- Home
- Isranews
- สร้างเสร็จ 5 เดือน เปิดใช้ไม่ได้เพียบ! สตง.ชี้สิ่งแวดล้อมศูนย์พัฒนาเด็ก นครศรีฯ 92 ล. สุดแย่
สร้างเสร็จ 5 เดือน เปิดใช้ไม่ได้เพียบ! สตง.ชี้สิ่งแวดล้อมศูนย์พัฒนาเด็ก นครศรีฯ 92 ล. สุดแย่
"...มีศูนย์พัฒนาเด็กเล็กก่อสร้างเสร็จเรียบร้อยแล้ว แต่ยังไม่เปิดให้บริการการเรียนการสอนแก่เด็กปฐมวัย จำนวน 11แห่ง คิดเป็นร้อยละ 34.38 และในจำนวนนี้มีศูนย์พัฒนาเด็กเล็กจำนวน 10แห่ง คิดเป็นร้อยละ 90.90 ที่ก่อสร้างเสร็จเรียบร้อยแล้วนานมากกว่า 5 เดือน ยังไม่สามารถ เปิดให้บริการด้านการเรียนการสอน ตามวัตถุประสงค์ได้ ส่งผลให้เด็กปฐมวัย ในพื้นที่ องค์กรปกครองท้องถิ่น ไม่สามารถเข้ารับบริการ จากศูนย์พัฒนาเด็กเล็กได้.."
สืบเนื่องจากสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org นำเสนอรายงานผลตรวจสอบการใช้จ่ายเงินอุดหนุนเฉพาะกิจก่อสร้างอาคารศูนย์พัฒนาเด็กเล็กขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) จังหวัดนครศรีธรรมราช ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2559 จำนวน 37 แห่ง เป็นเงิน 92,236,000 บาท ของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ที่ตรวจพบปัญหาการใช้จ่ายงบประมาณไม่คุ้มค่าหลายประการ ทั้งการก่อสร้างศูนย์พัฒนาเด็กเล็กที่ไม่เป็นไปตามแบบมาตรฐานประเภทอาคาร ไม่ติดตั้งครุภัณฑ์วัสดุอุปกรณ์ที่กำหนดตามแบบรูปรายการงานก่อสร้างและใบแจ้ง งานก่อสร้างมีความชำรุดบกพร่องข้อตรวจพบที่ 2 ก่อสร้างแล้วเสร็จแต่ยังไม่ใช้ประโยชน์เปิดให้บริการการเรียนการสอนตามวัตถุประสงค์ นั้น (อ่านประกอบ : อยู่ติดที่เผาศพ-ห้องน้ำแย่-ไม่มีถังดับเพลิง! สตง.ชำแหละงบสร้างศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก นครศรีฯ 92 ล.)
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบพบว่า เกี่ยวกับปัญหาการก่อสร้างอาคารที่แล้วเสร็จแต่ยังไม่ใช้ประโยชน์เปิดให้บริการการเรียนการสอนตามวัตถุประสงค์นั้น ในรายงานการตรวจสอบของ สตง. ระบุว่า มีศูนย์พัฒนาเด็กเล็กก่อสร้างเสร็จเรียบร้อยแล้ว แต่ยังไม่เปิดให้บริการการเรียนการสอนแก่เด็กปฐมวัย จำนวน 11 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 34.38 และในจำนวนนี้มีศูนย์พัฒนาเด็กเล็กจำนวน 10แห่ง คิดเป็นร้อยละ 90.90 ที่ก่อสร้างเสร็จเรียบร้อยแล้วนานมากกว่า 5 เดือน ยังไม่สามารถ เปิดให้บริการด้านการเรียนการสอน ตามวัตถุประสงค์ได้ ส่งผลให้เด็กปฐมวัย ในพื้นที่ องค์กรปกครองท้องถิ่น ไม่สามารถเข้ารับบริการ จากศูนย์พัฒนาเด็กเล็กได้
สาเหตุเนื่องจาก องค์กรปกครอส่วนท้องถิ่น ขาดการเตรียมความพร้อมพื้นที่โดยรอบอาคารศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ต้องมีการปรับปรุงภูมิทัศน์การก่อสร้างรั้วรอบอาคาร การปรับปรุงกั้นห้องเพิ่มเติม และบางแห่งยังไม่มีการเชื่อมต่อระบบโครงข่ายไฟฟ้าของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค เพื่อประโยชน์ในการใช้สอย การเดินทาง ความปลอดภัย และขาดการติดตามประเมินผลด้านการใช้ประโยชน์
สำหรับกรณีอาคารสถานที่ สิ่งแวดล้อม และความปลอดภัยของศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ไม่เป็นไปตามมาตรฐานการดำเนินงานศูนย์พัฒนาเด็กเล็กขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ประจำปี พ.ศ. 2559 นั้น
สตง.ตรวจสอบพบว่า การบริหารจัดการศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ด้านอาคารสถานที่สิ่งแวดล้อม และความปลอดภัย ไม่เป็นไปตามมาตรฐาน การดำเนินงานศูนย์พัฒนาเด็กเล็กขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ประจำปี พ.ศ. 2559 ดังนี้
1. ด้านอาคารสถานที่
1.1 ที่ตั้ง ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ตั้งอยู่ในพื้นที่ที่ไม่เหมาะสม จำนวน 8 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 25.00 โดยอยู่ใกล้กับฌาปนกิจสถาน จำนวน 2 แห่ง อยู่ใกล้ถนนมากเกินไป จำนวน 5 แห่ง และตั้งอยู่ ในพื้นที่น้ำท่วมถึง จำนวน 1 แห่ง นอกจากนี้พบว่า มีศูนย์พัฒนาเด็กเล็กที่ไม่มีรั้วป้องกัน ทำให้มีความเสี่ยงที่จะเกิดอันตรายได้จำนวน 15 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 46.88
