ความไม่ชอบมาพากล 5 ประการ ในรายงาน EHIA โรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา ที่ชาวบ้านต้องการสื่อสาร
ความไม่ชอบมาพากล 5 ประการในรายงานการประเมินผลกระทบ ด้านสิ่งแวดล้อม และสุขภาพ (EHIA) ของโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา ความไม่เป็นธรรมในจดหมายถึงนายกรัฐมนตรีที่ไม่เคยถึงมือ
"ตือโละปาตานี" คือชื่อที่ใช้เรียกพื้นที่รอบอ่าวปัตตานีตั้งแต่อำเภอเทพาถึงแหลมตาชี ซึ่งไม่ใช่แค่เพียงทรัพยากรที่สมบูรณ์ที่ผู้คนรอบอ่าวพื้นที่ใกล้ รวมไปถึงคนรอบนอกที่ได้รับอานิสงห์จากความสมูบรณ์ของพื้นที่อ่าวนี้เท่านั้น
ตือโละปาตานี จึงเปรียบเหมือนอ่าวทองคำที่เชื่อมร้อยกันตั้งแต่ภูเขา ผืนป่า พื้นที่ชุ่มน้ำ ไปจนถึงสายน้ำหลายหลากสายที่ไหลลงสู่ทะเล เป็นพื้นที่ที่ก่อกำเนิดวิถีวัฒนธรรมอันเป็นมรดกทางเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อมที่ทรงคุณค่าของสงขลาและปัตตานี
แต่แล้วพื้นที่ที่เคยอุดมไปด้วยความหลากหลายนี้ กำลังเดินสู่หายนะ เมื่อพื้นที่อ.เทพา ถูกประกาศเป็นที่ตั้งของโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาด 2,200 เมกกะวัตต์ ขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศและใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่คาดว่าจะมีการเผาถ่านหินมากถึงวันละ 23 ล้านกิโลกรัมตลอด 24 ชั่วโมง ปล่อยควันออกทางปล่องที่สูง 200 เมตร (สูงเท่าตึก 65 ชั้น)
โครงการนี้ทาง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) อ้างว่า เป็นการพัฒนาพื้นที่และจังหวัดชายแดนใต้ ทั้งเรื่องของความเป็นอยู่ การใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นทำให้ไฟฟ้ามีเพียงพอกับความต้องการ การที่ทำให้สถานที่ระแวกนั้น พัฒนาเฉกเช่นเดียวกับแม่เมาะที่ทำเป็นสถานที่ท่องเที่ยวละแวกโรงไฟฟ้า นำเอาสินค้าของจังหวัดมาขายเป็น OTOP ซึ่งถ้ามองถึงแต่การพัฒนาโดยไม่กระทบกับธรรมชาติแต่อย่างไร
สำหรับคนในพื้นที่กลับไม่ได้คิดอย่างนั้น ความกังวลใจของกลุ่มชาวบ้านตัวเล็กๆ ในพื้นที่ต่อโครงการ พวกเขารวมตัวกันในนาม เครือข่ายประชาชนจังหวัดชายแดนภาคใต้ปกป้องสิทธิชุมชนและสิ่งแวดล้อมเพื่อสันติภาพ หรือที่เรามักเรียกว่า เครือข่ายคนเทพา-ปัตตานีไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหิน เป็นเวลาเกือบ 4 ปีเเล้วที่พวกเขาต่อสู้เพื่อคานข้อมูลอีกฝั่ง จนกระทั่งการเคลื่อนไหวครั้งล่าสุดที่นำมาสู่ความสนใจของคนในประเทศอีกครั้ง
เมื่อพวกเขาตัดสินใจเดินเท้าจาก อ.เทพา พื้นที่โครงการไปยังอ.เมือง จ.สงขลาเป็นระยะทาง 75 กิโลเมตร เพื่อยื่นหนังสือต่อ นายกรัฐมนตรี ในโอกาสการประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจร แต่แล้วความตั้งใจนั้นก็ไม่ถึงฝัน เมื่อโดนมาตรการสลายการชุมนุมในวันที่ 27 พ.ย.60 ก่อนวันประชุมเพียงหนึ่งวัน (อ่านประกอบ: สลายกลุ่มต้านถ่านหินเทพา รวบ16 แกนนำ หลังเดินเท้าขอยื่นหนังสือถึงนายกฯ ครม.สัญจร )
(แผนที่ชุมชนตือโล๊ะปัตตานี ภาพจากกรีนพีซ)
