยัดมาอย่างยาวนาน
การใช้กฎหมายห้ามเด็กใช้โทรศัพท์มือถือในโรงเรียนจึงเป็นที่เข้าใจได้ว่า คนฝรั่งเศสมองเห็นปัญหาความเปราะบางของเด็กที่ถูกเชื่อมต่อกับโลกด้วยเทคโนโลยี จึงพยายามสร้างภูมิคุ้มกันและปกป้องเด็กจากการถูกแรงกดดันของสังคมดิจิทัล เพื่อไม่ให้เด็กได้รับข้อมูลที่หลั่งไหลมาจากการเชื่อมต่อกับเทคโนโลยีมากเกินไปจนทำให้ความเป็นธรรมชาติของเด็กถูกเบี่ยงเบน นอกจากนี้ยังป้องกันปัญหาการกลั่นแกล้งกันทางอินเทอร์เน็ต การถูกสอดแนมและการเพิ่มทักษะทางสังคมแก่เด็กด้วย เท่ากับว่าฝรั่งเศสกำลังให้สิทธิตามกฎหมายแก่เด็กในการ “ไม่เชื่อมต่อ” กับเทคโนโลยี ซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่มนุษย์ในยุคดิจิทัลควรได้รับ อย่างน้อยที่สุดในช่วงเวลาที่เด็กอยู่ในโรงเรียน เพื่อให้เด็กได้อยู่ในโลกของตัวเองที่ปราศจากการเชื่อมต่อใดๆจากเทคโนโลยีจนกว่าจะถึงอายุที่มีภูมิคุ้มกันเข้มแข็งเพียงพอ
การใช้เทคโนโลยีและการส่งเสริมให้มีการใช้เทคโนโลยีในสังคมเป็นเรื่องละเอียดอ่อนซึ่งมีทั้งประโยชน์และความเสี่ยงต่อการใช้งานอยู่ตลอดเวลาแต่เรามักไม่ค่อยใส่ใจ เพราะเราเล็งผลเลิศจากเทคโนโลยีมากเกินไปจนละเลยความเสี่ยงที่แฝงตัวมากับเทคโนโลยีโดยที่เราคาดไม่ถึง
ประเทศไทยกำลังสอนประชาชนให้ท่องคาถา ไทยแลนด์ 4.0 เพื่อส่งเสริมให้นำเทคโนโลยีมาใช้กันอย่างสนุกปากโดยไร้การสร้างภูมิคุ้มกันจึงอาจเป็นเหตุให้คนไทยส่วนใหญ่คาดหวังประโยชน์จากเทคโนโลยีแต่เพียงด้านเดียวโดยลืมไปว่าการใช้เทคโนโลยีที่มากเกินพอ ขาดการไตร่ตรองและความตระหนักรู้นั้นเป็นการบั่นทอนความเป็นมนุษย์ไม่ทางใดก็ทางหนึ่งอย่างที่ฝรั่งเศสได้พิสูจน์ให้เห็นเป็นที่ประจักษ์แล้ว
อ่านประกอบ
1. https://www.isranews.org/isranews-other-news/68278-thestandard.html
2. https://www.isranews.org/isranews-article/59796-child-support.html
3. https://www.isranews.org/isranews-article/64414-pansak-64414.html
ภาพประกอบ http://www.sakshieducation.com/Story.aspx?nid=90184