3 ปี คสช.กับประเด็นสิทธิมนุษยชน โจทย์ท้าทายที่ยกขึ้นเป็นวาระแห่งชาติ
3ปี คสช. กับประเด็นสิทธิมนุษยชน โจทย์ท้าทายเมื่อรัฐกำลังกลายเป็นผู้ละเมิดเสียเอง สะท้อนผ่านสถิติผู้หญิงนักปกป้องสิทธิ์ 179 คน ความหวังและความฝัน เมื่อไทยแลนด์4.0 ยกให้เรื่องนี้เป็นวาระแห่งชาติ
ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 21 พ.ย.ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรี ได้เห็นชอบให้ประกาศใช้วาระแห่งชาติเรื่อง "สิทธิมนุษยชน ร่วมขับเคลื่อนไทยแลนด์ 4.0 เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน" ซึ่งเสนอจากกระทรวงยุติธรรม โดยมีหลักการให้ส่วนราชการต่าง ๆ ปรับปรุงทัศนคติเจ้าหน้าที่ของรัฐ ให้เข้าใจเรื่องสิทธิมนุษยชน และมุ่งลดสถิติการละเมิดสิทธิมนุษยชน
ในขณะที่ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้เคยกล่าวใน ปาฐกถาพิเศษและมอบนโยบายเตรียมความพร้อมก่อนการประกาศวาระแห่งชาติภายใต้หัวข้อ “สิทธิมนุษยชนร่วมขับเคลื่อน Thailand 4.0 เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน”
โดยทางนายกฯ กล่าวว่า คำว่าสิทธิมนุษยชน มีอยู่หลายระดับด้วยกันไม่ว่าจะเรื่องสิทธิมนุษยชนของกลุ่ม กลุ่มเปราะบาง สิทธิมนุษยชนของแต่ละบุคคล สิทธิมนุษยชนของชุมชน และมีผลกระทบต่อการพัฒนา มีส่วนหนึ่งทำให้ไมเท่าเทียมเข้าไม่ถึง ไม่เป็นรูปธรรมเกี่ยวพันกันทั้งหมด
“ทุกเรื่องผมก็อยากให้ทุกคนทำความเข้าใจตรงนี้ว่า ทุกภูมิภาคของโลกก็มีปัญหาเช่นเดียวกัน แต่เขาแก้ปัญหามาอย่างไร แต่วันนี้อาจจะต้องมีวิธีการของเรา ในการที่จะทำเรื่องนี้ให้เกิดผลเป็นรูปธรรมให้ได้ ไม่ใช่เป็นเพียงคำกล่าวหรือเอกสารหรือคำพูดออกมาดูสวยหรู เป็นนามธรรมจนมากเกินไป”
นอกจากนี้ พล.อ.ประยุทธ์ ยังพูดถึงเรื่องคดีต่างๆ ว่าที่ผ่านมามีการสรุปรายงานเรื่องคดี เรื่องสำนวนต่าง ๆ ของสิทธิมนุษยชน ที่ถูกกล่าวอ้างกันมาโดยการร้องเรียนบ้าง โดยการทำหนังสือขึ้นมา ผมให้ตรวจสอบทุกเดือน เพราะถือว่าต่างประเทศให้ความสำคัญมีกี่เรื่อง แต่ละเรื่องก็ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รับผิดชอบในการตรวจสอบ และรายงานผลไม่เช่นนั้นสถิติจะเพิ่มขึ้นทุกๆ เดือน ซึ่งต้องแยกแยะให้ออกจากกันให้ได้