ในหนังสือฉบับที่เครือข่ายฯ ตั้งใจมายื่นให้นายกฯซึ่งพวกเขามองว่านี่คือความหวังสุดท้ายที่จะหยุดความไม่เป็นธรรมของกระบวนการดำเนินโครงการนี้ได้ ที่ผ่านมาชาวบ้านในพื้นที่โดนกระทำจากอำนาจรัฐและอำนาจทุนมาอย่างต่อเนื่องตลอด 4 ปี ของผลักดัน โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน ซึ่งความไม่ธรรมดังกล่าว 5 ประเด็นหลักสำคัญดังนี้
1. การมีส่วนร่วมที่เป็นเพียงพิธีกรรมทั้งเวทีรับฟังความคิดเห็น ค.1, ค.2 และ ค.3 โดยที่ไม่มีการพูดคุยหรือรับฟังถกแถลงสองทางกับ กลุ่มคัดค้านทั้งที่เป็นชาวบ้านและนักวิชาการเลยแม้แต่ครั้งเดียว
กระบวนการที่เรียกว่า เป็นการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน ทั้งการจัดเวทีจัดทำขอบเขตและแนวทาง การประเมินผลกระทบ ทางด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (ค1) และกระบวนการประเมินผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (ค2) ก็ไม่มีการรับฟังความเห็นจากประชาชนอย่างรอบด้าน ซึ่งชาวบ้านตั้งข้อสังเกตว่า การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และบริษัทที่ปรึกษาโครงการได้ใช้เวลาเพียง 9 เดือน รวบรัดจัดเวที ค.1 ค.2 และ ค.3 ในขณะที่โครงการอื่นๆ ใช้เวลามากกว่า 2 ปี
การจัดการรับฟังความเห็นมีการกีดกัน ข่มขู่ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยต่อการก่อสร้างโครงการ นอกจากนั้น ยังใช้วิธีการเอาผล ประโยชน์เข้าล่อโดยแจกข้าวสารเพื่อให้ชาวบ้านที่ไม่ทราบข้อเท็จจริงจำนวนมากมาร่วมลงชื่อสนับสนุนโรงไฟฟ้า วิธีการเช่นนี้ ย่อมทำให้กระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนถูกบิดเบือนไปเป็นเพียงพิธีกรรมสร้างเอกสารสำหรับการอนุมัติ เห็นชอบรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมฯ โดยไม่สนใจกระบวนการมีส่วนร่วม และเนื้อหาผลกระทบที่แท้จริง
และเมื่อมีการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นเพื่อทบทวนร่างรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (ค.3) ผู้ว่าราชการจังหวัด สงขลาทำหน้าที่เป็นประธานในที่ประชุม ได้มีคำสั่งกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จังหวัดสงขลา ที่ 2941/2558 ลงวันที่ 21 กรกฎาคม 2558 โดยผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา เป็นผู้ลงนามออกประกาศและ จัดส่งคำสั่งดังกล่าวไปให้ สมาชิกบางคน ของเครือข่ายฯ
สาระสำคัญของคำสั่งดังกล่าวระบุว่า จากการประมวลข้อมูล ข่าวสารอาจมีความเคลื่อนไหวของกลุ่มบุคคล ที่มีความเห็นต่างในการก่อสร้างโรงไฟฟ้าเทพา อันอาจส่งผลกระทบต่อการบริหารราชการแผ่นดิน ก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิตร่างกายของประชาชนหรือความเสียหายแก่ทรัพย์สินของประชาชนหรือรัฐ จึงมีคำสั่งห้ามบุคคล หรือกลุ่มบุคคลเข้าไปชุมนุมหรือดำเนินการด้วยประการใดไดอันอาจก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยในพื้นที่
