โพรเท็คชั่น อินเตอร์ฯ เผยหลังรัฐประหาร ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิฯถูกฟ้องมากถึง179คน
เผยสถิติหลังรัฐประหาร ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิถูกฟ้องคดีมากถึง 179 คน สูงกว่าช่วง 16 ปี เหตุเพราะขาดกระบวนการกรรมการแก้ปัญหา เพื่อชะลอการฟ้องร้องคดี ขณะที่เปิดตัว ไดอารี่ 20 นักปกป้องสิทธิฯ สะท้อนความยากลำบากในชีวิต
เมื่อวันที่ 29 พ.ย. 60 ที่ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร องค์กร Protection international ร่วมกับสถานทูตแคนาดาประจำประเทศไทย จัดโครงการ CFLI-“Her Life, Her Diary” จัดทำ Side by Side WHRDs 2018 Diary สมุดบันทึกความหวังและความฝันของ 20 ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชน
น.ส.ปรานม สมวงศ์ องค์กร Protection International เผยถึงสถิติของผู้หญิงที่ถูกดำเนินคดีตั้งแต่พ.ศ. 2541- 2557 พบว่า มีผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนระดับชุมชน ที่ต่อสู้เรื่องที่ดิน และฐานทรัพยากรและความไม่ชอบธรรมอื่นๆ ถูกฟ้องร้องและดำเนินคดีจำนวนอย่างน้อย 63 คน แบ่งเป็น ฐานความผิดฐานบุกรุกจำนวน 7 คน ถูกฟ้องร้องดำเนินคดีในข้อหาหมิ่นประมาทจำนวน 30 คน ถูกฟ้องร้องความผิดฐานบุกรุกและความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์จำนวน 8 คน ถูกฟ้องร้องให้มีความผิดฐานละเมิด ขับไล่และเรียกค่าสินไหมทดแทนจำนวน 18 คน โดยในจำนวนของผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่ถูกฟ้องร้องทั้งหมดในทุกคดีแบ่งเป็นภาคใต้ 38 คน ภาคอีสาน 24 คน และภาคเหนือ 1 คน
ขณะที่สถานการณ์หลังจากเกิดรัฐประหารตั้งแต่วันที่ 22 พ.ค. 2557 จนถึงปัจจุบันสถิติของผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนระดับชุมชนที่ต่อสู้เรื่องที่ดิน ฐานทรัพยากร และความไม่ชอบธรรมอื่นๆ ถูกฟ้องร้องและดำเนินคดีจำนวนมากถึง 179 คน
อันดับหนึ่งคือ ความผิดฐานบุกรุกที่ดินป่าไม้ 82 คน รองลงมาคือความผิดตาม พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะและร่วมกันข่มขืนใจผู้อื่นมากถึง 28 คน การฟ้องร้องความผิดฐานละเมิด ขับไล่และเรียกค่าสินไหมทดแทน 17 คน ความผิดฐานหมิ่นประมาท 12 คน ความผิดสร้างสิ่งกีดขวางทางสาธารณะ 12 คน ความผิดฐานขัดคำสั่ง คสช. 3/2558 ห้ามชุมนุมเกินกว่า 5 คน จำนวน 13 คน ความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ 8 คน ถูกฟ้องร้องฐานร่วมกันข่มขืนใจผู้อื่น 3 คน ความผิดฐานหมื่นประมาทตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์จำนวน 2 คน และถูกเชื่อมโยงเกี่ยวกับคดียาเสพติด 2 คน
นอกจากนี้ ยังพบว่าผู้หญิงนักปกป้องสิทธิในภาคอีสานจะถูกดำเนินคดีมากที่สุดมากถึง 120 คน รองลงมาคือภาคเหนือจำนวน 36 คน ภาคใต้จำนวน 11 คน และภาคกลางจำนวน 1 คน
น.ส.ปรานม กล่าวว่าจากสถิติข้างต้นจะเห็นถึงความแตกต่างอย่างหนึ่งที่เห็นได้ชัด คือการฟ้องคดีกับผู้หญิงนักปกป้องสิทธิฯในช่วงก่อนที่จะมีรัฐประหาร ในปี พ.ศ.2557 จะเน้นเป็นการแต่งตั้งคณะกรรมการในการแก้ไขปัญหาที่ดินโดยที่นักปกป้องสิทธิฯ หรือผู้หญิงนักปกป้องสิทธิฯได้ร่วมหารือร่วมกับรัฐบาลต่างๆ และสร้างความเข้าใจกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จึงทำให้ลดการจับกุม ลดการถูกดำเนินคดี เพราะหากมีการดำเนินคดีทางคณะกรรมการแก้ไขปัญหาจะส่งหนังสือเพื่อชะลอให้การแก้ไขปัญหาแล้วเสร็จก่อน จึงทำให้คดีดังกล่าวลดลง
แต่สถิติการฟ้องร้องผู้หญิงนักปกป้องสิทธิกลับเพิ่มจำนวนมากขึ้นหลังจากที่มีการัฐประหาร และมีการประกาศคำสั่ง คสช.ที่ 64/2557 ที่เกี่ยวข้องกับการทวงคืนผืนป่าทำให้มีการปราบปรามนักสิทธิผู้หญิงมากกว่าเดิมในเรื่องที่ดินป่าไม้
“ลักษณะที่ถูกข่มขู่ส่วนใหญ่ มักพูดถึงเรื่องลูก คนในครอบครัว เพราะรู้ว่า ผู้หญิงจะกังวล พยายามโจมตีเรื่องบทบาทในครอบครัว บุกมาอยู่ที่บ้าน มาหาในจำนวนเยอะ แต่งกายโดยชุดเจ้าหน้าที่ คนในหมู่บ้านตกใจ เป็นการตีตราโดยชุมชน ซึ่งเป็นผลข้างเคียง ประเด็นต่อมา ถ้าผู้หญิงเป็นเจ้าหน้าที่ ข้าราชการท้องถิ่น จะมีการจำกัดหน้าที่การทำงาน มีการดักฟ้องทางโทรศัพท์ ติดต่อผ่านโซเชียลมีเดีย”
ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ภายในงานมีการเปิดตัว สมุดบันทึกความหวังและความฝันของ 20 ผู้หญิง นักปกป้องสิทธิมนุษยชน เพื่อให้สังคมได้ตระหนักถึงผลงานการต่อสู้ปกป้องสิทธิมนุษยชนขงผู้หญิง โดยในสมุดบันทึกนี้จะประกอบไปด้วยเรื่องราวจากความเป็นส่วนตัวถึงการเมือง เส้นทางต่อสู้ปกป้องสิทธิมนุษยชน ความหวังและความฝันที่ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิฯทุกคนต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลงด้านสิทธิของผู้หญิง ชุมชน สังคมในประเทศไทย ซึ่งในวันที่ 29 พ.ย. ของทุกปีได้ถูกกำหนดให้เป็นวันผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนสากล และในปี 2561 จะครบรอบ 20 ปี ของปฏิญญาสหประชาชาติว่าด้วยนักปกป้องสิทธิมนุษยชน (UN Declaration on Human Rights Defenders)