- Home
- Isranews
- รายงาน-สกู๊ป
- ฉบับเต็ม!สตง.ชำแหละงบแพทย์ฉุกเฉินร้อยเอ็ด ใช้วิธีพิเศษเช่ารถพยาบาล2.3หมื่น/ด.วิ่งส่งเอกสาร!
ฉบับเต็ม!สตง.ชำแหละงบแพทย์ฉุกเฉินร้อยเอ็ด ใช้วิธีพิเศษเช่ารถพยาบาล2.3หมื่น/ด.วิ่งส่งเอกสาร!
"...เกิดความสูญเปล่าของการใช้จ่ายเงินของโครงการในช่วงที่ไม่ได้ส่งมอบรถพยาบาลฉุกเฉินให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้ใช้ประโยชน์ตามระยะเวลาการเช่า ของ อบจ.ร้อยเอ็ด เป็นจำนวนเงิน953,800.00 บาท ..อบจ.ร้อยเอ็ด ต้องมีภาระค่าใช้จ่ายในการเช่ารถพยาบาลฉุกเฉิน โดยไม่มีการใช้รถพยาบาลฉุกเฉินตามระบบการแพทย์ฉุกเฉิน ในระหว่างที่ อปท. ยังไม่มีการขึ้นทะเบียนชุดปฏิบัติการ หรือขึ้นทะเบียนแล้วแต่ไม่มีการดำเนินการด้านการแพทย์ฉุกเฉิน.. ทำให้ประชาชนเสียโอกาสที่จะได้รับบริการด้านการแพทย์ฉุกเฉินอย่างทันท่วงที หากเกิดเหตุฉุกเฉินหรือมีผู้ป่วยฉุกเฉินในช่วงที่ อปท. รับรถพยาบาลฉุกเฉินจาก อบจ.ร้อยเอ็ด ไปแล้วแต่ไม่สามารถให้บริการด้านการแพทย์ฉุกเฉินได้ตามระบบ..."
หมายเหตุ สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org : เป็นรายงานตรวจสอบการดำเนินงานโครงการพัฒนาระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉิน จังหวัดร้อยเอ็ด ของ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ซึ่งพบว่า องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ร้อยเอ็ด ได้ใช้วิธีพิเศษทำสัญญาเช่ารถยนต์ จำนวนกว่า 40 คัน จากเอกชน ต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2557 จนถึงปัจจุบัน เพื่อนำมาใช้ในภารกิจแก้ไขปัญหาการแพทย์ฉุกเฉินในพื้นที่จังหวัดร้อยเอ็ดให้มีบริการการแพทย์ฉุกเฉินเพียงพอในการบริการประชาชนลดอัตราการตายของประชากรในการเกิดอุบัติเหตุ และโรคอื่นๆ ที่ต้องช่วยฟื้นคืนชีพได้ทันเวลา ถูกสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ตรวจสอบพบว่า มีปัญหาในขั้นตอนการปฏิบัติการเกิดขึ้นหลายประการ ส่อว่าจะทำให้โครงการไม่บรรลุผลสำเร็จ ตามวัตถุประสงค์ที่กำหนด โดยเฉพาะลักษณะการใช้งานรถพยาบาล ที่ถูกนำไปใช้กิจกรรมอื่นนอกเหนือจากการบริการการแพทย์ฉุกเฉินแก่ประชาชน อาทิ ส่งเอกสาร รับผู้ป่วยกลับบ้านเป็นต้น
------------------------
ด้วยพระราชบัญญัติการแพทย์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2551 มีเจตนารมณ์ให้ผู้ป่วยฉุกเฉินได้รับการคุ้มครองสิทธิในระบบการแพทย์ฉุกเฉินอย่างทั่วถึง เท่าเทียม มีคุณภาพมาตรฐาน โดยได้รับการช่วยเหลือและรักษาพยาบาลที่มีประสิทธิภาพและทันต่อเหตุการณ์องค์การบริหารส่วนจังหวัดร้อยเอ็ด(อบจ.ร้อยเอ็ด) ได้ดำเนินโครงการพัฒนาระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉินจังหวัดร้อยเอ็ด ซึ่งเป็นโครงการความร่วมมือระหว่าง อบจ.