อย่าให้เทคโนโลยีทำร้ายลูกหลานคุณ
...เพื่อสร้างความปลอดภัยให้กับลูกหลานต่อการใช้เทคโนโลยี พ่อ แม่ ในยุคนี้ต้องรู้ทันเทคโนโลยีและสั่งสอนลูกให้ปฏิบัติตัวเพื่ออยู่กับเทคโนโลยีอย่างปลอดภัย เช่นเดียวกับการสอนให้ กินข้าว แปรงฟัน อาบน้ำ ข้ามถนน ฯลฯ และควรมีการบรรจุสิ่งเหล่านี้ไว้ในหลักสูตรการเรียนตั้งแต่เล็กรวมทั้งจัดทำภาพยนตร์สั้นที่เข้าใจง่ายๆเพื่อให้ผู้ปกครองและเด็กได้ซึมซับถึงภัยของเทคโนโลยีเสียตั้งแต่ต้น...
ทุกนาทีที่เราเสพข่าวสาร เราถูกกรอกหูด้วยโฆษณาชวนเชื่อถึงความมหัศจรรย์ของเทคโนโลยีอยู่เกือบตลอดเวลา เทคโนโลยีหลายประเภทมีความสามารถในการอำนวยความสะดวกได้เกินความคาดหมาย ขณะที่เทคโนโลยีจำนวนไม่น้อยเป็นเทคโนโลยีที่ทำลายสุขภาพของมนุษย์รวมทั้งความสามารถของมนุษย์ที่ธรรมชาติมอบให้เพื่อความอยู่รอดโดยที่เราไม่รู้ตัว
ปี 2017 เป็นปีที่ สตีฟ จ็อบส์ ได้นำ iPhone สู่ตลาดครบสิบปีพอดี เครื่อง iPhone ที่เกิดจากมันสมองของ สตีฟ จ็อบส์ และทีมงานบริษัท Apple นั้นเป็นเครื่องมือที่มหัศจรรย์ชิ้นหนึ่งนับตั้งแต่มนุษย์เราได้สร้างเทคโนโลยีขึ้นมาในโลกและเทคโนโลยีชิ้นนี้เองที่ทำให้พฤติกรรมมนุษย์เปลี่ยนแปลงไปอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน
หลังจากนั้นไม่นานเทคโนโลยีและ Application ต่างๆก็เกิดขึ้นตามมาอย่างมากมาย สิ่งที่สำคัญที่หลายคนคาดไม่ถึงก็คือ เทคโนโลยีประเภทคอมพิวเตอร์ รวมถึง Gadget หลายประเภทนั้นถูก “ออกแบบมาเพื่อการเสพติด” ตั้งแต่แรก สิ่งเหล่านี้จึงกลายเป็น “สิ่งเสพติด” ที่เกิดขึ้นกับผู้ใช้เทคโนโลยีได้ทุกเพศทุกวัยและเกิดขึ้นได้ทุกสถานที่โดยไม่ต้องหลบซ่อนเหมือนกับการเสพสารเสพติด
ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจเลยว่าเหตุใด สตีฟ จ็อบส์ จึงจำกัดการเล่น iPad แก่ลูกๆอย่างเคร่งครัดเมื่อเขาสร้าง iPad ในอีก 3 ปีต่อมาหลังจากประสบความสำเร็จอย่างงดงามจาก iPhone สตีฟ จ็อบส์ เคยให้สัมภาษณ์กับ New York Time ไว้เมื่อปลายปี 2010 ว่า “ เราจำกัดการใช้เทคโนโลยีของลูกๆในบ้านของเรา” นอกจาก สตีฟ จ็อบส์ แล้วนักเทคโนโลยีชั้นนำของโลกอีกหลายคน เป็นต้นว่า คริส แอนเดอสัน อีแวน วิลเลียม ฯลฯ ต่างให้ความสำคัญในเรื่องภัยของเทคโนโลยีด้วยกันทั้งสิ้นเพราะบุคคลเหล่านี้เห็นถึงภัยจากเทคโนโลยีมาตั้งแต่เริ่มต้น ในขณะที่คนทั้งโลกแทบไม่รู้ถึงภัยเงียบเหล่านี้มากนัก คงปล่อยลูกหลานให้เพลิดเพลินต่อสิ่งที่ออกแบบมาเพื่อล่อใจตั้งแต่วัยเยาว์จนนำไปสู่การเสพติดและภัยอื่นๆจากเทคโนโลยีในที่สุด
ผลกระทบของเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นกับเด็กโดยเฉพาะเทคโนโลยีประเภทจอคอมพิวเตอร์นั้น มีผู้ศึกษาและให้ข้อมูลเอาไว้มากมายแต่ยังขาดความต่อเนื่องจึงทำให้การรับรู้มีขีดจำกัดต่อเมื่อเกิดเหตุแล้วจึงค่อยตื่นตัวและแก้ไขปัญหาเป็นกรณีๆไปซึ่งน่าจะเป็นการแก้ปัญหาที่ขาดความยั่งยืน
กรณีศึกษาและการทดลองอย่างน้อยที่สุดต่อไปนี้ อาจเป็นข้อมูลสนับสนุนว่าเทคโนโลยีมีผลกระทบต่อเด็กและเยาวชนหากเด็กเหล่านั้นใช้ชีวิตอยู่หน้าจอมากเกินไป
เด็กที่ใช้เวลาอยู่หน้าจอมากเกินไปทำให้ด้อยทักษะในการปฏิสัมพันธ์กับบุคคลอื่น
จากการทดลองของโรงเรียนแห่งหนึ่งทางตอนใต้ของแคลิฟอร์เนีย โดยให้เด็ก ชายหญิง ที่มีอายุระหว่าง 11 ถึง 12 ปี ที่มีชาติพันธุ์และระดับฐานะต่างกัน มีกิจกรรมการใช้คอมพิวเตอร์ในชีวิตประจำวันคล้ายๆกัน จำนวน 51 คน มาเข้าค่ายฤดูร้อนนอกเมือง ลอส แอนเจลิส เป็นเวลา 1 สัปดาห์
ขณะที่เข้าค่ายทุกคนจะต้องละทิ้งเครื่องมือต่างๆที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีทั้งหลายเอาไว้ที่บ้านและใช้เวลาส่วนใหญ่เพื่อทำกิจกรรมเกี่ยวกับธรรมชาติ เช่น ปีนเขา ใช้เข็มทิศ ยิงธนู เรียนรู้การทำอาหารรอบกองไฟและเรียนรู้การแยกแยะพืชกินได้กับพืชที่เป็นพิษ เป็นต้น ซึ่งหมายความว่ากิจกรรมต่างๆที่เด็กทำร่วมกันจะเป็นการอยู่ร่วมกับเพื่อนๆโดยไม่ต้องนั่งดูจอคอมพิวเตอร์เกือบตลอดเวลาเหมือนที่เคยทำที่บ้าน
ทุกคนจะต้องทำแบบทดสอบขั้นต้นที่เรียกว่า “การวิเคราะห์การวินิจฉัยพฤติกรรมที่ไม่ใช่เสียงพูด” (Diagnostic Analysis of Nonverbal Behavior) เช่น ให้เด็กแปลความหมายของอารมณ์ของคนแปลกหน้าที่แสดงบนสื่อสังคมออนไลน์ อ่านใบหน้าของคน เพื่อให้เด็กได้ตอบคำถามว่า อารมณ์ต่างๆที่ได้เห็นจากการทดสอบนั้นเป็นอารมณ์ที่มีความสุข ความเศร้า ความโกรธหรือความกลัว ผลการทดสอบพบว่าเด็กทำบททดสอบผิดเฉลี่ย 14 ข้อ จากบททดสอบ 48 ข้อ
ผู้วิจัยให้เด็กทำแบบสอบถามอีกครั้งหนึ่งหลังจากอยู่กับเพื่อนๆเป็นเวลา 1 สัปดาห์ ผลการทดสอบครั้งที่สองพบว่าความผิดพลาดของการทำบททดสอบลดลงเฉลี่ยราว 33 เปอร์เซ็นต์ เมื่อวิเคราะห์ผลทดสอบทั้งสองครั้งผู้วิจัยให้เหตุผลว่า การมีปฏิสัมพันธ์แบบพบกันซึ่งหน้า (Face to face) โดยปราศจากเทคโนโลยีประเภท Gadget ทั้งหลาย ทำให้เด็กมีการตอบสนองที่ดีต่อการอ่านสัญญาณทางอารมณ์ของบุคคลอื่นมากกว่าเดิม
