คู่มือมนุษย์ ตอน “อยู่กับเทคโนโลยีดิจิทัล”
อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ นักฟิสิกส์ผู้ยิ่งใหญ่เคยกล่าวประโยคทองที่ทำให้โลกต้องจดจำไว้จนถึงวันนี้ว่า "จิตวิญญาณของมนุษย์จะต้องอยู่เหนือเทคโนโลยีเสมอ"
คำพูดของ ไอน์สไตน์ กลายเป็นคำพูดอมตะที่มักนำมาใช้เตือนสติต่อการใช้เทคโนโลยีทุกยุคทุกสมัยและคำพูดนี้มีความหมายอย่างยิ่งต่อการใช้เทคโนโลยีในปัจจุบันที่เรามักคาดหวังประโยชน์จากเทคโนโลยีที่มากเกินไปจนลืมด้านมืดของเทคโนโลยีไปจนหมดสิ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรามักลืมเรื่องการจรรโลงไว้ซึ่งความเป็นมนุษย์และความสุขของมนุษย์ที่ธรรมชาติมอบให้ตั้งแต่กำเนิดซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องรักษาไว้ยิ่งเหนือสิ่งใดเพื่อไม่ให้มนุษย์ตกเป็นทาสของเทคโนโลยีภายใต้การสั่งการของอัลกอริทึม(Algorithm)และกลายพันธุ์ไปกับเทคโนโลยีในที่สุด แทนที่จะใช้เทคโนโลยีเพื่อเป็นเครื่องมืออำนวยความสะดวกให้กับตัวเอง
การที่มนุษย์ในยุคหลังมองเห็นเทคโนโลยีคือทุกสิ่งทุกแอย่าง โดยลืมไปว่าเทคโนโลยีเป็นแค่เครื่องมือของมนุษย์นั้น น่าจะประกอบด้วยปัจจัยแวดล้อม 4 ปัจจัยด้วยกันคือ
ผลกำไรจากเทคโนโลยี : การที่มนุษย์สามารถนำเทคโนโลยีมาใช้ประโยชน์ได้อย่างมากมายตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันนั้นทำให้มนุษย์มองเห็นคุณค่าของเทคโนโลยีซึ่งนอกจากความสะดวกสบายและความอยู่รอดแล้ว เทคโนโลยียังสร้างผลกำไรและลดต้นทุนให้กับมนุษย์อย่างมหาศาล นับตั้งแต่การผลิตสินค้า การนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อการบริการจนเข้าสู่ยุคของการใช้ข้อมูลเพื่อสร้างสินค้าและบริการ มนุษย์จึงถูกประโยชน์จากผลกำไรเหล่านี้บดบังตาจนคิดว่าไปว่าปัญหาจากเทคโนโลยีคือปัจจัยที่ไม่สำคัญเมื่อเทียบกับผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ
ขาดกฎเกณฑ์การกำกับดูแลและการเพิกเฉยจากสังคม : กฎหมายและหลักปฏิบัติต่างๆที่สังคมยอมรับมักจะก้าวตามหลังการพัฒนาเทคโนโลยีอยู่หลายก้าวเสมอ การใช้เทคโนโลยีจึงมักเป็นไปด้วยความประมาทและขาดความรับผิดชอบ รวมทั้งสังคมไม่ได้ให้ความสำคัญต่อภัยจากเทคโนโลยีมากเท่าที่ควร มนุษย์จึงต้องรับผลเชิงลบและปัญหา ที่เกิดขึ้นกับสังคมจากการใช้เทคโนโลยีตลอดมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งเทคโนโลยีประเภทดิจิทัลและปัญญาประดิษฐ์(Artificial Intelligent :AI) นั้นมีความซับซ้อนและพัฒนาแบบก้าวกระโดดจนยากที่จะออกกฎเกณฑ์การกำกับดูแลและกฎหมายได้ทันต่อการพัฒนาเทคโนโลยี ทำให้ขาดความสมดุลระหว่างการพัฒนาและการใช้เทคโนโลยีกับกฎหมายและการกำกับดูแลการใช้เทคโนโลยีเหล่านั้น
