- Home
- Isranews
- รายงาน-สกู๊ป
- เบื้องหลัง!ความพยายามสู้นอกศาลของ ‘สมชาย-พวก’ก่อนรูดม่านปิดคดีสลาย พธม.?
เบื้องหลัง!ความพยายามสู้นอกศาลของ ‘สมชาย-พวก’ก่อนรูดม่านปิดคดีสลาย พธม.?
“…แม้ว่าความพยายามแรกจะ ‘เหลว’ แต่การต่อสู้ ‘นอกศาล’ ของฝ่ายนายสมชาย กับพวก ยังไม่จบแค่นี้ … นายสมชาย พล.ต.อ.พัชรวาท และ พล.ต.ท.สุชาติ ยื่นเรื่องต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ขอให้ ‘ถอนฟ้อง’ คดีดังกล่าวจากศาลฎีกาฯด้วย (น่าสังเกตว่าคราวนี้ไม่มีชื่อของ พล.อ.ชวลิต) ส่งผลให้เกิดกระแสต่อต้านอย่างมาก ทั้งจากกลุ่มผู้เสียหายจากการสลายการชุมนุมดังกล่าว ประชาชนทั่วไป รวมถึง ‘คนใน’ ป.ป.ช. หลายรายที่ถูกกดดันให้รับ ‘เผือกร้อน’…”
วันที่ 30 มิ.ย. 2560 เป็นอีกวันสำคัญวันหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทย เนื่องจากเป็นวันแถลงปิดคดีสลายการชุมนุมกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) เมื่อปี 2551
คดีนี้คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติชี้มูลความผิดนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) และ พล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (ผบช.น.) ฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตามประมวลกฏหมายอาญา มาตรา 157 พร้อมส่งสำนวนให้อัยการสูงสุด (อสส.) ดำเนินการฟ้องต่อศาล
อย่างไรก็ดี อสส. เห็นว่า พยานหลักฐานทางคดียังไม่สมบูรณ์ จึงมีมติตั้งคณะกรรมการร่วมระหว่างฝ่ายอัยการ และ ป.ป.ช. เพื่อพิจารณาข้อไม่สมบูรณ์ ใช้ระยะเวลายาวนานหลายปี กระทั่งไม่ได้ข้อยุติ ป.ป.ช. จึงถอนเรื่องจาก อสส. ดำเนินการฟ้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเอง และศาลฎีกาฯประทับรับฟ้องช่วงปี 2558 เป็นต้นมา
ระยะเวลาในการไต่สวนคดีนี้หากนับตั้งแต่ประทับรับฟ้อง จนถึงวันแถลงปิดคดี ประมาณ 2 ปีเศษ โดยในชั้นศาลฎีกาฯมีการสืบพยานฝ่ายโจทก์ และจำเลยจำนวนหลายปาก มีการอ้างอิงพยานหลักฐานใหม่ เช่น วิทยุ ‘ลับ’ ของกองบัญชาการตำรวจนครบาล เป็นต้น โดยทุกอย่างเป็นไปตามกระบวนการ และแทบไม่ได้รับความสนใจจากสื่อมวลชน
อย่างไรก็ดีการต่อสู้คดีนี้ในชั้นศาลฎีกาฯ ที่ ป.ป.ช. เป็นโจทก์นั้น ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า อาจสู้คดีไม่เต็มที่ ?