คำว่าสิทธิมนุษยชนคืออะไร ทั้งผู้ปฏิบัติก็คือเจ้าหน้าที่ ในส่วนที่ 2 คือ ประชาชน และ 3 คือ เรื่องกฎหมาย กระบวนการยุติธรรมได้มีการละเมิดกฎหมายหรือไม่ ถ้ามีการละเมิดกฎหมายขึ้นมาแล้วเจ้าหน้าที่ได้มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือไม่ คนละขั้นตอนกัน เพราะฉะนั้นก็ขอให้ไปแยกแยะออกในการทำงานของทุกหน่วยงาน ต้องระมัดระระวังให้มากที่สุดในการทำงาน
ทั้งนี้ที่ผ่านมารัฐบาลไทยได้ร่วมลงนามเป้าหมายที่ยั่งยืน หรือ Sustainable Development Goals (SDGs) กับสมาชิก 192 ประเทศ ได้กำหนดทิศทางการพัฒนา 15 ปีไปข้างหน้า 2015 และ 2030 ได้กำหนด 30 เป้าประสงค์เร่งด่วนที่ต้องดำเนินการใน 5 ปีแรก เป้าหมายทั้งหมดมี 17 ประการ ใน 169 เป้าประสงค์ของ SDG คือกำหนดทั้งโลกในสมาชิกสหประชาชาติ วันนี้เราต้องเร่งด่วนใน 30 เป้าประสงค์ก่อนใน 5 ปีแรก ภายใน 15 ปี เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องของการดำเนินการตามหลักสิทธิมนุษยชนทั้งสิ้น เพราะฉะนั้นการที่ประเทศไทยให้การรับรองปริญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน และเข้าร่วมด้วยภาคีสนธิสัญญาระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนนั้น ได้ครอบคลุมอยู่หลายประเทศ
ด้านภาคองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนอย่าง องค์กร Protection international เพิ่งได้เผยแพร่สถิติและสถานการณ์ของผู้หญิงนักปกป้องสิทธิในไทย ซึ่งพบว่า หลังจากเกิดรัฐประหารตั้งแต่วันที่ 22 พ.ค. 2557 จนถึงปัจจุบันสถิติของผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนระดับชุมชน ที่ต่อสู้เรื่องที่ดิน และฐานทรัพยากร และความไม่ชอบธรรมอื่นๆ ถูกฟ้องร้องและดำเนินคดีจำนวนมากถึง 179 คน (อ่านประกอบ โพรเท็คชั่น อินเตอร์ฯ เผยหลังรัฐประหาร ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิฯถูกฟ้องมากถึง179คน )
ทั้งนี้ในช่วงหลังการรัฐประหาร 2557 ข้อหาที่ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิถูกดำเนินคดีมากที่สุด คือความผิดฐานบุกรุก ที่รวมทั้งการบุกรุกป่าไม้ ที่ดิน ที่สาธารณะประโยชน์ และเข้าไปในพื้นที่ต่าง ๆ ความผิดตาม พ.ร.บ. ชุมนุมสาธารณะ 2558 ความผิดฐานร่วมกันข่มขืนใจผู้อื่น ตามมาตรา 309 ประมวลกฎหมายอาญา,การฟ้องร้องความผิดฐานละเมิด,ขับไล่และเรียกค่าสินไหมทดแทนเพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้เมื่อรวมจำนวนสถิติของการคุกคามผู้หญิงนักปกป้องสิทธิแล้วจะพบว่าผู้หญิงนักปกป้องสิทธิในภาคอีสานจะถูกดำเนินคดีมากที่สุดมากถึง 120 คน รองลงมาคือภาคเหนือจำนวน 36 คน ภาคใต้จำนวน 11 คนและภาคกลางจำนวน 1 คน
