14 ปีไฟใต้ละลายงบ 3 แสนล้าน กองทัพเชื่อมั่นปีหน้าปิดเกม!
เดินทางมาถึงปีที่ 14 แล้ว สำหรับปัญหาความรุนแรงรอบใหม่ที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งปะทุขึ้นมาหลังเหตุการณ์ปล้นอาวุธปืนจำนวน 413 กระบอก จากค่ายกองพันพัฒนาที่ 4 ค่ายกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 4 ม.ค.ปี 47
นับถึงวันนี้ แม้หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องจะออกมายืนกรานว่า สถานการณ์โดยรวมดีขึ้นมาก แต่ห้วงเวลานานถึง 14 ปี ก็ได้สร้าง "ประวัติศาสตร์บาดแผล" ไม่น้อยเลย โดยเฉพาะการสูญเสียชีวิต ซึ่งมิอาจประเมินค่าได้ ขณะที่ภาวการณ์ ณ ปัจจุบันก็ยังมิอาจพูดได้อย่างเต็มปากว่า "ไฟใต้มอดดับแล้ว"
ย้อนกลับไปดูสถิติความรุนแรงตลอด 14 ปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่วันที่ 4 ม.ค.47 ถึงวันที่ 28 ธ.ค.60 พบว่า มีความรุนแรงทุกประเภทเกิดขึ้นแล้วทั้งสิ้น 15,164 เหตุการณ์ แยกเป็น การก่อความไม่สงบ หรือคดีความมั่นคง จำนวน 9,823 เหตุการณ์, อาชญากรรมทั่วไป หรือความขัดแย้งส่วนตัว จำนวน 3,982 เหตุการณ์ และยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด 1,359 เหตุการณ์
ทั้งนี้หากพิจารณาเฉพาะความรุนแรงที่เกิดจากการก่อความไม่สงบ และฝ่ายตำรวจบันทึกว่าเป็น "คดีความมั่นคง" จะพบว่ามีรูปแบบความรุนแรงที่หลากหลาย และมีสถิติตัวเลขที่น่าใจ แยกเป็น
- โจมตีฐานที่ตั้งของเจ้าหน้าที่ 41 เหตุการณ์
- ซุ่มโจมตี 191 เหตุการณ์
- ยิงด้วยอาวุธปืน 4,235 เหตุการณ์
- ระเบิด 3,439 เหตุการณ์
- วางเพลิง (เผาโรงเรียน / ส่วนราชการ / บ้านเรือน / ตู้โทรศัพท์ ฯลฯ) 1,505 เหตุการณ์
- ฆ่าด้วยวิธีทารุณ (ตัดคอ / เผา) 92 เหตุการณ์
- ประสงค์ต่ออาวุธ 176 เหตุการณ์
- ชุมนุมประท้วง 65 เหตุการณ์
- ทำร้าย 48 เหตุการณ์
- อื่นๆ 31 เหตุการณ์
ทั้งหมดนี้ยังไม่นับรวม "เหตุก่อกวน" เช่น ยิงรบกวน, ขว้างระเบิดเพลิง, เผายางรถยนต์, โปรยตะปูเรือใบ, ตัดต้นไม้ขวางถนน หรือถอดน็อตรางรถไฟ ซึ่งการก่อกวนเหล่านี้เกิดขึ้นไม่น้อยเช่นกัน นับรวมได้ 3,542 เหตุการณ์
แน่นอนว่าเมื่อเกิดความรุนแรง ก็ต้องมีความสูญเสียตามมา ทั้งเสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บ โดยความสูญเสียรวมจากทุกเหตุการณ์ ทั้งก่อความไม่สงบ อาชญากรรมทั่วไป และความขัดแย้งส่วนตัว รวมแล้วมีผู้เสียชีวิตทั้งสิ้น 7,666 คน บาดเจ็บ 13,115 คน
