งบดับไฟใต้ปี60 ลดฮวบเหลือ1.2หมื่นล้าน จัดหมวดหมู่ใหม่หรือจงใจซุก?
ใกล้ครบ 13 ปีไฟใต้ นับจากเหตุการณ์ปล้นปืนเมื่อ 4 ม.ค.47 งบประมาณที่ทุ่มลงไปในพื้นที่เกือบทะลุ 3 แสนล้านบาทแล้ว
นั่นคือยอดงบประมาณรวมที่นับถึงปีงบประมาณ 2559 ที่เพิ่งจะจบไปเมื่อ 30 ก.ย.ที่ผ่านมา
หากนับตั้งแต่ปี 2547 (นับเป็นปีงบประมาณ) ถึงวันนี้ ผ่านไปแล้ว 13 ปีงบประมาณ ทางหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรงอย่างสำนักงบประมาณได้แยก “งบดับไฟใต้” ไว้เป็นหมวดหมู่ต่างหาก เพื่อให้ง่ายต่อการติดตามและประเมินผลสัมฤทธิ์ในการใช้จ่ายเงินหลวงที่มาจากภาษีอากรของพี่น้องประชาชน
ระยะหลังๆ เรียกว่า “แผนงานแก้ไขปัญหาและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้”
ไล่เรียงให้ดูกันชัดๆ แต่ละปีงบประมาณ มีตัวเลขดังนี้
ปี 2547 - 13,450 ล้านบาท
ปี 2548 - 13,674 ล้านบาท
ปี 2549 - 14,207 ล้านบาท
ปี 2550 - 17,526 ล้านบาท
ปี 2551 - 22,988 ล้านบาท
ปี 2552 - 27,547 ล้านบาท
ปี 2553 - 16,507 ล้านบาท
ปี 2554 - 19,102 ล้านบาท
ปี 2555 - 16,277 ล้านบาท
ปี 2556 - 21,124 ล้านบาท
ปี 2557 - 25,921 ล้านบาท
ปี 2558 - 25,744.3 ล้านบาท
ปี 2559 - 30,886.6 ล้านบาท
รวมทั้งสิ้น 264,953 ล้านบาท
งบดับไฟใต้ปี 60 ลดฮวบ?
จากข้อมูลข้างบนจะพบว่าตัวเลขงบดับไฟใต้ โดยเฉพาะตั้งแต่ปี 2551 เป็นต้นมา ซึ่งกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร หรือ กอ.รมน. เป็นหน่วยงานหลักในการแก้ไขปัญหานั้น ตัวเลขงบประมาณเฉลี่ยจะอยู่ที่ปีละ 2 หมื่นกว่าล้านบาท
โดยเฉพาะงบปี 2559 ที่รัฐบาล คสช.จัดทำเองทั้งหมด ยอดรวมพุ่งสูงถึงกว่า 3 หมื่นล้านบาทเศษ
สำหรับงบประมาณปี 2560 ที่เพิ่งเริ่มใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.59 ตรวจดูในพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายฯ จะพบว่ามีตัวเลขเพียง 12,692 ล้านบาทเท่านั้น โดยอยู่ใน “แผนงานบูรณาการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้” หรือจะเรียกสั้นๆ ว่า “งบดับไฟใต้” ก็ได้ (เริ่มใช้ชื่อแผนงานนี้เป็นปีแรก)
คำถามก็คือ เหตุใดงบประมาณดับไฟใต้จึงลดฮวบเหลือเพียง 1.2 หมื่นล้านบาท ซึ่งหากเป็นจริงก็เท่ากับว่างบดับไฟใต้ปีล่าสุดนี้ ต่ำที่สุดเมื่อเทียบกับ 13 ปีงบประมาณก่อนหน้า และต่ำกว่าปี 2547 ที่เพิ่งเริ่มต้นปัญหาเสียอีก
จัดหมวดหมู่ใหม่หรือจงใจซุก?
เมื่อลองเจาะดูพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2560 อย่างละเอียด จะพบว่างบที่เกี่ยวกับภารกิจดับไฟใต้จริงๆ แยกออกเป็น 3 ส่วน โดยงบในหมวด “แผนงานบูรณาการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้” เป็นเพียงส่วนเดียวเท่านั้น
งบ 3 ก้อนแบ่งเป็น
1.งบแผนงานบูรณาการการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีหน่วยงานระดับกรมที่ดำเนินการในพื้นที่ทั้งสิ้น 50 หน่วยงาน งบประมาณ 12,692 ล้านบาท
2.งบประมาณรายจ่ายประจำปีของ 5 จังหวัดภาคใต้ (ปัตตานี ยะลา นราธิวาส สงขลา สตูล) อยู่ที่ 21,843 ล้านบาท
3. งบประมาณของส่วนราชการที่ไม่สามารถจำแนกจังหวัดได้ ส่วนใหญ่เป็นงบรายจ่ายประจำ งบบุคลากร งบดำเนินงาน งบเงินอุดหนุน และงบรายจ่ายอื่น งบส่วนนี้ไม่สามารถหาข้อมูลได้ เนื่องจากไม่มีการจำแนกไว้
จะเห็นได้ว่าถ้านำตัวเลขงบตามข้อ 1 รวมกับข้อ 2 ยอดรวมก็เกิน 3 หมื่นล้านบาทแล้ว (34,535 ล้านบาท)
คำถามต่อมาคือ แล้วงบข้อ 3 คืองบอะไร?
จากการตรวจสอบเพิ่มเติมพบข้อน่าสังเกตว่า งบของบางหน่วยงานที่มีหน้างานรับผิดชอบปัญหาชายแดนใต้เท่านั้น อย่างเช่น ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) หากดูตามพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายปี 2560 ในหมวดแผนงานบูรณาการฯ (งบดับไฟใต้) ได้รับงบประมาณ 2,059 ล้านบาทเศษ
หากเทียบกับปีงบประมาณ 2558 ศอ.บต.ได้รับงบประมาณ 2,742 ล้านบาท และปีงบประมาณ 2559 ได้รับ 3,225 ล้านบาท (ทั้งหมดอยู่ในแผนงานแก้ไขปัญหาและพัฒนาจังหวัดชายแดนใต้ ; งบดับไฟใต้)
ประเด็นที่ “ทีมข่าวอิศรา” ค้นพบก็คือ งบ ศอ.บต. 2 ปีงบประมาณก่อนหน้าที่สูงกว่างบปี 60 ราว 1 พันล้านบาทนั้น งบ ศอ.บต.ทั้งหมดอยู่ในแผนงานเดียว คือแผนงานแก้ไขปัญหาและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (งบดับไฟใต้) แต่สำหรับงบปี 60 แม้งบตามแผนงานดับไฟใต้จะลดเหลือ 2 พันล้านบาทเศษ แต่ ศอ.บต.กลับมีงบในแผนงานอื่นๆ ซ่อนอยู่อีก ได้แก่ แผนงานบุคลากรภาครัฐ 56 ล้านบาทเศษ และแผนงานพื้นฐานด้านความมั่นคงและการต่างประเทศ 504 ล้านบาทเศษ
หากรวมงบอีก 2 ยอดนี้เข้าด้วยกัน ยอดรวมก็จะใกล้เคียงกับงบปี 2558 ไม่ได้ลดลงอย่างมีนัยสำคัญแต่อย่างใด
คำถามก็คือ งบแผนงานอื่นของ ศอ.บต. เหตุใดจึงไม่นับรวมเป็นแผนงานดับไฟใต้ เพราะหน่วยงานนี้เป็นหน่วยงานเฉพาะที่ทำงานแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้เท่านั้น
ดึงงบกำลังพล-บุคลากรแปะต้นสังกัด
อีกตัวอย่างหนึ่ง คือ งบกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร หรือ กอ.รมน.