การทดลองดังกล่าวสนับสนุนทฤษฎีเกี่ยวกับเด็กที่ถูกเลี้ยงอย่างโดดเดี่ยวโดยไม่เคยพบกับใครเลยจะไม่สามารถอ่านสัญญาณทางอารมณ์ของคนอื่นๆได้ รวมทั้งเด็กที่แยกตัวออกจากกลุ่มจะมีความยากลำบากต่อการสื่อสารกับคนอื่นๆ ที่สำคัญคือทักษะการอ่านสัญญาณทางอารมณ์ของมนุษย์จะค่อยๆหายไปเรื่อยๆหากไม่ได้รับการฝึกฝนอย่างต่อเนื่อง ซึ่งแปลว่าเด็กที่อยู่กับอุปกรณ์ทางเทคโนโลยีมากเกินไปจะด้อยทักษะการอ่านสัญญาณทางอารมณ์อย่างชัดเจนเมื่อเปรียบเทียบกับเด็กที่ใช้เวลาส่วนใหญ่เผชิญหน้ากับคนในสังคม
เด็กมีความเปราะบางต่อการเสพติดทางพฤติกรรม
การใช้เทคโนโลยีที่มากเกินไปเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับชีวิตประจำวันรวมทั้งการใช้เทคโนโลยีเพื่อความบันเทิง เช่นการเล่นเกมต่างๆด้วยคอมพิวเตอร์นั้นอาจนำไปสู่การเสพติดเทคโนโลยีได้และกว่าจะรู้ตัวก็ติดกับดักทางเทคโนโลยีที่ถูก “ออกแบบมาเพื่อการเสพติด” เสียแล้ว
การเสพติดเทคโนโลยีเป็นการเสพติดที่ต่างจากการเสพสารเสพติด เพราะการเสพติดเทคโนโลยีนั้นเป็นการเสพติดที่เรียกว่า “การเสพติดทางพฤติกรรม” ซึ่งเด็กมักจะตกเป็นเหยื่อได้โดยง่ายเพราะขาดประสบการณ์ในการควบคุมตัวเอง ซึ่งต่างจากผู้ใหญ่ซึ่งมีภูมิคุ้มกันอยู่ในระดับหนึ่ง
แม้ว่านิสัย “การเสพติดทางพฤติกรรม” จะเป็นส่วนหนึ่งของมนุษย์ก็ตาม แต่การใช้เวลากับเทคโนโลยีมากเกินไปจนส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตและสุขภาพ รวมทั้งการสูญเสียความเป็นมนุษย์ไปนั้นเป็นความผิดปกติที่ต้องป้องกันและแก้ไข หลายประเทศจึงตระหนักถึงการเสพติดทางพฤติกรรมของเด็กจากคอมพิวเตอร์และมีมาตรการยับยั้งต่อการเสพติดดังกล่าว เช่น จีนและเกาหลี ได้มีกฎหมายที่เรียกว่า Cinderella law ห้ามไม่ให้เด็กเล่นเกมตั้งแต่เวลาเที่ยงคืนจนถึงหกโมงเช้า เป็นต้น ในขณะที่ในหลายๆประเทศยังไม่ตระหนักถึงภัยเงียบที่จะเกิดกับเด็ก ยังคงเลี้ยงลูกทางหน้าจอปล่อยให้เด็กเล่นกับจอคอมพิวเตอร์ตั้งแต่วัยเพียงไม่กี่เดือน
การใช้คอมพิวเตอร์มากเกินไปอาจมีความเสี่ยงต่อการสูญเสียความทรงจำได้
แม้ว่าเทคโนโลยีจะช่วยให้มนุษย์ทำทุกสิ่งทุกอย่างง่ายขึ้น เช่น การใช้โทรศัพท์มือถือจำเลขหมายโทรศัพท์ง่ายกว่าการใช้ความจำของมนุษย์ การดูจออินเทอร์เน็ตง่ายกว่าการเปิดหนังสืออ่าน ฯลฯ ข้อมูลบางแหล่งเชื่อว่าการพึ่งพาเทคโนโลยีเพื่อทำให้ทุกอย่างดูง่ายขึ้นตั้งแต่แรกนั้นอาจเป็นภัยต่อเด็กเพราะเป็นเสมือนการข้ามขั้นตอนและลำดับในการใช้ชีวิตของเด็กไป การที่ให้เด็กใช้ทางลัดเพื่อบรรลุความต้องการในสิ่งใดสิ่งหนึ่งด้วยเทคโนโลยีอย่างง่ายมากเกินไปนั้นอาจส่งผลต่อการแก้ไขปัญหาที่ยากกว่าที่เกิดขึ้นในชีวิตจริงได้ อย่างไรก็ตามข้อมูลการศึกษานี้ยังไม่มีรายละเอียดที่พิสูจน์ได้ว่าการพึ่งพาเทคโนโลยีมากเกินไปของเด็กนั้นเป็นอันตรายต่อเด็กในด้านใดบ้าง
