- Home
- Isranews
- อยู่ติดที่เผาศพ-ห้องน้ำแย่-ไม่มีถังดับเพลิง! สตง.ชำแหละงบสร้างศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก นครศรีฯ 92 ล.
อยู่ติดที่เผาศพ-ห้องน้ำแย่-ไม่มีถังดับเพลิง! สตง.ชำแหละงบสร้างศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก นครศรีฯ 92 ล.
"...อาคารศูนย์พัฒนาเด็กเล็กกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย จำนวน 29 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 90.63 มีการติดตั้งประตูห้องน้ำ ห้องอาบน้ำ มีระดับความสูงจากพื้น ขนาดกว้าง ยาว ไม่ถูกต้องตามแบบรูปรายการ ไม่สามารถมองเห็นเด็กจากภายนอกได้ ติดตั้งโถสุขภัณฑ์เด็ก เป็นขนาดผู้ใหญ่ซึ่งไม่ถูกต้อง ไม่เหมาะสมกับตัวเด็ก และไม่เป็นไปตามแบบรูปรายการ การก่อสร้างห้องน้ำผิดวัตถุประสงค์การใช้งาน มีการปรับเปลี่ยนแปลงห้องน้ำเด็กเป็นห้องน้ำครู โดยไม่รายงานเหตุผลความจำเป็น เพื่อขอทำความตกลงกับผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช..."
เงินอุดหนุนเฉพาะกิจก่อสร้างอาคารศูนย์พัฒนาเด็กเล็กขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) จังหวัดนครศรีธรรมราช ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2559 จำนวน 37 แห่ง เป็นเงิน 92,236,000 บาท ถูกสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ตรวจพบปัญหาการใช้จ่ายงบประมาณไม่คุ้มค่าหลายประการ ทั้งการก่อสร้างศูนย์พัฒนาเด็กเล็กที่ไม่เป็นไปตามแบบมาตรฐานประเภทอาคาร ไม่ติดตั้งครุภัณฑ์วัสดุอุปกรณ์ที่กำหนดตามแบบรูปรายการงานก่อสร้างและใบแจ้ง งานก่อสร้างมีความชำรุดบกพร่อง
เบื้องต้น สตง. ได้แจ้งข้อเสนอแนะให้ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช สั่งการและกำชับ ให้ผู้ควบคุมงานก่อสร้างขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามแบบรูปรายการและบัญชีรายการก่อสร้าง หรือใบแจ้งปริมาณงานและราคา และระเบียบฯเพื่อให้งานก่อสร้างเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ประสิทธิผล และคุ้มค่าต่อการใช้จ่ายเงินงบประมาณของแผ่นดิน
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า เมื่อเร็วๆ นี้ สตง. ได้เผยแพร่รายงานการตรวจสอบเงินอุดหนุนเฉพาะกิจก่อสร้างอาคารศูนย์พัฒนาเด็กเล็กของอปท. จังหวัดนครศรีธรรมราช ประจำปีงบประมาณ 2559 จำนวน 37 แห่ง เป็นเงิน 92,236,000 บาท โดยดำเนินการจัดจ้างก่อสร้างศูนย์พัฒนาเด็กเล็กขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตามแบบมาตรฐานอาคารศูนย์พัฒนาเด็กเล็กขนาดไม่เกิน 50 คน ตามแบบที่ สถ.ศพด.1 ขนาด 51-80 คน ตามแบบที่สถ.ศพด.2 และขนาด 81-100 คน แบบที่ สถ.ศพด.3
จากการตรวจสอบการดำเนินงานเงินอุดหนุนเฉพาะกิจก่อสร้างอาคารศูนย์พัฒนาเด็กเล็กขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จังหวัดนครศรีธรรมราช ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2559 จำนวน 32 แห่ง มีข้อตรวจพบที่สำคัญหลายประเด็น คือ
1. การก่อสร้างศูนย์พัฒนาเด็กเล็กไม่มีประสิทธิภาพ ไม่เป็นไปตามแบบมาตรฐานประเภทอาคารศูนย์พัฒนาเด็กเล็กกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย จำนวน 29 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 90.63 มีการติดตั้งประตูห้องน้ำ ห้องอาบน้ำ มีระดับความสูงจากพื้น ขนาดกว้าง ยาว ไม่ถูกต้องตามแบบรูปรายการ ไม่สามารถมองเห็นเด็กจากภายนอกได้ ติดตั้งโถสุขภัณฑ์เด็ก เป็นขนาดผู้ใหญ่ซึ่งไม่ถูกต้อง ไม่เหมาะสมกับตัวเด็ก และไม่เป็นไปตามแบบรูปรายการ การก่อสร้างห้องน้ำผิดวัตถุประสงค์การใช้งาน มีการปรับเปลี่ยนแปลงห้องน้ำเด็กเป็นห้องน้ำครู โดยไม่รายงานเหตุผลความจำเป็น เพื่อขอทำความตกลงกับผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นการไม่ปฏิบัติตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการพัสดุของหน่วยการบริหารราชการส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติมถึง (ฉบับที่10) พ.