เหมือนหรือต่าง?เทียบชัด ๆ สำนวนไต่สวน ป.ป.ช.คดีสลาย พธม. VS นปช.
“…แม้ว่าคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติไม่รื้อคดีสั่งสลายการชุมนุมคนเสื้อแดงมาพิจารณาใหม่ แต่เลขาธิการ ป.ป.ช. ยังยืนยันว่า ไม่ได้ปิดโอกาส หากในอนาคตเจอพยานหลักฐานใหม่ สามารถส่งมาให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาได้ ร้อนถึง ‘นายหัวเต้น’ ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เลขาธิการ นปช. ที่เข้าร่วมฟังการแถลงข่าวครั้งนี้ด้วย ออกปากเลยว่า หากยังหาความยุติธรรมไม่เจอ เราต้องเจอกันอีกแน่ ?...”
“เมื่อข้อเท็จจริง และพฤติการณ์การสลายการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ และ นปช. แตกต่างกัน คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาวินิจฉัยไปตามข้อเท็จจริง แม้ต่อมาอัยการสูงสุด (อสส.) ไม่รับดำเนินคดีสั่งสลายการชุมนุมปี 2551 และศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพิพากษายกฟ้องนายสมชาย กับพวก ถือเป็นเรื่องการใช้ดุลพินิจการรับฟังพยานหลักฐานที่ต่างกันในแต่ละองค์กร เป็นไปตามหลักการของการตรวจสอบถ่วงดุล ที่รับรองโดยรัฐธรรมนูญ คำกล่าวอ้างในประเด็นนี้ จึงเป็นการโต้แย้งในการรับฟังพยานหลักฐาน และผู้ร้องไม่ได้กล่าวอ้างพยานหลักฐานใหม่อันเป็นสาระสำคัญในการไต่สวน ดังนั้นกรณีดังกล่าวจึงไม่ใช่พยานหลักฐานใหม่ จึงต้องห้ามมิให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ยกขึ้นพิจารณาใหม่ เป็นไปตาม มาตรา 44 แห่ง พ.ร.บ.ป.ป.ช.”
เป็นคำยืนยันจากปากนายวรวิทย์ สุขบุญ เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ถึงเหตุผลที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติไม่รื้อคดีสั่งสลายการชุมนุมทางการเมืองเมื่อปี 2553 ที่มีการกล่าวหานายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรี และ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา อดีต ผบ.ทบ. (ปัจจุบันเป็น รมว.มหาดไทย) (อ่านประกอบ : อ้างคำสั่งสารพัดศาล-ทหารใช้ปืนผิดเฉพาะตัว! ป.ป.ช.แจงทุกปมไม่รื้อคดีสลายแดง)
ข้อเท็จจริงหนึ่งที่สำคัญในกรณีนี้ และมักถูกนำมาเปรียบเทียบกันเสมอคือ การสั่งสลายการชุมนุมทางการเมืองเมื่อปี 2551 กับการสั่งสลายการชุมนุมทางการเมืองปี 2553 เหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร ?
สำหรับคดีสั่งสลายการชุมนุมทางการเมืองปี 2551 หรือเรียกสั้น ๆ ว่า คดีสลายพันธมิตรฯ คณะกรรมการ ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดผู้ถูกกล่าวหา ได้แก่ นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตรองนายกรัฐมนตรี พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ อดีต ผบ.ตร. และ พล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว อดีต ผบช.น. ว่า ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ในการสั่งสลายการชุมนุมดังกล่าว อย่างไรก็ดีอัยการสูงสุด (อสส.) ไม่รับดำเนินคดีเพราะเห็นว่าพยานหลักฐานไม่สมบูรณ์ ท้ายสุด ป.ป.ช. ฟ้องเอง และศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพิพากษายกฟ้องจำเลยทั้งหมด เนื่องจากเห็นว่าปฏิบัติหน้าที่โดยชอบ ความคืบหน้าล่าสุดคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้ยื่นอุทธรณ์ต่อที่ประชุมศาลฎีกา เฉพาะกรณี พล.ต.ท.สุชาติ รายเดียว ปัจจุบันศาลฎีกาฯได้นัดพร้อมพยานหลักฐานการอุทธรณ์แล้ว (อ่านประกอบ : ‘สมชาย-บิ๊กจิ๋ว-พัชรวาท’รอด!ป.ป.ช. ยื่นอุทธรณ์คดีสลาย พธม.แค่‘สุชาติ’รายเดียว, 'สมชาย-ชวลิต-พัชรวาท-สุชาติ' รอด! ศาลฎีกาฯ ยกฟ้องคดีสลายพันธมิตรฯปี 51 )
