ดร.สุรินทร์ในความทรงจำ ผู้เป็นทั้งแรงบันดาลใจ นักการทูต เพื่อน และพี่ชาย
ถอดความทรงจำ จากคนรุ่นลูกถึงเพื่อนร่วมชั้นดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ ธรรมศาสตราภิชาน หนึ่งในบุคคลระดับโลก ผู้นิยามว่าความสำเร็จไม่มีข้อยกเว้น
(ภาพประกอบจาก thaipbs.or.th )
เชื่อว่าครั้งแรกที่ได้ข่าวว่า ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ จากไปแล้ว หลายคนคงไม่เชื่อ เพราะนั่นเร็วเกินไปสำหรับคนคุณภาพคนหนึ่งของสังคมไทยและอาจพูดได้ว่าระดับนานาชาติ แต่สัจธรรมของโลกมักเป็นเยี่ยงนี้
สิ่งที่ ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ ทิ้งไว้ให้สังคมรุ่นหลังได้ศึกษามีมากมาย ยากที่จะเล่าได้หมดในย่อหน้าสั้นๆ
ในโอกาสนี้ทางคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดงานเพื่อรำลึกถึงธรรมศาสตราภิชานคนสำคัญ เมื่อวันพุธที่ 14 ก.พ.61 ที่ผ่านมา บนเวทีเสวนาครั้งนี้ มีแขกไล่ไปตั้งแต่คนรุ่นลูกไปจนเพื่อนร่วมชั้นมาร่วมพูดคุยเล่าความทรงจำที่มีต่อดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ (อ่านประกอบ: ความสำเร็จไม่มีข้อยกเว้น: ดร.สุรินทร์ ในความทรงจำ 'ชวน หลีกภัย' )
@ ดร.สุรินทร์คือแรงบันดาลใจ
“ตอนที่ทราบข่าวว่าดร.สุรินทร์ จากไปแล้ว น้ำตาก็ไหล ทั้งๆ ที่ไม่ได้รู้จักกับท่านเป็นการส่วนตัวเลย” อนีสสา นาคเสวี ข้าราชการกระทรวงต่างประเทศ ศิษย์เก่าสิงห์แดง รุ่น 60 กล่าวถึงความรู้สึกเมื่อทราบข่าวร้ายที่ไม่อยากเชื่อว่าเป็นความจริง
อนีสสา เล่าว่า เธอไม่ได้รู้จักกับดร.สุรินทร์เป็นการส่วนตัว แม้ว่าจะอยู่กระทรวงการต่างประเทศก็ยังไม่มีโอกาสทำงานร่วมกัน มีเพียงแต่ติดตามผ่าน youtube และติดตามจากงานเสวนา จึงเป็นเรื่องแปลกประหลาดที่บุคคลที่ไม่เคยใกล้ชิดแต่รู้สึกเสียใจกับการจากไปของท่าน เพราะทุกช่วงชีวิตของตัวเองที่โตขึ้นมามีดร.สุรินทร์เป็นแรงผลักดัน
“ดร.สุรินทร์เป็นเหมือนกับแรงบันดาลใจ เป็น Big Inspiration เป็นต้นแบบในหลายๆ เรื่อง ปฏิเสธไม่ได้ว่าเกิดจากการเชื่อมโยงบางอย่าง ทั้งการเป็นคนมุสลิม การเป็นคนต่างจังหวัด พอเริ่มเข้าเรียนที่ธรรมศาสตร์เป็นช่วงเวลาที่เกิดการเปลี่ยนแปลงในชีวิต เปลี่ยนที่อยู่มาอยู่กรุงเทพซึ่งคนมุสลิมมีน้อย เป็นวัยที่ค้นหาตัวเอง และขบถกับอะไรหลายๆ อย่าง รู้สึกไม่อยากจำนนต่อภาพบางประการที่คนมองเรา เราอยากจะหลุดออกไปจากตรงนั้น”
“พอเข้าวัยทำงานก็เป็นที่ประจักษ์ว่า ดร.สุรินทร์เป็นนักการทูตที่มีความเป็นธรรมชาติ มีคุณสมบัติหลายๆ อย่างที่เราเรียนรู้ได้ และเป็นนักการทูตที่เก่งในเวทีพหุภาคี กล้าเสนอความเห็นแปลกๆ ที่คนอื่นไม่กล้า” อนีสสาเล่าถึงฮีโร่ในใจของเธอ