นอกจากนี้การพึ่งพาอาศัยแต่เทคโนโลยีมากเกินไปโดยละเลยการใช้ศักยภาพความจำของตัวเองนั้นอาจทำให้มนุษย์อยู่ในภาวะที่เรียกว่า “ภาวะการสูญเสียความจำให้กับเทคโนโลยีดิจิทัล“ (Digital amnesia) ซึ่งเป็นภาวะที่เรามอบหน้าที่การจำของเราที่เคยใช้งานมาในอดีตให้กับเทคโนโลยีทำหน้าที่แทน
จากการศึกษาพฤติกรรมการใช้ความจำของผู้ใหญ่จำนวน 6,000 คนใน สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส เยอรมนี อีตาลี สเปน เบลเยียม และเนเธอร์แลนด์ พบว่า มากกว่าหนึ่งในสามมักจะใช้คอมพิวเตอร์แทนความจำของตัวเองก่อนเสมอเมื่อต้องการหาข้อมูล โดยประชากรในสหราชอาณาจักรจะมีจำนวนมากกว่าประเทศอื่นๆเพราะมากกว่าครึ่งของผู้ตอบแบบสำรวจจะหาข้อมูลผ่านระบบออนไลน์ก่อนที่จะใช้ความจำของตัวเอง
ข้อมูลการศึกษาเรื่องความสามารถในการจำเลขหมายโทรศัพท์ของประชากรในสหราชอาณาจักรทำให้พบว่าความสามารถในการจำเลขหมายโทรศัพท์ของคนใกล้ชิดมีอัตราต่ำกว่าประเทศอื่นๆในยุโรป ในสหราชอาณาจักรเองมีผู้สามารถจำเลขหมายโทรศัพท์ของคนใกล้ชิดได้เพียง 51 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับอีตาลีซึ่งสูงถึง 80 เปอร์เซ็นต์
การมอบความจำของตัวเองให้กับเทคโนโลยีนั้น จากการศึกษาพบว่าอาจมีความเสี่ยงต่อการยับยั้งการพัฒนาความจำระยะยาวของมนุษย์ ซึ่งจะทำให้ศักยภาพในการจำของมนุษย์ลดลงได้
เด็กที่ใช้เวลาอยู่กับหน้าจออาจส่งผลกระทบต่อพัฒนาการและพฤติกรรม
จากข้อมูลงานเสวนาหัวข้อ “แนวทางการกำหนดช่วงอายุที่เหมาะสมสำหรับเด็กในการใช้สื่อออนไลน์ผ่านสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ต” และการประชุมวิชาการร่วมคณะแพทยศาสตร์สามสถาบัน พ.ศ. 2560 (จุฬาฯ-รามาฯ-ศิริราช) ได้สรุปผลการศึกษาและข้อมูลวิชาการที่น่าสนใจ ซึ่งบ่งชี้ว่า การรับสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ไม่ว่าจะเป็นโทรทัศน์ หรือโทรศัพท์มือถือ รวมถึงแท็บเล็ต ส่งผลให้เด็กเล็กมีความผิดปกติทางพัฒนาการและพฤติกรรมอย่างชัดเจน และหากลดการรับสื่อเหล่านั้น พฤติกรรมก็อาจกลับมาเป็นปกติได้ (ดูอ่านประกอบ)