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org เคยเข้าฟังการไต่สวน และสืบพยานฝ่ายโจทก์ และฝ่ายจำเลย หลายครั้งในช่วงที่ผ่านมา พบว่า หากมีพยานฝ่ายโจทก์บางรายไม่มาสืบพยานตามนัด ฝ่าย ป.ป.ช. ไม่ได้ทักท้วง หรือมีความพยายามติดตามตัวให้มาเป็นพยานแต่อย่างใด
ท่ามกลางข้อครหาว่าสู้คดีไม่เต็มที่แล้ว ภายนอกศาล ฝ่ายนายสมชาย กับพวก ได้พยายามต่อสู้คดีนี้อย่างแข็งขันเช่นกัน
กรณีแรก เมื่อปลายปี 2558 นายสมชาย และจำเลยทั้งหมดรวม 4 ราย ทำเรื่องขอแต่งตั้งพนักงานอัยการ ให้เป็นทนายความแก้ต่างในคดีนี้ แต่ศาลฎีกาฯมีมติเสียงส่วนใหญ่ 8 ต่อ 1 ไม่อนุญาต เนื่องจากเห็นว่า พนักงานอัยการไม่มีอำนาจว่าความแก้ต่างในคดีนี้ให้แก่จำเลยทั้ง 4 ได้ ทำให้พนักงานอัยการที่รับเรื่องนี้ ยื่นคำร้องอุทธรณ์ต่อศาลฎีกาฯพิจารณาอีกครั้ง ซึ่งท้ายสุดก็มีบทสรุปเช่นเดิมคือ ‘ไม่อนุญาต’
อนึ่ง ก่อนหน้านี้ สำนักข่าวอิศราตรวจสอบพบว่า คณะรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เคยมีมติเกี่ยวกับการแต่งตั้งพนักงานอัยการแก้ต่างในคดีที่เจ้าหน้าที่ของรัฐฟ้องด้วย โดยแหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาลยืนยันว่า การพิจารณาเรื่องนี้ของที่ประชุมคณะรัฐมนตรี มีความเกี่ยวข้องกับคดีที่ ป.ป.ช. เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายสมชาย กับพวก
โดยก่อนที่คณะรัฐมนตรีจะมีมติดังกล่าวออกมา มี ‘บุคคล’ หนึ่งทำหนังสือถึง อสส. ขอให้ตั้งพนักงานอัยการเป็นทนายความแก้ต่างในคดีนี้ เบื้องต้น อสส. ตั้งคณะทำงานชุดใหญ่ขึ้นมาพิจารณา ปรากฏว่า เสียงส่วนใหญ่เห็นว่า ไม่สามารถทำได้ อย่างไรก็ดีฝ่ายพนักงานอัยการเสียงข้างน้อยที่อยากรับทำคดีนี้ ทำให้บุคคลรายนี้ผลักดันให้มีการตั้งเรื่องเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี กระทั่งปรากฏออกมาเป็นมติดังกล่าว
(อ่านประกอบ : ศาลฎีกาฯยกซ้ำ! อัยการขอแก้ต่างคดี “สมชาย-พวก”สลาย พธม.ชี้ไม่มีส่วนได้เสีย, ศาลฎีกามติ 8 ต่อ 1ห้ามตั้งอัยการแก้ต่างให้"สมชาย-พวก"คดีสลาย พธม., เบื้องหลัง! ตั้งอัยการแก้ต่าง "สมชาย-พวก" คดีสลายพธม.ครม."บิ๊กตู่" จัดให้)
แม้ว่าความพยายามแรกจะ ‘เหลว’ แต่การต่อสู้ ‘นอกศาล’ ของฝ่ายนายสมชาย กับพวก ยังไม่จบแค่นี้
กรณีที่สอง ช่วงต้นปี 2559 ยังมีความพยายามจากนายสมชาย พล.ต.อ.พัชรวาท และ พล.ต.ท.สุชาติ ยื่นเรื่องต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ขอให้ ‘ถอนฟ้อง’ คดีดังกล่าวจากศาลฎีกาฯด้วย (น่าสังเกตว่าคราวนี้ไม่มีชื่อของ พล.อ.ชวลิต)
ส่งผลให้เกิดกระแสต่อต้านอย่างมาก ทั้งจากกลุ่มผู้เสียหายจากการสลายการชุมนุมดังกล่าว ประชาชนทั่วไป รวมถึง ‘คนใน’ ป.ป.ช. หลายรายที่ถูกกดดันให้รับ ‘เผือกร้อน’ เรื่องนี้ และยังสร้างความไม่พอใจต่อกรรมการ ป.ป.ช. บางรายที่เปรยออกมาว่า หาก ป.ป.ช. มีมติถอนฟ้องเรื่องนี้ อาจทำให้เกิดความยุ่งยากตามมาได้
มีรายงานข่าวซุบซิบกันจากสำนักงาน ป.ป.ช. ว่า ภายหลังกรรมการ ป.ป.ช. ชุดใหม่ 5 ราย ที่ได้รับการแต่งตั้งช่วงคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีอำนาจนั้น กรรมการ ป.ป.ช. ชุดใหม่บางราย พยายามเดินเรื่องให้นายสมชาย กับพวก ขอให้ถอนฟ้องเรื่องดังกล่าวด้วยตัวเอง นับตั้งแต่เดินเข้าทำงานที่สำนักงาน ป.ป.ช. วันแรกเลยทีเดียว ?