ปี 2558 มียอดรวม 8,906 ล้านบาทเศษ แยกเป็นแผนงานดับไฟใต้ถึง 8,191 ล้านบาทเศษ ที่เหลือเป็นแผนงานรักษาความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ 577 ล้านบาทเศษ และแผนงานป้องกัน ปราบปราม และบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติด 187 ล้านบาทเศษ
ปี 2559 มียอดรวม 10,200 ล้านบาทเศษ แยกเป็นงบดับไฟใต้ (แผนงานแก้ไขปัญหาและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้) สูงถึง 9,143 ล้านบาทเศษ ที่เหลือเป็นงบของแผนงานอื่นอีก 3 แผนงาน
แต่ในปี 2560 กอ.รมน.มีงบตามแผนงานบูรณาการฯ (งบดับไฟใต้) เพียง 3,554 ล้านบาท จากยอดรวม 6,357 ล้านบาท
เป็นที่ทราบกันดีว่างบดับไฟใต้ของ กอ.รมน.ในแต่ละปีที่สูงราวๆ 8-9 พันล้านบาทนั้น มากกว่าครึ่งเป็นงบเบี้ยเลี้ยงกำลังพล งบทรงชีพ (การดำรงอยู่ของหน่วยกำลัง) และเงินเพิ่มพิเศษต่างๆ ของกำลังพล รวมทั้งบุคลากรที่ลงไปปฏิบัติหน้าที่ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเกือบทั้งหมดเป็นการลงไปปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราวตามกรอบระยะเวลาที่ต้นสังกัดกำหนด
คำถามคือ เป็นไปได้หรือไม่ว่าตัวเลขงบประมาณที่ลดลง แท้ที่จริงแล้วไม่ได้หายไปไหน แต่ตัดงบกำลังพลและบุคลากรกลับไปแปะไว้ในงบประมาณของต้นสังกัดเดิมแทน
พิจารณาเทียบเคียงกับงบของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ปี 2558 งบดับไฟใต้อยู่ที่ 1,881 ล้านบาท ปี 2559 ขยับเป็น 2,160 ล้านบาท แต่ปี 2560 ลดฮวบเหลือเพียง 151 ล้านบาทเท่านั้น ทั้งๆ ที่หน่วยกำลังส่วนหน้าในพื้นที่ของตำรวจก็ยังคงมีอยู่เช่นเดิม ได้แก่ ศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศชต.) และศูนย์ปฏิบัติการสำนักงานตำรวจแห่งชาติส่วนหน้า (ศปก.ตร.สน.)
ขณะที่งบแผนงานบุคลากรภาครัฐของสำนักงานตำรวจแห่งชาติในปี 2560 สูงถึง 74,189 ล้านบาท จากยอดรวมที่ได้รับ 1.02 แสนล้านบาท หรือเกือบร้อยละ 75 ของงบประมาณทั้งหมดของตำรวจ
แก้ภาพลักษณ์ทหารละลายงบ?
จากข้อมูลที่ไล่เรียงมาทั้งหมด หากย้อนกลับไปที่งบดับไฟใต้ 3 ก้อนของปี 2560 ซึ่งอธิบายไว้ในตอนต้น จะพบว่าก้อนที่ 3 ซึ่งเป็นงบประมาณของส่วนราชการประเภทงบรายจ่ายประจำ งบบุคลากร งบดำเนินงาน งบเงินอุดหนุน และงบรายจ่ายอื่นนั้น เมื่องบส่วนนี้ไม่แยกแยะออกมาให้เห็นว่าเป็นงบกำลังพลหรือบุคลากรที่ลงไปปฏิบัติหน้าที่ชายแดนใต้ ก็จะทำให้ไม่ทราบตัวเลขที่แท้จริง ทั้งตัวเลขของงบกำลังพลและบุคลากร รวมถึงงบประมาณดับไฟใต้ในภาพรวมด้วย
เป็นที่น่าสังเกตว่ายอดรวมงบดับไฟใต้ 13 ปีงบประมาณที่ผ่านมา ซึ่งพุ่งเกือบ 3 แสนล้านบาทนั้น ภาพที่ประชาชนรู้สึกก็คือ ทหารเป็นผู้รับผิดชอบงบก้อนนี้ เพราะมีบทบาทสูงสุดในพื้นที่ผ่านทางกองทัพ และ กอ.รมน. แต่ผ่านมากว่า 1 ทศวรรษ ไฟใต้ก็ยังไม่ดับเสียที ขณะที่มีผลประโยชน์ เบี้ยเลี้ยง และสิทธิพิเศษให้กับกำลังพลมากมาย
ที่ผ่านมาฝ่ายความมั่นคงได้พยายามชี้แจงว่า งบดับไฟใต้ในแต่ละปีนั้น แท้ที่จริงแล้วเป็นงบรวมของทุกกระทรวง ไม่ใช่เฉพาะของทหาร หรือ กอ.รมน. แต่ก็ยังไม่สามารถแก้ไขภาพลักษณ์นั้นได้
ทั้งหมดนี้จึงกลายเป็นคำถามว่า ตกลงงบที่ลงไปแก้ไขปัญหาชายแดนใต้ในปี 2560 ในความดูแลของรัฐบาลคสช.มีจำนวนเท่าไหร่กันแน่ โดยเฉพาะงบที่เรียกกันว่า “งบกำลังพล” ซึ่งมีถึงเกือบ 1 แสนนายในพื้นที่
หรือว่าต้องใช้ ม.44 หาคำตอบ?!?