คลอดคำวินิจฉัย 40 หน้า คดีสลายพันธมิตรฯ-ไม่มีเจตนาพิเศษให้ ตร.ทำร้ายผู้ชุมนุม
ศาลฎีกาฯคลอดคำวินิจฉัยกลาง 40 หน้า คดีสลายชุมนุมกลุ่มพันธมิตรฯ ปี 51 ก่อนยกฟ้อง ‘สมชาย-บิ๊กจิ๋ว-พัชรวาท-สุชาติ’ ระบุจำเลย ไม่อาจอนุมานได้ว่าแก๊สน้ำตาจะก่อให้เกิดอันตรายร้ายแรง ไม่มีเจตนาพิเศษเพื่อให้ ตร. ทำร้ายผู้ชุมนุมให้ได้รับอันตราย
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า เมื่อวันที่ 24 ส.ค.2560 ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ได้เผยแพร่คำวินิจฉัยกลางและคำวินิจฉัยส่วนตนของผู้พิพากษา 8 คน คดีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ที่1 พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ที่ 2 พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ที่ 3 และ พล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว ที่ 4 ร่วมเป็นจำเลย ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ (คดีหมายเลขแดงที่ อม.154/2560 วันที่ 2 ส.ค.2560) ร่วมกันเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบกรณีมีคำสั่งสลายการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยที่คัดค้านการแถลงนโยบายของรัฐบาลต่อรัฐสภาของนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกรัฐมนตรี เป็นเหตุให้เกิดการบาดเจ็บและล้มตายของประชาชนผู้ร่วมชุมนุมจำนวนมาก เมื่อวันที่ 6 และ 7 ต.ค.2551 มีเนื้อหาความยาว 40 หน้า ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 2 ส.ค.2560 ศาลฎีกาฯได้พิพากษายกฟ้องจำเลยทั้ง 4 คน ไม่ผิดตามข้อกล่าวหา
สำนักข่าวอิศรารายงาน ประเด็นการใช้แก๊สน้ำตาที่ผลิตจากประเทศจีนโดยการยิงและการขว้าง คำพิพากษาระบุว่า มีความเห็นที่ต่างกันระหว่างพยานโจทก์กับพยานจำเลยซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญในเรื่องผลที่เกิดจากการใช้แก๊สน้ำตา ฉะนั้น แม้เหตุการณ์ปะทะกันระหว่างกลุ่มผู้ชุมนุมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ในช่วงเช้าและช่วงบ่ายจะมีผู้ได้รับบาดเจ็บ กับช่วงเย็นจะผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตก็ตาม ซึ่ง ณ สถานการณ์เช่นนั้นจึงเป็นการยากสำหรับเจ้าหน้าที่ตำรวจผู้ปฎิบัติหน้าที่ราชการที่ไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญด้านแก๊สน้ำตา เป็นแต่เพียงผู้มีความชำนาญในการใช้แก๊สน้ำตาเท่านั้นที่จะชี้ในทันใดว่าแก๊สน้ำตาที่ใช้นั้นจะเป็นเหตุให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต ตราบใดที่การชุมนุมยังไม่สงบ เจ้าหน้าที่ตำรวจยังต้องมีหน้าที่ปฏิบัติราชการตามกฎหมายเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยไม่ให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลและทรัพย์สินของทางราชการ จำเลยที่ 4 ซึ่งมีหน้าที่ป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดทางอาญา รักษาความสงบเรียบร้อย ความปลอดภัยของประชาชน และความมั่นคงของราชอาณาจักรตามกฎหมาย เหตุที่เจ้าหน้าที่ตำรวจระดับผู้ปฎิบัติต้องผลักดันผู้ชุมนุมช่วงเช้าก็เพื่อเปิดทางให้สมาชิกรัฐสภาเข้าร่วมการประชุม เพื่อพิจารณาจากภาพเหตุการณ์ และคำสั่งศาลปกครอง ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจใช้มาตรการจากเบาไปหาหนักโดยมีการเจรจาและประกาศแจ้งเตือนขอให้เปิดทางแล้ว แต่ผู้ชุมนุมไม่ยินยอมจึงต้องผลักดันโดยใช้โล่จนถูกผู้ชุมนุมทำร้าย ทั้งไม่อาจใช้รถถังดับเพลิงได้เพราะภารกิจของกองบังคับการตำรวจดับเพลิงโอนไปสังกัดกรุงเทพมหานครแล้วและไม่ได้รับการสนับสนุน ตามหนังสือขอสนับสนุนรถไฟฟ้าส่องสว่างและรถดับเพลิง จึงจำเป็นต้องใช้แก๊สน้ำตาอันเป็นอุปกรณ์สำหรับควบคุมฝูงชนตามมาตรฐานสากล ตามประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งหากไม่ใช้แก๊สน้ำตาก็ไม่สามารถที่จะรักษาความสงบเรียบร้อยและรักษาสถานที่ราชการอันเป็นทรัพย์สินของแผ่นดินไว้ได้