สำหรับสถิติที่ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนระดับชุมชน ถูกลอบสังหาร ตั้งแต่ปี 2544 จนถึงปัจจุบัน พบว่ามีผู้หญิงนักปกป้องสิทธิที่ถูกลอบสังหารไปแล้ว 5 คน ประกอบด้วย
1. ฉวีวรรณ ปึกสูงเนิน เจ้าหน้าที่ธุรการ ประจำองค์การบริหารส่วนตำบล นากลาง อ.สูงเนิน จ.นครราชสีมา ที่ออกมาเปิดโปงการบริหารงานที่มิชอบและการทุจริตในโครงการก่อสร้างของ อบต.นากลาง อ.สูงเนิน ถูกลอบสังหารไปเมื่อปี พ.ศ. 2544
2. มณฑา ชูแก้ว สหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ จ.สุราษฎร์ธานี ถูกลอบสังหารเมื่อปี พ.ศ. 2555
3. ปรานี บุญรักษ์ สหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ จ.สุราษฎร์ธานี ถูกลอบสังหารเมื่อปี พ.ศ. 2555 โดยคุณมณฑาและคุณปรานีถูกลอบสังหารจากการออกมาเคลื่อนไหวเรื่องสิทธิในที่ดินทำกินในชุมชนคลองไทรพัฒนา อำเภอชัยบุรี จังหวัดสุราษฎร์ธานี
4. พักตร์วิภา เฉลิมกลิ่น รองประธานชุมชนบ้านหัวกระบือ ต.ป่าโมก อ.ป่าโมก จ.อ่างทอง ถูกลอบสังหารจากรณีการออกมาคัดค้านการก่อสร้างท่าเทียบเรือขนทรายในพื้นที่ อ.ป่าโมก จ.อ่างทอง โดยถูกลอบสังหารเมื่อปี พ.ศ. 2547
5. ศิริพร เกิดเรือง ภรรยา สมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบลกรุงชิง นักอนุรักษ์กรุงชิง จ.นครศรีธรรมราช ที่ถูกลอบสังหารไปเมื่อปี พ.ศ. 2557 จากการต่อสู้ในกรณีที่ออกมาต่อต้านเรื่องการก่อสร้างเหมืองแร่ในตำบลกรุงชิง
ปรานม สมวงศ์ จากองค์กร Protection international กล่าวว่า สถานการณ์ของการถูกคุกคาม ส่วนใหญ่ที่ได้รับการแจ้ง จะมีขั้นตอนของการคุกคามต่างๆ ดังนี้
1. การโทรศัพท์ข่มขู่ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิฯ โดยเฉพาะขู่ถึงครอบครัว
2. การบุกมาหามาหาถึงบ้านหรือการบุกเข้าหาครอบครัวของผู้หญิงนักปกป้องสิทธิและการเฝ้าติดตามความเคลื่อนไหวตลอดเวลาจากหน่วยงานความมั่นคงของรัฐ ซึ่งก็จะทำให้เพื่อนบ้านและครอบครัวของผู้หญิงนักปกป้องสิทธิเกิดความตกใจและหวาดกลัว และผู้หญิงถูกมองว่ากระทำผิด
3. หากผู้หญิงนักปกป้องสิทธิฯเป็นผู้ที่มีตำแหน่งทางราชการ ก็จะคอยสอดส่อง และมีการร้องเรียนเรื่องวินัย ว่าใช้เวลาราชการมาทำงานเรื่องการเคลื่อนไหว ใช้ตำแหน่งในการกดดัน
4. มีการดักฟังทางโทรศัพท์ การติดตามความเคลื่อนไหว การตามไปยังสถานที่ต่างๆ