มนุษย์ถูกโน้มน้าวให้ใช้เทคโนโลยีจากภาครัฐ ผู้ผลิต ผู้จำหน่ายและผู้ให้บริการ : ประชาชนและผู้บริโภคต่างถูกกระตุ้นจากนโยบายของภาครัฐและแรงผลักดันจากผู้ผลิต ผู้จำหน่าย ผู้ให้บริการ ฯลฯ ผ่านสื่อต่างๆจนทำให้ยอมรับโดยสนิทใจถึงประโยชน์จากเทคโนโลยีโดยไม่มีโอกาสรับรู้ถึงผลกระทบด้านลบซึ่งมักจะเกิดขึ้นโดยไม่คาดคิดเสมอ
เทคโนโลยีทำให้เกิดการเสพติด : เทคโนโลยีหลายประเภทถูกออกแบบมาเพื่อการเสพติด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเทคโนโลยีประเภท Gadget และ Application รวมทั้งสื่อสังคมออนไลน์ ที่ควบคู่กันมานั้นเป็นสิ่งที่ออกแบบมาให้มนุษย์เสพติดตั้งแต่เริ่มต้น สตีฟ จ็อบส์ รวมทั้งนักเทคโนโลยีคนดังๆของโลกอย่าง เช่น คริส แอนเดอร์สัน อีแวน วิลเลียมส์ ฯลฯ ต่างมองเห็นภัยของอุปกรณ์เหล่านี้ตั้งแต่แรก พวกเขาจึงจำกัดการใช้อุปกรณ์เหล่านี้แก่ลูกๆของพวกเขาเอง
แม้ว่าการเสพติดเทคโนโลยีเหล่านี้มิได้เกิดจากการเสพติดจากสารเสพติด แต่การเสพติดเทคโนโลยี เป็น "การเสพติดทางพฤติกรรม" (Behavioral addiction) ที่มีผลกระทบต่อสังคมแม่แพ้กัน นักเทคโนโลยีจากสื่อสังคมออนไลน์ ที่มีคนนิยมอย่าง Instagram บางคนถึงกับออกมายอมรับต่อสังคมเองว่าเขาเองเป็นผู้สร้าง "เครื่องจักรแห่งการเสพติด" (Engine of addiction) ให้กับสังคมโลก
Facebook เองก็ได้ออกมายอมรับอย่างมีนัยกับสังคมโลกแล้วว่า การใช้ สื่อสังคมออนไลน์ที่มากเกินไปนั้นทำลายทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิตของมนุษย์ ขณะที่อดีตผู้บริหาร Facebook ออกมากล่าวถึงภัยจาก สื่อสังคมออนไลน์ว่า เป็นสิ่งที่กำลังทำลายสังคมมนุษย์
แม้แต่ ทิม คุก CEO ของ บริษัท Apple ก็ให้ความสำคัญต่อการใช้สื่อสังคมออนไลน์แก่หลานๆของตัวเองเป็นอย่างยิ่ง ทิม คุก เคยพูดว่าการใช้เทคโนโลยีตลอดเวลานั้นไม่ได้ทำให้คนเราประสบความสำเร็จได้เสมอไป เขาจึงวางกฎเกณฑ์ในการใช้เทคโนโลยีแก่หลานๆอย่างค่อนข้างเข้มงวด