หากนับเฉพาะความสูญเสียจากเหตุการณ์ความไม่สงบ ซึ่งฝ่ายตำรวจบันทึกว่าเป็น "คดีความมั่นคง" คือแยกแยะเหตุขัดแย้งส่วนตัวและอาชญากรรมประเภทลัก วิ่ง ชิง ปล้น ออกไป จะพบว่ามียอดผู้เสียชีวิตทั้งสิ้น 3,949 คน บาดเจ็บ 10,501 คน
ในจำนวนนี้แยกตามสถานะบุคคลได้ดังนี้
- ตำรวจ เสียชีวิต 384 นาย บาดเจ็บ 1,574 นาย
- ทหาร เสียชีวิต 570 นาย บาดเจ็บ 2,701 นาย
- ครู เสียชีวิต 109 คน บาดเจ็บ 130 คน
- พนักงานการรถไฟ เสียชีวิต 5 คน บาดเจ็บ 42 คน
- ผู้นำท้องถิ่น เสียชีวิต 239 คน บาดเจ็บ 167 คน
- ผู้นำศาสนา เสียชีวิต 21 คน บาดเจ็บ 24 คน
- ประชาชน เสียชีวิต 2,557 คน บาดเจ็บ 5,856 คน
- คนร้าย เสียชีวิต 64 คน บาดเจ็บ 7 คน
จะเห็นได้ว่ากลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงมากที่สุด คือ ประชาชนทั่วไป รองลงมาคือทหาร ตำรวจ ผู้นำท้องถิ่น และครู
ประเด็นที่ต้องพิจารณาต่อไปก็คือ การใช้จ่ายงบประมาณสำหรับแก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทั้งในมิติงานความมั่นคงและงานพัฒนา พบว่านับตั้งแต่ปีงบประมาณ 2547 จนถึงปีล่าสุด คือปีงบประมาณ 2561 รวม 15 ปีงบประมาณ ใช้จ่ายงบดับไฟใต้ไปแล้วราวๆ 3 แสนล้านบาท แยกแยะเป็นรายปีงบประมาณได้ดังนี้
ปี 2547 - 13,450 ล้านบาท
ปี 2548 - 13,674 ล้านบาท
ปี 2549 - 14,207 ล้านบาท
ปี 2550 - 17,526 ล้านบาท
ปี 2551 - 22,988 ล้านบาท
ปี 2552 - 27,547 ล้านบาท
ปี 2553 - 16,507 ล้านบาท
ปี 2554 - 19,102 ล้านบาท
ปี 2555 - 16,277 ล้านบาท
ปี 2556 - 21,124 ล้านบาท
ปี 2557 - 25,921 ล้านบาท
ปี 2558 - 25,744.3 ล้านบาท
ปี 2559 - 30,886.6 ล้านบาท
ปี 2560 - 12,692 ล้านบาท (เฉพาะงบแผนงานบูรณาการฯ)
ปี 2561 - 13,255.7 ล้านบาท (เฉพาะงบแผนงานบูรณาการฯ)
รวมทั้งสิ้น 290,901.6 ล้านบาท
เป็นที่น่าสังเกตว่า แต่เดิม "งบดับไฟใต้" ถูกจัดหมวดหมู่อยู่ในงบ "แผนงานการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้" ซึ่งจะรวมงบประมาณรายจ่ายทุกอย่างของทุกหน่วยงานที่รับผิดชอบภารกิจ "ดับไฟใต้" เอาไว้ด้วยกัน ทั้งงบโครงการพัฒนา งบเบี้ยเลี้ยงกำลังพล และอื่นๆ
แต่ในปีงบประมาณ 2560 และ 2561 ในยุครัฐบาล คสช. "งบดับไฟใต้" ถูกจัดอยู่ในหมวด "แผนงานบูรณาการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้" ซึ่งตัวเลขงบประมาณในหมวดนี้ จะไม่รวมงบประจำที่อยู่นอกแผนงานบูรณาการฯ และไม่รวมงบของจังหวัดชายแดนภาคใต้ 3 จังหวัด กับ "งบประจำ" ของหน่วยงานต่างๆ ที่แม้จะมีภารกิจหลักในการแก้ไขปัญหาภาคใต้ แต่ก็ไม่ถูกนับรวมด้วย
ประมาณการกันว่า หากรวมงบนอกแผนงานบูรณาการฯเข้าไปด้วยแล้ว งบดับไฟใต้จะพุ่งสูงกว่า 3 แสนล้านบาท!