5.ใช้กระบวนการทางกฎหมายฟ้องร้องเพื่อยุติการเคลื่อนไหว
6. หากพื้นที่ขัดแย้งมีผลประโยชน์จำนวนมาก นายทุนก็จะเสนอเงินหรือเสนอตำแหน่งในการทำงานให้กับผู้หญิงนักปกป้องสิทธิ และหากมีการปฏิเสธก็จะเริ่มใช้กระบวนการทางกฎหมายเพื่อหยุดยั้งการเคลื่อนไหว เมื่อมีการฟ้องร้องก็จะใช้กระบวนการต่อรองเจรจาว่าจะมีการถอนฟ้องคดีหากผู้หญิงนักปกป้องสิทธิทำตามข้อเรียกร้อง
7. เมื่อมีการข่มขู่คุกคามทุกรูปแบบแล้วไม่ยุติการเคลื่อนไหวของผู้หญิงนักปกป้องสิทธิได้ก็จะมาสู่กระบวนการคุกคามขั้นตอนสุดท้ายคือการลอบสังหารผู้หญิงนักปกป้องสิทธิ
ด้านนางอังคณา นีละไพจิตร กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) กล่าวในเวทีพูดคุยถึงสถานการณ์และแนวทางการแก้ไขปัญหาการละเมิดสิทธิฯของผู้หญิงที่ลุกขึ้นปกป้องสิทธิมนุษยชน ว่า ส่วนตัวในฐานะเป็นผู้ได้รับผลกระทบจากการละเมิดสิทธิ จนกลายมาเป็นนักปกป้องสิทธิฯ ยอมรับว่าช่วงเวลานั้นถือว่าเป็นช่วงเวลาที่ยากลำบากมาก เนื่องจากไม่ได้เตรียมตัวมาก่อน และมีภาระหลายอย่างที่ต้องรับผิดชอบ ทั้งการเรียกร้องความเป็นธรรมเพื่อคืนศักดิ์ศรี และยังต้องดูแลครอบครัว ดูแลสภาพจิตใจของลูกๆ ท่ามกลางบรรยากาศของความหวาดกลัว และบรรยากาศของความไม่ปลอดภัย และการคุกคาม ซึ่งตอนนั้นมีคำถามกับตัวเองว่าเราจะผ่านไปได้อย่างไร
“รัฐไม่เคยเข้ามาช่วยอำนายความยุติธรรม เลือดตาแทบกระเด็น ที่จะนำพาครอบครัวให้เดินต่อไปได้ ทุกวันนี้ยังคิดว่าจนเราตายไปแล้วก็ไม่ได้ความเป็นธรรม แต่เราก็ยังมีความหวัง การสูญเสียที่เกิดขึ้นทำให้ชีวิตเราไม่มีวันเป็นแบบเดิม ไม่มีวันที่จะได้ใช้ชีวิตปกติ บางทีต้องไปยื่นหนังสือขอความเป็นธรรม เขาก็หนีหน้าเราหมด รู้สึกถูกลดทอนศักดิ์ศรี ไม่มีเจ้าหน้าที่คนไหนอยากพบ บางทีต้องไปดักรอที่หน้าลิฟท์ ถามตัวเองว่าทำไมเราต้องทำถึงขนาดนี้ ทั้งที่เป็นหน้าที่ของรัฐที่จะต้องอำนวยความยุติธรรมให้”นางอังคณาระบุ
นางอังคณา กล่าวด้วยว่า ที่ผ่านมากสม.ได้รับคำร้องจากนักปกป้องสิทธิจำนวนมาก ในการเข้าถึงกองทุนยุติธรรม โดยเฉพาะนักปกป้องสิทธิมนุษยชนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งเจ้าหน้าที่รัฐบางคนอาจมองว่าชาวบ้านในภูมิภาคนี้อาจเป็นคนที่เห็นต่างจากรัฐ ชอบคัดค้านโครงการขนาดใหญ่ของรัฐ จึงเกิดเป็นความหวาดระแวง และนำไปสู่การแจ้งข้อกล่าวหา หรือจับกุมโดยการจับกุมดำเนินคดีชาวบ้านนั้นไม่ใช่แค่เพียงคดีเดียว แต่ชาวบ้านมักถูกจับในหลายข้อหาหลายคดี