นอกจากนี้ยังมีข้อมูลสนับสนุนจากแหล่งอื่นเช่น ข้อมูลจากข้อเสนอแนะของ reSTART ซึ่งเป็นศูนย์บำบัดการเสพติดอินเทอร์เน็ตแนะนำให้ผู้ปกครองหลีกเลี่ยงการให้เด็กอายุต่ำกว่า 2 ขวบอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์ ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลจาก สถาบันกุมารเวชศาสตร์แห่งอเมริกา (The American Academy of Pediatrics : AAP ) ที่แนะนำให้หลีกเลี่ยงไม่ให้ทารกและเด็กอายุต่ำกว่า 2 ขวบอยู่หน้าจอทีวีและสื่อบันเทิงอื่นๆ ทั้งนี้เพราะว่าเด็กจะมีพัฒนาการทางสมองที่รวดเร็วในช่วงปีแรกและเด็กจะเรียนรู้การอยู่ร่วมกับสังคมได้โดยผ่านทางมนุษย์ด้วยกันเอง มิใช้ผ่านจอคอมพิวเตอร์
ปัญหาจากเทคโนโลยียังพอมีทางออกถ้ารู้ทัน
แม้ว่าเรื่องของ “การเสพติดทางพฤติกรรม” ทางเทคโนโลยีและภัยอื่นๆจากเทคโนโลยียังมีผู้ให้ความสนใจและตระหนักรู้ไม่มากนัก แต่บางประเทศในเอเชีย เช่น จีน เกาหลี ฯลฯ ต่างให้ความสนใจและหามาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาที่จะเกิดขึ้นกับประชาชนโดยเฉพาะอย่างยิ่งกับเด็กและเยาวชนอย่างเข้มข้น
เมื่อหลายปีก่อนประเทศจีนเป็นประเทศแรกที่ยอมรับว่า “การเสพติดอินเทอร์เน็ต” คือโรคที่ต้องทำการรักษาโดยได้ประกาศว่า “การเสพติดอินเทอร์เน็ต” คือภัยคุกคามต่อสุขภาพอันดับหนึ่งของประชากรวัยรุ่น ปัจจุบันมีคลินิกที่เปิดการรักษาอาการเสพติดอินเทอร์เน็ตในจีนราว 400 แห่งและมีผู้ที่เข้าข่ายเสพติดอินเทอร์เน็ตที่เป็นวัยรุ่นราว 24 ล้านคนและปัญหาเหล่านี้กำลังเพิ่มขึ้น
เช่นเดียวกับประเทศพัฒนาอื่นๆ ประเทศสหรัฐอเมริกากำลังเผชิญปัญหาประชากรใช้อินเทอร์เน็ตมากเกินไป โดยพบว่า มีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตมากกว่า 20 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ราว 43 ล้านคนและผู้ใหญ่ที่เล่นเกมอินเทอร์เน็ตเกือบ 14 เปอร์เซ็นต์ มีความเสี่ยงที่จะเข้าข่าย “ความผิดปกติจากการเล่นเกมอินเทอร์เน็ต” (Internet Gaming Disorder) ผู้เล่นเกมออนไลน์ราว60 เปอร์เซ็นต์ใช้เวลาประมาณ 2-4 ชั่วโมงต่อวันและประมาณ 15 เปอร์เซ็นต์ใช้เวลามากกว่า 4 ชั่วโมงต่อวันในการเล่นเกม
แม้ว่ากำลังเผชิญต่อปัญหาดังกล่าวสหรัฐอเมริกาเองก็ยังไม่ได้บรรจุพฤติกรรม ”การเสพติดอินเทอร์เน็ต” ไว้ใน “ คู่มือการวินิจฉัยและสถิติสำหรับความผิดปกติทางจิต” ฉบับที่ 5 (The Diagnostic and Statistical Manual of Mental Disorders– 5th Edition : DSM 5) ของสมาคมจิตแพทย์แห่งสหรัฐอเมริกา(ข้อมูล 20 July 2016) เนื่องจากยังมีข้อโต้แย้งในเรื่อง วิธีการวัดว่าจำนวนเท่าใดจึงถือว่าใช้อินเทอร์เน็ตมากเกินไป อาการที่เกิดขึ้น รวมทั้งภาษาที่จะใช้อธิบายเรื่องการเสพติดอินเทอร์เน็ตด้วย คงมีเฉพาะเรื่องการพนันซึ่งถือว่าเป็นการเสพติดทางพฤติกรรมที่ได้การยอมรับและบรรจุไว้ในคู่มือดังกล่าว
