กก.มส.ต้องเป็นที่ศรัทธาน่าเชื่อถือ!‘วิษณุ’เล่าเหตุผล-ความจำเป็นแก้ พ.ร.บ.คณะสงฆ์
“หลายท่านอาจมีความรู้สึกเหมือนไม่สะใจว่า จะแก้ทั้งทีไม่แก้เรื่องอื่นด้วย เรื่องอื่นที่ควรจะแก้ไขให้เข้มข้นมีอยู่จริง แต่ต้องการเวลาศึกษา อย่างน้อยที่สุดต้องมีความรับฟังความเห็นที่หลากหลายกว่าวันนี้ ที่ควรทำวันนี้คือ ให้มีองค์กรปกครองคณะสงฆ์ หรือ มส. อันเป็นทีเคารพศรัทธาเชื่อถือ ความเชื่อถือแรกคือ อายุ จริยวัตร และที่สำคัญควรได้มาจากที่มาอันเป็นที่ไว้วางใจ ถ้าอย่างนั้นควรย้อนไปสู่การโปรดเกล้าฯสถาปนาเหมือนอดีต จึงทำร่างฉบับนี้”
หมายเหตุ สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org : นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายกฎหมาย ในฐานะตัวแทนคณะรัฐมนตรี ชี้แจงต่อที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กรณีรัฐบาลแก้ไขร่าง พ.ร.บ.คณะสงฆ์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. โดยมีสาระสำคัญคือ พระมหากษัตริย์ทรงมีพระราชอำนาจในการแต่งตั้ง หรือถอดถอนคณะกรรมการมหาเถรสมาคม (มส.) (อ่านประกอบ : กก.มส.บางรายมีคดีติดตัว!‘วิษณุ’เผยเหตุแก้ พ.ร.บ.คณะสงฆ์-สนช.ท่วมท้นผ่านวาระ1)
----
แนวคิดเตรียมการมาก่อนหน้านี้ หลังมีเสียงเรียกร้องให้มีการปฏิรูปศาสนา หรือปฏิรูปคณะสงฆ์ อะไรก็ตาม จริง ๆ คือการปฏิรูปการปกครองคณะสงฆ์มากกว่า ศาสนาไม่มีอะไรต้องไปปฏิรูป สิ่งที่ต้องทำให้เหมาะแก่กาลสมัยคือการจัดระเบียบปกครองคณะสงฆ์
ในที่สุดเข้าอีหรอบว่า ฆราวาสจะไปจัดระเบียบปกครองคณะสงฆ์ ฆราวาสมีความรู้ความเข้าใจเพียงใด ในที่สุดได้ข้อยุติว่า สิ่งที่ควรจะทำก็คือ ฆราวาสคงจะได้แต่เพียงเสนอแนะ แต่ผู้ที่จะขับเคลื่อน ผู้ที่จะนำไปปฏิบัติ ไปสั่งการ สนับสนุน หรือผู้ที่จะก่อให้เกิดความเคลื่อนไหวในการปฏิรูปอย่างแท้จริงคงต้องเป็นคณะสงฆ์เอง คณะสงฆ์ไทยแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ คณะสงฆ์ไทย หรือฝ่ายเถรวาท ไม่ว่าธรรมยุติ หรือมหานิกาย และคณะสงฆ์อื่น กฎหมายไทยรับรอง 2 สาขา คือคณะสงฆ์จีนนิกาย และอันนัมนิกาย หรือพระญวน แตกสาขาเป็นรามัญนิกาย หรือพระมอญ คณะสงฆ์ทั้ง 2 นั้น อยู่ภายใต้ พ.ร.บ.คณะสงฆ์ฯ ฉบับเดียวกัน แต่กฎหมายฉบับนี้วางหลักส่วนใหญ่เกี่ยวกับคณะสงฆ์ไทย ส่วนคณะสงฆ์อื่น ก็ปล่อยให้เป็นไปตามกฎเถรสมาคมอีกฉบับ