ด้านกฟผ. พยายามออกมาชี้แจงในประเด็นนี้ว่า ขอยืนยันว่า โครงการโรงไฟฟ้าของ กฟผ. เป็นไปตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ ดำเนินการตามยุทธศาสตร์ประเทศและนโยบายของรัฐบาล ที่มุ่งให้เกิดความมั่นคงด้านพลังงานไฟฟ้าของประเทศ เพื่อสร้างสรรค์สังคมไทยและสนับสนุนการพัฒนาประเทศไทยให้มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน และการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบ ด้านสิ่งแวดล้อม และสุขภาพ (EHIA)ของโครงการ โรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา ได้ดำเนินการตามขั้นตอน รวมถึงปฏิบัติตามระเบียบและกฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด มีการ เปิดเผยข้อมูลอย่างโปร่งใส รวมทั้งดำเนินงานด้วยความรับผิดชอบ และเปิดให้ประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียทุกภาคส่วน ได้มีส่วนร่วมอย่างเต็มที่
(ปลาตากแห้ง หนึ่งในอาชีพสร้างรายได้ที่ใช้ทรัพยากรในอ่าว ตือโละปาตานี)
2. การศึกษา EHIA มีความบกพร่อง ไม่ครอบคลุม โดยชาวบ้านเชื่อว่ามีการลักไก่มากมายเพราะไม่เห็นลงมาเก็บข้อมูลเลยแต่กลับมี ข้อมูลรายงาน อีกทั้งมีข้อมูลที่เป็นเท็จไม่ตรงข้อเท็จจริงในพื้นที่จำนวนมาก
เรื่องนี้นำมาสู่ข้อสังเกตว่า เมื่อกระบวนการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา ผิดตั้งแต่ต้น รายงาน EHIA ย่อมบกพร่องไม่ครอบคลุม
นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจะนะ มองว่า การขนส่งถ่านหินลำเลียงด้วยเรือบรรทุกถ่านหินจากต่างประเทศ ขนาดระวางบรรทุก 80,000- 100,000 เดทเวทตัน และขนถ่ายลงเรือบรรทุกถ่านหินขนาด 13,000 เดทเวทตันอย่างน้อย 2 ลำแล่น มายังท่าเทียบเรือขนถ่ายถ่านหินกลางทะเลซึ่งตั้งอยู่ห่างจากชายฝั่งออกไป ไม่น้อยกว่า 3 กิโลเมตร และมีการขนถ่าย ถ่านหินทางเรือ อย่างน้อย 100 เที่ยวต่อปี ขนถ่ายถ่านหินเที่ยวละราว 4วันตลอดอายุโรงไฟฟ้าถ่านหิน
โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาจะใช้น้ำจากคลองและทะเล โดยความต้องการใช้น้ำทะเลราว 9 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน มีความต้องการใช้น้ำจืดราว 4 พันลูกบาศก์เมตรต่อวัน การสูบน้ำและการระบายน้ำหล่อเย็น จากโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา จะระบายลงสู่คลองตูหยงและทะเล ซึ่งจุดนี้ทำให้ชุมชนคิดว่าจะส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตและความอุดมสมบูรณ์ของท้องทะเล อย่างแน่นอน
(บริเวณที่จะมีการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน)
ภายหลัง เครือข่ายประชาชนจังหวัดชายแดนภาคใต้ปกป้องสิทธิชุมชนและสิ่งแวดล้อมเพื่อสันติภาพ ยื่นหนังสือถึงคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ให้ตรวจสอบการจัดทำ-การพิจารณา-การอนุมัติ รายงานการประเมินผลกระทบ ด้านสิ่งแวดล้อม และสุขภาพ (EHIA) ของโรงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา จ.สงขลา
“อย่างหนึ่งที่รายงาน EHIA ไม่ได้พูดถึงคือ เรื่องวิถีของชาวบ้าน การประกอบอาชีพ จากการลงพื้นที่เห็นว่าชายทะเลมีความเชื่อมโยง ระหว่าง อ.เทพา จ.สงขลา กับ อ.หนองจิก จ.ปัตตานี และเป็นพื้นที่อุดมสมบูรณ์ ชาวบ้านไม่ต้องใช้เครื่องมือประมง ไม่ต้องใช้เรือ เพียงเดินไปบนชายหาดก็สามารถจับปลา จับหอยได้” เตือนใจ ดีเทศน์ หนึ่งใน กสม.ระบุ
