- Home
- Isranews
- ข่าว
- ปูดผู้บริหารฯอุบเงียบผลสอบ! เผยเบื้องหลัง รฟม.ให้สิทธิบ.ใช้ที่ทำทางเข้า-ออกคอนโดหรูไม่ขอครม.
ปูดผู้บริหารฯอุบเงียบผลสอบ! เผยเบื้องหลัง รฟม.ให้สิทธิบ.ใช้ที่ทำทางเข้า-ออกคอนโดหรูไม่ขอครม.
เปิดเบื้องหลังมติ รฟม. ไฟเขียวอนุญาตให้สิทธิบ.อนันดาดีเวลลอปเม้นท์ทูฯ ใช้ประโยชน์ที่ดิน ทำทางเข้า-ออก โครงการก่อสร้างคอนโดมิเนียม แอชตัน อโศก แลกเปลี่ยนจ่ายค่าตอบแทน 97 ล้าน ไม่ขอความเห็นชอบครม. เผยฝ่ายเอกชนชงเรื่องขอเจรจาตั้งแต่ช่วงปี 56 ก่อนตั้งคณะทำงานศึกษาผ่านความเห็นชอบช่วงปี 57 ปูดผู้บริหารตั้งกก.สอบสวน ตามข้อทักท้วงสตง.แล้ว ก่อนปล่อยเรื่องเงียบหาย
สืบเนื่องจากสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org นำเสนอข่าวว่า สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้ทำหนังสือด่วนที่สุด ที่ ตผ 0017/2625 ลงวันที่ 16 มิถุนายน 2560 ถึงการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เพื่อแจ้งข้อปัญหาทางกฎหมาย กรณีตรวจสอบพบว่า รฟม.อนุญาตให้สิทธิแก่ บริษัท อนันดาดีเวลลอปเม้นท์ ทู จำกัด ใช้ประโยชน์ในที่ดินของ รฟม. เพื่อเป็นทางเข้า-ออก โครงการก่อสร้างอาคารชุดพักอาศัยขนาดใหญ่พิเศษของโครงการ Asoke (โครงการ Ashton Asoke) โดยไม่ขออนุญาตต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) นั้น (อ่านประกอบ : สตง.สอบพบ รฟม. ให้สิทธิเอกชนใช้ปย.ที่ดินทำทางเข้า-ออกคอนโดหรูไม่ขอความเห็นชอบ 'ครม.')
ล่าสุด แหล่งข่าวจาก รฟม. เปิดเผยสำนักข่าวอิศรา ว่า ภายหลังจากที่ รฟม. ได้รับหนังสือแจ้งจาก สตง.กรณีดังกล่าวแล้ว เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2560 ผู้บริหาร รฟม. ได้มีการนำเรื่องนี้ เข้าหารือในที่ประชุมและมีมติเห็นชอบให้แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงขึ้นเป็นทางการ และให้นำเสนอผลการสอบสวนต่อผู้บริหารระดับสูงโดยตรง จากนั้นเรื่องก็เงียบหายไป ปัจจุบันไม่ทราบว่ามีการสรุปผลการสอบสวนเรื่องนี้ไปแล้วหรือยัง
อย่างไรก็ตาม เกี่ยวกับที่มามติการอนุญาตให้สิทธิแก่ บริษัท อนันดาดีเวลลอปเม้นท์ ทู จำกัด ใช้ประโยชน์ในที่ดินของ รฟม. นั้น มีจุดเริ่มต้นจากในช่วงปี 2539 ที่ รฟม.ได้เวนคืนที่ดินโฉนดเลขที่ 2345 เลขที่ดิน 2160 ตำบลคลองเตยเหนือ อำเภอวัฒนา กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของ บริษัท จตุรัก จำกัด ทำให้ที่ดินที่อยู่ติดกับที่ดินที่ถูกเวนคืนมาไม่มีทางออกสู่ถนนสาธารณะ เบื้องต้น รฟม.จึงได้เปิดทางเข้า-ออกให้แก่ที่ดินโฉนดเลขที่ 2345 กว้าง 5 เมตร ยาวตลอดแนวเพื่อเป็นทางผ่านออกสู่ถนนสาธารณะ (ถนนอโศกมนตรี) ก่อนจะเปิดทางเข้า-ออกเพิ่มเป็นกว้าง 6.40 เมตร ในเวลาต่อมา
