รร.เอกชนสอนศาสนาแจงข้อหา "นร.ผี-โกงงบรัฐ" จี้หยุดเลือกปฏิบัติ-ดิสเครดิต
หลังจากฝ่ายความมั่นคง นำโดย พล.ท.ปิยวัฒน์ นาควานิช แม่ทัพภาคที่ 4 เปิดแถลงข่าวใหญ่แฉทุจริต "เงินอุดหนุนการศึกษา" ของโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามในจังหวัดชายแดนภาคใต้
โดยเฉพาะข้อมูลน่าตกใจ แค่ปัตตานีจังหวัดเดียว ปีเดียว ทุจริตกันถึง 760 ล้านบาท และยังผ่องถ่ายเงินบางส่วนไปสนับสนุนผู้ก่อเหตุรุนแรงที่มีหมายจับและถูกจับกุมในคดีความมั่นคงอีกด้วย
นับจากนั้นก็มีความเคลื่อนไหวจากเครือข่ายโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามในพื้นที่ และครูสอนศาสนาที่มีชื่อเสียงหลายคน เพื่อชี้แจงข้อกล่าวหาและเสนอแนะแนวทางแก้ไข เพื่อไม่ให้เป็นการทำลายภาพลักษณ์ของโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาในภาพรวม
เริ่มจาก อุสตาซ อับดุลสุโก ดินอะ กรรมการสภาประชาสังคมชายแดนใต้ โพสต์เฟซบุ๊คชี้แจงสภาพปัญหาและทำความเข้าใจกับข่าวที่ออกมา โดยตั้งประเด็นว่า เป็นความจริงอีกด้านหนึ่งของโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามส่วนใหญ่ ซึ่งเป็นฐานสำคัญในการสร้างบุคลากรทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะอยู่ในรัฐเเละเอกชนทุกสาขาอาชีพ
ปัญหา "ชื่อซ้ำซ้อน-นักเรียนผี" ลดลง 89%
ข้อเขียนของ อุสตาซ อับดุลสุโก ตั้งข้อสังเกตว่า เงินอุดหนุนการศึกษา รัฐจัดสรรให้ทุกโรงเรียนเอกชนทั่วประเทศที่เปิดสอนหลักสูตรสามัญตามหลักเกณฑ์ของกระทรวงศึกษาธิการ ไม่ได้ให้เฉพาะโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม หรือ "ปอเนาะ" ในจังหวัดชายแดนภาคใต้เท่านั้น ที่ผ่านมามีการนำเสนอข้อมูลเก่าของปี 56-58 หลายครั้ง เกี่ยวกับปัญหารายชื่อนักเรียนซ้ำซ้อนของโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งมีการเปิดเผยเฉพาะโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามเท่านั้้น
แต่จากตัวเลขเงินอุดหนุนรายหัวนักเรียน หัวละ 14,000 บาท ที่โรงเรียนเอกชนสอนศาสนาชายแดนใต้ต้องคืนให้กับกระทรวงศึกษาธิการ หลังถูกตรวจสอบพบรายชื่อนักเรียนซ้ำซ้อน หรือไม่มีนักเรียนอยู่จริงตามจำนวนที่แจ้ง (นักเรียนผี) พบว่ายอดเงินอุดหนุนที่ต้องส่งคืนลดลงจาก 82.3 ล้านบาท เหลือเพียง 8.8 ล้านบาทเท่านั้น สะท้อนให้เห็นว่าปัญหานี้ได้รับการแก้ไขจากผู้ที่เกี่ยวข้องจนความร้ายแรงของปัญหาลดลงถึง 89% และหากนำตัวเลข 8.8 ล้านบาท คือยอดเงินอุดหนุนรายหัวนักเรียนที่โรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามต้องส่งคืนรัฐ มาคิดย้อนกลับเป็นจำนวนนักเรียน จะพบว่ามีนักเรียนซ้ำซ้อนในพื้นที่ชายแดนใต้ไม่เกิน 630 คน (8.8 ล้านบาท หารด้วย 14,000 บาท)
แจงเหตุแค่"ไม่ใส่ใจ" - ยันให้ความร่วมมือรัฐ
