องค์คณะวินิจฉัยอุทธรณ์ศาลฎีกายกฟ้อง ‘สุชาติ’คดีสลาย พธม. ยันทำสมควรแก่เหตุ
องค์คณะวินิจฉัยอุทธรณ์ศาลฎีกา คดีสลายพันธมิตรฯ ยกฟ้อง พล.ต.ท.สุชาติ อดีต ผบช.น. ชี้คำอุทธรณ์ ป.ป.ช. ฟังไม่ขึ้น ยันกลุ่มผู้ชุมนุมมีอาวุธ แก๊สน้ำตาไม่ทำให้ใครเสียชีวิต ปฏิบัติหน้าที่สมควรแก่เหตุ
จากกรณีศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พิพากษายกฟ้องจำเลย 4 ราย ได้แก่ นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตรองนายกรัฐมนตรี พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ อดีต ผบ.ตร. และ พล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว อดีต ผบช.น. คดีสั่งสลายการชุมนุมกลุ่มพันธมิตรฯเมื่อปี 2551 นั้น
ต่อมาคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ในฐานะโจทก์ ได้ยื่นคำร้องอุทธรณ์เฉพาะ พล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว จำเลยที่ 4 แก่ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา ส่วนจำเลยอีก 3 ราย ที่เหลือไม่ยื่นอุทธรณ์นั้น (อ่านประกอบ : ‘สมชาย-บิ๊กจิ๋ว-พัชรวาท’รอด!ป.ป.ช. ยื่นอุทธรณ์คดีสลาย พธม.แค่‘สุชาติ’รายเดียว)
เมื่อวันที่ 28 ส.ค. 2561 รายงานข่าวจากศาลฎีกาแจ้งว่า องค์คณะวินิจฉัยเรื่องอุทธรณ์คดีนี้ มีมติเสียงข้างมาก ยกฟ้อง พล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว เนื่องจากเห็นว่าคำอุทธรณ์ของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ฟังไม่ขึ้น และจำเลยไม่มีเจตนาพิเศษที่จะสลายการชุมนุม
โดยองค์คณะวินิจฉัยอุทธรณ์คดีนี้ นั่งบัลลังก์อ่านคำพิพากษาอุทธรณ์คดีสั่งสลายการชุมนุมกลุ่มพันธมิตรฯปี 2551 ที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. อุทธรณ์เฉพาะ พล.ต.ท.สุชาติ โดยองค์คณะวินิจฉัยอุทธรณ์คดีนี้ พิเคราะห์แล้วเห็นว่า การสลายการชุมนุมทั้งช่วงเช้าและบ่ายบริเวณรัฐสภาไปจนถึงตอนค่ำที่บริเวณหน้ากองบัญชาการตำรวจนครบาลนั้น เป็นการกระทำที่สมควรแก่เหตุเนื่องจากต้องเปิดทางให้สมาชิกรัฐสภาเข้าไปประชุมเพื่อฟังการแถลงนโยบายจากรัฐบาล และเป็นการปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรี ประกอบกับมีการเจรจาและแจ้งเตือนก่อนที่จะใช้แก๊สน้ำตาแล้ว อีกทั้งผู้ชุมนุมยังใช้หนังสติ๊ก ก้อนหิน แท่งเหล็กใส่เจ้าหน้าที่ ทำให้จำเป็นต้องใช้แก๊สน้ำตาในการควบคุมฝูงชน ส่วนในช่วงค่ำ ผู้ชุมนุมไม่มีเหตุที่จะต้องไปบริเวณหน้ากองบัญชาการตำรวจนครบาล
อีกทั้งจากการพิสูจน์ศพผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บไม่สามารถยืนยันได้ว่าเป็นผลจากแก๊สน้ำตา ในทางตรงกันข้ามกลับพบสารที่มีอยู่ในส่วนประกอบของระเบิดซีโฟร์ และระเบิดแสวงเครื่องทำเอง รวมถึงผู้เชี่ยวชาญด้านแก๊สน้ำตายืนยันว่า แก๊สน้ำตาไม่ทำให้ผู้ใดเสียชีวิต นอกจากนี้ในประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี ระบุว่า แก๊สน้ำตาเป็นเครื่องมือในการควบคุมฝูงชนตามแนวทางของนานาประเทศ
องค์คณะวินิจฉัยอุทธรณ์คดีนี้ จึงมีมติเสียงข้างมาก พิพากษายืนตามคำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่ยกฟ้องจำเลยไปก่อนหน้านี้ คำอุทธรณ์ของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ฟังไม่ขึ้น
ภายหลังคำพิพากษา พล.ต.ท.สุชาติ ที่เดินทางมารับฟังคำพิพากษาด้วย กล่าวว่า พอใจกับคำพิพากษา และน้อมรับ หลังจากสู้คดีมานานเกือบสิบปี ยืนยันว่า ปฏิบัติตามหน้าที่และกฎหมาย แต่เห็นว่าคำพิพากษานี้ไม่สามารถเป็นแนวปฏิบัติของตำรวจได้ เพราะต้องดูแต่ละสถานการณ์ ถือเป็นบทเรียนให้เจ้าหน้าที่ตำรวจต้องมีความรอบคอบในการปฏิบัติ รวมทั้งต้องยึดกฎหมายด้วย