งบประมาณเหล่านี้ถูกใช้ไปในการแก้ไขปัญหาความไม่สงบและการพัฒนาพื้นที่ โดยระยะแรกๆ เน้นควบคุมสถานการณ์ความรุนแรง โดยส่งกำลังทหารลงไปในพื้นที่มากถึง 22 กองพัน มีการใช้กฎหมายพิเศษ นอกเหนือจากกฎอัยการศึกแล้ว ยังมี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯด้วย เพื่อรองรับมาตรการ "ปิดล้อม ตรวจค้น จับกุม" ของเจ้าหน้าที่ จนสามารถกดสถิติความรุนแรงลงได้ จากปีละ 1,000 ถึง 2,000 เหตุการณ์หรือกว่านั้น ลดเหลือต่ำกว่าปีละ 1,000 เหตุการณ์
กระทั่งปี 55 ฝ่ายความมั่นคงเริ่มดำเนินนโยบาย "พาคนกลับบ้าน" ดึงกลุ่มที่คิดเห็นต่างจากรัฐ กลุ่มผู้หลงผิด และติดหมายจับ หมาย พ.ร.ก. ให้กลับคืนสู่ภูมิลำเนา โดยภาครัฐช่วยอำนวยความสะดวกเรื่องกระบวนการยุติธรรมและการต่อสู้คดีสำหรับคนที่มีหมายจับ
จากนั้นในปี 2555 ก็เข้าสู่โหมด "พูดคุยเจรจา" แบบ "เปิดเผยเป็นทางการ" เพื่อหาทางออกจากความขัดแย้งร่วมกันแบบสันติวิธี โดยมีกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐหลากหลายกลุ่ม ทั้งพูโล บีอาร์เอ็น และกลุ่มย่อยอื่นๆ เข้าร่วมโต๊ะพูดคุย ซึ่งกระบวนการนี้ดำเนินการต่อเนื่องมา 2 รัฐบาล คือรัฐบาลพรรคเพื่อไทย และรัฐบาล คสช.ชุดปัจจุบัน
นอกจากนั้นในช่วง 2-3 ปีหลัง รัฐบาลยังมุ่งเน้น "งานพัฒนา" มากเป็นพิเศษ ผ่านโครงการสามเหลี่ยม "มั่นคง มั่นคั่ง ยั่งยืน" มีการนำร่องพัฒนาเมืองต้นแบบ 3 เมืองใน 3 จังหวัด คือ อ.เบตง จ.ยะลา อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส และ อ.หนองจิก จ.ปัตตานี ดึงศักยภาพของแต่ละอำเภอขึ้นมาขับเคลื่อนการสร้างงาน สร้างรายได้
ขณะที่การต่อสู้ของฝ่ายผู้ก่อความไม่สงบซึ่งอ้างอุดมการณ์แบ่งแยกดินแดน หลังจาก "วันเสียงปืนแตก" คือวันปล้นปืนเมื่อวันที่ 4 ม.ค.เมื่อ 14 ปีก่อนแล้ว พวกเขาก็ใช้ยุทธวิธีก่อเหตุร้ายรายวันรูปแบบต่างๆ สลับกับการปล่อยข่าวลือ และสร้างเงื่อนไขเพื่อยกระดับปัญหาไปสู่เวทีนานาชาติ หลายเหตุการณ์อ่อนไหวที่เกิดขึ้นและถูกจับตามองจากต่างประเทศ โดยเฉพาะโลกมุสลิม ก็เช่น เหตุการณ์กรือเซะ เมื่อวันที่ 28 เม.ย.2547 และเหตุการณ์ตากใบ เมื่อวันที่ 25 ต.ค.ปีเดียวกัน ซึ่งสองเหตุการณ์นี้มีชาวมลายูมุสลิมเสียชีวิตไปเกือบๆ 200 คน