ร้อยเอ็ด สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดร้อยเอ็ด (สสจ.ร้อยเอ็ด) และสำนักงานส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นจังหวัดร้อยเอ็ด (สถ.จ.ร้อยเอ็ด) เพื่อแก้ไขปัญหาการแพทย์ฉุกเฉินในพื้นที่จังหวัดร้อยเอ็ด และให้มีบริการการแพทย์ฉุกเฉินเพียงพอในการบริการประชาชนลดอัตราการตายของประชากรในการเกิดอุบัติเหตุ และโรคอื่นๆ ที่ต้องช่วยฟื้นคืนชีพได้ทันเวลา
สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ตระหนักถึงความสำคัญของการดำเนินงานและบริหารจัดการระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉิน จึงได้เลือกตรวจสอบการดำเนินงานโครงการพัฒนาระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉินจังหวัดร้อยเอ็ด ของ อบจ.ร้อยเอ็ด ผลการตรวจสอบมีข้อตรวจพบ ดังนี้
ข้อตรวจพบที่ 1 การดำเนินกิจกรรมเช่ารถพยาบาลฉุกเฉินตามโครงการไม่บรรลุผลสำเร็จ ตามวัตถุประสงค์ที่กำหนด
การดำเนินโครงการพัฒนาระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉินจังหวัดร้อยเอ็ด ปี 2557 อบจ.ร้อยเอ็ด ได้จัดทำสัญญาเช่ารถยนต์ จำนวน 40 คัน อัตราค่าเช่าคันละ 23,845.00 บาท ต่อเดือน กำหนดระยะเวลา 1 ปี สิ้นสุดสัญญาวันที่ 4 พฤศจิกายน 2558 และเพื่อพัฒนาระบบบริการทางการแพทย์ฉุกเฉินให้ต่อเนื่องและครอบคลุมพื้นที่เพิ่มขึ้น อบจ.ร้อยเอ็ด จึงจัดทำโครงการพัฒนาระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉินจังหวัดร้อยเอ็ด ปีงบประมาณ พ.ศ. 2559 – 2561 เพื่อทำการเช่ารถยนต์ดัดแปลงเป็นรถพยาบาลฉุกเฉิน พร้อมอุปกรณ์ช่วยชีวิต จำนวน 40 คัน โดยได้รับอนุมัติจากผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ดให้ก่อหนี้ผูกพันได้เกินกว่าหนึ่งปีงบประมาณ และอนุมัติให้ดำเนินการเช่าโดยวิธีพิเศษ และทำการก่อหนี้ผูกพัน 3 ปี (ปีงบประมาณ พ.ศ. 2559 – 2561) เป็นเงินทั้งสิ้น 32,429,200.00 บาท อบจ.ร้อยเอ็ด ได้ตรวจรับรถยนต์ดัดแปลงเป็นรถพยาบาลฉุกเฉิน พร้อมอุปกรณ์ช่วยชีวิตจำนวน 40 คัน และส่งมอบรถพยาบาลฉุกเฉินทั้ง 40 คัน ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ในพื้นที่จังหวัดร้อยเอ็ด
จากการสุ่มตรวจสอบการใช้รถพยาบาลฉุกเฉินที่ อปท. รับไป จำนวน 23 แห่ง พบว่า
1. อปท. จำนวน 2 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 8.70 ของ อปท. ที่สุ่มตรวจสอบ ไม่มีการนำรถพยาบาลฉุกเฉินที่ได้รับการสนับสนุนจาก อบจ.ร้อยเอ็ด มาให้บริการด้านการแพทย์ฉุกเฉิน และส่งรถคืน อบจ.ร้อยเอ็ด
2. อปท. จำนวน 1 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 4.34 ของ อปท. ที่สุ่มตรวจสอบ ที่ใช้รถพยาบาลฉุกเฉินเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินกำหนด
3. อปท. จำนวน 20 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 86.96 ของ อปท. ที่สุ่มตรวจสอบ มีการนำรถพยาบาลฉุกเฉินไปใช้ในกิจกรรมที่ไม่ใช่วัตถุประสงค์ของการแพทย์ฉุกเฉิน เช่น การส่งเอกสาร การนำรถพยาบาลฉุกเฉินออกจากหน่วยปฏิบัติการเพื่อรับผู้ป่วยกลับบ้าน การออกปฏิบัติงานอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกับการแพทย์ฉุกเฉิน และบางแห่งมีการนำรถพยาบาลฉุกเฉินไปใช้ไม่เป็นไปตามประกาศคณะกรรมการการแพทย์ฉุกเฉิน เรื่อง การให้ประกาศนียบัตรและการปฏิบัติการฉุกเฉินของผู้ปฏิบัติการ พ.ศ. 2554 และไม่เป็นไปตามมาตรฐานและหลักเกณฑ์เกี่ยวกับระบบการแพทย์ฉุกเฉินเรื่อง หลักเกณฑ์เงื่อนไขการจัดชุดปฏิบัติการ
4. จากการสุ่มสอบถามประชาชนที่เคยใช้บริการรถพยาบาลฉุกเฉินในพื้นที่ อปท. ที่ได้รับรถจาก อบจ.ร้อยเอ็ด พบว่า ประชาชนบางรายใช้บริการรถพยาบาลฉุกเฉินโดยไม่ได้มีอาการเจ็บป่วยฉุกเฉินหรืออุบัติเหตุผลกระทบ การดำเนินการไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่กำหนด อาจทำให้ประชาชนเสียโอกาสที่จะได้รับบริการด้านการแพทย์ฉุกเฉิน หากเกิดเหตุฉุกเฉินหรือมีผู้ป่วยฉุกเฉินที่ควรได้รับบริการอย่างทันท่วงที และอาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินหากเกิดอุบัติเหตุระหว่างทางทำให้ผู้ป่วยฉุกเฉินไม่ได้รับการคุ้มครองสิทธิ ในการเข้าถึงระบบการแพทย์ฉุกเฉินอย่างมีคุณภาพมาตรฐานและ อปท. อาจมีภาระค่าใช้จ่ายค่าน้ำมันที่เพิ่มขึ้น จากการให้บริการนอกเขตพื้นที่ความรับผิดชอบสาเหตุที่อปท. นำรถพยาบาลฉุกเฉินไปใช้ไม่ตรงตามวัตถุประสงค์ของการแพทย์ฉุกเฉิน และนำรถไปใช้นอกเขตความรับผิดชอบของชุดปฏิบัติการฉุกเฉินเนื่องมาจาก อบจ.ร้อยเอ็ด ไม่มีการติดตามตรวจสอบ และควบคุมให้อปท. ที่ได้รับรถพยาบาลฉุกเฉิน ปฏิบัติตามประกาศสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติลงวันที่ 11 สิงหาคม 2553 เรื่อง หลักเกณฑ์การสนับสนุนการดำเนินงานและบริหารจัดการระบบการแพทย์ฉุกเฉินท้องถิ่น พ.ศ. 2553 รวมถึง ประกาศคณะกรรมการการแพทย์ฉุกเฉิน ลงวันที่ 15 กันยายน 2554 เรื่อง การให้ประกาศนียบัตรและการปฏิบัติการฉุกเฉินของผู้ปฏิบัติการ พ.ศ. 2554 และไม่เป็นไปตามมาตรฐานและหลักเกณฑ์เกี่ยวกับระบบการแพทย์ฉุกเฉิน
นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติการของ อปท. ได้รับการประสานหรือสั่งการโดยตรงจากผู้บังคับบัญชาให้นำรถไปใช้ไม่ตรงตามวัตถุประสงค์ของการแพทย์ฉุกเฉิน หรือนำรถไปใช้นอกเขตความรับผิดชอบของชุดปฏิบัติการฉุกเฉิน
ข้อเสนอแนะ
เพื่อให้การดำเนินโครงการเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉิน และเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ประสิทธิผล คุ้มค่า เกิดประโยชน์สูงสุดในการใช้จ่ายเงินงบประมาณ
สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินจึงขอให้นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดร้อยเอ็ด พิจารณาดำเนินการ ดังนี้
1. แจ้งกำชับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ได้รับการสนับสนุนรถพยาบาลฉุกเฉินให้นำรถไปใช้ให้ตรงตามวัตถุประสงค์ของระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉิน หากพบองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใดมีการนำรถพยาบาลฉุกเฉินไปใช้ไม่ตรงตามวัตถุประสงค์ของการแพทย์ฉุกเฉิน ให้ติดตามตรวจสอบและหามาตรการควบคุมให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดังกล่าวปฏิบัติตามวัตถุประสงค์ของระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉิน
2. สั่งการให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องติดตามตรวจสอบให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ได้รับการสนับสนุนรถพยาบาลฉุกเฉิน ปฏิบัติตามประกาศสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติลงวันที่ 11 สิงหาคม 2553เรื่อง หลักเกณฑ์การสนับสนุนการดำเนินงานและบริหารจัดการระบบการแพทย์ฉุกเฉินท้องถิ่น พ.ศ. 2553 และตามประกาศคณะกรรมการการแพทย์ฉุกเฉิน ลงวันที่ 15 กันยายน 2554 เรื่อง การให้ประกาศนียบัตรและการปฏิบัติการฉุกเฉินของผู้ปฏิบัติการ พ.ศ. 2554 และปฏิบัติตามมาตรฐานและหลักเกณฑ์เกี่ยวกับระบบการแพทย์ฉุกเฉิน
ข้อตรวจพบที่ 2 องค์การบริหารส่วนจังหวัดร้อยเอ็ด ไม่มีการสำรวจความพร้อมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ได้รับการสนับสนุนรถพยาบาลฉุกเฉิน
1. อบจ.ร้อยเอ็ด ดำเนินการเช่ารถยนต์ดัดแปลงเป็นรถพยาบาลฉุกเฉิน พร้อมอุปกรณ์ช่วยชีวิต จำนวน 40 คัน อัตราค่าเช่าเดือนละ 953,800.00 บาท ผู้ให้เช่าส่งมอบรถยนต์ตามสัญญาเช่าในวันที่ 3 พฤศจิกายน 2557 และเบิกจ่ายเงินค่าเช่างวดแรกประจำเดือน พฤศจิกายน 2557 จำนวนเงิน 953,800.00 บาท อบจ.ร้อยเอ็ด ทำการส่งมอบรถพยาบาลฉุกเฉินให้อปท. ในพื้นที่จังหวัดร้อยเอ็ด ในเดือน ธันวาคม 2557 ทำให้รถพยาบาลฉุกเฉินในช่วงที่ไม่ได้ส่งมอบให้อปท. ไม่ได้นำไปใช้ประโยชน์ตามระยะเวลาการเช่า เป็นความสูญเปล่าของการใช้จ่ายเงินของโครงการที่ขาดการบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ เป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 953,800.00 บาท
2. จากการสุ่มตรวจสอบการใช้รถพยาบาลฉุกเฉินของ อปท. ที่ได้รับรถจาก อบจ. ร้อยเอ็ดจำนวน 23 แห่ง พบว่า
2.1 อปท. จำนวน 11 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 47.82 ของ อปท. ที่สุ่มตรวจสอบ สามารถให้บริการการแพทย์ฉุกเฉินได้ทันทีภายหลังจากการส่งมอบรถ เนื่องจากมีการจัดตั้งชุดปฏิบัติการอยู่ก่อนที่จะได้รับสนับสนุนรถพยาบาลฉุกเฉินจาก อบจ.ร้อยเอ็ด
