ภัยร้าย “ฝุ่น” กลางเมือง” ถ้าไม่ทำอะไรต่อไปข้างหน้าก็จะกลับมาใหม่
“ ประเด็นท้าทายในขณะนี้คือโอโซนมีปัญหาตึกสูงล้อมกรุงเทพทำให้การกระจายตัวของมลพิษแย่ลงถ้าไม่ทำอะไรต่อไปข้างหน้าเดี๋ยวมันจะกลับมาใหม่ ปีที่แล้วกรุงเทพฯมีรถเพิ่มขึ้นเป็น 9 ล้านคันยิ่งรถติดยิ่งมีการสะสมของมลพิษเยอะขึ้นแล้วฝุ่น PM2.5 มาจากไหนจากการศึกษาของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรีพบว่า กรุงเทพ 54% ของแหล่งกำเนิดมลพิษมาจากการคมนาคมขนส่ง ” ดร.สุพัฒน์ กล่าว
ถ้าพูดถึงหนึ่งในเรื่องที่ถูกจับตามากที่สุดในต้นปีนี้ ต้องบอกว่าหนึ่งในนั้นคือ วิกฤติฝุ่นละอองขนาด 2.5 ไมครอน หรือ PM2.5 ที่ส่งผลกระทบเป็นวงกว้างและกินระยะเวลายาวนานถึง 52 วัน นับตั้งแต่ช่วงวันที่ 1 มกราคมถึง 21 กุมภาพันธ์ 2561 ที่ผ่านมา และดูเหมือนการขยับตัวของภาคราชการไทยก็ยังคงเชื่องช้าเช่นเคย รวมไปถึงการวัดค่าคุณภาพอากาศไทยก็ยังไม่ได้รวมเอา PM2.5 เข้ามา
นอกจากนี้มาตรการเฉพาะอย่างการฉีดน้ำขึ้นฟ้าของกรุงเทพมหานคร เพื่อหวังว่าจะช่วยลดฝุ่นนั้น ก็ดูเหมือนจะเป็นการทำอะไรที่ปลายเหตุ ขณะที่ฟากนักวิชาการก็เห็นพ้องว่า สิ่งที่กำลังทำนั้นไม่ได้ช่วยให้ฝุ่นขนาดเล็กพวกนี้หมดลงได้ เพราะต้นตอไม่เคยได้รับการแก้ไข
ในงานเสวนา “ธรรมศาสตร์สู่สังคม ครั้งที่ 1 ภัยร้าย “ฝุ่น” กลางเมือง” ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เมื่อวันที่ 20 ก.พ.ที่ผ่านมา ดร.สุพัฒน์ หวังวงศ์วัฒนา อาจารย์ประจำคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และอดีตอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ อธิบายว่า ท้องฟ้าของกรุงเทพมหานครมีอยู่ 2 แบบ คือ ช่วงมกราคมถึงเมษายนของทุกปี ท้องฟ้าจะไม่สดใส เนื่องจากเป็นช่วงที่สภาพอากาศอยู่ในช่วงรอยต่อของฤดูหนาวไปสู่ช่วงฤดูร้อน อากาศจะนิ่ง มีความกดอากาศสูงเข้ามา ทำให้การแพร่กระจายตัวของมลพิษเกิดขึ้นได้ยากก็จะเกิดการสะสมของมลพิษโดยเฉพาะในเขตเมือง ในระยะหลังมีตึก อาคารสูงเพิ่มมากขึ้นซึ่งเหมือนเป็นกำแพงล้อมการกระจายของมลพิษ หลังจากช่วงเดือนเมษายนไปแล้วท้องฟ้าก็จะกลับมาสดใส ซึ่งจะเป็นแบบนี้ทุกปี