@ ดร.สุรินทร์ บทบาทและความสำเร็จ
กวี จงกิจถาวร ผู้สื่อข่าวอิสระ ผู้ที่ออกตัวว่าในฐานะนักข่าวเขาคือคนเดียวในประเทศไทยที่เขียนถึงดร.สุรินทร์มากที่สุด เรียกว่าท่านเป็นทั้งแหล่งข่าวและเป็นพี่ชายที่ดี
กวี เล่าว่า สมัยที่ดร.สุรินทร์ดำรงตำแหน่งเลขาธิการอาเซียน เขาเป็นผู้ยกบทบาทภาพลักษณ์ของอาเซียนสู่ระดับอินเตอร์ โดยเฉพาะการไปเข้าร่วมงานของ NGO ภาคประชาสังคมทุกงาน เพื่อเปิดกว้างในการรับข่าวสารและทำให้สำนักเลขาธิการฯมีเครือข่ายมากขึ้น
ในช่วงที่ดำรงตำแหน่งเป็นเลขาธิการฯ ดร.สุรินทร์ได้แนะนำให้ผู้นำอาเซียนมีความไว้เนื้อเชื่อใจกันมากขึ้น นำเรื่องที่ละเอียดอ่อนมาพูดคุยในการหารือแบบไม่เป็นทางการ โดยพยายามให้มีการพูดถึงปัญหาภายในของแต่ละประเทศเพราะมีผลต่อเนื่องต่อเสถียรภาพความมั่นคงในภูมิภาค
“จะเห็นว่าดร.สุรินทร์เสนอความเห็นมากมายแต่ไม่สามารถตัดสินใจอะไรได้ทั้งสิ้น เนื่องจากไม่มีอำนาจ เพราะอำนาจอยู่ที่สมาชิกสิบประเทศ อีกทั้งดร.สุรินทร์พาอาเซียนไปสู่เวทีการเมืองระหว่างประเทศ เชื่อมโยงกับเวทีองค์การสหประชาชาติ(ยูเอ็น) องค์การความร่วมมืออิสลาม (โอไอซี) แอฟริกา ละตินอเมริกา เพื่อที่จะได้เรียนรู้ประสบการณ์ต่างๆ"
“ดร.สุรินทร์ควรได้เป็นเลขาธิการองค์การสหประชาชาติ เพราะมีทั้งคุณสมบัติรวมทั้งเครือข่าย ในช่วงนั้นมี 2 ใน 3 ของคณะความมั่นคงของสหรัฐอเมริกากับฝรั่งเศสสนับสนุนโดยส่วนตัว คือรัฐมนตรีต่างประเทศของฝรั่งเศสพูดเป็นการส่วนตัวว่าจะสนับสนุน ในการเลือกตั้งเลขาธิการองค์การสหประชาชาติจะต้องมีการต่อรองจนนาทีสุดท้าย ช่วงที่หาเสียงตอนที่ประเทศไทยเข้าชิงตำแหน่งสมาชิกไม่ถาวรของคณะมนตรีความมั่นคงขององค์การสหประชาชาติเมื่อ 3 ปีก่อน ได้เดินทางไปช่วยหาเสียงที่นครนิวยอร์คทุกคนก็บ่นเสียดาย”
@ ดร.สุรินทร์ ผลงานทางการทูต
นายวิชาวัฒน์ อิศรภักดี อดีตเอกอัครราชทูตไทยประจำสหรัฐอเมริกากล่าวถึง ดร.สุรินทร์ สมัยที่ยังอยู่สหรัฐฯ ซึ่งเคยเป็นถึงผู้ช่วยของส.ส.พรรคเดโมแครตจากนิวยอร์ค ทำหน้าที่ให้คำแนะนำนโยบายต่างประเทศต่อภูมิภาคต่างๆ ช่วยเขียนสุนทรพจน์ในการแถลงกล่าวปราศรัย เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้รัฐสภาสหรัฐอเมริกาได้ประจักษ์ความสามารถว่าเก่งกาจอย่างไร เป็นพื้นฐานที่ทำให้ดร.สุรินทร์ได้รู้จักกับนักการเมืองสหรัฐมากมาย
