พบพิรุธใช้จ่ายเงินเสี่ยงทุจริตเพียบ! สตง.ชี้ปัญหาศูนย์พัฒนาเด็กเล็กลามทั่วปท.
ไม่ใช่แค่นครศรีธรรมราช! สตง.ชี้ปัญหาศูนย์พัฒนาเด็กเล็กลามทั่วปท. ทั้งก่อสร้างอาคารไม่เป็นไปตามมาตรฐาน สภาพที่ตั้งไม่เหมาะสม คุณภาพอาหารน้ำดื่มย่ำแย่ เผยข้อมูลใหม่จ่ายเงินส่อพิรุธเสี่ยงเกิดทุจริตเพียบ ร่อนหนังสือจี้มหาดไทย สั่งผู้ว่าฯ ตั้งกก.สอบดูแลเข้มงวด แล้ว ตั้งแต่ช่วงปี 2560 หากพบการกระทำความผิดให้เรียกเงินค่าเสียหายคืน พร้อมเล่นงานโทษวินัย-กม.ผู้เกี่ยวข้องด้วย
กรณีปัญหาการใช้จ่ายเงินอุดหนุนเฉพาะกิจก่อสร้างอาคารศูนย์พัฒนาเด็กเล็กขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) จังหวัดนครศรีธรรมราช ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2559 จำนวน 37 แห่ง วงเงินกว่า 92,236,000 บาท ที่ถูกสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ตรวจพบปัญหาหลายประการ ทั้งการก่อสร้างศูนย์พัฒนาเด็กเล็กที่ไม่เป็นไปตามแบบมาตรฐานประเภทอาคาร ไม่ติดตั้งครุภัณฑ์วัสดุอุปกรณ์ที่กำหนดตามแบบรูปรายการงานก่อสร้างและใบแจ้ง งานก่อสร้างมีความชำรุดบกพร่อง ก่อสร้างแล้วเสร็จแต่ยังไม่ใช้ประโยชน์เปิดให้บริการการเรียนการสอนตามวัตถุประสงค์ ที่สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org นำข้อมูลมาเสนอไปก่อนหน้านี้ (อ่านประกอบ : อยู่ติดที่เผาศพ-ห้องน้ำแย่-ไม่มีถังดับเพลิง! สตง.ชำแหละงบสร้างศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก นครศรีฯ 92 ล., สร้างเสร็จ 5 เดือน เปิดใช้ไม่ได้เพียบ! สตง.ชี้สิ่งแวดล้อมศูนย์พัฒนาเด็ก นครศรีฯ 92 ล. สุดแย่)
กำลังถูกจับตามองมากขึ้น เมื่อสำนักข่าวอิศรา ได้รับการยืนยันข้อมูลจากแหล่งข่าวในสตง. ว่า ปัญหาการใช้จ่ายเงินงบประมาณในการดำเนินงานก่อสร้างศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ไม่ได้มีอยู่เพียงแค่จังหวัดนครศรีธรรมราช เท่านั้น หากการดำเนินงาน ของ อปท.ทั่วประเทศ ก็ถูกตรวจสอบพบว่ามีปัญหาลักษณะ และสตง. เคยทำหนังสือแจ้งรายงานผลการตรวจสอบเป็นทางการไปให้่กระทรวงมหาดไทยรับทราบไปตั้งแต่ช่วงต้นปี 2560 แล้ว
โดยในหนังสือสตง.ฉบับดังกล่าว แจ้งถึงปลัดกระทรวงมหาดไทย ระบุว่า จากการตรวจสอบศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก จำนวน 79 แห่ง ทั่วประเทศ พบว่า งานก่อสร้างอาคารไม่เป็นไปตามมาตรฐานหลายแห่ง สภาพที่ตั้งศูนย์ฯ อยู่ในพื้นที่ไม่เหมาะสม ประตูหน้าต่างชำรุดผุพังใช้งานไม่ได้ พื้นที่ใช้สอยภายในอาคารก็ไม่สะอาดคับแคบ ไม่เหมาะสมกับการทำกิจกรรมของเด็ก รวมถึงความปลอดภัยของเด็กในด้านต่างๆ ด้วย ส่วนเครื่องเล่นกลางแจ้ง ที่จัดซื้อมาก็มีสภาพเก่า ชำรุดเป็นสนิม ไม่เพียงพอกับจำนวนเด็ก
นอกจากนี้ยังมีกรณีการจัดซื้อสื่อการเรียนการสอน และเครื่องเล่นพัฒนาการเด็กบางรายการ ที่ไม่ได้จัดซื้อมาใช้งาน ทั้งที่ได้รับจัดสรรงบประมาณไปแล้วว่า 6-8 เดือน หรือ มีการจัดซื้อมาแล้วเด็กไม่ได้ใช้ประโยชน์จริง ขณะที่การจัดอาหารกลางวันน้ำดื่มก็ไม่เหมาะสมทั้งด้านปริมาณ คุณภาพไม่ถูกสุขลักษณะ บางศูนย์ให้เด็กเอาอาหารมาทานเอง ทั้งที่ ได้รับเงินสนับสนุนไปแล้วด้วย
แหล่งข่าวจาก สตง. ยังระบุว่า สำหรับเรื่องการใช้จ่ายเงินงบประมาณนั้น มีศูนย์ฯ หลายแห่ง ถูกตรวจสอบพบว่า มีปัญหาไม่ปฏิบัติตามระเบียบ อาทิ อปท.บางแห่ง ไม่นำเงินอุดหนุนสำหรับค่าอาหารกลางวัน หรือนำเงินค่าใช้จ่ายรายหัวเด็กฝากบัญชีธนาคารในนามสถานศึกษา บางศูนย์ไม่มีหลักฐานการเบิกจ่ายเงินให้ตรวจสอบ ซึ่งสตง.เห็นว่าการดำเนินงานในเหล่านี้ ส่อพิรุธและมีความเสี่ยงที่จะเกิดการทุจริตและทำให้เกิดความเสียหายแก่เงินงบประมาณแผ่นดินอย่างมาก
