กก.มส.บางรายมีคดีติดตัว!‘วิษณุ’เผยเหตุแก้ พ.ร.บ.คณะสงฆ์-สนช.ผ่าน3วาระรวด
สนช. เสียงท่วมท้น ผ่าน 3 วาระรวด ร่าง พ.ร.บ.คณะสงฆ์ฯ หลัง รบ. แก้ไขให้เป็นพระราชอำนาจในการแต่งตั้ง กก.มส.-นายกฯลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ ‘วิษณุ’ เผยระยะหลัง กก.มส. บางรายมีคดี ส่งผลต่อศรัทธาต่อประชาชน จำเป็นต้องจัดระเบียบ-ปฏิรูปองค์กรใหม่
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า เมื่อวันที่ 5 ก.ค. 2561 ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้พิจารณาแก้ไขเพิ่มเติมร่าง พ.ร.บ.คณะสงฆ์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ตามที่คณะกรรมการกฤษฎีกาได้รับฟังความคิดเห็น และแก้ไขเพิ่มเติม โดยมีนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายกฎหมาย และนายสุวพันธ์ ตัณยุวรรธนะ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นตัวแทนชี้แจงต่อ สนช.
โดยที่ประชุม สนช. ลงมติในวาระที่ 1 เพื่อรับหลักการร่าง พ.ร.บ.คณะสงฆ์ฯฉบับนี้ มีมติเห็นด้วย 216 เสียง ไม่มีคนไม่เห็นด้วย งดออกเสียง 4 เสียง จากผู้เข้าประชุม 220 ราย
ต่อมาได้พิจารณาวาระ 2 สนช. ได้พิจารณาโดยคณะกรรมาธิการ (กมธ.) เต็มสภา มีมติเห็นด้วย 216 เสียง ไม่มีคนไม่เห็นด้วย งดออกเสียง 4 เสียง จากผู้เข้าประชุม 220 ราย
หลังจากนั้นได้พิจารณาวาระ 3 ต่อทันที มีมติเห็นด้วย 217 เสียง ไม่มีคนไม่เห็นด้วย งดออกเสียง 4 เสียง จากผู้เข้าประชุม 221 ราย เท่ากับว่า ที่ประชุม สนช. เห็นชอบให้ร่าง พ.ร.บ.คณะสงฆ์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ประกาศใช้เป็นกฎหมายต่อไป
ก่อนการลงมติ นายสุวพันธ์ กล่าวว่า เหตุผลที่แก้ไขร่าง พ.ร.บ.คณะสงฆ์ฯ ฉบับนี้ เนื่องจากพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพุทธมามกะ และตามโบราณราชประเพณีที่สืบทอดมาช้านาน พระมหากษัตริย์ทรงเป็นผู้อุปถัมภ์คุ้มครองพระพุทธศาสนา และทำนุบำรุงให้มั่นคงเป็นไปตามแบบแผนเรียบร้อยตลอดมา เพื่อให้พระพุทธศาสนารุ่งเรืองถาวร เกิดความเลื่อมใสศรัทธาต่อศาสนิกชน เกิดความร่มเย็นแก่ประชาชน และเป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติ จึงสมควรบัญญัติกฎหมาย เพื่อสืบทอดทำนงรักษาไว้ซึ่งพระราชอำนาจ ให้เป็นไปตามโบราณราชประเพณี