ปัจจัยแวดล้อมที่กล่าวถึงข้างต้นจึงไม่น่าจะไม่เกินไปจากความจริงที่เราพบเห็นจากพฤติกรรมการใช้เทคโนโลยีของมนุษย์ยุคปัจจุบัน มนุษย์จึงควรเผื่อช่องว่างไว้สำหรับ สิ่งที่ไม่พึงประสงค์ที่อาจได้รับจากการใช้เทคโนโลยีไว้ด้วยเสมอ ที่สำคัญคือต้องไม่เอาจิตวิญญาณความเป็นมนุษย์ของเราไปแลกกับประโยชน์จากเทคโนโลยีแต่เพียงอย่างเดียว รวมทั้งต้องไม่ยอมให้เทคโนโลยีลดทอนความเป็นมนุษย์ของเราลงไปด้วย
ความจริงแล้วเทคโนโลยีไม่ได้เป็นสิ่งที่เลวร้ายต่อมนุษย์ เทคโนโลยีมีคุณค่าต่อการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ เทคโนโลยีช่วยให้มนุษย์มีสุขอนามัยดีขึ้นเป็นผลให้มีอายุยืนยาวขึ้น เทคโนโลยีช่วยอำนวยความสะดวกสบายให้กับมนุษย์ เราจึงต้องอยู่กับเทคโนโลยีตราบเท่าที่เรายังใช้ชีวิตอยู่บนโลกนี้ แต่มิได้หมายความว่าเทคโนโลยีคือทุกสิ่งทุกอย่างที่มนุษย์ต้องทำตัวให้ถูกโปรแกรมจนกลายพันธุ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการคาดหวังว่าเทคโนโลยี สามารถจะสร้างความสุขที่แท้จริงให้กับมนุษย์ได้ดังที่ใครต่อใครคาดหวังไว้ นั้นไม่น่าจะเป็นความจริง เพราะมนุษย์ยังคงต้องการ ความอ่อนโยน การสัมผัส การสบตา ความห่วงใย ความมีน้ำใจ การระลึกถึง ฯลฯ จากมนุษย์ด้วยกัน ซึ่งอย่างน้อยที่สุด ณ วันนี้เทคโนโลยียังไม่สามารถเลียนแบบได้
การมองเทคโนโลยีเป็นสูตรสำเร็จของการใช้ชีวิตมนุษย์จนลืมความเป็นธรรมชาติของมนุษย์ไปนั้นเป็นสิ่งที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่งต่อการจรรโลงความเป็นมนุษย์ในอนาคต อินเดียนแดงเผ่า ลาโคต้า (Lakota) มีสุภาษิตประจำเผ่าบทหนึ่งว่า “ เมื่อใดก็ตามที่มนุษย์ห่างไกลจากธรรมชาติ มนุษย์คนนั้นจะกลายเป็นคนจิตใจที่หยาบกระด้าง “ ซึ่งเป็นสุภาษิตที่สอดคล้องกับโลกยุคปัจจุบันที่พึ่งพาเทคโนโลยีจนกระทั่งลืมไปว่าเราคือมนุษย์ที่เป็นผลผลิตของธรรมชาติและต้องอยู่กับธรรมชาติตราบเท่าที่เรายังต้องการคงความเป็นมนุษย์เอาไว้
มนุษย์มักเข้าใจเรื่องของเทคโนโลยีอย่างลึกซึ้งในแง่มุมของ การทำงาน การใช้ประโยชน์และการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ แต่มนุษย์แทบจะไม่เข้าใจถึงผลกระทบจากเทคโนโลยีในแง่ มุมทางสังคมที่ยากต่อการเข้าใจและเข้าถึง ทั้งๆที่มนุษย์ได้เป็นผู้สร้างเทคโนโลยีขึ้นมาเองกับมือ เราจึงมักจะละเลยผลกระทบทางสังคมที่มักเกิดขึ้นอย่างช้าๆไม่ส่งผลกระทบอย่างฉับพลันเหมือนเช่นการเกิดอุบัติเหตุหรือภัยร้ายแรงอื่นๆ
