นายกฯแจงปมเหมืองทอง เผยยังอยู่ในช่วงเจรจา ยันคำนึงปชช.เป็นหลัก
นายกฯ ชี้แจงประเด็นเหมืองทอง อัครา เผย ตอนนี้ยังอยู่ในขั้นเจรจา บ.คิงส์เกตยันคำสั่งที่ออกมาทำเพื่อประชาชน ด้านนักวิชาการมอง รัฐบาลมี 2 ทาง ไม่จ่ายก็อนุญาตให้เปิดใหม่
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา( www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 29 ส.ค. 60 พล.อ.ประยุทธ จันทร์โอชา นากรัฐมนตรี ได้ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนที่ทำเนียบรัฐบาล โดยมีการกล่าวถึงกรณีที่บริษัทคิงส์เกตคอนโซลิเดทเต็ด ลิมิเต็ด ผู้ประกอบการเหมืองแร่ประเทศออสเตรเลีย ที่เตรียมฟ้องรัฐบาลไทย เป็นเงิน 3 หมื่นล้านบาท จากกรณีคำสั่งม.44 สั่งปิดเหมืองทองอัคราที่จ.พิจิตรเมื่อต้นปีที่ผ่านมา
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า การชดใช้บริษัท คิงส์เกต กรณีเหมืองอัครามันรัฐบาลนี้โดย คสช. ทำเพราะมีการร้องเรียนจากประชาชน ที่ร้องเรียนเรื่องคุณภาพชีวิต สิ่งแวดล้อม รัฐบาลจึงจำเป็นต้องหยุดการทำงาน แต่ไม่ได้หมายความให้เขาเลิก เพียงแต่หยุดต่อใบอนุญาตไปก่อน เพื่อตรวจสอบให้ชัดเจน ฉะนั้นหากเราทำเพื่อประชาชนมันควรเสี่ยงหรือไม่ ตนต้องคำนึงถึงประชาชนหรือไม่ ในขณะที่บริษัทเขาเองก็มีทางสู้ ซึ่งตนไม่ได้ประโยชน์จากการเปิดหรือปิดอะไรเลย และเหมืองนี้เกิดมาก่อนที่รัฐบาลชุดนี้จะเข้ามา ในชั้น ป.ป.ช. ก็มีเรื่องนี้อยู่ ทั้งเรื่องภาษีการเงินกับบริษัทเหมือนแร่นี้
“อยากบอกว่ารัฐบาลนี้ให้ความสำคัญกับประชาชนมากกว่า จะได้หรือเสียเงินก็ไปว่ากันอีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งก็เหมือนกันอีกหลายคดี ถ้าเราไม่ทำให้เกิดความชัดเจน ก็จะเดินขบวนเรียกร้องกันอยู่นั้น นี่คิดสิ่งที่ตนพยายามทำตามคำเรียกร้อง แต่พอทำแล้วเกิดปัญหา ก็ให้รัฐบาลรับผิดชอบ มันคนละเรื่องกับจำนำข้าว ที่เป็นเรื่องการทุจริต แยกแยะให้ออก” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวและว่า ตอนนี้ยังไม่เรียกร้องอะไรอยู่ในขั้นตอนการเจรจา ถ้าพูดเรื่องกฎหมายของตนที่ใช้มาตรา 44 ในประเทศนี้ ผมไม่ต้องรับผิดชอบอะไรทั้งสิ้น ผมทำได้หมด ส่วนกฎหมายอนุญาโตตุลาการ กฎหมายระหว่างประเทศ ก็ต้องสู้คดีกันไป แต่เมื่อผมใช้มาตรา 44 ผมไม่ต้องกลัวอะไรทั้งสิ้น เพราะคุ้มครองผม แต่ประเด็นนี้มันเป็นเรื่องของต่างชาติด้วย แยกแยะหน่อยผมทำเพื่อใคร การนำคดีมาเทียบกันแบบนี้เท่ากับไม่ให้ความเป็นธรรมกับผมเลย
ด้าน นายศศิน เฉลิมลาภ ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียรในฐานะกรรมการในคณะกรรมการนโยบายบริหารจัดการแร่แห่งชาติ (คนร.) กล่าวใน เวที วงแชร์ : มองยุทธศาสตร์แร่ เหมืองทองจะไปหรือใครจะมา ว่า ที่ประชุม คนร. มีการพูดคุยในเรื่อง กรณีที่คสช.