อุสตาซ อับดุลสุโก บอกว่า สาเหตุส่วนใหญ่ของปัญหารายชื่อนักเรียนซ้ำซ้อนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ คือโรงเรียนไม่ได้ใส่ใจกับระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน ไม่ได้ติดตามนักเรียนที่ขาดเรียนว่าหายไปไหน ทั้งๆ ที่ระเบียบมีอยู่ว่าหากนักเรียนขาดเรียนเกิน 15 วันจะต้องคัดชื่อออก แต่จะโดยตั้งใจหรือไม่ได้วางระบบการติดตามก็ตาม กลับไม่มีการคัดชื่อนักเรียนเหล่านี้ออก ทำให้รายชื่อต้นปีกับปลายปีเท่ากัน เหมือนนักเรียนอยู่ครบ ทั้งๆ ที่นักเรียนไปเรียนที่อื่นแล้ว ไปสมัครเรียนต่อกับ กศน.บ้าง บางคนไปทำงานร้านต้มยำที่มาเลเซียแล้วยังมี
"บางรายหายไปและถูกคัดชื่อออกไปแล้ว แต่พอถึงวันสอบโอเน็ตดันโผล่มาสอบ ทำเอาผู้บริหารโรงเรียนหรือฝ่ายวิชาการสะดุ้ง เพราะกลัวจะทำคะแนนเฉลี่ยโอเน็ตของโรงเรียนตก" อุสตาซ อับดุลสุโก ระบุไว้ตอนหนึ่งในข้อเขียน
อุสตาซ อับดุลสุโก ซึ่งเคยเป็นผู้บริหารโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามาก่อน ให้ข้อมูลว่า โรงเรียนเอกชนที่ชายแดนใต้ให้ความร่วมมือกับรัฐในการแก้ไขปัญหาเป็นอย่างดี มีการสร้างระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนที่เข้มแข็ง โดยสำนักงานการศึกษาเอกชนจังหวัด (สช.จังหวัด) ได้เข้าไปวางระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนในโรงเรียนที่มีปัญหา ติดตามนักเรียนเป็นรายบุคคล จนตัวเลขการซ้ำซ้อนลดลง บางแห่งถึงขนาดให้กองกำลังของหน่วยเฉพาะกิจในพื้นที่เข้าไปช่วยเรียกชื่อและนับจำนวนนักเรียนในแถวกันเลย
เตือนอย่าเลือกปฏิบัติแค่ชายแดนใต้-พื้นที่อื่นหนักกว่า
ส่วนประเด็นที่มีการกล่าวหาว่ามีโรงเรียนเอกชนที่ตั้งใจนำรายชื่อเด็กที่ไหนไม่รู้ ซึ่งไม่ได้อยู่ในระบบการศึกษาด้วยซ้ำ แต่กลับเอาชื่อมาเข้าระบบ เพื่อหวังเงินอุดหนุนรายหัว ถือว่ามีพฤติกรรมส่อทุจริตชัดเจน จนฝ่ายความมั่นคงสงสัยว่าอาจเป็นช่องทางสนับสนุนขบวนการก่อความไม่สงบนั้น ประเด็นนี้หากมีอยู่จริง ควรระบุให้ชัดเจนไปเลยว่าเป็นโรงเรียนไหน ไม่ใช่เชื่อมโยงปัญหาอย่างเหมารวมโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามทั้งหมด
อุุสตาซ อับดุลสุโก ยังเรียกร้องให้ผู้นำศาสนาอิสลามร่วมรณรงค์เรื่องการทุจริตงบรัฐ ว่าเป็นบาป ไม่สามารถปฏิบัติได้ การทุจริตเเม้เเต่บาทเดียว ศาสนาอิสลามไม่อนุญาต เพราะผิดหลักคุณธรรมจริยธรรม ดังนั้นโรงเรียนใดหากกระทำทุจริต ย่อมถือว่ากำลังทำลายภาพพจน์ศาสนา พร้อมเรียกร้องให้ทุกหน่วยงานที่รับผิดชอบให้เข้าตรวจสอบอย่างเป็นธรรม โปร่งใส ตรวจสอบได้ภายใต้กฎหมายไทย เเละไม่ละเมิดสิทธิมนุษยชน ไม่เลือกปฏิบัติ