รัฐมนตรีบางคนในรัฐบาลชุดนี้คาดหวังต่อการนำเทคโนโลยีมาขับเคลื่อนประเทศมากจนถึงกับพูดว่า “เราจะสร้างคนไทยพันธุ์ใหม่” เพื่อขับเคลื่อนประเทศด้วยเทคโนโลยี ซึ่งคำพูดของท่านไม่ใช่เรื่องผิดปกติในเชิงเศรษฐกิจ แต่ในแง่มุมของความเป็นมนุษย์ถือเป็นเรื่องที่ล่อแหลมและละเอียดอ่อนอย่างยิ่งต่อการสนับสนุนแนวคิดสุดโต่งต่อการใช้เทคโนโลยีในสังคมไทยและความไม่สอดคล้องกับการจรรโลงความเป็นมนุษย์ น่าเสียดายที่ท่านไม่ได้สร้างการรับรู้ให้คนไทยได้ตระหนักถึงการดำรงเผ่าพันธุ์ของมนุษย์และความมีจิตวิญญาณของมนุษย์ที่เทคโนโลยีไม่มีวันที่จะเลียนแบบได้ ควบคู่ไปกับประโยชน์ของการใช้เทคโนโลยีด้วย
การที่เทคโนโลยีมีความสามารถเกือบเท่าเทียมมนุษย์นั้นทำให้มนุษย์ควรต้องหันมามองตัวเองถึงการใช้ชีวิตในโลกยุคดิจิทัลเพื่อขีดเส้นแบ่งไม่ให้เกิดการผสมปนเปและตีความหมายผิดต่อเรื่องความสามารถของเทคโนโลยีกับ “สิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ยุคดิจิทัล” ซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่มนุษย์ทั้งโลกยังไม่รู้จักคุ้นเคยและน่าจะมีความจำเป็นอย่างยิ่งต่อการใช้ชีวิตของมนุษย์นับแต่นี้ไป
สิทธิขั้นพื้นฐานเหล่านี้ เท่าที่ประมวลมาได้ประกอบไปด้วยสิทธิพื้นฐาน 7 ประการ คือ
1.สิทธิในการดำรงความเป็นธรรมชาติของมนุษย์ : มนุษย์ควรมีสิทธิในการเลือกที่จะดำรงความเป็นมนุษย์ที่ปราศจากการเสริมแต่ง(Unaugmented state) ด้วยเทคโนโลยี ซึ่งได้แก่ สิทธิใน การได้รับจ้างงาน การใช้บริการสาธารณะ การจับจ่ายใช้สอย และการใช้สิ่งอำนวยความสะดวกในสังคม โดยปราศจากการใช้เทคโนโลยีที่มนุษย์ต้องพกพา หรือเทคโนโลยีที่ถูกใส่เข้าไปในร่างกายมนุษย์ หรือต้อง Log in เพื่อเข้าใช้บริการ เป็นต้นว่า การต้องสวมแว่นตาสำหรับโลกเสมือน (Virtual reality)เพื่อการสัมภาษณ์งาน การต้องเปิดบัญชี Facebook การใช้ QR Code หรือต้องแสดงตัวตนด้วยสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆเพื่อเข้าถึงบริการพื้นฐานบางประเภทโดยไม่มีทางเลือกอื่น เป็นต้น
2.สิทธิในการคงไว้ซึ่ง ความเชื่องช้า ประสิทธิภาพต่ำและมีความผิดพลาด : มนุษย์ควรต้องได้รับสิทธิในการใช้ชีวิตด้วยความเป็นธรรมชาติของมนุษย์เอง เช่น ความเชื่องช้า ความมีประสิทธิภาพต่ำ ความผิดพลาด เมื่อเทียบกับเทคโนโลยี โดยต้องไม่ถือว่าความด้อยประสิทธิภาพของมนุษย์เมื่อเทียบกับเครื่องจักรนั้นคือความไม่ถูกต้องหรือความล้าหลัง แต่ต้องถือว่าสิ่งเหล่านี้เป็นคุณสมบัติพื้นฐานของมนุษย์ที่ต้องอยู่เหนือเทคโนโลยีและต้องมีการยกเว้นให้เสมอเมื่อเปรียบเทียบกับความสามารถของเทคโนโลยี