เตือนใจ ให้รายละเอียดต่อว่า ป่าชายเลนมีความอุดมสมบูรณ์ ทะเลมีชายหาดที่ยาวมาก และเป็นแหล่งผลิตอาหารที่สามารถเลี้ยง คนไทยได้ ซึ่งข้อมูลส่วนนี้ไม่ได้ปรากฏอยู่ในรายงาน EHIA แม้แต่น้อย เรื่องราวความอุดมสมบูรณ์ของสัตว์น้ำ ป่าชายเลน คลื่นใต้น้ำ ผลกระทบของอุณภูมิของน้ำทะเล อากาศ และนกยังไม่ถูกพูดถึงด้วยเช่น
นอกจากนี้กระบวนการรับฟังและจัดทำรายงาน EHIA ไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ 2560 โดยเฉพาะในมาตรา 43, 50, 57, 58, 59
“ที่นี่มีปะการังขนาดใหญ่ มีเรือประมงพื้นบ้านกว่า 2,000 ลำ ป่าชายเลนหมื่นกว่าไร่ เป็นที่พักพึงของสัตว์น้ำวัยอ่อน มีปลาเศรษฐกิจอย่างปลากุเลา ปลากระพงขาว ปลากระบอก และปู ชาวประมงบางคนจับปลา ได้ด้วยมือเปล่า เทพามีส่งออก ปลากุเลา ไปยังกรุงเทพฯ มีปลาดุกทะเลเป็นอาหารของโลมา แล้วท่านยังบอกว่าทะเลเราเสื่อมโทรม” คุณดอเลาะ อาแว ตัวแทนเครือข่ายตือโล๊ะปาตานี กล่าว
ขณะที่รายงานEHIAกล่าวถึงปลาเพียงห้าชนิดในคลองช่วงฤดูฝนซึ่งก็คือ ปลาหมอ ปลานิล ปลาช่อน ปลาเข็ม และปลากระดี่หม้อ
นอกจากนี้ผลจากการศึกษาเหล่านั้นกลายเป็นข้อบกพร่องของเนื้อหาสาระอย่างเห็นได้ชัดอีกเช่น ในรายงาน EHIA ที่ระบุว่าพื้นที่เทพาเป็นป่าเต็งรัง ป่าชายเลนเทพาไม่มีต้นโกงกาง สัตว์หน้าดินมีความหนาแน่นต่ำ มากจนเสมือนที่นี่เป็น ทะเลเสื่อมโทรม จึงถือเป็นข้อมูลที่มีความขัดแย้งกับสภาพความเป็นจริงในพื้นที่
ปัจจุบันรายงานEHIA ได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการผู้ชำนาญการ (คชก.) แล้ว เมื่อวันที่ 17 ส.ค. ที่ผ่านมา แต่ยังต้องรอรายงานฉบับสมบูรณ์จาก กฟผ.ส่งกลับมาให้สผ.อีกครั้ง จากนั้นจึงจะนำเสนอคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เพื่อเสนอความเห็นประกอบการพิจารณาอนุมัติโครงการของคณะรัฐมนตรี
(อาชีพเลี้ยงปลาในกระชัง หนึ่งในอาชีพของคนเทพา)
3. กระบวนการอนุมัติโครงการมีการแยกส่วนการศึกษา EHIA โดยทราบว่าจะมีการชงให้ ครม.อนุมัติสร้างโรงไฟฟ้า ถ่านหินเทพาไปก่อน โดยไม่รอ EHIA ท่าเรือขนถ่านหินซึ่งไม่ผ่านและยังต้องปรับแก้อีกมาก
นพ.สุภัทร ชี้ว่าโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพานั้นได้ถูกเล่นแร่แปรธาตุด้วยเหตุผลทางเทคนิค (อ้างว่า คชก.โรงไฟฟ้าและ คชก.ท่าเรือเป็นคนละชุดกัน) จึงแยกเป็น EHIA โรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาและ EHIA ท่าเรือขนถ่านหิน แยกออกจากกัน ทั้งๆที่แท้จริงคือโครงการเดียวกัน
"วันนี้ EHIA โรงไฟฟ้าถ่านหินผ่าน คชก.แล้ว แต่ EHIA ท่าเรือขนถ่าย ถ่านหินยังพิจารณาไปได้ครั้งสองครั้งเท่านั้นและยังไม่มีแนวโน้มว่าจะผ่านโดยง่าย เพราะทะเลเทพานั้นอุดมสมบูรณ์มาก หาดทรายก็สวยมาก และการศึกษา EHIA ท่าเรือขนถ่ายที่ทำส่ง สผ.นั้นมีจุดบกพร่องมาก"
(บรรยากาศชุมชนเทพาบริเวณปากแม่น้ำ)
4.พื้นที่ทำโครงการเกือบ 3,000 นั้น ต้องมีการบังคับโยกย้ายคนบ้านบางหลิงและคลองประดู่ออกจากพื้นที่แผ่นดินเกิดกว่า 180 หลังคาเรือน ร่วม 1,000 คน "แล้วจะให้ชาวบ้านไปอยู่ที่ไหน" นับเป็นการบังคับโยกย้ายครั้งใหญ่ในยุคนี้ ซึ่งขัดกับหลักการพัฒนาที่ยั่งยืน