เบื้องต้น สตง. จึงขอให้กระทรวงมหาดไทย สั่งการไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ ให้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบการดำเนินงานศูนย์พัฒนาเด็กเล็กทั่วประเทศ หากพบการกระทำความผิดให้เรียกเงินค่าเสียหายคืน และดำเนินการเอาผิดทางวินัยและตามกฎหมายกับผู้เกี่ยวข้องต่อไปด้วย
สำนักข่าวอิศรา รายงานว่า สำหรับที่มาของการดำเนินงานศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก นั้น เดิมองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้แก่ เทศบาล ได้จัดการศึกษาปฐมวัยแก่เด็กอายุ 3-5 ขวบ ในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก โดยใช้งบประมาณจากเงินรายได้เทศบาลเป็นค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการ เพื่อมุ่งพัฒนาความพร้อมแก่เด็กในวัย 3-5 ขวบ ให้ได้รับการพัฒนาทั้งด้านร่างกาย อารมณ์ จิตใจ สังคม สติปัญญา และมีความพร้อมในการเข้ารับการศึกษาต่อในระดับประถมศึกษา ส่วนราชการต่างๆ ที่ดำเนินการจัดตั้งสถานพัฒนาเด็กปฐมวัย ได้แก่ กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย ดำเนินการในศูนย์เด็กเล็ก จำนวน 7,520 แห่ง กรมการศาสนา กระทรวงศึกษาธิการ (ปัจจุบันอยู่ในสังกัดกระทรวงวัฒนธรรม) ดำเนินการในวัด/มัสยิด เรียกว่า ศูนย์อบรมเด็กก่อนเกณฑ์ในวัด/มัสยิด จำนวน 4,155 แห่ง และสำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ (สปช.) ดำเนินการในโรงเรียน เรียกว่า การจัดการศึกษาอนุบาล 3 ขวบ จำนวน 2,651 แห่ง รวมทั้งสิ้น 14,326 แห่ง
โดยส่วนราชการดังกล่าวต่างมีวัตถุประสงค์ ในการพัฒนาเด็กวัย 3- 5 ขวบ ให้มีความพร้อมด้านร่างกายอารมณ์ จิตใจ สังคม สติปัญญา มีคุณธรรมและจริยธรรม เพื่อศักยภาพในการศึกษาต่อในระดับประถมศึกษา เช่นเดียวกัน แต่ก็มีโครงสร้างการบริหารงานและความเป็นเอกภาพในการบริหารจัดการที่แตกต่างกัน กล่าวคือ ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กของกรมการพัฒนาชุมชนบริหารงานโดยคณะกรรมการพัฒนาเด็ก ซึ่งประกอบด้วย ตัวแทนผู้ปกครอง/ผู้นำท้องถิ่น ศูนย์อบรมเด็กก่อนเกณฑ์ในวัด/มัสยิดบริหารงานโดยคณะกรรมการบริหารศูนย์อบรม ก่อนเกณฑ์ในวัด/มัสยิด ประกอบด้วย ผู้แทนครูผู้สอน ผู้แทนครูพี่เลี้ยง ผู้แทนผู้ปกครอง ผู้แทนองค์กรชุมชนผู้แทนสถานศึกษา และผู้ทรงคุณวุฒิ โดยมีเจ้าอาวาส/อิหม่าม เป็นประธาน และการจัดการศึกษาอนุบาล 3 ขวบ ของสำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ (สปช.) บริหารงานโดยผู้บริหารโรงเรียน
ต่อมาศูนย์พัฒนาเด็กเล็กที่ส่วนราชการต่างๆ ดำเนินการได้ถ่ายโอนให้เทศบาล และองค์การบริหารส่วนตำบล ซึ่งเป็นหน่วยการปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีกฎหมายจัดตั้งขึ้น เพื่อรองรับการกระจายอำนาจจากรัฐบาลเป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการแทนตั้งแต่ปี พ.ศ.2545 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน ตามพระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2542 ภายใต้การส่งเสริมสนับสนุน การดำเนินงานของ กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นทั้งในด้านวิชาการ งบประมาณ และการพัฒนาบุคลากร