สำหรับประเด็นเรื่อง “ความผิดปกติจากการเล่นเกมอินเทอร์เน็ต” นั้นแม้ว่ามีการบรรจุอยู่ในคู่มือนี้แล้วก็ตามแต่ยังไม่ได้ข้อยุติและต้องศึกษารายละเอียดต่อไป ต่างกับประเทศจีนและเกาหลีที่เดินนำอย่างจริงจังต่อเรื่องการเสพติดอินเทอร์เน็ตไปก่อนแล้ว
กรณีของผลกระทบด้านเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์กับเด็กนั้น แม้ว่าจะมีข้อเสนอแนะให้การหลีกเลี่ยงไม่ให้เด็กที่อายุน้อยกว่า 2 ขวบอยู่กับหน้าจอก็ตาม แต่ในมุมมองของบางองค์กรเห็นว่าเทคโนโลยีเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ในชีวิตประจำวันของมนุษย์ สถาบันบางแห่ง เช่น Zero to Three จึงเสนอทางออกต่อเรื่องนี้ว่า ผู้ปกครองเด็กเล็กอาจใช้หน้าจอเพื่อการเรียนรู้อย่างมีคุณภาพได้หากมีผู้ใหญ่คอยให้คำแนะนำอย่างเคร่งครัด เช่น สร้างประสบการณ์การเรียนรู้โลกแห่งความจริงแก่เด็กผ่านทางจอ การเรียนรู้โดยการโต้ตอบกับคอมพิวเตอร์แทนการสื่อสารทางเดียวและการเรียนรู้จากเนื้อหาสาระที่มีประโยชน์จากจอเสมือนการอ่านหนังสือแทนการเรียนรู้เฉพาะเรื่องเทคโนโลยีอย่างเดียว เป็นต้น
เพื่อสร้างความปลอดภัยให้กับลูกหลานต่อการใช้เทคโนโลยี พ่อ แม่ ในยุคนี้ต้องรู้ทันเทคโนโลยีและสั่งสอนลูกให้ปฏิบัติตัวเพื่ออยู่กับเทคโนโลยีอย่างปลอดภัย เช่นเดียวกับการสอนให้ กินข้าว แปรงฟัน อาบน้ำ ข้ามถนน ฯลฯ และควรมีการบรรจุสิ่งเหล่านี้ไว้ในหลักสูตรการเรียนตั้งแต่เล็กรวมทั้งจัดทำภาพยนตร์สั้นที่เข้าใจง่ายๆเพื่อให้ผู้ปกครองและเด็กได้ซึมซับถึงภัยของเทคโนโลยีเสียตั้งแต่ต้น
จากผลการศึกษาและการทดลองจำนวนมากที่เผยแพร่ตามสื่อต่างๆตลอดมานั้น น่าจะเป็นข้อมูลที่ชี้ชัดแล้วว่าผลกระทบจากเทคโนโลยีที่มีต่อมนุษย์นั้นมีความละเอียดอ่อนและเกิดขึ้นอย่างช้าๆโดยไม่รู้ตัว เป็นปัญหาทางโครงสร้างของสังคมและการใช้ชีวิตประจำวันของมนุษย์ซึ่งต้องการการรับรู้และเตือนภัยจากภาคต่างๆของสังคมอย่างเข้มงวด ต่อเนื่องและเป็นรูปธรรม มีผู้รับผิดชอบที่ชัดเจน หากไม่มีมาตรการดังกล่าวก็เท่ากับว่า เรากำลังมอบสิ่งที่เป็นธรรมชาติของมนุษย์ให้อยู่ในการควบคุมของเทคโนโลยี โดยขาดความตระหนักว่าสิ่งเหล่านี้อาจกลับมาทำร้ายตัวเราเองหรือลูกหลานเราได้ในอนาคตซึ่งเท่ากับว่าคนไทยกำลังเผชิญความเสี่ยงต่อการใช้เทคโนโลยีอย่างไม่มีภูมิคุ้มกันใดๆเลย
ภาพประกอบ:9TANA