“ PM10 คือฝุ่นที่มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 10 ไมโครเมตรหรือไมครอน หรือเศษหนึ่งส่วนล้านเมตร ส่วน PM2.5 ก็จะมีขนาดเล็กลงไปอีก แต่ฝุ่นที่เราเห็นกันอยู่ ณ เวลานี้ที่เป็นหมอกควันเป็นเพราะว่า สภาพอากาศมีเรื่องของลมใต้ที่พัดความชื้นเข้ามาในตอนเช้าทำให้เกิดการควบแน่นของไอน้ำในอากาศไปเกาะบนตัวฝุ่น ทำให้ฝุ่นโตขึ้น ” ดร.สุพัฒน์ อธิบายให้เห็นถึงปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก และได้นำเสนอข้อมูลของคุณภาพอากาศในกรุงเทพฯ ปี 2560 พบว่า ค่าเฉลี่ยรายปีของ PM2.5 ในพื้นที่ห่างจากถนนสายหลักอยู่ในระดับที่พอดีกับค่ามาตรฐานที่บังคับใช้ในค่าเฉลี่ยรายปีคือ 25 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร ส่วน PM10 อยู่ในค่ามาตรฐานคือ 50 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร ส่วนพื้นที่ริมถนน อัตราการเกินของค่ามาตรฐานก็จะเพิ่มสูงขึ้นทั้ง PM2.5และ PM10 คือ 26 และ 53 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร ตามลำดับ
กรมควบคุมมลพิษได้ตรวจวัดปริมาณฝุ่นละออง PM2.5 ตั้งแต่มกราคมถึงธันวาคมเป็นประจำทุกปี เมื่อดูจากสถิติปริมาณฝุ่นละออง PM2.5 เฉลี่ย 24 ชั่วโมง ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ปี 2554 – 2561 พบว่า ปริมาณฝุ่นละอองสูงสุดที่เคยพบอยู่ในปี 2556 ส่วนปี 2561 นั้นจะอยู่ในระดับที่เกาะกลุ่มไปกับปีก่อนๆ
เมื่อนำข้อมูลดังกล่าวมาเฉลี่ยเป็นรายปี ปริมาณฝุ่นละอองในปี 2560 เหลือ 26 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร ลดลงจากค่าเฉลี่ยรายปีที่เคยสูงสุด 35 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร ในปี 2556 ซึ่งลดลงถึง 25 %
“เมื่อดูจากสถิติปริมาณฝุ่นละออง PM2.5 ตั้งแต่ปี 2554 จนถึง 2561 จะพบว่าค่าเฉลี่ยของฝุ่นลดลงเรื่อยๆ ซึ่งสาเหตุมาจากการนำน้ำมันและรถยนต์มาตรฐานยูโร 4 มาบังคับใช้ตั้งแต่ปี 2555 เป็นต้นมา ส่งผลให้มีการระบายของมลพิษรวมทั้ง PM2.5 จากรถเก่าและรถใหม่” อดีตอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ ให้ข้อมูลเสริม
EUROPEAN EMISSION STANDARDS คือ มาตรฐานควบคุมการปล่อยมลพิษของยานยนต์ที่ออกมาจากโรงงาน สำหรับขายในภูมิภาคยุโรป เป็นการควบคุมระดับของสารพิษอย่างคาร์บอนมอนอกไซด์ (CO) สารไฮโดรคาร์บอน (HC) และสารไนโตรเจนออกไซด์ (NOx) และฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM)
การกำหนดมาตรฐานของน้ำมันดีเซลทำได้โดยกระบวนการกลั่น ลดค่ากำมะถันให้ต่ำลงและทำให้ค่าซีเทนนัมเบอร์สูงขึ้น กลั่นน้ำมันดีเซลในอุณหภูมิต่ำลง ทำให้ในเนื้อน้ำมันน้อยลง