3.สิทธิในการหยุดหรือยกเลิกการเชื่อมต่อกับโครงข่ายเทคโนโลยี : ปัจจุบันมนุษย์อยู่ทั้งบนโลกแห่งความจริงและโลกเสมือน เรามักใช้โลกออนไลน์ติดต่อกับบุคคลหรือค้นหาข้อมูลโดยการเชื่อมต่อผ่านช่องทางอินเทอร์เน็ตและเทคโนโลยีอื่นๆอยู่เกือบตลอดเวลาทั้งด้วยความประสงค์ของเราเองหรือด้วยความประสงค์ของบุคคลอื่นหรืออุปกรณ์อื่นๆที่ต้องการติดต่อกับเรา มนุษย์จึงควรมีสิทธิเลือกที่จะหยุดรับการติดต่อสื่อสารจากบุคคลหรืออุปกรณ์อื่นๆ ตราบที่ไม่ขัดต่อกฎระเบียบหรือเงื่อนไขความสงบสุขทางสังคม เพื่อให้เราออกจากโลกเสมือนกลับไปอยู่ในโลกแห่งความจริงซึ่งเป็นธรรมชาติที่เราคุ้นเคย
4.สิทธิในการไม่แสดงตัวตนและสิทธิในการไม่ถูกส่องพฤติกรรม : การเชื่อมต่อระหว่างมนุษย์กับเทคโนโลยีเกือบตลอดเวลานั้นอาจทำให้เราถูกเฝ้าดูจากนักการตลาด นักวิเคราะห์ข้อมูล อาชญากร ผู้ก่อการร้าย รัฐบาล ผู้ประกอบการ ฯลฯ จนแทบจะไม่มีความเป็นส่วนตัวแม้แต่นาทีเดียว ไม่ว่าเราจะอยู่มุมไหนของโลกแม้กระทั่งในบ้านของตัวเองก็ตาม จึงเปรียบเสมือนว่าบุคคลอื่นรู้ความเคลื่อนไหวของเราผ่านเทคโนโลยีเกือบทุกฝีก้าว การมีสิทธิในการไม่แสดงตัวตนในภาวะปกติ และไม่เป็นภัยต่อสังคม จึงควรเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่เราจะเลือกแสดงตัวตนหรือ ปิดบังตัวตน รวมทั้งไม่ยอมให้ผู้ใดติดตามตัวได้เท่าที่เราต้องการ
5.สิทธิในการจ้างหรือใช้แรงงานมนุษย์แทนการใช้เครื่องจักร : แม้ว่าเทคโนโลยีจะช่วยเพิ่มผลผลิต ลดต้นทุน อำนวยความสะดวก และทำในสิ่งที่มนุษย์ไม่สามารถทำได้ก็ตาม แต่ผลกระทบจากเทคโนโลยีก็มีอยู่มิใช่น้อย มนุษย์ต้องสูญเสียงานหลายประเภทให้กับเทคโนโลยี จนสร้างผลกระทบต่อสังคมดังที่เกิดขึ้นมาแล้วในอดีต ดังนั้นเพื่อไม่ให้มนุษย์ต้องตกเป็นเหยื่อของเทคโนโลยี เราจึงไม่ควรตัดสินว่า นายจ้างหรือบริษัทใดก็ตามที่ยังคงจ้างแรงงานมนุษย์สำหรับงานบางประเภทคือความล้าสมัยหรือเป็นข้อด้อย ผู้ที่จ้างแรงงานมนุษย์เหล่านี้ควรได้รับสิทธิบางประเภท เช่นสิทธิด้านการลดภาษีหรือยกเว้นภาษีหรือสิทธิอื่นๆที่นายจ้างควรได้รับชดเชยในฐานะผู้จรรโลงสังคมมนุษย์ไว้เพื่อไม่ให้ถูกกลืนด้วยเทคโนโลยีและในทางกลับกันผู้ที่นำระบบอัตโนมัติมาใช้แทนเครื่องจักรและทำให้มนุษย์ต้องตกเป็นเหยื่อของเทคโนโลยีควรจะต้องมีภาระในการเสียภาษีหรือภาระใดก็ตามที่จะนำไปสร้างความเอื้ออาทรต่อเพื่อนมนุษย์ เพื่อเป็นการชดเชยเช่นกัน สิ่งเหล่านี้สอดคล้องกับข้อเสนอของ บิล เกตส์ ที่เคยเสนอให้มีการเก็บภาษีหุ่นยนต์เพื่อการชดเชยจากภาษีที่แรงงานมนุษย์ได้สูญเสียไปให้กับเครื่องจักร รวมทั้งยกฐานะของมนุษย์จากการทำงานหนัก งานสกปรกและงานอันตรายเพื่อไปทำงานอื่นด้านจรรโลงสังคมโลกแทน