ว่ากันในส่วนคณะสงฆ์ไทย ในรูปแบบที่ใช้อยู่ในปัจจุบันตั้งแต่ปี 2505 เป็นต้นมา ก็มี มส. เป็นกลไก หรือองค์กรปกครองคณะสงฆ์สูงสุด ไม่ว่าจะเป็นนิกายใดก็รวบยอดไปอยู่ใน มส. โดยมีสมเด็จพระสังฆราชทรงเป็นองค์ประธาน และมีสมเด็จพระราชาคณะทุกรูปเป็นโดยตำแหน่ง โดยตอนนี้มี 8 รูป ขณะเดียวกันใน มส. มีกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิอีกไม่เกิน 12 รูป ตามที่สมเด็จพระสังฆราชทรงมีพระบัญชาแต่งตั้ง รวมสมเด็จพระสังฆราช เป็น 21 รูป โดย มส. ทำหน้าที่นิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ มีหน้าที่วางระเบียบ ออกกฎ และจัดการคณะสงฆ์ และการลงโทษคณะสงฆ์ รูปแบบนี้ใช้มาตั้งแต่ปี 2505 ความจริงเคยใช้มาก่อนหน้านี้ในสมัยรัชกาลที่ 5 ตาม พ.ร.บ.ปกครองคณะสงฆ์ พ.ศ.2445
ที่ผ่านมามีการเรียกร้องหลายอย่าง รัฐบาลคิดว่ากลไกขับเคลื่อน หรือการบัญชาการ อยู่ที่กรรมการ มส. 21 รูปนี้ ไปดูองค์ประกอบในปัจจุบัน ย้อนไปตั้งแต่ปี 2505 พบว่า มีจุดอ่อน ประการแรก คือมีสมเด็จพระราชาคณะเป็นไปตามตำแหน่ง เหมาะในทางอาวุโส แต่ระยะหลังกว่าที่พระภิกษุจะขึ้นชั้นสมณศักดิ์เป็นสมเด็จพระราชาคณะ มักมีอายุมาก ต่อมาอาจอาพาธ โดยระยะเวลาที่ผ่านมา สมเด็จพระราชาคณะที่เป็นโดยตำแหน่งหลายรูปขอลายาว เพราะไม่สามารถไปประชุมได้ ประการที่สอง ในส่วนพระราชาคณะ 12 รูป ที่เป็นผู้ทรงคุณวุฒิ ที่สมเด็จสังฆราชแต่งตั้งแม้มีวาระ 2 ปี แต่โดยหลักพระสงฆ์เกรงใจกัน หากไม่มีข้อบกพร่องก็จะทำหน้าที่ยืดยาวต่อกันมา และมีบางท่านอาพาธในสมัยวาระ ทำให้มีปัญหาในการเข้าประชุม ปัญหาเหล่านี้มียาวนานหลายสิบปี หากมุ่งหวังให้ มส. ปฏิรูป ต้องเปลี่ยนแปลงคุณสมบัติ และที่มาเสียใหม่
เดิมทีไม่เคยคิดเรื่องที่มา คิดแต่เรื่องคุณสมบัติ อาจเพ่งเล็งพรรษา หรือตำแหน่งอื่น ๆ แต่ในที่สุดระยะหลัง เริ่มเกิดปัญหาขึ้นที่กรรมการ มส. บางรูป มีปัญหาต้องคดีบ้าง ถูกกล่าวหาบ้าง คดีความนั้นจะเป็นอย่างไรต้องดำเนินการต่อไป ทั้งฝ่ายวินัยสงฆ์ และกระบวนการยุติธรรม และสั่นสะเทือนความรู้สึกศรัทธาต่อการจัดระเบียบปกครองคณะสงฆ์ในปัจจุบันพอสมควร
ในที่สุดเรื่องนี้คิดกันว่า กลับไปดูรูปแบบสมัยรัชกาลที่ 5 ถึงรัชกาล 8 ดูโบราณราชประเพณี และดูรัฐธรรมนูญในปัจจุบัน กำหนดว่า พระมหากษัตริย์ทรงเป็นพุทธมามกะ ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจในการสถาปนาฐานันดรศักดิ์ และถอดถอน คำว่าฐานันดรศักดิ์ สมัยก่อนอาจมีหลายชนิด หลายประเภท ปัจจุบันมี 2 ประเภท คือ ฐานันดรศักดิ์พระ และฐานันดรศักดิ์เจ้า ก็จับจุดเหล่านี้มาวางไว้ ถ้าอย่างนั้นต้องขับเคลื่อนไปจาก มส. เลยคิดเสนอแก้ไข
