กฤษฎีกาสรุปผลแก้ร่าง พ.ร.บ.สงฆ์ ตั้ง-ถอดถอนสมณศักดิ์-กก.มส.เป็นพระราชอำนาจ
คณะกรรมการกฤษฎีกา คณะพิเศษ สรุปผลรับความเห็นภิกษุ-ประชาชน การแก้ไขเพิ่มเติมร่าง พ.ร.บ.คณะสงฆ์ ระบุการแต่งตั้ง-ถอดถอนสมณศักดิ์-กก.มส. เป็นพระราชอำนาจเดิมตามโบราณราชประเพณี ต้องมีนายกฯเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า เมื่อวันที่ 28 มิ.ย. 2561 สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ได้สรุปผลการรับฟังความคิดเห็นร่าง พ.ร.บ.คณะสงฆ์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. สรุปสาระสำคัญได้ดังนี้
หนึ่ง กรณีมีผู้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการแก้ไข พ.ร.บ.คณะสงฆ์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. จะเป็นการเพิ่มพระราชภาระของพระมหากษัตริย์โดยไม่สมควรนั้น คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะพิเศษ) พิจารณาแล้วเห็นว่า บทบัญญัติที่กำหนดให้พระมหากษัตริย์มีพระราชอำนาจในการแต่งตั้ง สถาปนา และถอดถอนสมณศักดิ์ของพระภิกษุในคณะสงฆ์ รวมถึงการแต่งตั้งหรือถอดถอนกรรมการมหาเถรสมาคม (มส.) นั้น เป็นพระราชอำนาจมาแต่โบราณกาลตามโบราณราชประเพณี ซึ่งรัฐธรรมนูญตั้งแต่ในอดีตถึงปัจจุบันได้บัญญัติรับรองไว้ว่า พระมหากษัตริย์ทรงเป็นอัครศาสนูปถัมภก กรณีจึงเป็นพระราชอำนาจที่มีอยู่ตามรัฐธรรมนูญ มิใช่พระราชภาระที่กำหนดขึ้นเพิ่มเติมแต่ประการใด ดังนั้นเพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้องตามโบราณราชประเพณี คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะพิเศษ) จึงได้แก้ไขถ้อยคำให้เหมาะสมยิ่งขึ้นเพื่อให้เป็นไปตามความมุ่งหมายดังกล่าว
สอง สำหรับความคิดเห็นของพระภิกษุ และประชาชนทั่วไปที่ให้ความเห็นว่า ไม่ควรให้นักการเมืองมีอำนาจในการแต่งตั้งคณะกรรมการ มส. เนื่องจากนักการเมืองอาจใช้เป็นเครื่องมือในการแสวงหาผลประโยชน์ทางการเมืองนั้น คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะพิเศษ) พิจารณาแล้วเห็นว่า การที่กำหนดให้นายกรัฐมนตรีเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการนั้น เป็นบทบัญญัติที่จะต้องกำหนดขึ้น ในกรณีที่พระมหากษัตริย์มีพระบรมราชโองการ จำเป็นต้องมีผู้รับสนองพระบรมราชโองการ เช่นเดียวกับกฎหมายทั่วไปที่ได้กำหนดให้มีบทบัญญัติในลักษณะเดียวกันนี้เช่นกัน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรณีการจัดทำร่าง พ.ร.บ.คณะสงฆ์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ได้เปิดให้พระภิกษุและประชาชนทั่วไป แสดงความเห็นผ่านทางเว็บไซต์สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เป็นเวลา 7 วัน และได้รับหนังสือการแสดงความคิดเห็นจากประชาชนทั่วไปแล้ว รวมถึงในการตรวจพิจารณาร่าง พ.ร.บ.คณะสงฆ์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ได้รับฟังความคิดเห็นเพิ่มเติมจากผู้แทนสมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายก ผู้แทน มส. รมว.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ) และ ผอ.สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) ในการแก้ไขเพิ่มเติมร่างดังกล่าวเพื่อนำมาประกอบการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะพิเศษ) แล้ว (ดูเอกสารประกอบ)