เมื่อชาวบ้านใช้เงินส่วนตัวประกันตัวเองในคดีที่ 1 ไปแล้ว ถามว่าในคดีที่ 2 ที่ 3 จะนำทรัพย์สินส่วนไหนมาประกันตัวได้อีก ซึ่งการเข้าถึงกองทุนฯนั้นผู้พิจารณาคือระดับจังหวัด แต่ทางจังหวัดจะอ้างว่ากลุ่มคนเหล่านี้กระทำผิดชัดเจน เช่น ผิด พ.ร.บ.ชุมนุมฯ โดยที่ไม่พิจารณาว่าที่ชาวบ้านต้องออกมาคัดค้านไม่ใช่เพื่อประโยชน์ของตัวเอง แต่เพื่อปกป้องประโยชน์สาธารณะ เพื่อรักษาทรัพยากรให้คนรุ่นต่อๆไป
“พบว่าส่วนมากกกลุ่มทุน หรือ รัฐบาล มักจะฟ้องร้องคนที่ออกมาคัดค้านโครงการ โดยบริษัทมักบอกว่าฟ้องไปก่อน แล้วค่อยไปเจรจาในชั้นศาล แต่เวลามีการเจรจาในชั้นศาล ชาวบ้านมักจะเสียเปรียบ เพราะในการเจรจาในศาลเนื่องจากชาวบ้านไม่รู้กฎหมาย ทำให้เสียเปรียบในการเจรจาต่อรอง อีกทั้งเมื่อถูกฟ้องจะทำให้ชาวบ้านไม่สามารถแสดงความคิดเห็น หรือไม่สามารถพูดถึงปัญหาผลกระทบของโครงการนั้นๆได้อีก” นางอังคณากล่าวและว่า ในความเป็นผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนพวกเธอต้องดูแลตัวเอง ดูแลครอบครัว พร้อมๆกันพวกเธอยังต้องเผชิญกับการคุกคามซ้ำซ้อนด้วยการถูกล่วงละเมิดเพราะความเป็นหญิง
นางอังคณา ยังระบุด้วยว่า อยากให้รัฐใส่ใจในเรื่องของการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นอย่างจริงจัง โดยเฉพาะเมื่อเกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ รัฐต้องไม่ปกป้องเจ้าหน้าที่ที่ทำผิด
ขณะที่นางอัศนีย์ รอดผล ตัวแทนชุมชนน้ำแดง สมาชิกสหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ กล่าวว่าปี 2559 มีเอกชนเข้ามาอ้างสิทธิและตัดปาล์มในแปลงที่ชาวบ้านชุมชนน้ำแดงพัฒนา ต.คลองน้อย อ.ชัยบุรี จ.สุราษฎร์ธานี ปลูกไว้ในพื้นที่ทิ้งร้าง และดำเนินคดีกับเกษตรกรทั้งทางอาญาและแพ่งหลายคดี หนึ่งในนั้นคือกรณีที่ตำรวจ สภ.ชัยบุรี จับกุมเกษตรกรชุมชนน้ำแดงพัฒนาตามหมายจับ จำนวน 15 คน ทั้งหมดถูกเรียกหลักทรัพย์ในการปล่อยตัวชั่วคราวสูงถึงคนละ 6 แสนบาท
“ตอนนี้เกษตรกรถูกจับกุมในข้อหา ซ่องโจร บุกรุก และทำให้เสียทรัพย์ ใน 15 คน มีผู้หญิงติดไปด้วยอีก 2 คน คนหนึ่งก็มีลูกที่ยังเล็กอยู่ อีกคนหนึ่งก็อายุ 60 กว่าแล้ว ตอนนั้นเราไปขอกองทุนในการประกันตัว ที่กองทุนยุติธรรมจังหวัดสุราษฎร์ธานี แต่ถูกบ่ายบี้ยงมาโดยตลอด เหมือนกับแกล้งกัน ชาวบ้านจึงหยิบยืม-กู้เงิน ญาติพี่น้องเพื่อมาประกันตัว ซึ่งบางคนถูกคุมขังยาวนานถึง 48 วัน เพราะไม่สามารถหาเงินมาประกันตัวได้”