นอกจากต้องย้ายชาวบ้านออกจากพื้นที่กว่า 180 ครัวเรือน ต้องย้าย 1 วัด 2 มัสยิด 2 กุโบว์(สุสาน) และ 1 โรงเรียน ปอเน๊าะ ซึ่งยังไม่นับชุมชนรอบข้างที่อาจต้องย้ายในอนาคต ซึ่งมีคำถามตามมาประเด็นเรื่องที่ดินวากัฟ ที่อาจกลายเป็นฉนวน ความขัดแย้งในพื้นที่ชายแดนใต้อีกครั้ง
ประเด็นนี้ทางกลุ่มคนที่สนับสนุนโครงการฯ ออกมาแย้งว่าทาง กฟผ.ได้ดำเนินการชี้แจงเป็นลายลักษณ์อักษรมาตลอด คนในชุมชนมุสลิมได้เข้าใจดี แต่มีกลุ่มที่คัดค้านได้นำประเด็นดังกล่าวมาโจมตีคัดค้าน ซึ่งคนในชุมชน มีความมั่นใจว่าจะไม่มีการย้ายมัสยิดและกุโบร์ ตามที่มีการปล่อยข่าวโจมตีของฝ่ายคัดค้าน และชุมชนคาดหวังว่า ภาครัฐจะได้พัฒนามัสยิดให้เจริญ รุ่งเรืองต่อไป
(บรรยากาศบริเวณปากแม่น้ำเทพา)
5. คนที่จำเป็นต้องอยู่อาศัยรอบโรงไฟฟ้าถ่านหินอย่างจำใจในรัศมี 1 กิโลเมตร มีมากถึง 4,000 คน และรัศมี 5 กิโลเมตรมีร่วม 20,000 คน แสดงถึงการเลือกที่ตั้งที่ไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง
โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินที่จะสร้างในอำเภอเทพา ขนาด 2,200 เมกะวัตต์ ซึ่งมีแผนที่จะสร้างขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้ ถือเป็นอีกหนึ่งโครงการอภิมหาโปรเจกของรัฐบาล ตั้งอยู่บนเนื้อที่ 2,960 ไร่ บริเวณริมทะเล ต.ปากบาง อ. เทพา จ.สงขลา พื้นที่ตั้งโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา นอกจากจะตั้งติดกับชุมชนมากแล้ว ยังตั้งอยู่ในเขตห้ามล่าสัตว์ป่า พื้นที่สาธารณะ ใกล้กับพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ และป่าชายเลน
ที่ผ่านมาได้มีการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม สุขภาพ และสังคม ในรัศมีเพียง 5 กิโลเมตร โดยมีเจตนาที่จะไม่ทำการศึกษาเข้าไปในพื้นที่จังหวัดปัตตานี ทั้งๆ ที่หมู่บ้านแรกของปัตตานีห่างจากโครงการเพียง 7 กิโลเมตรเท่านั้น อันแสดงถึง ความไร้หลักวิชาการ ทั้งๆ ที่ผลกระทบนั้นไกลถึง 100 กิโลเมตร
“เราไม่ได้ปฏิเสธการผลิตพลังงาน และเห็นถึงความสำคัญของความมั่นคงด้านพลังงานของภาคใต้และของประเทศโดยรวม แต่ที่ผ่านมาเรามีความห่วงกังวลว่าการใช้เชื้อเพลิงถ่านหินในการผลิตไฟฟ้านั้นไม่เหมาะสม และจะเป็นอันตรายกับคนในพื้นที่ตั้ง โครงการและพื้นที่ใกล้เคียงในวงกว้าง” นายดิเรก เหมนคร ผู้ประสานงานเครือข่ายฯ กล่าว
(นกเขาชวา สัตว์เลี้ยงยอดนิยม ถือเป็นงานอดิเรกของผู้คนในแถบนี้)
นายดิเรก กล่าวอีกว่า ชุมชนกำลังจะตาย และพวกเราทั้งหลายคือเหยื่อของการพัฒนาความเจริญรุ่งเรือง ที่ต้องแลกด้วยชีวิต และบ้านเกิด มันคือความเป็นธรรมแล้วหรือ การเดินทางมาครั้งนี้เพียงเป็นตัวแทนของผู้ที่กำลังได้รับความทุกข์อันแสนสาหัส และต้องกล้ำกลืนกับวาทกรรมของความเจริญที่มีแต่จะเบียดขับให้ออกจากบ้านของตนเองในฐานะของผู้เสียสละ
