เปิดงบปี 61 บูรณาการดับไฟใต้ 1.3 หมื่นล้าน! "อักษรา" ปัดคุยพวกใช้ความรุนแรงต่อรอง
งบดับไฟใต้ของปีงบประมาณ 2561 ได้รับการจัดสรรในหมวดแผนงานบูรณาการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ วงเงิน 13,255,744,700 บาท หรือตัวเลขกลมๆ 1.3 หมื่นล้าน
ตัวเลขนี้ใกล้เคียงกับงบปี 2560 ที่ได้รับการจัดสรรในชื่อแผนงานเดียวกัน ซึ่งเป็นวิธีการจัดงบประมาณที่ริเริ่มขึ้นในยุครัฐบาล คสช. (คณะรักษาความสงบแห่งชาติ) ซึ่งตัวเลขดูน้อยลงกว่ายุครัฐบาลที่ผ่านๆ มา แต่เป็นที่ทราบกันดีในแวดวงผู้ที่ติดตาม "งบดับไฟใต้" ว่าตัวเลขนี้เป็นเพียง "งบแผนงานบูรณาการ" ยังไม่รวมงบในหมวดอื่นๆ เช่น งบจังหวัด หรืองบกำลังพลที่ลงไปปฏิบัติหน้าที่ที่ปลายด้ามขวาน ซึ่งในรัฐบาลชุดก่อนๆ รวมยอดเป็นงบก้อนเดียวกัน คือ "งบดับไฟใต้" ทำให้ตัวเลขพุ่งสูงถึงราวๆ 2 หมื่นล้านหรือกว่านั้นแทบทุกปี
ลองไล่เรียงดูงบดับไฟใต้รายปีที่ "ศูนย์ข่าวอิศรา" เคยรวบรวมเอาไว้ จะเห็นภาพชัดเจนขึ้น (อ่านประกอบ...งบดับไฟใต้ปี60 ลดฮวบเหลือ1.2หมื่นล้าน จัดหมวดหมู่ใหม่หรือจงใจซุก?)
ปี 2547 - 13,450 ล้านบาท
ปี 2548 - 13,674 ล้านบาท
ปี 2549 - 14,207 ล้านบาท
ปี 2550 - 17,526 ล้านบาท
ปี 2551 - 22,988 ล้านบาท
ปี 2552 - 27,547 ล้านบาท
ปี 2553 - 16,507 ล้านบาท
ปี 2554 - 19,102 ล้านบาท
ปี 2555 - 16,277 ล้านบาท
ปี 2556 - 21,124 ล้านบาท
ปี 2557 - 25,921 ล้านบาท
ปี 2558 - 25,744.3 ล้านบาท
ปี 2559 - 30,886.6 ล้านบาท
ปี 2560 - 12,692 ล้านบาท (เฉพาะงบแผนงานบูรณาการฯ)
ปี 2561 - 13,255.7 ล้านบาท (เฉพาะงบแผนงานบูรณาการฯ)
รวมทั้งสิ้น 290,901.6 ล้านบาท
สำหรับงบแผนงานบูรณาการขับเคลื่อนดับไฟใต้ปี 61 เมื่อวันที่ 18 ต.ค.60 พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะหัวหน้าผู้แทนพิเศษของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ประจำปีงบประมาณ 2561 ที่ห้องประชุมวายุภักษ์ 2 โรงแรมเซ็นทรา ศูนย์ราชการและคอนเวนชันเซ็นเตอร์ ถนนแจ้งวัฒนะ
ทั้งนี้ สำนักงบประมาณได้เห็นชอบให้สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ในฐานะเป็นหน่วยงานเจ้าภาพ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวมทั้งสิ้น 54 หน่วยงาน ซึ่งได้รับการจัดสรรงบประมาณตามแผนงานบูรณาการการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ประจำปีงบประมาณ 2561 ดำเนินการตามแผนปฏิบัติงาน และแผนการใช้จ่ายงบประมาณ โดยให้มีผลใช้บังคับเมื่อพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2561 ประกาศใช้บังคับแล้ว ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.ที่ผ่านมา
หน่วยงานที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณ จำนวน 54 หน่วยงาน เป็นหน่วยงานในสังกัดกระทรวง ทบวง กรม และหน่วยงานที่เรียกชื่ออย่างอื่น ดังนี้ 1.สำนักนายกรัฐมนตรี และหน่วยงานในกำกับ 2.กระทรวงกลาโหม 3.กระทรวงการต่างประเทศ 4.กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา 5.กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) 6.กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 7.กระทรวงคมนาคม 8.กระทรวงพาณิชย์ 9.กระทรวงมหาดไทย 10.กระทรวงยุติธรรม 11.กระทรวงแรงงาน 12.กระทรวงวัฒนธรรม 13.หน่วยงานในกำกับกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี 14.กระทรวงศึกษาธิการ และหน่วยงานในกำกับ 15.กระทรวงสาธารณสุข 16.ส่วนราชการไม่สังกัดกระทรวง หรือทบวง รวม 3 หน่วยงาน 17.หน่วยงานของศาล 1 หน่วยงาน และ 18.หน่วยงานอิสระของรัฐ รวม 2 หน่วยงาน
ทั้ง 54 หน่วยงานนี้ มีโครงการที่ต้องขับเคลื่อนตามแผนงานบูรณาการ จำนวน 78 โครงการ 85 กิจกรรม โดยแบ่งกลุ่มงานออกเป็น 7 กลุ่มงาน ได้แก่
1.กลุ่มงานรักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน (กระทรวงกลาโหม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง) 6,115 ล้านบาทเศษ
2.กลุ่มงานอำนวยความยุติธรรมและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ (กระทรวงยุติธรรม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง) 907.1 ล้านบาทเศษ