นางสาวชุทิมา ชื่นหัวใจ สมาชิกกลุ่มรักษ์บ้านแหง กล่าวว่า แกนนำกลุ่มถูกนายทหารระดับสูงเชิญไปพบ โดยอ้างว่าจะได้พบกับผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 32 ซึ่งแกนนำก็ไม่ปฏิเสธ เพราะคาดหวังว่าจะให้ข้อมูลข้อเท็จจริงในการให้สัมปทานครั้งนี้ แต่พอไปถึงเจอนายทหารคนหนึ่ง เขาบอกว่าได้รับอำนาจเต็มจากผบ.มทบ.32 ซึ่งจะมาพูดคุยกับเราแทน ทางกลุ่มจึงก็ปฏิเสธไป เพราะเคยพบเจ้าหน้าที่ทหารคนนี้แล้วครั้งหนึ่ง แต่ไม่ประทับใจ เนื่องจากบอกว่า ที่หมู่บ้านมีแต่ป่าเสื่อมโทรม มีแต่ป่าไผ่ หน่อไม้จะหาที่ไหนกินก็ได้ แต่ถ้ามีเหมืองจะมีการสร้างงานในพื้นที่
“นายทหารคนนั้นเขาไม่อนุญาต สั่งให้สห.ปิดห้องขังพวกเราอยู่ในนั้น และสั่งห้ามใช้เครื่องมือสื่อสารทุกชนิด ไม่เช่นนั้นจะยึด จากนั้นเขาก็ให้พวกเรานั่งฟังเขาพูด 4 ชั่วโมง ถามว่าทำไมเราไม่คุยดีๆกับบริษัท อย่าเอาแต่ปิดเหมือง เพราะหาทางออกให้ไม่ได้ นอกจากนี้นายทหารคนดังกล่าว ยังนำรูปถ่ายของเธอและกลุ่มคนรักษ์บ้านแหง มาแสดงพร้อมระบุว่า ทางกลุ่มได้ฝ่าฝืนพ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ ทั้งที่เราไม่ได้ไปชุมนุม แต่ไปเตรียมเอกสารเรื่องคดีที่ถูกฟ้องร้องในศาล เขาก็ยังมาพูดจากดดันต่างๆนาๆ จนกระทั่งปล่อยตัว”
นางสาวชุทิมา กล่าวด้วยว่า ทุกวันนี้สมาชิกกลุ่มบ้านแหงก็ยังคงต่อสู่อยู่ โดยมีความหวัง คือ ไม่ให้มีการทำเหมืองที่นี่ และเพื่อที่วิถีชีวิตของชาวบ้านในพื้นที่จะได้กลับไปมีความสุข ความสงบเช่นเดิม
ด้านนางรอกีเย๊าะ สะมะแอ เครือข่ายฅนรักษ์เมืองเทพา จ.สงขลา กล่าวว่า การประกาศตัวที่จะต่อสู้คัดค้าน โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาด2,200 เมกะวัตต์ ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)ของตนเอง ทำให้ตกเป็นเป้าของผู้มีอิทธิพลในพื้นที่ จนวันหนึ่งปลัดอำเภอเทพาในนามของผู้ว่าราชการจังหวัด ถึงกับเดินทางไปพบตนที่บ้าน เพื่อสอบถามเหตุผลที่เธอต้องคัดค้านโครงการนี้
“โรงไฟฟ้าแห่งนี้ต้องเผาถ่านหินตลอด 24 ชั่วโมง โดยใช้ถ่านหินถึงวันละ 23 ล้านกิโลกรัม และจะปล่อยควันจากการเผาไหม้ผ่านปล่องควันที่สูงกว่า 200 เมตร ซึ่งมลพิษเหล่านี้สามารถอยู่ในอากาศได้นานถึง 10 วัน โดยผลกระทบเหล่านี้จะกินพื้นที่ไปถึง 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วย ”นางรอกีเย๊าะกล่าว