ในประเด็นเลือกปฏิบัติ อุสตาซ อับดุลสุโก พูดถึงข้อมูลของรายชื่อนักเรียนซ้ำซ้อนในพื้นที่อื่นๆ ของประเทศ หรือนอกพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพราะเป็นไปไม่ได้ที่จะมีปัญหารายชื่อซ้ำซ้อนเฉพาะที่ชายแดนใต้เท่านั้้น โดยล่าสุดมีข้อมูลรายชื่อนักเรียนซ้ำซ้อนระหว่างสังกัดต่างๆ ของกระทรวงศึกษาธิการ เช่น สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน หรือ สพฐ. สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย หรือ กศน. สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน หรือ สช. สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา หรือ สอศ. ฯลฯ ทั่วประเทศมากถึง 117,431 คน ฉะนั้นจึงขอเรียกร้องให้รัฐตรวจสอบเงินอุดหนุนรายหัวนักเรียนทุกสังกัดด้วย และใช้โปรแกรมบันทึกรายชื่อนักเรียนที่เชื่อมโยงกันเป็นโปรแกรมเดียว จะได้สามารถตัดยอดได้ทุกเดือน
จ่ายเงินเดือนครูต่ำกว่าเกณฑ์เพราะเปิดสอน 2 หลักสูตร
ส่วนประเด็นที่ฝ่ายความมั่นคงกล่าวหาเรื่องการจ้างครูไม่ตรงตามคุณวุฒิ และโรงเรียนจ่ายค่าจ้างไม่ครบตามที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนดนั้น อุสตาซ อับดุลสุโก อธิบายว่า ความเป็นจริงในโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม มีการเรียนการสอน 2 หลักสูตร คือ สามัญศึกษาจากปฐมวัยถึงมัธยมศึกษาปีที่ 6 เเละอิสลามศึกษา หรือ หลักสูตรศาสนา เด็กเเต่ละคนต้องเรียน 2 หลักสูตร ดังนั้นกระบวนการจัดการเรียนการสอนของโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม จึงต้องจ้างบุคลากรทั้งศาสนา สามัญ จึงทวีคูณ 2 เท่า ส่งผลให้การบริหารงานโรงเรียนเเต่ละโรง ต้องมีค่าใช้จ่ายเกือบ 2 เท่าของโรงเรียนเอกชนปกติ แต่คิดเงินอุดหนุนรายหัวเท่ากัน
ดังนั้นในเเง่เอกสาร ครูที่เซ็นชื่อรับเงินเดือน 15,000 บาท จริงๆ อาจรับไม่ถึง เพราะอาจต้องนำเงินนี้ไปเจียดให้ครูที่ทำการสอนจริงในอีกหลักสูตรหนึ่ง ลักษณะนี้เกิดขึ้นกับส่วนของ "เงินเสี่ยงภัย" 2,500 บาทต่อคนต่อเดือนด้วย เพราะอาจต้องเฉลี่ยกับผู้สอนคนอื่นๆ ในโรงเรียน โดยมีข้อตกลงระหว่างโรงเรียนกับครู ซึ่งปัจจุบันหลายโรงเรียนยอมรับว่าบริหารลำบาก เพราะถ้าปฏิบัติตามเอกสารและกฎระเบียบจริงๆ ครูหลายคนอาจไม่ได้ค่าสอนและเบี้ยเสี่ยงภัย ฉะนั้นจึงควรปฏิรูปเพื่อแก้ไขปัญหาผ่านการพูดคุย และหาทางออกที่ทุกฝ่ายยอมรับได้ ทั้งเอกสารและความเป็นจริง แต่หากโรงเรียนใดนำเงินส่วนนี้ไปเบียดเบียนใช้ส่วนตัว ไม่ส่งให้ถึงมือครู ก็ต้องให้รัฐจัดการ
อุสตาซ อับดุลสุโก ยังมีข้อเสนอทิ้งท้ายไปยังฝ่ายความมั่นคงว่า ควรระมัดระวังการให้ข่าว เพราะผู้ถูกกล่าวหาในวันนี้ เป็นเพียงผู้ต้องสงสัย หากวันหนึ่งชนะคดีเหมือนคดีความมั่นคงอื่นๆ ใครจะรับผิดชอบ ขณะที่โรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามเองก็ควรมีนักกฎหมายที่เชี่ยวชาญทั้งกฎหมายพิเศษและกฎหมายทั่วไป เพื่อรองรับวิกฤติที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน
วอนอย่าดิสเครดิตโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาฯ
อีกด้านหนึ่ง เครือข่ายโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ นำโดย ดร.อับดุลฮาฟิซ ฮิเล ได้ออกแถลงการณ์เป็นข้อเสนอเพิ่มเติม ดังนี้
1.การใช้เงินอุดหนุนของรัฐที่ทางโรงเรียนดำเนินการอย่างไม่ถูกต้องตามระเบียบของทางราชการ ทางโรงเรียนยินดีให้ความร่วมมือ เพื่อแก้ไขปัญหาให้ถูกต้องต่อไป
2.คณะที่ปรึกษาเสริมสร้างความยุติธรรม กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) จะร่วมมือเพื่อแก้ไขปัญหาด้านความมั่นคงและด้านอื่นๆ ในจังหวัดชายแดนภาคใต้เพื่อให้เกิดสันติสุขอย่างยั่งยืน
3.ถ้าพบผู้บริหาร ครู บุคลากร นักเรียน และผู้เห็นต่างจากรัฐที่กระทำความผิด หรือมีคดีความมั่นคง ทางคณะที่ปรึกษาเสริมสร้างความยุติธรรมฯ จะประสานกับโรงเรียนเพื่อนำบุคคลเหล่านี้เข้าร่วมโครงการปูลังกำปง หรือ "โครงการพาคนกลับบ้าน"
4.แต่งตั้งคณะกรรมการร่วมเพื่อแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในโรงเรียน โดยมีคณะที่ปรึกษาเสริมสร้างความยุติธรรมฯ ร่วมกับประธานคณะกรรมการอิสลามจังหวัดจังหวัดชายแดนภาคใต้ ตัวแทนจากศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ตัวแทน กอ.รมน. และหน่วยงานความมั่นคงอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
5.การแก้ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในโรงเรียน ให้ยึดปัจจุบันและอนาคต โดยการแก้ปัญหาให้ใช้วิธีการสันติวิธีบนพื้นฐานของกฎหมาย ระเบียบข้อบังคับของทางราชการ
6.การปฏิบัติการจะต้องเริ่มจากเบาไปหาหนัก โดยเริ่มจากพูดคุย ค้น และดำเนินการอย่างละมุนละม่อมและให้เกียรติซึ่งกันและกัน
7.หลีกเลี่ยงการดิสเครดิตโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม
8.เจ้าหน้าของรัฐที่ปฏิบัติการในฟื้นที่จะต้องเข้าใจบริบทอย่างแท้จริงและต้องดำรงซึ่งคุณธรรม จริยธรรม อย่างเคร่งครัด
9.ระบบตรวจสอบรายชื่อนักเรียนซ้ำซ้อน ต้องตรวจได้ทั้งระบบโรงเรียนเอกชนและโรงเรียนของรัฐ อย่าตรวจสอบเฉพาะของเอกชนเพียงอย่างเดียว
------------------------------------------------------------------------------------------------------
อ่านประกอบ :
"ผมไม่มีความคิดเกี่ยวข้องกับขบวนการ" คำชี้แจงจาก ผอ.โรงเรียนประสานวิทยามูลนิธิ
แม่ทัพ4 ซัดโรงเรียนเอกชนปัตตานีโกงงบรัฐปีละ 760 ล้าน - จ่ายเงินเดือนกลุ่มป่วนใต้
เปิดเอกสารลับ! เครือข่ายทุจริตงบอุดหนุนรายหัวนักเรียนชายแดนใต้
นายอำเภอ - สช.ปัตตานี การันตี "ปอเนาะบากง"
เทียบหลักฐาน "ฝ่ายความมั่นคง-ปอเนาะบากง" ปมโกงงบรัฐหนุนป่วนใต้
ชำแหละหลักฐานมัด "ผู้บริหาร-ครู" โรงเรียนบากงฯ ทุจริตงบรัฐหนุนป่วนใต้!
ผู้บริหารโรงเรียนบากงฯ ออกโรงแจงไม่รู้เรื่องหนุนป่วนใต้ ยันเปิดสอนต่อ!