3.กลุ่มงานสร้างความเข้าใจทั้งในและต่างประเทศเรื่องสิทธิมนุษยชน (กระทรวงการต่างประเทศ) 428.2 ล้านบาทเศษ
4.กลุ่มงานการศึกษา ศาสนา และศิลปวัฒนธรรม (กระทรวงศึกษาธิการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง) 2,570.5 ล้านบาทเศษ
5.กลุ่มงานพัฒนาตามศักยภาพของพื้นที่และคุณภาพชีวิตประชาชน (กระทรวงมหาดไทยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง) 2,028.4 ล้านบาทเศษ
6.กลุ่มงานเพิ่มประสิทธิภาพภาครัฐและงานขับเคลื่อนนโยบายฯ (สภาความมั่นคงแห่งชาติ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง) 1,068.6 ล้านบาทเศษ
7.กลุ่มงานแสวงหาทางออกจากความขัดแย้งโดยสันติวิธี (สภาความมั่นคงแห่งชาติ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง) 137.6 ล้านบาทเศษ
การประชุมมีเป้าหมายเพื่อให้ทุกหน่วยงานได้ทบทวน ตรวจสอบ แผนงานโครงการและงบประมาณของทุกโครงการให้มีความชัดเจน ประสานสอดคล้องกันในทุกมิติ ทั้งในด้านความมั่นคง ด้านการพัฒนา บนพื้นฐานของงานสร้างความเข้าใจ มีการตรวจสอบระบบการใช้จ่ายงบประมาณให้เกิดความคุ้มค่า โปร่งใส สนองตอบต่อความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริง เป็นไปตามกรอบนโยบายของรัฐบาล จากนั้นจะเสนอให้คณะกรรมการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (คปต.) ที่มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง พิจารณาอนุมัติต่อไป
ในการประชุม พล.อ.อักษรา เกิดผล ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งงานพูดคุยเพื่อสันติสุขฯ อยู่ในกลุ่มงานแสวงหาทางออกจากความขัดแย้งโดยสันติวิธี กล่าวบนเวทีการประชุมตอนหนึ่งว่า การพูดคุยเพื่อสันติสุขฯ เป็นงานยุทธศาสตร์สำคัญตามนโยบายของรัฐบาล และมีความจำเป็นต้องทำอย่างต่อเนื่อง โดยมี 2 งานที่ต้องดำเนินการ คือ
งานที่หนึ่ง การสร้างสภาวะแวดล้อมเพื่อให้เกื้อกูลต่อการพุดคุยฯ ซึ่งต้องบูรณาการร่วมกับกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) สถาบันการศึกษา โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (ม.อ.ปัตตานี) ซึ่งเป็นหน่วยที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณในการดำเนินการในเรื่องนี้ เพราะการพูดคุยต้องอาศัยองค์ความรู้จากงานวิจัย, ภาคประชาสังคม และประชาชนในพื้นที่เป็นสำคัญ
งานที่สอง คือ การพูดคุยกับกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐ ซึ่งเป็นความรับผิดชอบของคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขฯ และไม่ได้ใช้งบประมาณจากแผนงานขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพราะเป็นการดำเนินการของผู้แทนจากส่วนราชการต่างๆ ที่มาทำหน้าที่เป็นคณะพูดคุยฯ
พล.อ.อักษรา กล่าวอีกว่า ในปีงบประมาณ 2561 เป้าหมายสำคัญคือการจัดตั้ง "พื้นที่ปลอดภัย" ร่วมกับกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐและประชาชนในพื้นที่ พร้อมไปกับการเปิดเวทีสาธารณะเพื่อให้ภาคประชาสังคมและประชาชนในพื้นที่เข้ามามีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนและสร้างสภาวะแวดล้อมให้เกื้อกูลต่อการพูดคุยฯ โดยเฉพาะการแสดงจุดยืนในการปฏิเสธและต่อต้านการใช้ความรุนแรงทุกรูปแบบ จากทุกกลุ่มทุกฝ่าย ทั้งจากการก่อการร้าย ขบวนการผิดกฎหมาย ค้าของเถื่อน และยาเสพติด ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีผลประโยชน์แอบแฝง
"รัฐบาลยินดีพูดคุยกับทุกกลุ่มทุกฝ่ายที่มีความปรารถนาดีต่อประชาชนในพื้นที่ ผ่านการประสานงานของผู้อำนวยความสะดวก คือรัฐบาลมาเลเซีย แต่จะไม่พูดคุยกับกลุ่มที่ใช้ความรุนแรงมาเป็นเงื่อนไขต่อรองในการพูดคุยฯ ตามที่สื่อบางสื่อเสนอข่าว" พล.อ.อักษรา กล่าว
---------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : การประชุมเชิงปฏิบัติการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้
อ่านประกอบ :
3 ปีงบเฉียดแสนล้าน! ไฟใต้ลวกมือ คสช.
เปิดงบปี 61 กลาโหมอู้ฟู่! ยุทธศาสตร์ดับไฟใต้ 1.3 หมื่นล้าน
งบดับไฟใต้ปี60 ลดฮวบเหลือ1.2หมื่นล้าน จัดหมวดหมู่ใหม่หรือจงใจซุก?
งบไฟใต้-ความมั่นคงพุ่งยุค คสช.
13ปีไฟใต้..สถิติรุนแรงลด งบจ่อ3แสนล้าน ตั้ง"องค์กรพิเศษ"เพิ่ม