ความสำเร็จไม่มีข้อยกเว้น: ดร.สุรินทร์ ในความทรงจำ 'ชวน หลีกภัย'
ถ้าจะแนะนำเด็กรุ่นใหม่ ดร.สุรินทร์มีอะไรน่าสนใจที่อยากแนะนำ สิ่งนั้นคือ ‘เขาทำอะไรเป็น’ ความสำเร็จของเขา เกิดขึ้นในช่วงที่อายุยังน้อย เกิดจากปณิธานที่แน่วแน่ เพราะความตั้งใจไม่มีข้อยกเว้น ก็นำมาสู่ความสำเร็จ - ชวน หลีกภัย
ในงาน “ความสำเร็จไม่มีข้อยกเว้น: ดร.สุรินทร์ ในความทรงจำ” เมื่อวันที่ 14 ก.พ.61 จัดโดยมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยมีนายชวน หลีกภัย อดีตนายกรัฐมนตรี กล่าวปาฐกถาพิเศษ เพื่อรำลึกและสะท้อนความสำเร็จขอการทำงานตลอดชีวิตของ ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ
"จริงหรือความสำเร็จไม่มีข้อยกเว้น"
คือประโยคชวนคิดที่อดีตนายกรัฐมนตรี ผู้เคยเป็นหนึ่งในนายใหญ่พรรคประชาธิปัตย์สมัยที่ดร.สุรินทร์เป็นผู้แทนราษฎรพรรคประชาธิปัตย์และรัฐมนตรีต่างประเทศในรัฐบาลชวนทั้งสองสมัย
นายชวน มองว่า จริงๆ แล้วความสำเร็จย่อมมีเงื่อนไขอื่นประกอบ ลำพังดร.สุรินทร์เองก็มีเงื่อนไข ถ้าไม่ฉีกตัวออกมาจากครอบครัว วันนี้คงเป็นโต๊ะอิหม่าม คอเต็บ บิล่านในพื้นที่ แต่ดร.สุรินทร์ฉีกตัวออกมา สร้างความรู้ความสามารถ เมื่อมีโอกาสเข้ามาและวันหนึ่งได้เป็นอาจารย์ธรรมศาสตร์ ก่อนหน้านั้นเขาก็เขียนบทความลงบางกอกโพสต์ ด้วยคุณสมบัติอย่างหนึ่งคือการเก่งภาษาอังกฤษ
“ดังนั้นถ้าจะแนะนำเด็กรุ่นใหม่ ดร.สุรินทร์มีอะไรน่าสนใจที่อยากแนะนำ สิ่งนั้นคือ ‘เขาทำอะไรเป็น’ ” อดีตนายกรัฐมนตรีกล่าว และเล่าว่าระหว่างที่ดำรงตำแหน่งในฐานะประธานสมาชิกผู้แทนราษฏร ดร.สุรินทร์ตอนนั้นดำรงตำแหน่งเลขานุการ คือเป็นคนพิมพ์ดีด ร่างคำปราศัย ในสมัยก่อนตอนทำวิทยานิพนธ์ป.เอก จะมีการจ้างพิมพ์ ดร.สุรินทร์ก็เอาเงินที่จ้างพิมพ์ ไปซื้อเครื่องพิมพ์ดีดมาทำเอง นี่คือสิ่งที่เขาแสดงให้เห็นว่าทักษะสำคัญคือ การต้องทำให้ได้
ในยุคสมัยที่มีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีมากขึ้น จะเริ่มไม่มีใครจะมาช่วยทำอะไรมาก ต่อไปไม่มีแผนกช่วยพิมพ์ ไม่มีคนมาช่วยชงกาแฟ ดังนั้นการทำอะไรให้เป็นจึงสำคัญ
นายชวน เล่าอีกว่า การต่อสู้ในทางการเมืองซึ่งเป็นเรื่องที่ยากในการตัดสินใจ การลงสมัครไปชิงเก้าอี้สมาชิกผู้แทนราษฏร (ส.ส.) ของดร.สุรินทร์ถือเป็นความกล้าหาญ และต้องมีความชอบเป็นพิเศษ ซึ่งคือความสำเร็จอันหนึ่งในเงื่อนไขที่ไม่มีข้อยกเว้น แสดงถึงความชอบเป็นส่วนตัว เมื่อถึงเวลาพร้อมและก็เชื่อมั่นตัวเองว่า สามารถลงไปพบปัญหาความเป็นนักการเมืองได้ ก็ลาออกจากอาจารย์ เข้าหลักเกณฑ์ตำราความสำเร็จ ที่ระบุองค์ประกอบแห่งความสำเร็จ 3 ข้อ ได้แก่ สถานการณ์ในขณะนั้นเอื้ออำนวย ความสามารถพิเศษ และ องค์ประกอบสนับสนุน การมีเครือข่าย