ส่วนคดีสั่งสลายการชุมนุมทางการเมืองปี 2553 หรือเรียกสั้น ๆ ว่า คดีสลาย นปช. คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติให้ตีตกข้อกล่าวหานายอภิสิทธิ์ นายสุเทพ และ พล.อ.อนุพงษ์ เนื่องจากเห็นว่า เป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยชอบ ทำตามหลักฏหมาย และหลักสากล ใช้มาตรการจากเบาไปหาหนัก มีการประกาศเตือนผู้ชุมนุมก่อน มีคำสั่งตามสายการบังคับบัญชา ส่วนที่มีการใช้อาวุธปืนจนเกิดเหตุผู้ชุมนุมเสียชีวิตหรือได้รับบาดเจ็บนั้น เป็นความผิดเฉพาะตัวของเจ้าหน้าที่ทหารระดับคุมกำลังในพื้นที่ และมีมติให้ส่งเฉพาะประเด็นหลังนี้แก่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เพื่อสอบสวนต่อไป (อ่านประกอบ : 'มาร์ค-สุเทพ-บิ๊กป๊อก'รอด! คดีสลายแดง ป.ป.ช.ยันทำตามหลักสากล)
อย่างไรก็ดีในการแถลงข่าวของสำนักงาน ป.ป.ช. เมื่อวันที่ 22 มิ.ย. 2561 เพื่อชี้แจงข้อเท็จจริงกรณีไม่รื้อคดีสั่งสลายการชุมนุม นปช. นั้น มีการเปิดตารางแสดงการเปรียบเทียบการไต่สวนข้อเท็จจริง และคำวินิจฉัยของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ใน 2 สำนวนคดีดังกล่าวแก่สื่อมวลชนให้รับทราบด้วย
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org นำมาเผยแพร่ ดังนี้
ตารางเปรียบเทียบเหตุการณ์สลายการชุมนุม
ระหว่างกลุ่มพันธมิตรฯ (2551) และกลุ่ม นปช. (2553)
แม้ว่าคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติไม่รื้อคดีสั่งสลายการชุมนุมคนเสื้อแดงมาพิจารณาใหม่ แต่เลขาธิการ ป.ป.ช. ยังยืนยันว่า ไม่ได้ปิดโอกาส หากในอนาคตเจอพยานหลักฐานใหม่ สามารถส่งมาให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาได้
ร้อนถึง ‘นายหัวเต้น’ ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เลขาธิการ นปช. ที่เข้าร่วมฟังการแถลงข่าวครั้งนี้ด้วย ออกปากเลยว่า หากยังหาความยุติธรรมไม่เจอ เราต้องเจอกันอีกแน่ ?
ท้ายสุดบทสรุปจะเป็นอย่างไร คนตายกลางเมืองเกือบร้อยศพ ผ่านมา 7-8 ปีแล้ว ยังหาคนรับผิดชอบไม่ได้ หรือจะปล่อยให้คดีหมดอายุความ และเรื่องเงียบหายไปจากหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทยเหมือนเหตุการณ์ 6 ต.ค. 2519
คงต้องติดตามกันต่อไปอย่างใกล้ชิด!
อ่านประกอบ :
จะไปหาความยุติธรรมจากไหน? ‘ณัฐวุฒิ’ ถาม‘เลขาฯป.ป.ช.’ตอบปมไม่รื้อคดีสลายแดง
อ้างคำสั่งสารพัดศาล-ทหารใช้ปืนผิดเฉพาะตัว! ป.ป.ช.แจงทุกปมไม่รื้อคดีสลายแดง
'ณัฐวุฒิ'แห้ว! ป.ป.ช.ไม่รื้อคดีสลายแดงมาพิจารณาใหม่ ชี้คำวินิจฉัยเดิมถูกต้อง
นปช.ยื่นหลักฐานใหม่ขอ ป.ป.ช.รื้อคดีสลายชุมนุม-ขู่ถ้าเฉยล่า2หมื่นชื่อส่งศาลฎีกาฯสอบ
'มาร์ค-สุเทพ-บิ๊กป๊อก'รอด! คดีสลายแดง ป.ป.ช.ยันทำตามหลักสากล
ยังไร้หลักเกณฑ์เปิดเผย! ป.ป.ช.ไม่ให้ข้อมูลปมตีตกคดีสลายแดงปี’53