ประกอบกับเจ้าหน้าที่ตำรวจเคยใช้มาก่อนและในระหว่างการใช้ฝึกซ้อมก็ไม่ปรากฏว่าจะทำให้ได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิตแต่อย่างใด เจ้าหน้าที่ตำรวจไม่มีเจตนาทำร้ายกลุ่มผู้ชุมนุมและเชื่อโดยสุจริตว่าแก๊สน้ำตาไม่เป็นอันตรายร้ายแรงต่อบุคคล ทั้งยังปรากฏจากวีดิทัศน์ ว่าระหว่างปฏิบัติมีเสียงของฝ่ายเจ้าหน้าที่ตำรวจผ่านเครื่องขยายเสียงเตือนให้ผู้ชุมนุมถอยไปยังแยกอู่ทองใน
จึงเชื่อว่าก่อนการเข้าผลักดันกลุ่มผู้ชุมนุมนั้น เจ้าหน้าที่ตำรวจมีการเจรจาและประกาศแจ้งเตือนล่วงหน้าแล้ว เมื่อผู้ชุมนุมไม่ยินยอมเปิดทางและเจ้าหน้าที่ตำรวจใช้โล่ผลักดันแต่ถูกตอบโต้ การใช้แก๊สน้ำตาจึงเป็นไปโดยลำดับขั้นตอน อันเป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามความจำเป็นและเหมาะสมกับสถานการณ์ตามแผนรักษาความสงบ (กรกฎ/48) ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งเป็นระเบียบปฏิบัติเมื่อเกิดเหตุการณ์การชุมนุมและอยู่ภายใต้กรอบของกฎหมาย
แม้ว่าจะปรากฏภาพเหตุการณ์เผชิญหน้ากันระหว่างผู้ชุมนุมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจตามสื่อต่างๆ วันเกิดเหตุว่ามีผู้ได้รับบาดเจ็บ ในช่วงเช้าและบ่าย ส่วน นางสาวอังคณา ระดับปัญญาวุฒิ เสียชีวิตในช่วงค่ำก็ตาม แต่ในขณะนั้นจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 ก็ไม่อาจจะอนุมานได้เช่นกันว่าแก๊สน้ำตาที่เจ้าหน้าที่ตำรวจใช้จะก่อให้เกิดอันตรายร้ายแรงต่อประชาชนผู้ชุมนุมได้ ทั้งข้อเท็จจริงก็ไม่ได้หมายความว่า จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 มีเจตนาพิเศษเพื่อให้เจ้าหน้าที่ตำรวจผู้ปฏิบัติตามหน้าที่ไปทำร้ายผู้ชุมนุมให้ได้รับอันตรายแก่กายและเสียชีวิต อันเป็นการกระทำเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด
องค์คณะผู้พิพากษามีมติเสียงข้างมากว่า พยานหลักฐานตามทางไต่สวนฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 และที่ 3 ละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ และจำเลยที่ 4 ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157พิพากษายกฟ้อง
ผู้สื่อข่าวรายงาน พยานฝ่ายโจทก์ส่วนหนึ่ง คือ นายสำราญ รอดเพชร นายคำนูณ สิทธิสมาน เล่าเหตุการณ์ก่อนเกิดเหตุ ความเป็นมา และการสลายการชุมนุมของเจ้าหน้าที่
ขณะที่ พยานฝ่ายจำเลยเป็นนายตำรวจที่เกี่ยวข้องกับการสลายการชุมนุมหลายคน พยานคนหนึ่งคือนายสุชาติ ลายน้ำเงิน (อดีต ส.ส.ลพบุรี พรรคไทยรักไทย) เบิกความว่าหลังประธานรัฐสภาปิดการประชุมแล้ว พยานและสมาชิกไม่สามารถเดินทางออกไปได้ ได้ยินเสียงแกนนำกลุ่มผู้ชุมนุมคนหนึ่งตะโกนว่า ‘ฆ่ามันๆ’หลายครั้งต่อเนื่องกัน พร้อมแสดงอาการที่จะบุเข้ามาไปในอาคารรัฐสภา แกนนำได้อยู่บนรถได้พูดว่าจะต้องเข้าไปจับกุมตัวนายกรัฐมนตรี จับสภาผู้แทนราษฎร จึงเป็นเหตุให้เจ้าหน้าที่ตำรวจต้องดูแลรักษาความสงบเรียบร้อยบริเวณหน้าอาคารรัฐสภาปฏิบัติการใช้แก๊สน้ำตาตามแผนรักษาความสงบ (กรกฎ/48) (อ่านคำวินิจฉัยอย่างละเอียดในลิงก์ด้านล่าง)
ก่อนหน้านี้ ภายหลังจากศาลฎีกาฯยกฟ้อง ทาง ป.ป.ช.อ้างว่าจะขอดูคำวินิจฉัยกลางก่อนว่าจะยื่นอุทธรณ์คำตัดสินของศาลฎีกาฯหรือไม่
(อ่านฉบับเต็มที่นี่ http://www.supremecourt.or.th/file/central.pdf)
อ่านประกอบ:
'สมชาย-ชวลิต-พัชรวาท-สุชาติ' รอด! ศาลฎีกาฯ ยกฟ้องคดีสลายพันธมิตรฯปี 51