“ถ้าตอนนั้นดร.สุรินทร์ลงสมัครพรรคอื่นเขาก็สอบตก แต่เขาเลือกลงพรรคประชาธิปัตย์” อดีตนายกรัฐมนตรี กล่าว และเล่าต่อว่า การทำให้คนในพื้นที่นครศรีธรรมราชรู้จักเหมือนคนรุ่นเก่าไม่ง่าย
ที่น่าสังเกต ดร.สุรินทร์เป็นมุสลิม แต่นครศรีฯเป็นเมืองพระ เมืองพุทธ แต่เขาสมัครและได้รับเลือกที่หนึ่ง นี่คืออะไร ต้องยกย่องคนนคร ที่ไม่เอาเรื่องศาสนามากีดกั้น และส่วนสำคัญคือความสามารถของดร.สุรินทร์
แต่อย่าเข้าใจว่าทุกอย่างราบรื่น หรือความสำเร็จราบรื่น นายชวน เล่าว่าการสมัครแต่ละครั้งไม่ได้ราบรื่น แต่การที่เขาสามารถรักษาตำแหน่งส.ส.ได้ 7 สมัยไม่ใช่เรื่องง่าย ส่วนงานสำคัญที่ทำระหว่างเป็นรัฐมนตรี ยาวนาน 6 ปี สองสมัย นานที่สุดของ รมต.ที่มาจากการเลือกตั้ง นี่คือช่วงเวลานี้น่าศึกษา
อดีตนายกฯ เล่าต่อว่า งานนโยบายที่สำคัญ เมื่อเป็นครั้งแรกคือ ปฏิญญามิตรประเทศอาเซียน ซึ่งขณะนั้นไม่พอใจเรามากนัก ก่อนหน้าเราไปชวนบรรดาประเทศอาเซียนมาร่วม เขมรสามฝ่าย เพื่อสู้กับปัญหาในเขมรตอนนั้น เวลาลงมติในยูเอ็นเราชนะทุกครั้ง เมื่อเข้ารัฐบาลใหม่ที่ออกนโยบายเปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้า กลายเป็นเราผิดสัญญากับบรรดาเพื่อนประเทศ ดังนั้นสิ่งแรกที่ดร.สุรินทร์ต้องแก้คือปฏิญญากับเพื่อน ค่อยๆ ไปเจรจาทำความเข้าใจ ใช้ความเยือกเย็นเข้าแลก อธิบายว่าเราไม่ทำผิดคำมั่นสัญญา แต่เราไม่วิจารณ์ว่านโยบายรัฐบาลอื่นถูกหรือไม่ สุดท้ายทุกอย่างก็ผ่านไปราบรื่น
นายชวน ชี้ว่าดร.สุรินทร์ทำงานหนักหน่อยในการเจรจากับพันธมิตร ในช่วงของการทำงานในรัฐบาลครั้งที่สอง กรณีของ การส่งทหารไปติมอร์ ตะวันออก นี่คือผลงานชิ้นสำคัญที่สุด
“สมัยนั้นผมเป็นรัฐมนตรีกลาโหม ถามความเห็นทหาร ไม่มีใครเห็นด้วย บอกแค่ว่าแล้วแต่รัฐบาล ให้เป็นการตัดสินใจนายกรัฐมนตรี การตัดสินใจครั้งนั้น ดร.สุรินทร์ทำงานหนัก ร่วมกับรัฐมนตรีต่างประเทศ อื่นๆ กลไกสำคัญที่สุด คือ อาบีบี ประธานาธิบดีอินโดนีเซียในตอนนั้นถามความเห็นว่าเห็นด้วยไหม ช่วยคุ้มครองเราหรือไม่ สิ่งที่เราทำมากกว่านั้น พิจารณาความเสี่ยงว่าส่งทหารไปจะตายกี่เปอร์เซ็นต์ สุดท้ายตัดสินใจส่งไป โดยมี สหประชาชาติ (ยูเอ็น) ออกงบประมาณให้หมด โดยเงินก้อนแรก มีรัฐบาลญี่ปุ่นออกให้ โดยประเมินความเสี่ยงของอัตราเสียชีวิตให้น้อยที่สุด นี่คือโจทย์สิ่งสำคัญ และผลงานการไปร่วมรบในปฏิบัติด้านสันติภาพที่ติมอร์เป็นครั้งแรกที่ทหารไทยมีบทบาทสำคัญที่ร่วมกับกองกำลังยูเอ็น” อดีตนายกฯชวน กล่าว