ต่อมาในการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนครั้งที่ 41 ที่กรุงมะนิลา ซึ่งเป็นการประชุมครั้งแรกของดร.สุรินทร์ ได้มีการเสนอนโยบายต่อพม่า ให้เหตุผลต่อตะวันตกว่า ทำไมไม่ควรคว่ำบาตรพม่าโดยเป็นการร่วมมืออย่างสร้างสรรค์ เพื่อดึงพม่าเข้าสู่เวทีโลกโดยใช้ความยืดหยุ่น
“ดร.สุรินทร์เห็นว่าการเป็นผู้ให้คำแนะนำกับประเทศเพื่อนบ้านอาจจะเป็นสิ่งที่ดีเพราะย่อมส่งผลกระทบต่อประเทศเราได้ แม้รัฐมนตรีต่างประเทศของอาเซียนช่วงนั้นจะไม่ได้ยอมรับ แต่หลายท่านกล่าวว่าเป็นการจุดประกายก้าวแรก ในการหารือเกี่ยวกับประเทศเพื่อนบ้าน”
นอกจากนี้ นายวิชาวัฒน์ ยังเล่าด้วยว่า ในปี 2542 ท่านนายกชวน หลีกภัย เป็นบทบาทสำคัญที่ทำให้ไทยเข้าร่วมมือกับติมอร์ตะวันออก โดยดร.สุรินทร์ได้เดินทางไปประเทศต่างๆ เพื่อเจรจากับสหรัฐอเมริกาและอินโดนีเซียในการตั้งกองกำลังนานาชาติเพื่อเข้าทางติมอร์ตะวันออกจนทุกฝ่ายเห็นดีด้วย แต่ทางอินโดนีเซียกลัวจะเป็นการเสียหน้าเพราะมีแต่กองกำลังต่างชาติจึงให้มีกองกำลังอาเซียนเข้าไปด้วย โดยไทยเป็นประเทศแรกที่ส่งกองกำลังเข้าไป จากนั้นมีฟิลิปปินส์และมาเลเซียเข้าร่วม ทำให้อินโดนีเซียพอใจและไทยก็ได้รับคำชื่นชมในเวทีระหว่างประเทศภายใต้บทบาทของดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ
@ ความทรงจำจากรุ่นพี่ร่วมคณะ
ศ.ดร.สมบัติ จันทรวงศ์ อดีตอาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึงสมัยที่เจอดร.สุรินทร์ครั้งแรก ในปี 2513 ตอนได้รับทุน Frank Bell Appleby ได้ทราบว่าดร.สุรินทร์มาจากภาควิชารัฐศาสตร์ศึกษาที่ศาสตราจารย์
เสน่ห์ จามริกได้ปลุกปั้นขึ้นมา ที่มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการเตรียมตัวดร.สุรินทร์ให้พร้อมที่จะเรียนต่อ จากนั้นได้ไปศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดและได้รับเงินสนับสนุนจาก Winston Churchill Association
“ยอมรับว่ามีปัญหาเรื่องที่ดร.สุรินทร์จะออกไปเป็นส.ส. เพราะชีวิตทางการเมืองเป็นเรื่องดีลำดับที่ 2 ไม่ใช่เรื่องที่ดีที่สุด แต่คนที่จะไปอยู่โลกทางการเมือง สิ่งที่ดีที่สุดที่คุณจะได้จากชีวิตทางการเมืองคือความไม่แน่นอน สิ่งที่เป็นคุณธรรมที่คุณต้องมีและสำคัญมากคือความสุขุมรอบคอบ คุณต้องเป็นคนเก่งในการหาทางเลือกให้กับตัวเอง ฉลาดในการหาทางเลือก ฉลาดจนเป็นนิสัยในการเลือกทางต่างๆ ที่จะเป็นทางไปสู่วัตถุประสงค์ที่ดีและมีประโยชน์ และนี่คือสิ่งที่ดร.สุรินทร์มี”
บทความที่เกี่ยวข้อง
ข้อคิดจากการจากไปของ ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ
การจากไปของดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ คือ ความสูญเสียอย่างยิ่งของไทยและอาเซียน!