นายสุวพันธ์ กล่าวอีกว่า สำหรับร่าง พ.ร.บ.คณะสงฆ์ฯ ที่แก้ไขเพิ่มเติม ได้แก่ แก้ไขให้พระมหากษัตริย์คงไว้ซึ่งพระราชอำนาจ ในการแต่งตั้งคณะกรรมการมหาเถรสมาคม (มส.) และให้การดูแลปกครองคณะสงฆ์เป็นไปด้วยความเรียบร้อย เจริญมั่นคง สอดคล้องกับโบราณราชประเพณีที่ปฏิบัติสืบทอดกันมาเป็นเวลาช้านาน เป็นผลให้เกิดความเลื่อมใสศรัทธากับพุทธศาสนิกชนโดยทั่วไป โดยแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 5 ตรี นอกจากนี้เพิ่มบทบัญญัติให้พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจในการโปรดเกล้าฯ หรือมีพระราชวินิจฉัยเกี่ยวกับการแต่งตั้งผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช โดยเพิ่มในวรรค 7 มาตรา 10
นายสุวพันธ์ กล่าวว่า นอกจากนี้ได้แก้ไขเพิ่มเติมองค์ประกอบการแต่งตั้ง และการพ้นจากตำแหน่งของคณะกรรมการ มส. โดยแก้ไขมาตรา 12 14 15 และ 15 ทวิ รวมถึงแก้ไขบทบัญญัติเกี่ยวกับหลักเกณฑ์การแต่งตั้ง และถอดถอนเจ้าคณะใหญ่ เจ้าคณะภาพ รวมทั้งการแต่งตั้ง และถอดถอนพระภิกษุ ผู้ดำรงตำแหน่งปกครองคณะสงฆ์ตำแหน่งอื่น โดยแก้ไขมาตรา 20 ทวิ 20/1 และ 20/2 และแก้ไขเพิ่มเติมให้นายกรัฐมนตรี เป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งคณะกรรมการ มส. โดยแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 15 ทวิ และกำหนดบทเฉพาะกาลรองรับการดำรงตำแหน่งของคณะกรรมการ มส. ต่อไป จนกว่าจะมีการแต่งตั้งคณะกรรมการ มส. ใหม่ ตามร่าง พ.ร.บ.คณะสงฆ์ฯ ฉบับนี้
ส่วนนายวิษณุ กล่าวโดยสรุปว่า เหตุผลที่ต้องแก้ไขร่าง พ.ร.บ.คณะสงฆ์ฯ ฉบับนี้ เนื่องจากระยะหลังเริ่มเกิดปัญหาขึ้นที่มีกรรมการ มส. บางรูป มีปัญหาต้องคดีบ้าง ถูกกล่าวหาบ้าง คดีความนั้นจะเป็นอย่างไรต้องดำเนินการต่อไป ทั้งฝ่ายวินัยสงฆ์ และกระบวนการยุติธรรม และสั่นสะเทือนความรู้สึกศรัทธาต่อการจัดระเบียบปกครองคณะสงฆ์ในปัจจุบันพอสมควร ดังนั้นจึงย้อนกลับไปดูยังกฎหมาย และระเบียบฉบับเก่า เพื่อนำมาจัดระเบียบและปฏิรูปองค์กรปกครองคณะสงฆ์ โดยเริ่มจากการแก้ไขที่มาของกรรมการ มส. ก่อน เพื่อให้กรรมการ มส. ชุดใหม่ ไปดำเนินการปฏิรูปจัดระเบียบภายในกันต่อไป
เบื้องต้น มีสมาชิก สนช. หลายราย เข้าชื่ออภิปรายร่าง พ.ร.บ.คณะสงฆ์ฯฉบับนี้ โดยทั้งหมดสนับสนุนรัฐบาลในการแก้ไขร่าง พ.ร.บ.คณะสงฆ์ฯ เนื่องจากที่ผ่านมาเกิดวิกฤติศรัทธาในศาสนาที่เกิดจากคนบางกลุ่ม มีพระหลายรูปบิดเบือนหลักธรรม บวชมุ่งแสวงหาผลประโยชน์ ทำให้ชาวพุทธเสื่อมศรัทธา จึงจำเป็นต้องอาศัยพระบารมีของพระมหากษัตริย์ในการช่วยแก้ไขปัญหานี้
อ่านประกอบ :
กฤษฎีกาสรุปผลแก้ร่าง พ.ร.บ.สงฆ์ ตั้ง-ถอดถอนสมณศักดิ์-กก.มส.เป็นพระราชอำนาจ