ในการอ่านดุอาร์(ขอพร) เพื่อวิงวอนต่อพระผู้เป็นเจ้า ครั้งที่กลุ่มชาวบ้านขึ้นมายื่นหนังสือที่หน้ากระทรวงทรัพยากรธรรมและสิ่งแวดล้อม เนื้อหาส่วนหนึ่งระบุว่า แผ่นดินเทพาถือเป็นแผ่นที่มีผู้คนนิสัยดี มีความอ่อนโยน รักสันติมาหลายชั่วอายุคน แผ่นดินที่ไม่ได้ถูกสร้างขึ้นมาอย่างบังเอิญ แต่ถูกสร้างอย่างวิจิตร สวยงาม มีค่า มีเกียรติ เป็นแผ่นดินที่เป็นหัวใจของชายแดนใต้ และขอให้พระผู้เป็นเจ้ายกการทดสอบการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินอันนี้ออกไปจากแผ่นดินของเราด้วย
“เราขอวิงวอนให้พระองค์ได้รับรู้ถึงสาเหตุของความทุกข์ร้อนเหล่านั้น ที่เกิดขึ้นจากการกดขี่จากอำนาจใดก็ตาม เพื่อให้พระองค์ได้สื่อสารและประทานความเมตตาไปยังผู้คนและชุมชนที่กำลังจะหมดลมหายใจทุกคน ทุกหนแห่ง และเราขอวิงวอนให้พระผู้เป็นเจ้าได้ปกป้องผู้คนและชุมชนทั้งหลายให้รอดพ้นจากความหายนะที่กำลังจะเกิดขึ้นนี้ด้วย” เนื้อหาส่วนหนึ่ง ระบุ
ทั้งหมดนี้คือ 5 ประเด็นสำคัญที่ชาวบ้านคนตัวเล็กๆ ในฐานะคนที่อยู่ในพื้นที่ และได้รับผลกระทบจากโครงการโดยตรงไม่เคยได้รับความเป็นธรรม แต่น่าเสียดายที่โอกาสที่จะบอกเล่าความทุกข์ยากของพวกเขาไม่เกิดขึ้นจริง มิหน่ำซ้ำยังนำมาสู่การจับกุม คุมขังที่แม้ว่าภายหลังจะยอม ให้ปล่อยตัวจากการใช้ฐานะทางวิชาการ ของกลุ่มอาจารย์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ แต่ท้ายที่สุดปัญหานี้ก็เหมือนจะกลบหายไปจากหน้าข่าวและการรับรู้อีกครั้ง พร้อมด้วยคำปะหน้าว่า พวกคนขวางความเจริญของประเทศ
ในช่วงวันที่ 9 -12 มกราคม 2561 ทางเครือข่ายฯเดินทางสู่กรุงเทพมหานครอีกครั้ง โดยให้เหตุผลว่าส่วนหนึ่งเพื่อสื่อสารให้สังคมได้รับทราบว่าโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาไม่ควรเกิดขึ้นด้วยเหตุผลของความไม่ชอบธรรมในกระบวนการดำเนินโครงการตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงปัจจุบันนี้ที่คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติกำลังจะพิจารณาอนุมัติรายงานการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพหรือ EHIA โดยขอให้นายกรัฐมนตรีเปิดกว้าง ขอให้มีการตรวจสอบที่มาที่ไปของรายงานก่อนเข้าสู่การพิจารณา
อ่านประกอบ
เครือข่ายคนเทพา ร้องนายกฯ สอบที่มารายงาน EHIA รฟฟ.ถ่านหิน หวั่นมีผลประโยชน์ทับซ้อน
จากกระบี่ถึงเทพา...กระแสต้านโรงไฟฟ้าถ่านหินลามทั่วใต้!
ความขัดแย้งที่เทพา...เมื่อโรงไฟฟ้า (ถูก) โยงความมั่นคง
อ้างอิงข้อมูลจาก
http://www.manager.co.th/South/ViewNews.aspx?NewsID=9580000085004
https://greennews.agency/?p=15185
https://greennews.agency/?p=15127
http://www.seub.or.th/index.php?option=com_content&view=article&id=2191:seubnews&catid=5:2009-10-07-10-58-20&Itemid=14
http://www.seub.or.th/index.php?option=com_content&view=article&id=2197:seubnews&catid=5:2009-10-07-10-58-20&Itemid=14
https://www.manager.co.th/Crime/ViewNews.aspx?NewsID=9600000086048
http://www.greenpeace.org/seasia/th/news/blog1/blog/60251/
https://www.deepsouthwatch.org/node/11245
https://www.thairath.co.th/content/712750
https://greennews.agency/?p=14964