“หลายท่านอาจมีความรู้สึกเหมือนไม่สะใจว่า จะแก้ทั้งทีไม่แก้เรื่องอื่นด้วย เรื่องอื่นที่ควรจะแก้ไขให้เข้มข้นมีอยู่จริง แต่ต้องการเวลาศึกษา อย่างน้อยที่สุดต้องมีความรับฟังความเห็นที่หลากหลายกว่าวันนี้ ที่ควรทำวันนี้คือ ให้มีองค์กรปกครองคณะสงฆ์ หรือ มส. อันเป็นทีเคารพศรัทธาเชื่อถือ ความเชื่อถือแรกคือ อายุ จริยวัตร และที่สำคัญควรได้มาจากที่มาอันเป็นที่ไว้วางใจ ถ้าอย่างนั้นควรย้อนไปสู่การโปรดเกล้าฯสถาปนาเหมือนอดีต จึงทำร่างฉบับนี้”
ประธาน สนช. ถามว่า ได้รับฟังความเห็นตามมาตรา 77 แห่งรัฐธรรมนูญปี 2560 หรือไม่อย่างไร คำตอบคือได้ทำ เพราะ คณะรัฐมนตรีเคยมีมติว่าตามมาตรา 77 ให้ขึ้นเว็บไซต์รับฟังความเห็น 15 วัน แต่เนื่องจากการปรับปรุงแก้ไขครั้งนี้ จำเป็นต้องกระทำ ไม่ถึงขั้นรีบร้อน แต่ต้องกระทำโดยเร็ว เหตุหนึ่งอาจมาจากกรรมการ มส. ที่ดำรงตำแหน่งกำลังจะครบวาระ ถ้าการแก้ไขออกมาทัน จะกระทบกระเทือน เพราะกรรมการ มส. เหล่านั้นจะพ้นวาระในเดือน ก.ย. 2561 น่าจะทำให้มีความรวดเร็วขึ้น ตรงนี้เอง ได้นำเสนอคณะรัฐมนตรีว่า ขอผ่อนผันยกเว้นการปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรี ที่ต้องรับฟังความเห็น 15 วัน เป็น 7 วัน และฟังอย่างเข้มข้น เอาหลักการขึ้นเว็บไซต์สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ตลอดเวลา 7 วัน ปรากฏว่าใน 7 วัน มีความคิดเห็นเข้ามาเป็นจำนวนมากถึง 533 ราย มากกว่า พ.ร.บ.หลายฉบับที่เคยรับฟังความคิดเห็น และส่งมายังสภานี้
ในจำนวน 533 รายที่ตอบเข้ามานั้น มีถึง 56 รายที่เป็นพระสงฆ์ และมีอีก 477 ราย ที่เป็นฆราวาส นี่เป็นการตอบเว็บไซต์มา ส่วนที่เขียนจดหมายเสนอแนะส่งความเห็นมา มีอีกเป็นจำนวนมาก หลายความเห็นเป็นความเห็นที่ดี เป็นความเห็นผู้ใหญ่ในบ้านเมือง ทั้งฝ่ายสงฆ์ และฆราวาส สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้นำมาประมวลเพื่อประกอบการยกร่าง และรับฟังความเห็นในลักษณะเชิญมาสอบถาม ชี้แจง และให้อยู่ด้วยตลอดเวลาในการประชุมทุกมาตรา เช่น นิมนต์อาราธนาเลขานุการสมเด็จพระสังฆราช ผู้แทนมงกุฎมหาวิทยาลัย ผู้แทนมหาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้แทน มส ในระดับรองสมเด็จพระราชาคณะ 2 รูปมาร่วมเสนอความเห็น จากฝ่ายธรรมยุติ 1 รูป มหานิกาย 1 รูป ผอ.สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) และคณะทำงาน ซึ่งคลุกคลีคุ้นเคยกับการประชุม มส. เชิญ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี มาร่วมให้ความเห็น เอาข้อคิดเห็นทั้งหมดมาวาง แล้วจัดการยกร่างขึ้น โดยยึดกรอบทั้งหมด ดังที่กราบเรียน จนเสร็จสิ้นเป็นร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว
ที่สำคัญร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ มีส่วนเกี่ยวพันกับพระราชอำนาจ รัฐบาลไม่ได้ละเลย ที่จะสอบถามไปยังสำนักพระราชวังด้วย ถ้าหากว่าจะบัญญัติในลักษณะนี้ มีความเห็นอย่างไร เมื่อได้ความเห็นทั้งหมดมา ทั้งจากฝ่ายคณะสงฆ์ ฆราวาส และสำนักพระราชวัง และผู้บริหารราชการแผ่นดิน เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติแล้ว ก็นำมาประมวลยกร่างขึ้น และนำเสนอมายัง สนช.
เมื่อกราบเรียนมาดังนี้แล้ว หลักการที่รัฐมนตรีสุวพันธ์ ชี้แจงตอนต้นหลายข้อ สังคมฟังแต่เพียงหลักการ อาจมีความสงสัย ความลังเล ความไม่แน่ใจ เรื่องนี้ รัฐบาล และคณะกรรมการกฤษฎีกา และผู้เกี่ยวข้อง วางกรอบป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาดังที่สงสัย เสียดายว่าไม่ได้เผยแพร่ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ในเวลาอันควร จึงอาจมีความสงสัยอยู่
“ความจำเป็นว่าทำไมจะต้องมีการแก้ไขนั้น เรียนไปแล้วตอนต้น แล้วความเร่งรีบมีเหตุใด ก็ได้เรียนแล้วว่า เพื่อเร่งให้ทันกับการกรรมการ มส. ชุดปัจจุบันจะหมดวาระ และไม่ต้องกระทบกระเทือน มิฉะนั้นกระทบกระเทือนต่อท่านที่ดำรงตำแหน่ง และความจำเป็นการจัดระเบียบปฏิรูปการปกครองคณะสงฆ์เป็นเหตุผลใหญ่กว่า เพราะไม่ใช่กฎหมายปฏิรูปโดยตรง แต่จัดระเบียบองค์กรปกครองคณะสงฆ์ หรือ มส. ไปทำหน้าที่เชิงปฏิรูปต่อไป ฉะนั้นมีอะไรต้องทำอีกยาวมาก”
หลักการร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ ไม่ได้แตะต้องจำนวนของกรรมการ มส. เคยมี 1+20 วันนี้ก็ยัง 1+20 ต่อไป เคยมีวาระ 2 ปี ก็ยัง 2 ปี ต่อไป ถ้าอย่างนั้นเปลี่ยนอะไร คำตอบคือ ยกเลิกกรรมการ มส. โดยตำแหน่ง คือสมเด็จพระราชาคณะ 8 รูป แต่ไม่ได้หมายความว่า ไม่สามารถเป็นได้ เพียงแต่ที่จะเป็นโดยตำแหน่ง ก็เข้ามาอยู่ในจำนวนที่ทรงพระกรุณาสถาปนา ดังนั้นจึงเขียนในมาตรา 12 วรรคหนึ่ง น่าจะเกิดความคล่องตัวขึ้น เพราะจะกำหนดอีกมาตราว่า จะแต่งตั้งจากผู้มีสุขภาพ อายุสมควร และที่สำคัญมีจริยวัตรเป็นที่น่าเลื่อมใสศรัทธา เกณฑ์เหล่านี้คือเกณฑ์ในการแต่งตั้ง โดยมีพระมหากษัตริย์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯแต่งตั้ง