จากนั้นในช่วงปลายปี 2556 ตัวแทนบริษัท อนันดาดีเวลลอปเม้นท์ ทูฯ ได้ทำหนังสือแจ้งรฟม.ว่า มีความประสงค์จะซื้อที่ดิน 3 แปลง (รวมโฉนดเลขที่ 2345 ส่วนที่เหลือจากการถูก รฟม. เวนคืน) ซึ่งอยู่บริเวณด้านหลังของที่ดิน รฟม. เพื่อการก่อสร้างอาคารชุด จึงได้สอบถามว่า รฟม. สามารถเปิดทางเข้า-ออก โดยมีความกว้าง 12 เมตร ตลอดแนวได้หรือไม่ และเสนอแนวความคิดให้มีการใช้พื้นที่ร่วมกัน เช่น การทำ TOD (Transit Oriented Development) บนหลักการเพิ่มมูลค่าแก่ทั้งสองฝ่าย จากนั้น รฟม. ได้แจ้งความเห็นตอบกลับว่า รฟม. ยินดีรับแนวความคิดการใช้พื้นที่เขตทาง รฟม. ร่วมกันตามที่เสนอ และขอจัดทำรายละเอียดเข้ามาให้พิจารณา โดยเบื้องต้น รฟม. ไม่ขัดข้องในหลักการ แต่ติดขัดเรื่องความกว้างพื้นที่ที่ขอมาซึ่งมีจำนวนมากเกินไปและอาจทำให้ รฟม.เสียหาย
ก่อนที่ รฟม.จะมีการการตั้งคณะทำงานศึกษา วิเคราะห์ และกำหนดแนวทางการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์บริเวณระบบรถไฟฟ้า (TOD) ขึ้นมาพิจารณาและนำไปสู่การเจรจากับเอกชน พร้อมปรับแก้ไขรายละเอียด จนบรรลุผลและมีการลงนามบันทึกข้อตกลง เรื่องการใช้ที่ดินของ รฟม. เป็นทางเข้า-ออก และการปรับปรุงพื้นที่ระหว่าง รฟม. กับบริษัท อนันดาดีเวลลอปเม้นท์ ทูฯ ร่วมกัน ในช่วงเดือนมิถุนายน 2557 และเมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2557 รฟม. ได้ออกใบอนุญาตให้ใช้ประโยชน์ในที่ดินของ รฟม. เป็นทางผ่าน เลขที่ รฟม 012/1135 ลงวันที่ 4 กรกฎาคม 2557 ให้บริษัท อนันดาดีเวลลอปเม้นท์ ทูฯ ใช้ประโยชน์ในที่ดินของ รฟม. เป็นทางผ่านโครงการอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าวในเวลาต่อมา
ขณะที่ ในรายงานการตรวจสอบของสตง. ระบุว่า รฟม. อนุญาตให้สิทธิแก่ บริษัท อนันดาดีเวลลอปเม้นท์ ทูฯ ใช้ประโยชน์ในที่ดินของ รฟม.ดังกล่าว โดยมีค่าตอบแทนเป็นจำนวนเงิน 97,671,707.45 บาท พร้อมอ้างการให้สิทธิตามข้อบังคับ รฟม. ว่าด้วยการอนุญาตให้ใช้ประโยชน์ในอสังหาริมทรัพย์ ของ รฟม. พ.ศ. 2547 ข้อ 13 (1) (1.4) และ 16 และประกาศ รฟม. ลงวันที่ 26 กันยายน 2556 เรื่อง กำหนดประเภทการอนุญาตให้ใช้ประโยชน์ในที่ดินของ รฟม. เป็นทางผ่าน ข้อ 7 (7.3) และ 11 ซึ่งโดยหลักการตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินบริเวณที่จะเวนคืนฯ ได้กำหนดวัตถุประสงค์ในการเวนคืน ประกอบกับ พระราชบัญญัติ รฟม. พ.ศ. 2543 มาตรา 75 (6) กำหนดกรณีการให้สิทธิใดๆ ในอสังหาริมทรัพย์ที่มีมูลค่าเกิน 10 ล้านบาท ต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ก่อน
ดังนั้น การที่ รฟม. อ้างการให้สิทธิตามข้อบังคับและประกาศดังกล่าวจึงต้องอยู่ภายใต้บังคับพระราชกฤษฎีกาเวนคืนที่ดินและพระราชบัญญัติเป็นสำคัญ การที่ รฟม. ให้สิทธิแก่บริษัท อนันดาฯ ใช้ประโยชน์ในที่ดินเป็นทางเข้า-ออก และใช้พื้นที่ลานจอดรถเป็นอาคารสำนักงานขายชั่วคราวย่อมทำให้ รฟม. และประชาชนไม่อาจใช้ประโยชน์บนพื้นที่ดังกล่าวตามวัตถุประสงค์ของการเวนคืนที่ดินได้ ทั้งยังเป็นการให้สิทธิเพื่อให้บริษัท อนันดาฯ ได้รับประโยชน์จากการใช้พื้นที่เชิงธุรกิจ และจากการตรวจสอบไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า รฟม. ได้ดำเนินการขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีตามกฎหมายแต่อย่างใด
หมายเหตุ : ภาพประกอบบางส่วนจาก www.buildernews.in.th/news/propertyconstruction/19592