สถานการณ์ปัจจุบัน ภายหลังฝ่ายความมั่นคงควบคุมพื้นที่ได้มากขึ้น ขณะที่อีกด้านหนึ่งก็มีการเปิดโต๊ะพูดคุยเจรจา ก็ทำให้สถิติการก่อเหตุรุนแรงลดลงอย่างมีนัยสำคัญ โดยผู้เห็นต่างจากรัฐส่วนหนึ่งยอมเข้าสู่โต๊ะเจรจา แม้จะเชื่อว่ายังไม่ใช่ฝ่ายที่คุมกองกำลัง "ตัวจริง" ในพื้นที่ แต่ก็ยังถือว่าเป็นสัญญาณที่ดีต่อการแก้ไขปัญหาและสถานการณ์ในภาพรวม
พ.อ.ปราโมทย์ พรหมอินทร์ โฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) กล่าวกับ "ทีมข่าวอิศรา" ในวาระ 14 ปีไฟใต้ว่า การแก้ปัญหาประสบผลสำเร็จด้วยดี ภาพรวมคดีความมั่นคงลดและอัตราความสูญเสียลดลงกว่าร้อยละ 50 โดยขณะนี้อยู่ในระยะที่ 2 ของ "โรดแมพดับไฟใต้" ซึ่งมีทั้งหมด 3 ระยะ
เริ่มจากระยะแรก ตั้งแต่ปี 2547-2553 เป็นระยะควบคุมสถานการณ์ ใช้กำลังทหาร 22 กองพัน จากนั้นปี 2554 จนถึงปัจจุบัน เข้าสู่ระยะที่ 2 เน้นการปฏิบัติการเชิงรุกควบคู่กับการพัฒนา ขณะนี้ถือว่าอยู่ช่วงปลายของระยะที่ 2 มีการถอนกำลังทหารของกองทัพภาคต่างๆ ออกไป ปีที่แล้ว 8,700 อัตรา ปีนี้อีก 3,000 อัตรา และส่งพื้นที่ให้กองกำลังภาคประชาชนช่วยดูแลแทน มีการสร้างชุดคุ้มครองตำบลขึ้นมา 164 ชุด เพื่อทดแทนกำลังทหารที่ถูกถอนออกไป
ฉะนั้นในอนาคต ถ้าเป็นไปตามโรดแมพ ภายในปี 2562 จะสามารถส่งผ่านการเสริมสร้างสันติสุขและการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนให้กับพื้นที่ได้!
-------------------------------------------------------------------------------------------
อ่านประกอบ :
เปิดงบปี 61 บูรณาการดับไฟใต้ 1.3 หมื่นล้าน! "อักษรา" ปัดคุยพวกใช้ความรุนแรงต่อรอง
3 ปีงบเฉียดแสนล้าน! ไฟใต้ลวกมือ คสช.
เปิดงบปี 61 กลาโหมอู้ฟู่! ยุทธศาสตร์ดับไฟใต้ 1.3 หมื่นล้าน
งบดับไฟใต้ปี60 ลดฮวบเหลือ1.2หมื่นล้าน จัดหมวดหมู่ใหม่หรือจงใจซุก?
งบไฟใต้-ความมั่นคงพุ่งยุค คสช.
13ปีไฟใต้..สถิติรุนแรงลด งบจ่อ3แสนล้าน ตั้ง"องค์กรพิเศษ"เพิ่ม