นางรอกีเย๊าะ ยังกล่าวถึงเหตุปะทะระหว่างเครือข่ายคนสงขลา-ปัตตานีไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหิน กับฝ่ายความมั่นคง ระหว่างการดักรอยื่นหนังสือคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหิน ในการประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจร ที่จ.สงขลา จนทำให้แกนนำถูกจับกุมตัวและแจ้งข้อกล่าวหารวม 16 คน รวมถึงเยาวชนหนึ่งคนว่า อยากจะสะท้อนให้ไปถึงนายกรัฐมนตรี ว่าที่ผ่านมานายกฯ ไม่เคยฟังเสียงชาวบ้านเลย โครงการดังกล่าวมีผู้ได้รับผลกระทบจำนวนมาก แต่นายกฯ ไม่เคยรู้ว่าความเดือดร้อนที่พวกเราจะต้องเจอมีอะไรบ้าง
“นายกฯได้โปรดฟังชาวบ้านบ้าง อย่าฟังแต่นายทุน เสียงชาวบ้านคนเดียวนายกฯ ยังต้องฟัง นี่ชาวบ้านเป็นร้อยเป็นพันคนนายกฯยิ่งจะต้องฟัง เหตุการณ์ที่เกิดกับพี่น้องเรา สะเทือนใจมาก ชาวบ้านธรรมดาๆ ถึงกับต้องเอาทหาร ตำรวจ มาเป็นกองร้อย พูดง่ายๆ ไม่สมศักดิ์ศรีนายกฯเลย พวกเราไม่ใช่ฆาตรกร ไม่ใช่ผู้ร้ายข้ามแดน เป็นแค่ชาวบ้านธรรมดาที่อยากบอกเล่าความทุกข์ยากของเราให้นายกฯฟัง” นางรอกีเย๊าะกล่าวพร้อมยืนยันว่าการเคลื่อนไหวคัดค้านจะมีต่อไปเพราะได้ปฏิญาณในใจแล้วว่าจะเดินหน้าลูกเดียวไม่ว่าจะเกิดอะไรกับตนขึ้นก็ตาม
นี่เป็นเพียงหนึ่งในหลายเสียงของกลุ่มผู้หญิงที่ลุกขึ้นมาปกป้องสิทธิที่พวกเขาพึ่งต้องมี แต่กลับกลายเป็นว่าเส้นทางในการลุกขึ้นสู้ปกป้องดูจะถูกละเมิดเสียเอง จำนวนผู้หญิงที่ถูกละเมิด 179 คน ทั้งยังไม่รวมถึงกลุ่มคนอื่นๆ อีกจำนวนมากที่ถูกฟ้องร้องในยุครัฐบาลนี้ นี่อาจเป็นโจทย์ท้าทายรัฐด้วยว่าเมื่อประเด็นสิทธิมนุษยชน ถูกยกมาเป็นวาระแห่งชาติแล้ว ถึงเวลาแล้วหรือยังที่เราจะทำความเข้าใจอย่างแท้จริง เพื่อลดการฟ้องร้องคดีกับนักต่อสู้เพื่อสิทธิที่พวกเขาถูกละเมิด ซึ่งสามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่
5 องค์กรสิทธิฯ จี้รบ.ไทย เร่งออกกม.ป้องกันทรมาน-บังคับสูญหาย ขอรื้อคดีทนายสมชาย-บิลลี่
เด่น คำแหล้ กับอีก 483ชะตากรรมนักต่อสู้เพื่อสิทธิที่ทำกินทั่วโลก
จากบิลลี่ถึงเด่นคำแหล้อุ้มหายความยุติธรรมสิทธิเสรีภาพ
3 ปีการหายไปของบิลลี่กับวัฒนธรรมอำนาจนอกระบบยุติธรรมของไทย
2 ปีการหายตัวไปของบิลลี่กับสถานการณ์การอุ้มหายในไทย
กสม.เผยปี 58 คนอีสานโดนละเมิดสิทธิเพิ่มจากโครงการพัฒนาในพื้นที่
อังคณา ชี้วัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิด ภาวะอัปลักษณ์ของสังคมไทย ต้องช่วยกันแก้