งบ60ล้าน รัฐบาลไทยตั้งทีมกฎหมายสู้ ‘คิงส์เกต’ ปมม.44 ปิดเหมืองทองอัครา
รัฐบาลตั้งทีมกฎหมายพร้อมหักล้างข้อกล่าวหา “คิงส์เกต” กรณีออกคำสั่ง คสช. ระงับการประกอบกิจการเหมืองทองคำ ละเมิดข้อตกลง TAFTA ยันทำถูกต้องคุ้มครองชีวิตประชาชน ปกป้องสิ่งแวดล้อม สอดคล้องกับหลักการสากลว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ
นายพสุ โลหารชุน ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมเปิดเผยเมื่อวันที่ 29 ธ.ค.ที่ผ่านมาว่า รัฐบาลได้สั่งการให้กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงยุติธรรม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันจัดตั้งคณะนักกฎหมายขึ้น เพื่อต่อสู้หักล้างข้อกล่าวหา ในคณะอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ กรณีที่บริษัท คิงส์เกต คอนโซลิเดเต็ด ลิมิเต็ด (คิงส์เกต) ออสเตรเลีย ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของบริษัท อัครา รีซอร์เซส จำกัด (มหาชน) ได้กล่าวหาการออกคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ฉบับที่ 72/2559 ลงวันที่ 13 ธ.ค. 2559 เรื่อง การแก้ไขปัญหาผลกระทบจากการประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำ ซึ่งส่งผลให้การดำเนินกิจการเหมืองทองคำต้องถูกระงับลงตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2560 เป็นต้นมา เป็นการกระทำที่ละเมิดข้อตกลงว่าด้วยการค้าเสรีไทย-ออสเตรเลีย (TAFTA)
“ผมขอยืนยันในนามรัฐบาลไทยว่าเรามีความพร้อมที่จะชี้แจงข้อกล่าวหาของคิงส์เกตในทุกกรณี และมั่นใจว่าคำสั่ง คสช. ฉบับที่ 72/2559ซึ่งมีเจตนารมณ์ชัดเจนในการแก้ปัญหาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และสุขภาพของประชาชน ซึ่งภาคประชาชนร้องเรียนมาอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งแก้ปัญหาความขัดแย้งของประชาชนในพื้นที่โครงการเหมืองแร่ทองคำ” ปลัดกระทรวงอุตฯกล่าวและว่า รัฐบาลมีหน้าที่ต้องดูแลประชาชนเพื่อให้เกิดความชัดเจน มิได้มุ่งหวังที่จะทำลายธุรกิจของภาคเอกชน คำนึงถึงผลประโยชน์ของรัฐ ชุมชน ประชาชน ผู้ประกอบการ อย่างครบถ้วนและชอบธรรม คำสั่ง คสช. เป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย ชอบด้วยข้อตกลง TAFTA ทุกประการ อีกทั้งยังสอดคล้องกับเป้าหมายแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืน ขององค์การสหประชาชาติ หรือ Sustainable Development Goals-SDGs อีกด้วย
ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวด้วยว่า สำหรับข้อกล่าวหาของคิงส์เกตคาดว่าน่าจะมีข้อยุติลงด้วยดี หากฝ่ายคิงส์เกตยอมรับข้อกังวลที่เกิดขึ้นกับผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ชุมชน และคุณภาพชีวิตประชาชน แล้วดำเนินการให้เป็นไปตามบทบัญญัติของกฎหมายไทย และเป็นไปตามมาตรฐานเดียวกับที่ดำเนินกิจการอยู่ในอารยประเทศ เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่โครงการเกิดความเชื่อมั่นและยอมรับ
“รัฐบาลไทย ยังคงยึดมั่น และตระหนักในพันธกรณีตามข้อตกลงที่ผูกพันอยู่ รวมทั้งข้อตกลง TAFTA โดยไม่มีการเลือกปฏิบัติ” นายพสุกล่าว.
ทั้งนี้ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ได้ว่าจ้างที่ปรึกษาสำนักกฎหมายชื่อดัง Arnold & Porter Kaye Scholer LLP เป็นจำนวนเงิน 60,000,000 บาท เพื่อดำเนินการเจรจาการระงับข้อพิพาทระหว่างราชอาณาจักรไทยกับบริษัท คิงส์เกต คอนโซลิเดเต็ด ลิมิเต็ด
สำหรับบริษัท อัครา รีซอร์เซส จำกัด (มหาชน) ในเครือบริษัท คิงส์เกต คอนโซลิเดเต็ด ลิมิเต็ด ประเทศออสเตรเลีย เริ่มประกอบกิจการเหมืองทองคำและกิจการโลหกรรม ในประเทศไทย โดยได้รับสิทธิประโยชน์ส่งเสริมการลงทุน จากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน เมื่อปี 2544 และเคยถูกสั่งปรับ ถูกสั่งระงับการประกอบกิจการหลายครั้ง อันเนื่องมาจากการละเมิดกฎหมายไทย เช่น กฎหมายว่าด้วยสิ่งแวดล้อม กฎหมายว่าด้วยโรงงานเป็นต้น ก่อนที่จะถูกระงับการประกอบการชั่วคราว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ชาวบ้านพิจิตร จี้กรมอุตฯ เปิดผลวิจัยเหตุเหมืองทองรั่ว ชี้สาธารณะต้องรับรู้
รอเห็นชอบก่อน กพร. ยันไม่มีเจตนาปิดข้อมูลผลศึกษา การรั่วซึมบ่อกักเก็บกากแร่อัคราฯ
พล.ท.สรรเสริญ เผยนายกฯ ไม่หนักใจ ‘คิงส์เกตฯ ยื่นฟ้อง-สั่ง ก.อุตฯ สร้างความเข้าใจ
นายกฯแจงปมเหมืองทอง เผยยังอยู่ในช่วงเจรจา ยันคำนึงปชช.เป็นหลัก
โชว์ข้อหาทางการ‘ประเสริฐ’คดีเอื้อเอกชนเหมือง-ป.ป.ช.ไต่สวน‘จารุพงศ์’ กก.บ.กลุ่ม‘อัครา’