เมื่อพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้ง ถามว่า แล้วใครจะเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ นำมาซึ่งเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่า ให้นายกรัฐมนตรีลงนามรับสนอง ต่อไปไม่เกรงหรือว่าจะเป็นช่องทางให้นายก ไม่ว่าใครก็ตาม ซึ่งเป็นนักการเมือง แทรกแซงหรือสอดแทรกเข้ามา เสนอแนะ หรือขอมีส่วนแต่งตั้ง เพราะว่าเหมือนการแต่งตั้งทั้งหลาย เช่น แต่งตั้งปลัดกระทรวง ผู้ว่าฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯแต่งตั้งทั้งนั้น และนายกลงนามรับสนอง เอาเข้าจริงนายกในฐานะผู้รับสนอง ต้องกราบบังคมทูล และรับผิดชอบ ชะรอยต่อไปกรรมการ มส. 20 คน จะมาจากทำเนียบรัฐบาล ขอกราบเรียนว่า ตรงนี้ มีการดูด้วยความละเอียดรอบคอบ วางหลักดังต่อไปนี้
เมื่อพระมหากษัตริย์จะมีบรมราชโองการสถาปนา จะเป็นการแต่งตั้งลอย ๆ หรือทำเป็นประกาศ คำตอบคือต้องทำเป็นประกาศ ประกาศพระบรมราชโองการ เมื่อมีประกาศอย่างนี้ จะเข้าหลักมาตรา 182 แห่งรัฐธรรมนูญปี 2560 ทันทีว่า บทกฎหมาย หรือพระราชโองการที่เกี่ยวกับราชการแผ่นดิน ต้องมีรัฐมนตรีลงนามรับสนอง เว้นแต่จะบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่นในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ แสดงว่าในที่สุดต้องมีผู้ลงนามรับสนองให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ
คำถามว่าใครมาลงนาม มีเสียงวิจารณ์เสนอว่า ไม่ให้ประธานองคมนตรีลงนาม หรือคนนู้นคนนี้รับสนอง เรื่องนี้ไปดูรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 182 เขียนว่า ต้องมีรัฐมนตรีเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ เว้นแต่จะบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่นในรัฐธรรมนูญนี้ ซึ่งรัฐธรรมนูญนี้ ได้บัญญัติไว้เป็นอย่างอื่นหลายที่ เช่น จะแต่งตั้งคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ประธาน สนช. จะต้องรับสนอง การแต่งตั้งองคมนตรี ประธานองคมนตรีรับสนอง นั่นคือรัฐธรรมนูญบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น แต่การตั้งกรรมการ มส. รัฐธรรมนูญนี้ไม่ได้บัญญัติเป็นอย่างอื่น จึงต้องย้อนกลับไปยังหลักการตามมาตรา 182 ว่า รัฐมนตรีต้องรับสนอง ตามประเพณีคือนายกตลอดมา