6.สิทธิในการไม่เพิกเฉยต่อภัยคุกคามจากเทคโนโลยี : ในอนาคตอันใกล้ความหนาแน่นของเทคโนโลยีรอบตัวเราจะเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อ Internet of Thing(IoT) ที่ฝังตัวอยู่ในอุปกรณ์ เครื่องใช้ประจำวันของมนุษย์รวมทั้งสิ่งประดิษฐ์อื่นๆที่เราสัมผัสรอบตัวนั้นจะเต็มไปด้วยเครื่องจักรอัตโนมัติที่เราสามารถสั่งการให้ทำงานแทนเราและในทางกลับกันเราก็อาจถูกสั่งการจากเครื่องมือที่เราใช้งานไม่ว่าจะเป็น ระบบนำทาง การทำธุรกรรมทางการเงิน การเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร รวมทั้งการใช้เทคโนโลยีใดๆที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุร้ายแรงและ การละเมิดการใช้เทคโนโลยีประเภทต่างๆ มนุษย์จึงต้องมีสิทธิในการ เตือน ร้องขอ ร้องเรียน ห้ามหรือยับยั้งการใช้เทคโนโลยีเหล่านั้นในทางที่เป็นคุณต่อมนุษย์เองได้ดังเช่นภัยคุกคามประเภทอื่นๆ
7.สิทธิในการรับรู้ถึงภัยจากเทคโนโลยี : มนุษย์ควรต้องมีสิทธิในการรับรู้ถึงภัยจากเทคโนโลยีที่อยู่รอบตัว จากภาครัฐ ผู้วิจัย ผู้ผลิตและผู้จำหน่าย ตลอดองค์กรต่างๆ ซึ่งควรต้องเปิดเผยข้อมูลด้านลบของเทคโนโลยี ทั้งประเภทที่มีการยืนยันแล้วว่าเป็นภัยต่อมนุษย์และเทคโนโลยีที่ยังมีข้อสงสัยและกำกวม ซึ่งหมายความว่าผู้ใช้เทคโนโลยีต้องมีสิทธิ์รับรู้ข้อมูลด้านลบของเทคโนโลยีเช่นเดียวกับผู้สร้างเทคโนโลยีเพื่อไม่ให้การรับรู้ข้อมูลเกี่ยวกับเทคโนโลยีอยู่ในสภาวะขาดความสมดุล(Information asymmetry) ระหว่างผู้สร้างเทคโนโลยีและผู้ใช้เทคโนโลยี
สิทธิขั้นพื้นฐานดังกล่าวข้างต้น ทั้ง 7 ข้อ ดูเหมือนว่าเป็นสิทธิที่เป็นอุปสรรคต่อการขับเคลื่อนของนวัตกรรม แต่หากมองในเรื่องของผลกระทบต่อสังคมโลกแล้วข้อเสนอเหล่านี้เป็นเรื่องที่น่าสนใจอย่างยิ่งและควรนำมาพิจารณาเพื่อสร้างสมดุลระหว่างการพัฒนาเทคโนโลยีกับการใช้เทคโนโลยีที่พอประมาณและเหมาสมกับความเป็นมนุษย์
