แนะชงครม.แก้ปัญหาแอชตันคอนโด! ต่อตระกูล ยันผู้ว่าฯรฟม.ไม่มีอำนาจให้สิทธิ์ทำทางเข้า-ออก
'ต่อตระกูล ยมนาค' ยันผู้ว่าฯ รฟม. อำนาจไม่พอให้สิทธิ์โครงการแอชตัน อโศก คอนโดหรู ใช้พื้นที่ติดสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินสุขุมวิท ทำทางเข้า-ออก ชนวนเหตุหลักปมสร้างเสร็จโอนให้ลูกค้าไม่ได้ แนะชงครม.แก้ปัญหา ด้านซีอีโออนันดาฯ แพร่คลิปขอโทษลูกบ้านพยายามเร่งโอนให้ได้ภายในสิ้นปี61 นี้ ไม่หนีไปไหน
สืบเนื่องจากสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org นำเสนอข่าวว่าสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้ทำหนังสือด่วนที่สุด ที่ ตผ 0017/2625 ลงวันที่ 16 มิถุนายน 2560 ถึงการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เพื่อแจ้งข้อปัญหาทางกฎหมาย กรณีตรวจสอบพบว่า รฟม.อนุญาตให้สิทธิแก่ บริษัท อนันดาดีเวลลอปเม้นท์ ทู จำกัด ใช้ประโยชน์ในที่ดินของ รฟม. เพื่อเป็นทางเข้า-ออก โครงการก่อสร้างอาคารชุดพักอาศัยขนาดใหญ่พิเศษของโครงการ Asoke (โครงการ Ashton Asoke) โดยไม่ขออนุญาตต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) นั้น (อ่านประกอบ : สตง.สอบพบ รฟม. ให้สิทธิเอกชนใช้ปย.ที่ดินทำทางเข้า-ออกคอนโดหรูไม่ขอความเห็นชอบ 'ครม.' , ปูดผู้บริหารฯอุบเงียบผลสอบ! เผยเบื้องหลัง รฟม.ให้สิทธิบ.ใช้ที่ทำทางเข้า-ออกคอนโดหรูไม่ขอครม., โยนรฟม.แจงเอง!บมจ.อนันดาฯยันทำถูกต้องปมสตง.สอบใช้ปย.ที่ดินเข้า-ออกคอนโดหรูไม่ขอครม.)
ขณะที่ นายต่อตระกูล ยมนาค อดีตนายกสมาคมวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ เขียนบทความเผยแพร่ปัญหาเรื่องนี้ โดยระบุว่า โครงการแอชตัน อโศก คอนโดมิเนียม 50 ชั้น ของ เครือบริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) ดัดแปลงแบบจาก 7 ชั้น เป็น 50 ชั้น และก่อสร้างจนแล้วเสร็จแต่ยังไม่สามารถโอนได้ (อ่านประกอบ : เมื่อแอชตัน คอนโด 50 ชั้น อโศก เสร็จแล้ว แต่โอนไม่ได้)
ล่าสุด นายต่อตระกูล ยมนาค ให้สัมภาษณ์ยืนยันสำนักข่าวอิศราประเด็นนี้เพิ่มเติมว่า เรื่องนี้เคยมีการตั้งข้อสงสัยตั้งแต่แรก ที่คอนโดแอชตัน อโศกมีการขออนุญาตก่อสร้าง 7 ชั้น แต่เมื่อได้ทำการก่อสร้างไปแล้ว ก็ไปขออนุญาตดัดแปลงอาคารจาก 7 ชั้น เป็น 50 ชั้น ในภายหลัง ซึ่ง กทม. ก็อนุญาต บอกว่าทำได้ตามกฎหมาย แต่คนที่รู้เรื่องรู้สึกว่ามันประหลาดมาก อนุญาตดัดแปลงจาก 7 ชั้น เป็น 50 ชั้น แสดงว่าอาจตั้งใจว่าไม่ได้จะทำแค่ 7 ชั้น แต่แรกแน่นอน แต่เรื่องนี้คงไปเอาผิดทางกฎหมายไม่ได้ เพราะว่าเจ้าหน้าที่ฝ่าย กทม. บอกว่า เขามีอำนาจที่จะให้ดัดแปลงได้ เรื่องก็จบกันไป เป็นการใช้ช่องทางกฎหมาย แต่ถ้าทำได้ต่อไปก็จะทำแบบนี้กันหมด