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า คดีดังกล่าว คณะกรรมการ ป.ป.ช. ยื่นอุทธรณ์แก่ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา เฉพาะรายของ พล.ต.ท.สุชาติ (จำเลยที่ 4) เนื่องจากเห็นว่า เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจนครบาล มีอำนาจหน้าที่สั่งการและบังคับบัญชาข้าราชการตำรวจสังกัดกองบัญชาการตำรวจนครบาล และได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่ผู้บัญชาการเหตุการณ์ตามแผนรักษาการความสงบ (กรกฎ/48) ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยมีอำนาจหน้าที่สั่งการและบังคับบัญชานายตำรวจอื่นที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์สลายการชุมนุม โดยในการทำหน้าที่ผู้บัญชาการเหตุการณ์ดังกล่าว จำเลยที่ 4 ย่อมทราบถึงสถานการณ์การใช้แก๊สน้ำตาโดยตลอดช่วงเวลาการสลายการชุมนุม ตั้งแต่ช่วงเช้า ช่วงบ่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลาพลบค่ำขณะรักษาความปลอดภัยให้แก่กองบัญชาการตำรวจนครบาลอันเป็นบริเวณที่เกิดเหตุ โดยเป็นผู้สั่งการหรือรู้เห็นยินยอมให้ผู้ใต้บังคับบัญชาระดับรองลงไปสั่งการให้เจ้าหน้าที่ตำรวจผู้ปฏิบัติยิงหรือขว้างระเบิดแก๊สน้ำตาเข้าใส่กลุ่มผู้ชุมนุม ทำให้มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต ทั้งที่จำเลยที่ 4 ซึ่งเป็นผู้บัญชาการเหตุการณ์สมควรประเมินสถานการณ์และระงับยับยั้งเหตุการณ์ เพื่อบรรเทาหรือป้องกันมิให้เกิดอันตรายแก่ผู้ชุมนุมเพิ่มเติม
การที่จำเลยที่ 4 ไม่ได้มีคำสั่งระงับยับยั้งหรือปรับเปลี่ยนวิธีการใช้แก๊สน้ำตาต่อผู้ชุมนุม จึงเป็นการปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหาย อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ที่ประชุมจึงมีมติให้อุทธรณ์คำพิพากษาของศาลฎีกาฯ เฉพาะจำเลยที่ 4 ต่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่ง ทางการเมืองมีคำพิพากษา ทั้งนี้ ตามมาตรา 195 วรรคสี่ แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ต่อไป
อ่านประกอบ :
ป.ป.ช.ถกอุทธรณ์คดีสลาย พธม. 29 ส.ค. -ขอ 'วัชรพล'ถอนตัวหวั่นถูกวิจารณ์มีส่วนได้เสีย
เจาะคำวินิจฉัยผู้พิพากษาเสียงข้างน้อยคดีสลาย พธม. แก๊สน้ำตารุนแรงทำคนเจ็บ-ตายได้?
ผู้ชุมนุมขว้างน็อต-มีระเบิดปิงปอง!คำพิพากษาฉบับเต็มชี้ใช้แก๊สน้ำตาสลาย พธม.ชอบแล้ว
'สมชาย-ชวลิต-พัชรวาท-สุชาติ' รอด! ศาลฎีกาฯ ยกฟ้องคดีสลายพันธมิตรฯปี 51
คลอดคำวินิจฉัย 40 หน้า คดีสลายพันธมิตรฯ-ไม่มีเจตนาพิเศษให้ ตร.ทำร้ายผู้ชุมนุม
‘วัชรพล’รับสัมพันธ์‘วงษ์สุวรรณ’คือจุดอ่อนชีวิต! ยันตอบสังคมได้ปมอุทธรณ์คดีสลาย พธม.
ยื่น ป.ป.ช.อุทธรณ์คดีสลาย พธม.-‘วีระ’ ย้อน’บิ๊กตู่’คสช.เคยฉีก รธน.ผิดไหม
7 ส.ค.พธม.ยื่น ป.ป.ช.จี้อุทธรณ์คดีสลายชุมนุม-‘วิชา’ยันศาล ปค.ชี้แล้ว จนท.รัฐทำโดยมิชอบ
9ปีรูดม่านคดีสลาย พธม. เจาะคำพิพากษาศาลไฉนยกฟ้อง‘สมชาย-บิ๊กจิ๋ว-พัชรวาท-สุชาติ’?
'สมชาย-ชวลิต-พัชรวาท-สุชาติ' รอด! ศาลฎีกาฯ ยกฟ้องคดีสลายพันธมิตรฯปี 51
เคารพคำพิพากษาแต่ไม่เห็นพ้อง!มติ พธม.ยื่น ป.ป.ช.อุทธรณ์คดีสลายชุมนุมปี'51
ยังไม่ได้ข้อสรุปอุทธรณ์คดีสลาย พธม.!ป.ป.ช.สั่ง จนท.ดูคำพิพากษา-เชื่อทันกรอบ รธน.
‘สมชาย’แถลงปิดคดีปัดสั่งสลายชุมนุม เผย‘พัชรวาท-สุชาติ’ออกหน้าดูเอง–พิพากษา 2 ส.ค.
เบื้องหลัง!ความพยายามสู้นอกศาลของ ‘สมชาย-พวก’ก่อนรูดม่านปิดคดีสลาย พธม.?
หมายเหตุ : ภาพประกอบ พล.ต.ท.สุชาติ จาก ไทยรัฐออนไลน์