ศ. 2558 ข้อ 129 (2) และการปรับเปลี่ยนห้องน้ำเด็ก เป็นห้องน้ำครู ทำให้ห้องน้ำเด็กมีไม่เพียงพอ และไม่เป็นไปตามสัดส่วนมาตรฐานของกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ที่กำหนดให้โดยเฉลี่ย 1 ที่ ต่อเด็ก 10-20 คน
2. ไม่ติดตั้งครุภัณฑ์วัสดุอุปกรณ์ที่กำหนดตามแบบรูปรายการงานก่อสร้างและใบแจ้งปริมาณงานและราคา
จากการตรวจสอบ พบว่า การก่อสร้างอาคารศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก จำนวน 5 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 15.63 ไม่มีการติดตั้งครุภัณฑ์วัสดุอุปกรณ์ที่กำหนด ตามแบบรูปรายการงานก่อสร้างและใบแจ้งปริมาณงานและราคา และคณะกรรมการตรวจการจ้าง ได้ตรวจรับการจ้างโดยถูกต้องเรียบร้อยแล้ว รวมค่าความเสียหายของทางราชการ จำนวนเงิน 76,470.58 บาท ได้แก่ องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) เขาพระทอง อำเภอชะอวด ศพด.1 ไม่ติดตั้งสายฉีดชำระ คิดเป็นเงิน 1,527.12 บาท และศพด.2 ไม่ติดตั้งราวระเบียงบันไดสแตนเลสและสายฉีดชำระ รวมเป็นเงิน 26,470.08 บาท เทศบาลตำบลการะเกด อำเภอเชียรใหญ่ ไม่ติดตั้งโคมไฟฉุกเฉิน เป็นเงิน 9,547.88 บาท เทศบาลตำบลหัวไทร อำเภอหัวไทร ไม่ติดตั้งถังดับเพลิงและกระจกเงา และไม่มีงานติดตั้งบัวเชิงผนังไม้เนื้อแข็ง 3/4 นิ้ว x4 นิ้ว ปริมาณงาน 122 เมตร รวมเป็นเงิน 37,020.50 บาท องค์การบริหารส่วนตำบลห้วยปริก อำเภอฉวาง ไม่ติดตั้งประตูห้องอาบน้ำ คิดเป็นเงิน 1,905.00 บาท ซึ่งได้แยกออกรายงาน แจ้งตามหนังสือ ที่ ตผ 0060 นศ/32 ลงวันที่ 29 มกราคม 2561 เรื่อง การก่อสร้างอาคารศูนย์พัฒนาเด็กเล็กขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จังหวัดนครศรีธรรมราช ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2559 ไม่ติดตั้งครุภัณฑ์วัสดุอุปกรณ์ให้ตรวจสอบ
โดยมีข้อเสนอแนะให้ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราชสั่งการให้แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงหาผู้รับผิดชอบตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 และดำเนินการกับผู้รับผิดชอบ ตามควรแก่กรณีต่อไป
3. งานก่อสร้างมีความชำรุดบกพร่อง
จากการตรวจสอบ พบว่า งานก่อสร้างโดยทั่วไปวัสดุทีใช้มีความคงทนแข็งแรง มีคุณภาพพร้อมใช้งาน จำนวน 16 แห่ง คิดเป็น ร้อยละ 50.00 และงานก่อสร้างมีความชำรุดบกพร่อง แตกร้าว ติดตั้งไม่สมบูรณ์เรียบร้อย จำนวน 16 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 50.00 เช่น ไม้ฝ้าระแนงใต้หลังคาชำรุด หลังคารั่วทำให้ฝ้าเพดานชำรุดเสียหาย ประตูห้องน้ำชำรุด ระบบ ไฟฟ้าห้องครัวไม่ทำงาน หลอดไฟฟ้าเสียใช้งานไม่ได้เป็นการใช้จ่ายเงินงบประมาณไม่เกิดความคุ้มค่าเนื่องจากการก่อสร้างแล้วเสร็จแต่มีสภาพชำรุด ไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้ตามวัตถุประสงค์
4. เอกสารอันเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาจ้างไม่เป็นไปตามระเบียบฯ ที่กำหนด
องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ก่อสร้างศูนย์พัฒนาเด็กเล็กขนาด 51- 80 จำนวน 9 แห่ง และศูนย์พัฒนาเด็กเล็กขนาด 81-100 คน จำนวน 12 แห่ง รวม 21 แห่ง ตามสัญญาจ้างข้อ 2 เอกสารอันเป็นส่วนหนึ่งของสัญญากำหนดให้ใบแจ้งปริมาณงานและราคา เป็นส่วนหนึ่งของสัญญา พบว่า จำนวนเงินรวม ตามใบแจ้งปริมาณงานและราคา ของผู้รับจ้างไม่ถูกต้องตรงกัน กับจำนวนเงินตามสัญญาจ้าง จำนวน 6 แห่ง และผู้รับจ้างไม่กรอกจำนวนเงินของแต่ละรายการ ในใบแจ้งปริมาณงานและราคา ให้ถูกต้องตรงกันกับราคาที่เสนอไว้ จำนวน 7 แห่ง การไม่กรอกจำนวนเงินแต่ละรายการ ภายหลังการเสนอราคารายต่ำสุด ที่เป็นคู่สัญญา หรือมีจำนวนเงินรวมไม่ตรงตามสัญญาจ้าง หากมีกรณีข้อโต้แย้งระหว่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกับผู้รับจ้าง อาจจะเกิดความเสียหายต่อทางราชการได้และเป็นการไม่ปฏิบัติตามหนังสือกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ด่วนที่สุด ที่ มท 0803/ว2401 ลงวันที่ 13กันยายน 2555 และได้ส่งสำเนาหนังสือคณะกรรมการว่าด้วยการพัสดุด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ ด่วนที่สุด ที่ กค (กวพอ) 0421.3/ว 347 ลงวันที่ 5กันยายน 2555 เรื่อง การซักซ้อมความเข้าใจเกี่ยวกับการกำหนดเงื่อนไขต่าง ๆ ไว้ในเอกสารประกวดราคาจ้างด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์
ข้อเสนอแนะ
ทั้งนี้ เพื่อให้การก่อสร้างศูนย์พัฒนาเด็กเล็กเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและบรรลุวัตถุประสงค์สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) มีข้อเสนอแนะเพื่อ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช พิจารณาดำเนินการ ดังนี้
1. ขอให้สั่งการและกำชับ ให้ผู้ควบคุมงานก่อสร้างขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามแบบรูปรายการและบัญชีรายการก่อสร้าง หรือใบแจ้งปริมาณงานและราคา และระเบียบฯเพื่อให้งานก่อสร้างเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ประสิทธิผล และคุ้มค่าต่อการใช้จ่ายเงินงบประมาณของแผ่นดิน
2. สั่งการและกำชับให้คณะกรรมการตรวจการจ้าง ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความระมัดระวัง รอบคอบ ให้เป็นไปตามระเบียบที่เกี่ยวข้อง เพื่อลดโอกาสที่จะเกิดความสูญเสียและทำให้เกิดความคุ้มค่าต่อการใช้จ่ายเงินงบประมาณ
3. สั่งการให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เร่งรัดแจ้งให้ผู้รับจ้างคู่สัญญาดำเนินการแก้ไขความชำรุดบกพร่อง ของงานก่อสร้าง ให้ถูกต้องเรียบร้อยภายในเวลาตามเงื่อนไขตามนัยแห่งสัญญาจ้าง ข้อ 6 ความรับผิดชอบในความชำรุดบกพร่องของงานจ้าง
4. สั่งการและกำชับให้คณะกรรมการประกวดราคาจ้างด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและเจ้าหน้าที่พัสดุปฏิบัติตามหนังสือคณะกรรมการว่าด้วยการพัสดุด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ ด่วนที่สุด ที่ กค (กวพอ) 0421.3/ว 347 ลงวันที่ 5กันยายน 2555 อย่างเคร่งครัดในโอกาสต่อไป
สำนักข่าวอิศรารายงานว่า ในรายงานตรวจสอบของสตง. ยังระบุว่า นอกเหนือจากปัญหาการก่อสร้างศูนย์พัฒนาเด็กเล็กไม่มีประสิทธิภาพแล้ว ยังมีกรณีการก่อสร้างแล้วเสร็จแต่ยังไม่ใช้ประโยชน์เปิดให้บริการการเรียนการสอนตามวัตถุประสงค์ รวมถึงอาคารสถานที่ สิ่งแวดล้อม และความปลอดภัยของศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ไม่เป็นไปตามมาตรฐานการดำเนินงานศูนย์พัฒนาเด็กเล็กขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ประจำปี พ.ศ. 2559 เช่น บางแห่ง อยู่ใกล้กับฌาปนกิจสถาน จำนวน 2 แห่ง หรืออยู่ใกล้ถนนมากเกินไป จำนวน 5 แห่ง ด้วยบางแห่งไม่ติดตั้งถังดับเพลิง ซึ่งไม่เป็นไปตามมาตรฐานการป้องกันความปลอดภัยด้วย
หมายเหตุ : ภาพศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ที่นำมาใช้ประกอบไม่เกี่ยวข้องกับเนื้อหาในรายงานแต่อย่างใด