"ถ้ามีคนไปฟ้องศาลปกครองว่า เอกสารใบอนุญาตก่อสร้างที่จะทำให้ก่อสร้างได้เป็นเอกสารที่ไม่ถูกต้อง โดยทางเข้าของทางอาคารขนาดใหญ่ต้องมีความกว้าง 12 ม. มาต่อถนนใหญ่ แต่เจ้าของที่ดินมีไม่ถึง 12 ม. ซึ่งเอาที่ดินที่เวนคือตึกริมถนนมาใช้เพื่อประโยชน์สาธารณะ ให้กับทางคอนโดแอชตัน ใช้เป็นทางเข้า-ออก ซึ่งเป็นการให้ประโยชน์เพื่อธุรกิจเอกชน ถือว่า รฟม. ไม่ได้นำพื้นที่ไปช่วยการสาธารณะประโยชน์ ฉะนั้น อำนาจนี้ต้องไปถึง คณะรัฐมนตรี (ครม.) ถ้าเป็นกรณีที่ว่าพิเศษจริง ไม่ได้เพื่อสาธารณะ แต่เป็นประโยชน์มหาศาล ครม. ก็อาจจะให้สิทธิ์ได้"
นายต่อตระกูล ยังระบุด้วยว่า เกี่ยวกับเรื่องนี้ ผู้ว่าฯ รฟม. พลาดเรื่องอำนาจตนเองไม่พอที่จะทำได้ เอกสารการให้สิทธิ์ใช้เป็นทางเข้า-ออก ที่ออกไปจึงถือเป็นโมฆะ ทางด้าน กทม. ก็ไม่กล้าออกใบอนุญาตให้เข้าใช้อาคาร (ใบอนุญาตให้เข้าใช้อาคาร / ใบรับรองการใช้อาคาร ดัดแปลงอาคาร หรือเคลื่อนย้ายอาคาร / แบบ อ. 6) ได้ และเมื่อเอกสารเป็นโมฆะไป ทางเข้า-ออกดังกล่าวก็เป็นของ รฟม. ตามเดิม ใบอนุญาต อ. 6 สำคัญมาก ถ้าไม่มีถึงก่อสร้างเสร็จก็โอนไม่ได้
“ตามกฎหมายถ้ามีสัญญา มันต้องเป็นที่เข้าถาวร เช่าไม่ได้ ต้องขายเลย ไม่รู้ว่า รฟม. จะขายได้ไหม ไม่รู้ทำสัญญากันอย่างไร อาจเป็นเช่าระยะยาว ต้องเอาใบอนุญาตที่ผู้ว่าฯ รฟม. เซ็นมาดู เป็นประเด็นที่น่าสนใจ”
สำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบพบว่า เมื่อวันที่ 16 มี.ค. 2561 ที่ผ่านมา ทางด้าน ผู้บริหารของ โครงการแอชตัน อโศก ได้เผยแพร่คลิปวีดิโอชื่อ “CEO's Message : อัปเดตความคืบหน้าโครงการ Ashton Asoke จากทางคุณโก้ ชานนท์ เรืองกฤตยา” ในเฟซบุ๊คเพจ Ananda Development และ “CEO's Message : Ashton Asoke current status update from K.Chanond Ruangkritya ทางยูทิวบ์ เพื่อชี้แจงความล่าช้าในการโอนห้องโครงการแอชตัน อโศก มีใจความสำคัญว่า ขอโทษลูกค้า สิ้นปีที่แล้ว (2560) โครงการได้ก่อสร้างเสร็จแล้ว อยู่ในขั้นตอนการรอเปิดใช้อาคาร ซึ่งทางหน่วยงานราชการพยายามตรวจเอกสารให้ครบถ้วนที่สุด โดยทาง กทม. ค่อนข้างเข้มงวดกับข้อกฎหมายในการใช้อาคาร และยังไม่มีข้อสรุปออกมา เป็นเหตุสุดวิสัยที่นอกเหนือการควบคุม แต่ทางบริษัทฯ ได้พยายามจะให้โอนได้ภายในสิ้นปีนี้ ยืนยันไม่ได้หายไปไหน (ดูเพิ่ม : https://www.facebook.com/ananda.pcl/videos/10155652291203650/)
ทั้งนี้ ในช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา สำนักข่าวอิศรา ได้พยายามติดต่อไปยังโครงการแอชตัน อโศก (Ashton Asoke) ที่เบอร์ 02-316-2222 เพื่อให้ชี้แจงกรณีที่โครงการยังไม่สามารถโอนได้ เจ้าหน้าที่ได้แนะนำให้ติดต่อไปที่สำนักงานใหญ่ บริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) เบอร์ 02-056-2222 แต่ไม่มีผู้รับสาย
อ่านประกอบ :
สตง.สอบพบ รฟม. ให้สิทธิเอกชนใช้ปย.ที่ดินทำทางเข้า-ออกคอนโดหรูไม่ขอความเห็นชอบ 'ครม.'
ปูดผู้บริหารฯอุบเงียบผลสอบ! เผยเบื้องหลัง รฟม.ให้สิทธิบ.ใช้ที่ทำทางเข้า-ออกคอนโดหรูไม่ขอครม.
โยนรฟม.แจงเอง!บมจ.อนันดาฯยันทำถูกต้องปมสตง.สอบใช้ปย.ที่ดินเข้า-ออกคอนโดหรูไม่ขอครม.