จนท.ท้องถิ่นถูกสอบอื้อ!ป.ป.ช.แปลกใจสำนักวิชาการ ม.สารคามฯจัดงานรับมือ-ยันไม่เคยเชิญ
ป.ป.ช.มหาสารคาม ยัน สำนักวิชาการ ม.มหาสารคาม ไม่เคยเชิญ จนท.ไปบรรยายข้อกฎหมาย ทั้งที่เชิญไม่ยาก เป็นหน้าที่ในการป้องกันการทุจริตอยู่แล้ว แปลกใจตอนเห็นหัวข้องานสัมมนาแบบนี้ เผยตอนนี้มี จนท.-ขรก.ท้องถิ่นถูกสอบอยู่อื้อ ผลพวงทุจริตสอบพนักงานส่วนตำบลฉาว
จากกรณีสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org เผยแพร่ข่าวว่า สำนักบริการวิชาการ ม.มหาสารคาม เตรียมจัดงานสัมมนา ‘การรับมือหน่วยงานตรวจสอบสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) อย่างชอบธรรม’ ในวันที่ 14-16 ก.ย. 2561 โดยเรียกเก็บค่าเข้างานรายละ 3,900 บาท แต่ต่อมาเมื่อเผยแพร่ข้อมูลได้ประมาณ 3 ชั่วโมงเศษ ผอ.สำนักบริการวิชาการ ม.มหาสารคาม ระบุว่าได้ยกเลิกการจัดงานนี้ไปแล้ว เพราะเกรงว่าจะมีคนเข้าใจผิด พร้อมยืนยันว่า ไม่ได้เป็นการสัมมนาเพื่อหาช่องโหว่ในกฎหมาย ป.ป.ช. หรือ สตง. แต่เพื่อวิเคราะห์กฎหมายไม่ให้ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นทำผิด
อย่างไรก็ดีเจ้าหน้าที่จากสำนักบริการวิชาการ ม.มหาสารคาม อ้างว่า เคยเชิญเจ้าหน้าที่จาก ป.ป.ช. และ สตง. เพื่อขอให้มาบรรยายแล้ว แต่เจ้าหน้าที่จากทั้ง 2 หน่วยงานเชิญยาก และไม่ยอมมา เพราะไม่ใช่หน้าที่นั้น (อ่านประกอบ : สำนักวิชาการ ม.สารคามฯสั่งเลิกงานรับมือ ป.ป.ช.-สตง.หลัง'อิศรา'ตีข่าว-หวั่นเข้าใจผิด, ไส้ในสัมมนารับมือ ป.ป.ช.-สตง. สำนักวิชาการ ม.สารคามฯ-เปิดช่องท้องถิ่นซิกแซก?)
เมื่อวันที่ 31 ก.ย. 2561 นายวิโรจน์ ฆ้องวงศ์ ผอ.สำนักงาน ป.ป.ช.มหาสารคาม ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ถึงกรณีนี้ยืนยันว่า จากการตรวจสอบเอกสารการเชิญของหน่วยงานต่าง ๆ ใน จ.มหาสารคาม ไม่ปรากฏว่า มีเอกสารการเชิญของสำนักบริการวิชาการ ม.มหาสารคาม เพื่อขอเจ้าหน้าที่ไปบรรยายให้ความรู้เกี่ยวกับกฎหมายของ ป.ป.ช. แต่อย่างใด
นายวิโรจน์ กล่าวว่า เบื้องต้นพอเห็นหัวข้องานสัมมนาของสำนักบริการวิชาการ ม.มหาสารคาม เท่าที่ตรวจสอบในกำหนดการ และรายละเอียดเบื้องต้นก็ค่อนข้างแปลกใจ และตกใจ แต่ไม่รู้ข้อเท็จจริงว่าหากงานสัมมนานี้เกิดขึ้น วิทยากรจะบรรยายเนื้อหาแบบไหน อย่างไรก็ดีหน้าที่หลักของสำนักงาน ป.ป.ช.มหาสารคาม นอกเหนือจากรับเรื่องร้องเรียนทุจริต และแสวงหาข้อเท็จจริงแล้ว การไปบรรยายให้ความรู้กับข้าราชการ หรือเจ้าหน้าที่ส่วนท้องถิ่นเพื่อให้เข้าใจข้อกฎหมาย และการกระทำความผิด ก็เป็นอีกหน้าที่หนึ่งที่สำคัญ เพราะ ป.ป.ช. ไม่ได้มีหน้าที่ปราบปราม แต่มีหน้าที่ป้องกันการทุจริตด้วย ตามยุทธศาสตร์ของสำนักงาน ป.ป.ช.
“ทุกวันนี้มีหลายหน่วยงานเชิญไปให้ความรู้ด้านกฎหมาย ป.ป.ช. เช่นกัน เพื่อให้ข้าราชการ หรือเจ้าหน้าที่รัฐเข้าใจว่ากฎหมายใหม่ ต้องปฏิบัติงานอย่างไร ทำยังไงบ้าง เอาไปเป็นแนวทางปฏิบัติ เพราะมีบางคนไม่รู้” นายวิโรจน์ กล่าว
นายวิโรจน์ กล่าวด้วยว่า เรื่องร้องเรียนกล่าวหาเจ้าหน้าที่รัฐ และข้าราชการส่วนท้องถิ่นใน จ.มหาสารคาม ค่อนข้างมีจำนวนมาก และ จ.มหาสารคาม เป็นจังหวัดเดียวที่เจ้าหน้าที่รัฐ ข้าราชการ และผู้บริหารส่วนท้องถิ่นถูกมาตรา 44 แห่งรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557 มากที่สุด ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องจากกรณีทุจริตจัดสอบบรรจุพนักงานส่วนตำบล
“ที่ผ่านมา มีเจ้าหน้าที่รัฐบางรายที่ถูก ป.ป.ช. ไต่สวนมาสอบถามแนวทางแหมือนกันว่า ต้องทำอย่างไรต่อ เราก็ได้อธิบายให้เขาฟังตามข้อกฎหมายทั้งหมด เมื่อถูกสอบวินัย ถูกสอบอาญา ต้องทำอะไรต่อบ้าง เป็นต้น ดังนั้นหากต้องการรู้ข้อกฎหมาย หรือขั้นตอนการไต่สวนของ ป.ป.ช. สามารถเชิญเจ้าหน้าที่ ป.ป.ช. ไปอบรม หรือบรรยายแนวทางต่อสู้คดีได้” ผอ.สำนักงาน ป.ป.ช.มหาสารคาม กล่าว