คำถามกลับมาที่เดิม อย่างนี้นายกต้องเสนอขึ้นไป เหมือนเสนอแต่งตั้งคนอื่น ๆ ทั้งนี้เรื่องการรับสนองนั้น ไทยวางไว้ 2 ระบบ เรื่องใดที่มุ่งมาดปรารถนาว่า ให้ผู้รับสนอง เป็นผู้เสนอ และรับผิดชอบ กฎหมายจะเขียนไว้กลาง ๆ คือไม่เขียนอะไรมาก เขียนไว้ว่า พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้ง และให้นายกรับสนอง นั่นแหละ นายกกราบบังคมทูล และรับผิดชอบเนื้อความทั้งหมด เช่น การแต่งตั้งข้าราชการระดับสูง แม้พระมหากษัตริย์จะทรงตั้ง แต่อยู่ในระบบนายกกราบบังคมทูล และรับผิดชอบ
แต่มีอีกระบบคู่ขนานกันคือ เมื่อใดถึงอย่างไรต้องมีผู้รับสอนง แต่ไม่ต้องการให้ผู้รับสนองมารับผิดชอบ เสนอแนะ หรือมีส่วน ผู้รับสนองมีหน้าที่ประการเดียวคือรับสนอง นอกจากนั้นเป็นพระบรมราชวินิจฉัย ระบบนี้มีใช้ในปัจจุบัน แต่เมื่อจะใช้ระบบนี้ จะใช้คำว่า พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งตามพระราชอัธยาศัย เมื่อใดมีคำนี้ แปลว่า เป็นพระราชดำริทรงเห็นสมควร แต่ต้องหาใครสักคนมาลงนามรับสนอง ตัวอย่างเช่น รัฐธรรมนูญนี้ กล่าวถึงกรณีต้องแต่งตั้ง องมนตรี ตามมาตรา 11 โดยเขียนว่า พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งองคมนตรีตามพระราชอัธยาศัย โดยให้ประธานองคมมนตรีรับสนอง นั่นแปลว่า เป็นการแต่งตั้งตามพระราชอัธยาศัย ไม่ใช่สิทธิของประธานองคมนตรีเสนอแนะ และรับผิดชอบ เป็นต้น
กลับมาถึงมาตรา 12 ของร่าง พ.ร.บ.คณะสงฆ์ฯฉบับนี้ ที่เกี่ยวกับการแต่งตั้งกรรมการ มส. วรรคแรกเขียนว่า พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งกรรมการ มส. ไม่เกิน 20 รูป แต่ใส่วรรคสองอีกว่า การแต่งตั้งตามวรรคหนึ่ง และตามมาตรา 15 (4) คือการถอดถอนกรรมการ มส. และวรรคสอง การแต่งตั้งแทนกรรมการ มส. เดิมที่ออกไป ให้เป็นไปตามพระราชอัธยาศัย คำนี้วิ่งมา เหมือนการตั้งองคมนตรี หรือการตั้งข้าราชการในพระองค์ เป็นต้น
ขณะเดียวกันยังใส่ต่อไปอีกประโยคหนึ่งว่า โดยจะทรงปรึกษาหารือกับองค์สมเด็จพระสังฆราชก่อนก็ได้ คือจะไม่ทรงปรึกษาก็ได้ ทรงปรึกษาก็ได้ เขียนใส่ไว้เพื่อให้รู้ว่า กรณีนี้อาจทรงปรึกษาก็ได้ ไม่ได้มีกรณีทรงปรึกษานายก นายกจะไม่มีหน้าที่อันใดที่จะไปถวายความเห็นในส่วนเหล่านี้เป็นอันขาด มีแต่เพียงหน้าที่ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ
นี่คือหลักที่วางไว้ เมื่อวางไว้ น่าจะทำให้พี่น้องทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นคณะสงฆ์ หรือฆราวาส เข้าใจขึ้นว่า เป็นระบบมุ่งถวายให้พระมหากษัตริย์ทรงใช้พระราชอำนาจโดยแท้
อ่านประกอบ : กฤษฎีกาสรุปผลแก้ร่าง พ.ร.บ.สงฆ์ ตั้ง-ถอดถอนสมณศักดิ์-กก.มส.เป็นพระราชอำนาจ