ที่มาที่ไปของเรื่องนี้เกิดขึ้นเมื่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติยกคำร้องคดีสลายการชุมนุมทางการเมืองกลุ่มคนเสื้อแดงเมื่อปี 2553 ที่มีการกล่าวหานายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายความมั่นคง และ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา เมื่อครั้งเป็นผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.)
ทำให้นายสมชาย พล.ต.อ.พัชรวาท และ พล.ต.ท.สุชาติ สบช่องยื่นขอความเป็นธรรมต่อ ป.ป.ช. ว่า มีพยานหลักฐานใหม่ในคดีนี้ และขอให้เปรียบเทียบคดีสลายการชุมนุมปี 2551 และปี 2553 ว่า มีความเหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร พร้อมกับขอให้ ป.ป.ช. ถอนฟ้องคดีจากศาลฎีกาฯเสีย
ต่อมา พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานกรรมการ ป.ป.ช. หมาด ๆ (อดีตรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง (พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ)) เรียกประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. เพื่อพิจารณาเรื่องนี้ ก่อนแทงเรื่องไปที่ฝ่ายคณะอนุกรรมการฝ่ายกฏหมายประจำสำนักงาน ป.ป.ช. พิจารณา
คณะอนุกรรมการฯ พิจารณาแล้วเห็นว่า พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ไม่ได้ระบุอำนาจไว้โดยตรง และ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และวิธีพิจารณาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองฯ ก็ไม่ได้ระบุเรื่องนี้ไว้ แต่ให้ออกเป็นข้อกำหนดของประธานศาลฎีกา ซึ่งไม่ได้ระบุอำนาจในการถอนฟ้อง แต่ให้ใช้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 35 มาใช้โดยอนุโลม
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 35 ระบุว่า คำร้องขอถอนฟ้องคดีอาญาจะยื่นเวลาใดก่อนมีคำพิพากษาของศาลชั้นต้นก็ได้ ศาลจะมีคำสั่งอนุญาตหรือมิอนุญาตให้ถอนก็ได้ แล้วแต่ศาลจะเห็นสมควรประการใด ถ้าคำร้องนั้นได้ยื่นในภายหลังเมื่อจำเลยให้การแก้คดีแล้ว ให้ถามจำเลยว่าจะคัดค้าน หรือไม่ แล้วให้ศาลจดคำแถลงของจำเลยไว้ ในกรณีที่จำเลยคัดค้านการถอนฟ้อง ให้ศาลยกคำร้องขอถอนฟ้องนั้นเสีย
คดีความผิดต่อส่วนตัวนั้น จะถอนฟ้องหรือยอมความในเวลาใดก่อนคดีถึงที่สุดก็ได้ แต่ถ้าจำเลยคัดค้านให้ศาลยกคำร้องขอถอน ฟ้องนั้นเสีย
เท่ากับว่า หากคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติถอนฟ้องคดีดังกล่าวแล้วก็ตาม แต่ก็ต้องอยู่ในดุลยพินิจของศาลเช่นกันว่า จะรับเรื่องการถอนฟ้องดังกล่าวหรือไม่นั่นเอง