ภาครัฐมีมติให้ประกาศใช้มาตรฐานยูโร 4 ในปี 2555 มีข้อกำหนดคือ ปรับลดปริมาณกำมะถันจาก 350 PPM ลดลงเหลือไม่เกิน 50 PPM ซึ่งจะส่งผลให้การปล่อยคาร์บอนมอนอกไซด์และไนโตรเจนออกไซด์ลดลงอย่างมีประสิทธิภาพ เพิ่มค่าซีเทนช่วยให้เครื่องยนต์ทำงานได้อย่างราบเรียบ และจำกัดปริมาณสาร POLYCYCLIC AROMATIC HYDROCARBON (PAH) ซึ่งเป็นตัวการที่ทำให้เกิดเขม่าดำจากการเผาไหม้ซึ่งมีผลต่อระบบการหายใจ นอกจากนี้ยังมีส่วนช่วยลดปริมาณ NOx ได้อีกทางหนึ่ง
ดร.สุพัฒน์ ให้ข้อมูลต่อว่า เมื่อนำน้ำมันยูโร 4 มาเปรียบเทียบกับสารกำมะถันในน้ำมันเบนซินจะมีค่าอยู่ที่ 1,000 PPM ซึ่งตอนนี้เหลือค่าเพียง 50 PPM ส่วนน้ำมันดีเซล จากเดิมที่มีสารกำมะถันมากถึง 10,000 PPM ปัจจุบันเหลือ 50 PPM มีผลการทดสอบว่าเมื่อนำน้ำมันดีไปใช้กับรถเก่า ทำให้มลพิษลดลงซึ่งลดลงทั้งรถเบนซินและดีเซล ในปัจจุบันเมืองไทยมีการปรับมาตรฐานมาจนถึงยูโร 4 และกำลังจะพิจารณาไปใช้ยูโร 5 และยูโร 6
“ ประเด็นท้าทายในขณะนี้คือโอโซนมีปัญหา ตึกสูงล้อมกรุงเทพทำให้การกระจายตัวของมลพิษแย่ลง ถ้าไม่ทำอะไรต่อไปข้างหน้า เดี๋ยวมันจะกลับมาใหม่ ปีที่แล้วกรุงเทพฯมีรถเพิ่มขึ้นเป็น 9 ล้านคัน ยิ่งรถติดยิ่งมีการสะสมของมลพิษเยอะขึ้น แล้วฝุ่น PM2.5 มาจากไหน จากการศึกษาของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรีพบว่าในกรุงเทพมหานคร 54% ของแหล่งกำเนิดมลพิษมาจากการคมนาคมขนส่ง ” ดร.สุพัฒน์กล่าว
ขณะที่ มาตรการฉีดน้ำขึ้นฟ้าของกรุงเทพฯนั้น นายสุพัฒน์ มองว่า สามารถช่วยลดปริมาณฝุ่นละอองได้เพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น เนื่องจากฝุ่นละอองที่เกิดขึ้นมาจากการฟุ้งกระจายในอากาศ มีน้ำหนัก และมีขนาดเล็ก ทำให้มีการสะสมของฝุ่นบนถนนและรถยนต์วิ่งสัญจรไปมาส่งผลให้ฝุ่นละอองมีขนาดเล็กลง ดังนั้น การฉีดน้ำช่วยชะล้างฝุ่นละอองได้ระดับหนึ่ง ส่วนการฉีดน้ำขึ้นบนอากาศช่วยได้แต่น้อยมาก เพราะน้ำเม็ดใหญ่ไม่ช่วยเท่าที่ควรต้องเป็นการฉีดน้ำในลักษณะแบบฝอยหรือฟ็อกกี้จะช่วยลดได้มากขึ้น
ด้าน 5 มาตรการของกระทรวงสาธารณสุข“หลีก-ปิด-ใช้-เลี่ยง-ลด” ในการดูแลสุขภาพประชาชนคือ
1.หลีกการสัมผัสฝุ่นละอองโดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงได้แก่ผู้สูงอายุหญิงตั้งครรภ์เด็กเล็กผู้ที่มีโรคหอบหืดโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังโรคหัวใจและหลอดเลือด
2.ปิดประตูหน้าต่างให้มิดชิดป้องกันฝุ่นละอองทำความสะอาดบ้านทุกวัน
3.ใช้หน้ากากป้องกันฝุ่นหรือใช้ผ้าชุบน้ำปิดหมาดป้องกันฝุ่น
4.เลี่ยงการออกกำลังกายหรือทำงานกลางแจ้งเป็นเวลานาน
5.ลดการใช้รถยนต์และการเผาขยะ
พร้อมกันนี้ได้กำชับให้หน่วยงานในสังกัดเฝ้าระวังและรายงาน 4 โรคสำคัญได้แก่โรคระบบทางเดินหายใจโรคหัวใจและหลอดเลือดโรคเยื่อบุตาอักเสบและโรคผิวหนังที่อาจเกิดจากฝุ่นละอองขนาดเล็กรวมทั้งติดตามจำนวนผู้ป่วยที่มารับบริการที่ห้องฉุกเฉินและให้เจ้าหน้าที่ติดตามเยี่ยมบ้านผู้ป่วยติดบ้านติดเตียงในวันที่มีค่าฝุ่นสูง
ส่วนข้อแนะนำที่น่าสนใจที่อดีตอธิบดีกรมควบคุมมลพิษเสนอนั่นคือ
1) ขยายเขตพื้นที่การจำกัดเวลารถบรรทุกเข้าในเขตกรุงเทพมหานครเพิ่มจากเขตรอยต่อกับจังหวัดปริมณฑลออกไปถึงวงแหวนรอบนอก
2) จำกัดเวลารถบรรทุกขนาดเล็กตามพ.ร.บ. การขนส่งทางบกหรือป้ายทะเบียนสีเขียวเข้าในเขตกรุงเทพฯในชั่วโมงเร่งด่วน
3) จำกัดรถส่วนบุคคลเข้าในเขตกรุงเทพมหานครทะเบียนรถเลขคู่ในวันคู่และทะเบียนรถเลขคี่ในวันคี่
อนาคตที่จำนวนรถที่0tเพิ่มขึ้นอีก นอกจากนี้แหล่งกำเนิดมลพิษอีกอย่างหนึ่งคือการเผาเนื่องจากชาวบ้านยังคงใช้วิธีการนี้อยู่ ซึ่งกรมควบคุมมลพิษประมาณการณ์ว่า พื้นที่ที่มีความเสี่ยงอยู่ในพื้นที่ภาคกลางเพราะเป็นพื้นที่ทำการเกษตร ขณะเดียวกัน เราต้องไม่ลืมควันพิษจากโรงงานเขตนิคมอุตสาหกรรมที่ล้อมรอบกรุงเทพฯด้วย
ดังนั้นถ้ารัฐยังคงแก้ที่ปลายเหตุ โดยลืมหรือไม่ได้ให้ความสำคัญจริงจังกับการแก้ที่จุดกำเนิด ก็อย่าหวังว่าปัญหาฝุ่น PM2.5 จะหมดไป
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ก.พ.-เม.ย. ทุกปี สภาพภูมิอากาศไม่เอื้อ! นักวิชาการ แนะเร่งลดจำนวนฝุ่นในเมือง
กรีนพีซจี้นายกแก้วิกฤตมลพิษ PM2.5 หลังคุณภาพอากาศเมืองแย่ลงต่อเนื่อง
ก.พ.-เม.ย. ทุกปี สภาพภูมิอากาศไม่เอื้อ! นักวิชาการ แนะเร่งลดจำนวนฝุ่นในเมือง
สระบุรีแชมป์ฝุ่นพิษPM 2.5 กรีนพีซจี้กรมควบคุมมลพิษดูเเล หลังคนไทยตายปีละ 5 หมื่นราย
ผอ.กรีนพีซ แนะรัฐนำค่าฝุ่นPM 2.5 คำนวณคุณภาพอากาศในไทย
คพ.เตรียมนำค่าฝุ่น PM2.5 วัดคุณภาพอากาศคนไทย เผยเร่งติดตั้งเครื่องตรวจวัดเพิ่ม
คพ. แจงสถานการณ์ PM 2.5 เกินมาตรฐาน ยันไม่ได้สูงตลอดเวลา
แย่จริงอากาศกรุงเทพฯ แล้วฝุ่นขนาดเล็ก PM2.5 มาจากไหน?
สธ.ขออย่าตื่นตระหนกฝุ่นPM2.5 แนะเลี่ยงที่โล่ง ใช้หน้ากากป้องกัน ลดเผาขยะ