นายชวน ยืนยันว่า ผลที่เกิดขึ้นเมื่อเหตุการณ์สำเร็จคือ ไม่มีทหารไทยเสียชีวิตเลย(มีเสียชีวิตจากโรคประจำตัวหนึ่งคน) และที่สำคัญตอนนั้นทหารร่วมรบรวยทุกคนเพราะได้เงินทั้งจากยูเอ็นและเงินเดือนไทย
นอกจากนั้นสมัยที่ทหารไทยอยู่ที่นั่นสร้างชื่อเสียง เอาปรัชญาของในหลวงรัชกาลที่ 9 ไปใช้ เมื่อนำผู้นำประเทศต่างๆ มาเข้าเฝ้าฯ ก็ขอชื่อชมในปฏิบัติการของทหารไทยในการรักษาสันติภาพโลกในการไปร่วมรบที่ติมอร์ ตะวันออก
อีกเรื่องเรื่องที่คนไม่ค่อยรู้ตอนวิกฤติต้มยำกุ้ง อดีตนายกฯ บอกว่า รัฐบาลเดินทางไปเจรจาขอยกเลิกการซื้ออาวุธที่อเมริกา โดยมีดร.สุรินทร์ซึ่งตอนนั้นสนิทสนิทกับรมต.ต่างประเทศสหรัฐฯ แมเดลิน อาลไบร์ต สมัยรัฐบาลบิล คลินตัน การเจรจาครั้งนั้นสุดท้ายสหรัฐฯ ตัดสินใจยอมให้เรายกเลิกการซื้ออาวุธ และรับซื้อไว้เอง นอกจากนั้นเรายังขอเพิ่มอีกว่า ขออย่าให้สหรัฐฯ คิดค่าปรับไทยฐานผิดสัญญา ซึ่งสหรัฐฯบอกว่าเขายอมให้ไทยเป็นประเทศแรกและประเทศสุดท้าย แต่ก่อนกลับเราขอคืนมัดจำมูลค่าพันล้านบาท โดยมี ดร.สุรินทร์ช่วยเจรจากับ รมต.ต่างประเทศ สหรัฐฯโดยให้เหตุผลว่าเรากำลังเกิดวิกฤติเศรษฐกิจ ในที่สุดสหรัฐฯก็ยอมคืนให้ โดยมีเงื่อนไขในการเอาไปชำระยุทธปัจจัยที่ซื้อที่ทำไปแล้ว
“ความเป็นคนธรรมดาของ ดร.สุรินทร์ที่ไม่ลืมตัว และกลายเป็น ส.ส.หลายสมัย มีความผูกพันกับชาวบ้าน ไม่ทิ้งชาวบ้าน แต่สถานการณ์บ้านเมืองไม่เป้นอย่างคิดไปทุกเรื่อง ชีวิตคนต้องย่อมมีอุปสรรค ดร.สุรินทร์ไม่ได้สำเร็จทุกเรื่อง เพราะเขาไม่ได้เป็นเลขาธิการยูเอ็น ในขณะที่วันนั้นไทยมีโอกาสที่จะได้รับแต่งตั้งเพราะเป็นวาระเอเชีย รัฐบาลสมัยนั้นใจไม่ถึงพอ ที่จะส่งดร.สุรินทร์เข้าร่วมเป็นหนึ่งในตัวเลือก ทั้งๆ ที่ ดร.สุรินทร์มีความสามารถไม่น้อยกว่า บันคีมุน หรืออาจมากกว่าด้วยซ้ำ”
“ความสำเร็จของ ดร.สุรินทร์ เกิดขึ้นในช่วงที่อายุยังน้อย เพราะเป็นคนที่มีชีวิตแน่วแน่ในระบบประชาธิปไตย การยึดมั่นในแนวนี้เป็นส่วนสำคัญมาก ความสำเร็จไม่ได้หมายความว่าต้องเป็นนั่นเป็นนี่อยู่ที่ปณิธานของเราเป็นอย่างไร เพราะความตั้งใจไม่มีข้อยกเว้น และต้องมั่งมั่นปฏิบัติให้ได้ตามที่เราตั้งใจไว้” อดีตนายกฯกล่าว.