2.2 อปท. จำนวน 2 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 8.70 ของ อปท. ที่สุ่มตรวจสอบ ไม่มีการนำรถพยาบาลฉุกเฉินที่ได้รับการสนับสนุนจาก อบจ.ร้อยเอ็ด มาให้บริการด้านการแพทย์ฉุกเฉิน และส่งรถคืน อบจ.ร้อยเอ็ด เนื่องจากไม่มีความพร้อมในการปฏิบัติการด้านการแพทย์ฉุกเฉิน
2.3 อปท. จำนวน 2 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 8.70 ของ อปท. ที่สุ่มตรวจสอบ นำรถพยาบาลฉุกเฉินออกให้บริการโดยไม่ได้ขึ้นทะเบียนชุดปฏิบัติการ
2.4 อปท. จำนวน 8 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 34.78 ของ อปท. ที่สุ่มตรวจสอบ ดำเนินงานระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉินภายหลังจากที่รับสนับสนุนรถพยาบาลฉุกเฉินจาก อบจ.ร้อยเอ็ด โดยมีระยะเวลาจากวันที่รับรถถึงเดือนที่เริ่มดำเนินงานตามระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉิน ตั้งแต่ 1 – 15 เดือน
3. ในขั้นตอนการนำรถบริการการแพทย์ฉุกเฉินพร้อมอุปกรณ์ เข้ารับการตรวจสอบเพื่อรับรองมาตรฐานและขึ้นทะเบียนรถบริการการแพทย์ฉุกเฉิน จากการสุ่มตรวจสอบรถพยาบาลฉุกเฉินที่อปท. ได้รับสนับสนุนจาก อบจ.ร้อยเอ็ด จำนวน 21 คัน ใน อปท. 23 แห่ง พบว่า
3.1 อปท. จำนวน 1 แห่งคิดเป็นร้อยละ 4.35 ของ อปท. ที่สุ่มตรวจสอบ ที่นำรถพยาบาลฉุกเฉินเข้ารับการตรวจสอบเพื่อรับรองมาตรฐานและขึ้นทะเบียนรถบริการการแพทย์ฉุกเฉิน
3.2 อปท. จำนวน 2 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 8.70 ของ อปท. ที่สุ่มตรวจสอบ ส่งรถคืนอบจ.ร้อยเอ็ด
3.3 อปท. จำนวน 9 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 39.13 ของ อปท. ที่สุ่มตรวจสอบ อยู่ระหว่างการขออนุญาตจากสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.)
3.4 อปท. จำนวน 11 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 47.82 ของ อปท. ที่สุ่มตรวจสอบ ยังไม่ได้ขึ้นทะเบียนในระบบ (ไม่มีข้อมูลการตรวจสอบเพื่อรับรองมาตรฐานและขึ้นทะเบียนจาก สสจ.ร้อยเอ็ด)
4. จากการสุ่มสอบถามเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติการ ณ วันที่ 15 กรกฎาคม 2559 ของ อปท. จำนวน 21 แห่ง ที่ได้รับสนับสนุนรถพยาบาลฉุกเฉินจาก อบจ.ร้อยเอ็ด พบว่า อปท. จำนวน 3 แห่ง มีเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติการออกปฏิบัติงานโดยไม่มีรายชื่อสำเร็จการศึกษา หรือผ่านการอบรมตามวิธีการและหลักเกณฑ์ และการสอบตามที่อนุกรรมการรับรององค์กรและหลักสูตรการศึกษาและฝึกอบรมผู้ปฏิบัติการ (อศป.) กำหนด
ผลกระทบ
1. เกิดความสูญเปล่าของการใช้จ่ายเงินของโครงการในช่วงที่ไม่ได้ส่งมอบรถพยาบาลฉุกเฉินให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้ใช้ประโยชน์ตามระยะเวลาการเช่า ของ อบจ.ร้อยเอ็ด เป็นจำนวนเงิน953,800.00 บาท