หลังจากนั้น พล.ต.อ.วัชรพล ทำบันทึกถึงฝ่ายวิเคราะห์ของสำนักงาน ป.ป.ช. ว่า หากรับเรื่องขอความเป็นธรรมดังกล่าวแล้ว จะใช้ดุลยพินิจถอนฟ้องได้หรือไม่ โดยเจ้าหน้าที่ฝ่ายวิเคราะห์ ป.ป.ช. พิจารณาแล้วตอบกลับ ‘บิ๊กกุ้ย-พล.ต.อ.วัชรพล’ ว่า “ไม่สมควรถอนฟ้อง”
ให้เหตุผลสรุปได้ว่า หาก ป.ป.ช. มีมติถอนฟ้องคดีดังกล่าว อาจอาจเข้าข่ายฐานกระทำผิดทุจริตต่อตำแหน่งหน้าที่ หรือกระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการได้ เหมือนกับกรณีคณะกรรมการ ป.ป.ช. ชุดที่ 2 ที่ขึ้นเงินค่าตอบแทนให้ตนเองได้ (ท้ายสุดคณะกรรมการ ป.ป.ช. ชุดที่ 2 ถูกศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพิพากษาให้จำคุกคนละ 2 ปี แต่รอลงอาญา)
ส่วนประเด็นหลักฐานใหม่ที่จำเลยทั้งสามรายร้องขอความเป็นธรรมมานั้น สามารถนำไปยื่นต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองให้ไต่สวนเพิ่มเติมเพื่อสู้คดีได้อยู่แล้ว
แต่ พล.ต.อ.วัชรพล ไม่หยุดความพยายามแค่นั้น ได้แทงเรื่องกลับไปที่เจ้าหน้าที่ฝ่ายวิเคราะห์สำนักงาน ป.ป.ช. อีกครั้ง ให้เปรียบเทียบว่า เหตุการณ์สลายการชุมนุมเมื่อปี 2551 และปี 2553 เหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร โดยเจ้าหน้าที่เห็นว่า การสลายการชุมนุมเมื่อปี 2551 ไม่มีขั้นตอนการปฏิบัติชัดเจน ต่างจากปี 2553 ที่มีกฎหมายรองรับทั้งหมด
กระทั่ง พล.ต.อ.วัชรพล ดำเนินการตั้งคณะทำงานเพื่อพิจารณาข้อเท็จจริงกรณีนี้ว่าจะถอนฟ้องได้หรือไม่ โดยให้เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. เป็นประธานฯ (นายสรรเสริญ พลเจียก) และให้ที่ปรึกษากรรมการ ป.ป.ช. ทุกรายร่วมเป็นกรรมการ เพื่อพิจารณาอีกครั้ง ซึ่งใช้ระยะเวลาไม่กี่เดือน ได้ข้อสรุปแบบไม่เอกฉันท์ว่า ป.ป.ช. ไม่ควรถอนฟ้องคดีนี้
เรื่องดังกล่าวจึงได้เงียบไป ?
(อ่านประกอบ : คณะทำงาน ป.ป.ช.เคาะแล้ว! ไม่ถอนฟ้องคดีสลายพธม.ชี้ไม่มีพยานหลักฐานใหม่, เบื้องหลัง! ค้าน ปธ.ป.ป.ช.ถอนฟ้องคดีสลายพธม.-ระวังซ้ำรอยชุดขึ้นเงินเดือน?)
กระทั่งศาลฎีกาฯดำเนินการพิจารณาไต่สวนคดีนี้อย่างเรื่อยมา กระทั่งวันที่ 30 มิ.ย. 2560 นายสมชาย กับพวกจะแถลงปิดคดีดังกล่าวต่อองค์คณะผู้พิพากษาแล้ว ทำให้หลายฝ่ายคาดว่าคดีนี้จะมีคำพิพากษาออกมาช่วงเดือน ส.ค.-ก.ย. 2560 นี้
แต่คำพิพากษาจะออกมาในรูปแบบใด คงต้องติดตามกันต่อไปอย่างใกล้ชิด!