1.2 ประตู – หน้าต่าง ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก เป็นไปตามมาตรฐานฯ จำนวน 30 แห่ง คิด เป็นร้อยละ 93.75 และมีความชำรุดผุพัง จำนวน 2 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 6.25
1.3 พื้นที่ใช้สอยภายใน ห้องส้วมสำหรับเด็ก มีไม่เพียงพอต่อจำนวนเด็ก ไม่เป็นไปตามสัดส่วนห้องส้วม 1 ห้อง ต่อเด็ก 10–12คน จำนวน 24แห่ง คิดเป็นร้อยละ 75 ห้องส้วมไม่แยกสัดส่วน สำหรับเด็กชายและเด็กหญิง มีการใช้ห้องส้วมร่วมกัน และติดตั้งโถส้วม ที่มีขนาดไม่เหมาะสมกับตัวเด็ก จำนวน 13 แห่งคิดเป็นร้อยละ 40.63
2. ด้านสิ่งแวดล้อม
2.1 ภายในอาคารศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ดำเนินการเป็นไปตามมาตรฐานฯ จำนวน 32 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 100
2.2 ภายนอกอาคารศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ไม่มีรั้วกั้นบริเวณให้เป็นสัดส่วน เพื่อความปลอดภัยของเด็ก จำนวน 15 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 46.88
3. ด้านความปลอดภัย มาตรฐานการป้องกันความปลอดภัย ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กไม่ติดตั้งถังดับเพลิง ซึ่งไม่เป็นไปตามมาตรฐานการป้องกันความปลอดภัย จำนวน 2 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 6.25 โดยติดตั้งถังดับเพลิงจากพื้นถึงหัวถัง สูงเกินกว่า 1.50 เมตรที่กำหนด จำนวน 16 แห่ง คิดเป็น ร้อยละ 50 และติดตั้งปลั๊กไฟสูงจากพื้นต่ำกว่า 1.50 เมตรที่กำหนด จำนวน 31 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 96.88
นอกจากนี้มีหลุมหรือบ่อน้ำที่อาจเป็นอันตรายต่อเด็กในบริเวณโดยรอบตัวอาคาร จำนวน 6แห่ง คิดเป็นร้อยละ 18.75
เบื้องต้น สตง. มีข้อเสนอแนะ ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช พิจารณาดำเนินการ ดังนี้
1. ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ที่ขาดการเตรียมความพร้อมพื้นที่โดยรอบอาคารเพื่อการปรับปรุงภูมิทัศน์ การก่อสร้างรั้วรอบอาคาร และศูนย์เด็กเล็กที่มีการกั้นห้องเพิ่มเติม ให้เร่งรัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดำเนินการโดยเร็ว เพื่อให้ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก สามารถเปิดให้บริการหรือมีการใช้ประโยชน์ต่อไป
2. ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ที่ยังไม่มีการเชื่อมต่อระบบโครงข่ายไฟฟ้า ของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เร่งประสานงานกับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค เพื่อดำเนินการขยายเขตไฟฟ้าไปยังที่ตั้งศูนย์พัฒนาเด็กเล็กโดยเร็ว หรือดำเนินการทางงบประมาณขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อเร่งรัดให้มีการเชื่อมต่อระบบไฟฟ้าต่อไป
3. ขอให้สั่งการและกำชับให้ สำนักงานส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นจังหวัดนครศรีธรรมราชให้ความสำคัญในการติดตามประเมินผลการใช้ประโยชน์ และมีการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นบริหารงานให้ได้มาตรฐานและเป็นไปตามหลักเกณฑ์การบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี ตามมาตรา 52 แห่งพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจบ้านเมืองที่ดี พ.ศ. 2546
สำหรับข้อมูลการว่าจ้างงานก่อสร้างอาคารศูนย์พัฒนาเด็กเล็กขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) จังหวัดนครศรีธรรมราช นั้น สำนักข่าวอิศรา อยู่ระหว่างการตรวจสอบข้อมูลเชิงลึก เพื่อนำมาเสนอให้สาธารณชนรับทราบต่อไป
หมายเหตุ : ภาพศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ที่นำมาใช้ประกอบไม่เกี่ยวข้องกับเนื้อหาในรายงานแต่อย่างใด , ภาพอินโฟ เด็กเล็ก จาก smartteen.net