เราต้องไม่ลืมว่า วิวัฒนาการของมนุษย์นั้นเป็นแบบ สม่ำเสมอค่อยเป็นค่อยไป ขณะที่การพัฒนาของเทคโนโลยีเป็นแบบก้าวกระโดด และเทคโนโลยีจะมีความฉลาดเหนือมนุษย์ในบางเรื่อง ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า เทคโนโลยีในวันนี้จึงต่างจากเทคโนโลยีเมื่อสามสิบปีก่อนอย่างสิ้นเชิงเพราะเป็นเทคโนโลยีที่ทำให้โลกของ บิท (Bit) กับ โลกของ อะตอม(Atom) เกิดการปฏิสัมพันธ์กันอย่างแนบแน่นจนแยกกันแทบไม่ออก
แต่การรับเทคโนโลยีมาใช้ประโยชน์มิได้หมายความว่าเราต้องก้าวกระโดดหรือตื่นเต้นไปกับการพัฒนาของเทคโนโลยีทุกฝีก้าวจนลืมสาระสำคัญของชีวิตไป เทคโนโลยีบางประเภทอยู่ในกระแสและเป็นที่ยอมรับโดยเร็ว แต่เทคโนโลยีจำนวนไม่น้อยเกิดขึ้นและดับไปในระยะเวลาอันสั้น ในขณะที่เทคโนโลยีหลายต่อหลายอย่างที่สร้างขึ้นกลับต้องใช้เวลานานจึงประสบความสำเร็จ เช่น เครื่องแฟกซ์ต้องรอเวลาถึง 150 ปีหลังจากการประดิษฐ์จนกว่าจะเป็นที่ยอมรับและใช้งานอย่างแพร่หลาย เป็นต้น ในขณะที่แฟกซ์ G4 ที่มาพร้อมกับเทคโนโลยี ISDN กลับสูญหายไปในเวลาอันรวดเร็วตามเทคโนโลยี ISDN ที่ไม่ประสบผลสำเร็จ
สิ่งที่เราควรต้องตระหนักคือการเลือกใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมและเป็นไปตามสภาพแวดล้อมของแต่ละประเทศ เพื่อไม่ให้เคนอีกมากมายในประเทศนี้หรือในโลกนี้ต้องถูกทอดทิ้งไว้ ในขณะที่คนอีกกลุ่มหนึ่งเดินไปข้างหน้าอย่างที่ชอบพูดกัน
ก่อนเสียชีวิตประมาณ 5 เดือน ไอน์สไตน์ ได้พูดถึงความในใจของตัวเองเพื่อแสดงความรู้สึกเสียใจต่อบทบาทของตัวเองที่มีส่วนร่วมทำให้มีการสร้างระเบิดปรมาณูขึ้นจากการลงนามในจดหมายถึงประธานาธิบดี แฟรงกลิน ดี. โรสเวลต์ ซึ่งเป็นประธานาธิบดี สหรัฐอเมริกาขณะนั้นโดยสนับสนุนให้ตัดสินใจสร้างระเบิดปรมาณู ไอน์สไตน์ถือว่าการกระทำครั้งนั้นเป็นความผิดครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งในชีวิตของตัวเอง เพราะไอน์สไตน์นั้นชื่อว่าเป็นนักสันตินิยมแต่การสนับสนุนให้สร้างระเบิดปรมาณูจนทำให้เกิดโศกนาฏกรรมที่คนทั้งโลกต้องจดจำไม่รู้ลืมนั้นจึงถือว่าเป็นบาปยิ่งใหญ่ที่ไอน์สไตน์ต้องออกมาสารภาพผิดที่มีส่วนร่วมต่อการการสร้างเทคโนโลยีเพื่อทำลายล้างมนุษย์ครั้งใหญ่ที่สุดเพียงเพราะเกรงว่าเยอรมันจะสร้างระเบิดนิวเคลียร์ได้ก่อน
มนุษย์ต้องไม่ให้เทคโนโลยีกลืนกินความเป็นมนุษย์ของเราไปเพียงเพราะ ผลประโยชน์ โอกาสในการหลวกลวงฉ้อฉล และทำลายล้างซึ่งกันและกัน แต่มนุษย์ควรจะใช้เทคโนโลยีเป็นเพียงเครื่องมือที่อำนวยความสะดวกและเสริมทักษะของตนเองตามที่ได้ตั้งใจไว้
หมายเหตุ : อ้างอิง Gerd Leonhard, Tchnology vs Humanity