ถึงคิวมหาสารคาม! อบจ.ทุ่ม58ล.เช่ารถพยาบาลฉุกเฉินเอกชนใช้งานไม่ตรงตามวัตถุประสงค์เพียบ
ไม่ใช่แค่ร้อยเอ็ด! ถึงคิวมหาสารคาม สตง.ลุยสอบ อบจ.ทุ่มงบ 58ล. เช่ารถพยาบาลฉุกเฉินจากเอกชน ระยะเวลายาว 5 ปี เดือนละ 9.7 แสน แต่ใช้งานไม่ตรงตามวัตถุประสงค์เพียบ แถมตั้งงบประมาณโดยไม่ได้ขอยกเว้นการปฏิบัติตามระเบียบ ก.มหาดไทย ส่งของล่าช้า
องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ร้อยเอ็ด ไม่ใช่อบจ.แห่งเดียว ที่ถูกสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ตรวจสอบพบว่า มีการใช้งบประมาณจำนวนหลายสิบล้านบาท ทำสัญญาเช่ารถยนต์จากเอกชน เพื่อให้อปท.นำไปใช้งานเป็นรถพยาบาลฉุกเฉินให้บริการประชาชนในพื้นที่ แต่มีการตรวจสอบพบว่ารถพยาบาลกลับถูกนำไปใช้กิจกรรมอื่นไม่ตรงตามวัตถุประสงค์โครงการ ซึ่งอาจทำให้ประชาชนเสียโอกาสที่จะได้รับบริการด้านการแพทย์ฉุกเฉิน หากเกิดเหตุฉุกเฉินหรือมีผู้ป่วยฉุกเฉินที่ควรได้รับบริการอย่างทันท่วงที หากแต่ อบจ.มหาสารคาม ก็เป็นอีกหน่วยงานหนึ่งที่ถูกตรวจสอบพบปัญหาในลักษณะเดียวกัน (อ่านประกอบ : หวั่นชาวบ้านเสียโอกาสงบแพทย์ฉุกเฉิน!สตง.พบร้อยเอ็ดใช้วิธีพิเศษเช่ารถพยาบาลวิ่งส่งเอกสาร, ฉบับเต็ม!สตง.ชำแหละงบแพทย์ฉุกเฉินร้อยเอ็ด ใช้วิธีพิเศษเช่ารถพยาบาล2.3หมื่น/ด.วิ่งส่งเอกสาร!)
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบพบว่า อบจ.มหาสารคาม เป็นอีกหน่วยงานหนึ่งที่ สตง. ตรวจสอบพบว่า มีการใช้จ่ายงบประมาณในการเช่ารถยนต์จากเอกชนมาใช้งานเป็นรถพยาบาลฉุกเฉิน ตามโครงการบริหารจัดการส่งเสริมสนับสนุนระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉิน โดยในปี 2558 อบจ.มหาสารคาม ได้ใช้งบประมาณจำนวน 25,987,000 บาท เพื่อจ่ายเป็นค่าเช่ารถพยาบาลฉุกเฉิน จำนวน 90 คัน คันละ 24,430 บาทต่อเดือน ระยะเวลาเช่า 10 เดือน ก่อนที่ในปี 2559 มีการจัดประกวดราคาเช่ารถรถพยาบาลฉุกเฉิน จำนวน 40 คัน ระยะเวลาเช่า 5 ปี อัตราค่าเช่าเดือนละ 970,800 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 58,248,000 บาท โดยส่งมอบรถให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ในพื้นที่มหาสารคาม จำนวน 39 คัน และนำมาบริหารจัดการเอง จำนวน 1 คัน
แต่จากการสุ่มตรวจสอบการใช้รถพยาบาลฉุกเฉิน จำนวน 24 แห่ง พบว่า มี อปท. 2 แห่ง ไม่มีการนำรถพยาบาลฉุกเฉินมาให้บริการด้านการแพทย์ฉุกเฉิน ส่วนอีก 22 แห่ง มีการนำรถพยาบาลฉุกเฉินไปใช้ในกิจกรรมที่ไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของการแพทย์ฉุกเฉิน โดยจากการสุ่มสอบถามประชาชนที่เคยใช้บริการรถพยาบาลฉุกเฉินในพื้นที่ อปท. ในจังหวัดมหาสารคาม จำนวน 18 แห่ง ที่ได้รับสนับสนุนรถพยาบาลฉุกเฉิน พบว่า ประชาชนบางรายใช้บริการรถพยาบาลฉุกเฉินโดยไม่ได้มีอาการเจ็บป่วยฉุกเฉินหรืออุบัติเหตุ เช่น การไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลตามนัดทั้งโรงพยาบาลอำเภอ โรงพยาบาลประจำจังหวัด และโรงพยาบาลนอกเขตจังหวัด การโทรศัพท์เรียกรถพยาบาลเพื่อรับกลับบ้าน ระบุเบอร์โทรศัพท์ของเจ้าหน้าที่/ผู้บริหารระดับสูงในอบจ. เป็นต้น ซึ่งการดำเนินงานที่ไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดดังกล่าว อาจทำให้ประชาชนเสียโอกาสที่จะได้รับบริการด้านการแพทย์ฉุกเฉิน หากเกิดเหตุฉุกเฉินหรือมีผู้ป่วยฉุกเฉินที่ควรได้รับบริการอย่างทันท่วงที และอาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินหากเกิดอุบัติเหตุระหว่างทาง ทำให้ผู้ป่วยฉุกเฉินไม่ได้รับการคุ้มครองสิทธิ ในการเข้าถึงระบบการแพทย์ฉุกเฉินอย่างมีคุณภาพมาตรฐานและ อปท. อาจมีภาระค่าใช้จ่ายค่าน้ำมันที่เพิ่มขึ้น จากการให้บริการนอกเขตพื้นที่ความรับผิดชอบ
ทั้งนี้ สำหรับการเช่ารถพยาบาลฉุกเฉิน จำนวน 40 คัน อัตราค่าเช่าคันละ 24,430.00 บาท ระยะเวลาเช่า 5 ปี (ตั้งแต่เดือนกันยายน 2558 – เดือนสิงหาคม 2563) วงเงินค่าเช่า 58,248,000 บาท นั้น จากการตรวจสอบพบว่า ตั้งงบประมาณในหมวดค่าใช้สอย ประเภทรายจ่ายเพื่อให้ได้มาซึ่งบริการ(ค่าเช่ารถพยาบาลฉุกเฉิน) โดยไม่ได้ขอยกเว้นการปฏิบัติตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยวิธีการงบประมาณขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2541 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ข้อ 4. และ ข้อ 38 และ ได้ตรวจรับรถพยาบาลฉุกเฉินจาก บริษัท แครี่บอยลิสซิ่ง จำกัด ผู้รับจ้าง ในวันที่ 27 และ 28 สิงหาคม 2558 โดยมีการเบิกจ่ายเงินค่าเช่างวดแรกประจำเดือนกันยายน 2558 ให้ผู้ให้เช่าไปแล้วจำนวนเงิน 970,800 บาท แต่ อบจ.มหาสารคาม ไม่ได้ส่งมอบรถพยาบาลฉุกเฉินให้แก่ อปท. ที่จัดบริการสาธารณะร่วมกันตามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกันจัดทำบริการสาธารณะของ อปท. ในเขตจังหวัดมหาสารคาม โดยได้ส่งมอบในช่วงเดือน ตุลาคม 2558 ถึง พฤษภาคม 2559 รถพยาบาลฉุกเฉินในช่วงที่ยังไม่ได้ส่งมอบให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไม่ได้ใช้ประโยชน์ตามระยะเวลาการเช่า เป็นความสูญเปล่าของการใช้จ่ายเงินของโครงการ เป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 2,089,988.92 บาท อีกทั้งมีการกำหนดอัตราค่าเช่าไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่ปรับปรุงตามมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 24 เมษายน 2555 และไม่ได้กำหนดอุปกรณ์การแพทย์พื้นฐานประกอบรถพยาบาลฉุกเฉิน ตามรายละเอียดคุณลักษณะเฉพาะแนบท้ายบัญชีราคามาตรฐานครุภัณฑ์ ของสำนักงบประมาณ พ.ศ. 2558 ซึ่งอยู่ระหว่างการตรวจสอบสืบสวนของ สตง.ด้วย