ที่ประชุมกพร.ยังไม่เปิดผลสอบบ่อเก็บแร่เหมืองทองรั่ว ขอเวลา 10 วัน-อัครา เล็งออกหนังสือแจง
ผลสรุปตรวจสอบบ่อเก็บกากแร่ เหมืองทองอัครา พบรั่วจริง ที่ประชุมกพร.ยังเปิดเผยไม่ได้ ขอเวลา 10 วัน ด้านนักวิชาการชี้รายงานฉบับนี้เป้นหลักฐานสำคัญ สู้คดีในอนุญาโตฯ ที่คิงเกต์ฟ้องไทยได้
เมื่อวันที่ 28 ก.พ.61 ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า ในการประชุมคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและแก้ปัญหา ข้อขัดแย้ง ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพจากการทำเหมืองแร่ทองคำของบริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด(มหาชน) ครั้งที่ 1/2561 ที่กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ โดยมีวาระสำคัญคือการรายงานสรุปผลคณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริงการรั่วซึมของบ่อกักเก็บกากแร่ที่ 1
น.ส.สมลักษณ์ หุตานุวัตร อาสาสมัครอิสระเพื่อมนุษยธรรมและสิทธิมนุษยชน หนึ่งในคณะทำงานตรวจสอบ ระบุกับผู้สื่อข่าวภายหลังการประชุมว่า รายงานฉบับดังกล่าวพบว่า บ่อมีการรั่วซึมจริง แต่เนื่องจากว่ามีการคัดค้านของผู้ประกอบการ ทำให้รายงานฉบับดังกล่าวยังไม่สามารถเปิดเผยต่อสาธารณะได้ แต่บทสรุปในที่ประชุมเห็นตามนั้นว่า มีการรั่วซึม
น.ส.สมลักษณ์ กล่าวอีกว่า ในการประชุมวันนี้ไม่ได้พูดคุยในเรื่องสาระสำคัญของรายงาน แต่มีการถกเถียงจากฝ่ายผู้ประกอบการ ในทำนองที่ต้องการไม่ให้มีการเปิดเผยข้อมูล แต่ทางด้านนายประยูร เชี่ยววัฒนา ผู้อำนวยการสถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ ยืนยันว่าหลังจากการแก้ไขรายงานฉบับนี้จะสามารถเปิดเผยได้ในอีก 10 วันนับจากการประชุมในครั้งนี้ ซึ่งคาดว่าน่าจะราววันที่ 10 มีนาคมนี้
“รายงานฉบับนี้เป็นรายงานสำคัญของประเทศอย่างมาก ในการสู้คดีที่คิงส์เกต ฟ้องไทยในอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ เพราะเป็นรายงานที่แสดงให้เห็นว่าการประกอบกิจการของบริษัทจากออสเตรเลียนั้น มีการประกอบกิจการทำตามกฎหมาย และผู้ที่มีความเกี่ยวข้องของรัฐได้ตรวจสอบการประกอบการตามกฎหมายหรือไม่ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องให้มีการเปิดเผยต่อสาธารณะ” น.ส.สมลักษณ์ กล่าวและว่า ควรทำให้เรื่องนี้เป็นความเป็นธรรมระหว่างประเทศ เนื่องจากการดำเนินกิจการของเหมืองที่เกิดความผิดพลาดแบบนี้ ย่อมขัดต่อข้อตกลง ว่าด้วยการค้าเสรีไทย-ออสเตรเลีย (TAFTA) ที่ไทยทำไว้กับออสเตรเลีย ซึ่งกำหนดให้ผู้ลงทุนประกอบกิจการด้วยมาตรฐานด้วยกันกับที่กระทำในประเทศตัวเอง
น.ส.สมลักษณ์ กล่าวด้วยว่า เนื่องจากโครงสร้างของประเทศไทยในการอนุมัติ อนุญาตการตรวจสอบ และการรับผลประโยชน์ทับซ้อนกัน อย่างกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและเหมืองแร่ (1)มีอำนาจอนุญาตอาชญาบัตรและประทานบัตรแร่ทั้งประเทศ (2)มีอำนาจตรวจสอบตามมาตรการของรายงานประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม(EIA) และรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA ) (3) รับผลประโยชน์ตอบแทนพิเศษจากการออกอาชญาบัตรและประทานบัตร ตลอดอายุของการมีใบอนุญาต ซึ่งในลักษณะโครงสร้างแบบนี้ ไม่แปลกใจที่ประเทศและชาวบ้านเดือดร้อนมาถึงทุกวันนี้ ทั้งๆ ที่รายงานการตรวจสอบระบุว่ามีความผิดปกติของการประกอบกิจการเหมืองตลอดเวลาที่ผ่านมา
“ในการประกาศแผนแม่บทยุทธศาสตร์แร่แห่งชาติฉบับใหม่ รัฐจำเป็นต้องรื้อโครงสร้างระบบการขออนุมัติ อนุญาตแบบนี้ออกไป” น.ส.สมลักษณ์ กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ในการประชุมครั้งนี้ไม่อนุญาตให้นักข่าวเข้าติดตามการประชุมได้ ขณะที่ภายหลังการประชุมฝ่ายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งราชการและบมจ.อัคราฯ ปฏิเสธที่จะให้สัมภาษณ์
ทั้งนี้ มีรายงานด้วยว่า ในที่ประชุมบมจ.อัครฯ ได้มีความเห็นแย้งในหลายจุด อาทิ ไม่เห็นด้วยที่ใช้ทีมนักวิจัยญี่ปุ่น เป็นต้น โดยช่วง 14:00 น.เตรียมออกหนังสือชี้แจงรื่องดังกล่าว
อ่านประกอบ
งบ60ล้าน รัฐบาลไทยตั้งทีมกฎหมายสู้ ‘คิงส์เกต’ ปมม.44 ปิดเหมืองทองอัครา
ชาวบ้านพิจิตร จี้กรมอุตฯ เปิดผลวิจัยเหตุเหมืองทองรั่ว ชี้สาธารณะต้องรับรู้
รอเห็นชอบก่อน กพร. ยันไม่มีเจตนาปิดข้อมูลผลศึกษา การรั่วซึมบ่อกักเก็บกากแร่อัคราฯ
พล.ท.สรรเสริญ เผยนายกฯ ไม่หนักใจ ‘คิงส์เกตฯ ยื่นฟ้อง-สั่ง ก.อุตฯ สร้างความเข้าใจ
นายกฯแจงปมเหมืองทอง เผยยังอยู่ในช่วงเจรจา ยันคำนึงปชช.เป็นหลัก
โชว์ข้อหาทางการ‘ประเสริฐ’คดีเอื้อเอกชนเหมือง-ป.ป.ช.ไต่สวน‘จารุพงศ์’ กก.บ.กลุ่ม‘อัครา’