สั่งปิดเหมืองตามม.44 และระหว่างนั้น ให้ทางกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) ไปดูว่า ที่ประชาชนเดือดร้อนมาจากเหมืองทองหรือไม่ ซึ่งตอนนี้ยังไม่มีเอกสารทางวิชาการ เมื่อให้กระทรวงอุตสาหกรรมไปพิสูจน์มาปรากฏว่า สรุปไม่ลงในเรื่องผลกระทบ แต่พอสั่งไปปิดแล้ว ทางผู้ประกอบการเขาก็ใช้วิธีการฟ้องระหว่างประเทศเพราะเราทำผิดสัญญาการค้า เขามาขอ ทางรัฐบาลก็มาขอทางกระทรวงอุตฯ เพื่อประโยชน์ในการต่อสู้ ต้องให้มีการขออนุญาตแปลงใหม่ เปิดช่องให้ผู้ประกอบกิจการเหมืองได้ส่งเอกสาร อย่างน้อยให้เหมือนว่ามีการเปิดทาง แต่จะอนุมัติหรือไม่อีกเรื่อง ส่วนเหมืองทองจะกลับมาเปิดหรือไม่ หากเราหาหลักฐานมายืนบันว่าการดำเนินการกิจการ ส่งผลกระทบจริง ผิดจริง ก็อาจไม่ต้องเสียเงินเลย
ทั้งนี้นายศศิน ยังกล่าวด้วยว่าตามพ.ร.บ.แร่ฯฉบับใหม่ ต่อไปนี้ การขอประทานบัตรแร่ จะขอไม่ได้ ถ้าไม่ขอตามแผนยุทธศาสตร์แร่ ในพ.ร.บ.บอกว่าต้องขอตามยุทธศาสตร์ฯ แต่บ้านเราไม่มียุทธศาสตร์ เลยต้องตั้งคณะกรรมการฯ มารับรองแผนยุทธศาสตร์ ซึ่งตามแผน ภายในเดือน พฤจิกายนนี้ แผนยุทธศาสตร์แร่ฉบับแรกจะออกมา แต่ตอนนี้การร่างยังไม่มีอะไร มีแต่กรอบใหญ่ๆ ว่าต้องมีฐานการผลิต และต้องดูเเลทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม
ด้านนายเลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ ผู้ประสานโครงการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะ ด้านทรัพยากรแร่ กลุ่มนิเวศวัฒนธรรมศึกษา กล่าวว่า สำหรับเหมืองทอง ถ้าไม่เปิดเหมือง รัฐก็ยอมจ่ายค่าชดเชย ซึ่งตอนนี้อยู่ในกระบวนการไกล่เกลี่ย เจรจาว่าจะเปิดหรือไม่ ถ้าไม่เปิดต้องจ่าย คสช.จะชั่งใจว่าถ้าจะเสีย 3 หมื่นล้านบาท จะเอาที่ไหนมาเสีย ถ้ามีก็น่าเสีย เพื่อได้ช่วยเหลือประชาชนที่ทุกข์ร้อนจากกิจการเหมืองทอง ถึงแม้จะยังไม่มีการพิสูจน์ทางหลักวิทยาศาสตร์ แต่ผลกระทบหลักฐานเชิงประจักษ์มีสูง แต่ถ้า คสช.เห็นว่าไม่น่าจ่าย คสช.จะให้เปิดเหมืองทองแน่นอน
นอกจากนี้ นายเลิศศักดิ์ยังกล่างถึง พ.ร.บ.แร่ฯ ฉบับใหม่ที่ประกาศใช้เป็นวันแรกว่า พรบ. แร่ฉบับนี้ มีส่วนดี ถ้าต้องเทียบกับฉบับเก่า แต่ก็มีพัฒนาการที่ติดๆ ขัดๆ อยู่มาก มีประโยชน์ต่อการขอสัมปทานแร่บางชนิด แต่ไม่มีประโยชน์ต่อแร่บางชนิดที่มีการทำเหมืองแร่ที่แตกต่าง ที่น่าสนใจ คือตัวโครงการสร้างของ คณะกรรมการนโยบายบริหารจัดการแร่แห่งชาติหรือ คนร. มีอำนาจกว้างขวาง มีอำนาจอนุมัติสัมปทานแร่ได้ เนื่องจากว่า คณะกรรมชุดนี้สามารถดุลอำนาจกับ กพร. ที่เคยเป็นหน่วยงานหลักในการ อนุมัติสัมปทานมาโดยตลอด แต่ตอนนี้มีกรมทรัพยากรธรณีที่ย้ายเข้าไปในกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่ทำหน้าที่ในการมองทรัพยากรแร่เไม่ใช่ป็นเพียงสิ่งที่ต้องอนุมัติสัมปทานเพียงอย่างเดียว แต่มองต้องดูพื้นที่ สงวน ห่วงห้าม เรื่องภัยพิบัติ ซึ่งแตกต่างจากการอนุมัติสัมปทาน คณะกรรมชุดนี้ที่มีอำนาจกว้างชวาง จึงน่าสนใจว่าจะสามารถหน้าที่อะไรได้บ้าง
“คนร. เริ่มมีบทบาทขึ้น เนื่องจากเกี่ยวข้องว่าจะเปิดหรือเหมืองทอง ตามคำสั่งของ คสช. 72/2559 ที่สั่งปิดเหมืองฟื้นฟู จนกว่า คนร.จะมีมติเป็นอย่างอื่น ขณะเดียวกันหน้าที่อีกคือการรับรองยุทธศาสตร์แร่ ซึ่งขณะนี้ยังไม่ออก” นายเลิศศักดิ์กล่าว