2. อบจ.ร้อยเอ็ด ต้องมีภาระค่าใช้จ่ายในการเช่ารถพยาบาลฉุกเฉิน โดยไม่มีการใช้รถพยาบาลฉุกเฉินตามระบบการแพทย์ฉุกเฉิน ในระหว่างที่ อปท. ยังไม่มีการขึ้นทะเบียนชุดปฏิบัติการ หรือขึ้นทะเบียนแล้วแต่ไม่มีการดำเนินการด้านการแพทย์ฉุกเฉิน
3. ทำให้ประชาชนเสียโอกาสที่จะได้รับบริการด้านการแพทย์ฉุกเฉินอย่างทันท่วงที หากเกิดเหตุฉุกเฉินหรือมีผู้ป่วยฉุกเฉินในช่วงที่ อปท. รับรถพยาบาลฉุกเฉินจาก อบจ.ร้อยเอ็ด ไปแล้วแต่ไม่สามารถให้บริการด้านการแพทย์ฉุกเฉินได้ตามระบบ
4. อปท. ที่ให้บริการโดยไม่ผ่านระบบของสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) หรือมีเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานไม่ผ่านการฝึกอบรมหรือขึ้นทะเบียน อาจทำให้ประชาชนที่ได้รับบริการมีความเสี่ยงที่จะได้รับบริการไม่เป็นไปตามมาตรฐานและหลักเกณฑ์ที่สพฉ. กำหนด ซึ่งผิดกับเจตนารมณ์ของการแพทย์ฉุกเฉิน
สาเหตุ
1. การดำเนินงานระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉินขาดการบริหารจัดการโครงการอย่างมีประสิทธิภาพ
2. อบจ.ร้อยเอ็ด ไม่มีการสำรวจความพร้อมของ อปท. ก่อนที่จะได้รับสนับสนุนรถพยาบาลฉุกเฉิน ว่ามีความพร้อมในการปฏิบัติงานหรือไม่ ทั้งด้านงบประมาณ และบุคลากร
3. ไม่มีการติดตามตรวจสอบให้อปท. ที่ได้รับการสนับสนุนรถพยาบาลฉุกเฉิน ปฏิบัติตามประกาศสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติลงวันที่ 11 สิงหาคม 2553 เรื่อง หลักเกณฑ์การสนับสนุนการดำเนินงานและบริหารจัดการระบบการแพทย์ฉุกเฉินท้องถิ่น พ.ศ. 2553
ข้อเสนอแนะ
เพื่อให้การดำเนินโครงการ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ประสิทธิผล และคุ้มค่า เกิดประโยชน์สูงสุดต่อการใช้จ่ายเงินงบประมาณ ส านักงานการตรวจเงินแผ่นดินจึงขอให้นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดร้อยเอ็ด พิจารณาดำเนินการ ดังนี้
1. ตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีมีการเบิกจ่ายค่าเช่างวดแรกประจ าเดือน พฤศจิกายน 2557 จำนวนเงิน 953,800.00 บาท โดยไม่ได้ส่งมอบให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้ใช้ประโยชน์ตามระยะเวลาการเช่า หากเกิดจากเจ้าหน้าที่กระทำหรือละเว้นกระทำในลักษณะการฝ่าฝืนหรือหลีกเลี่ยงหรือละเลยการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายหรือระเบียบที่เกี่ยวข้อง ทำให้ราชการเสียหาย ขอให้หาผู้รับผิดชอบและชดใช้ทางละเมิด และพิจารณาโทษทางวินัยกับเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องตามควรแก่กรณี
2. ตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีที่องค์การบริหารส่วนจังหวัดร้อยเอ็ด ต้องมีภาระค่าใช้จ่ายในการเช่ารถพยาบาลฉุกเฉิน โดยไม่มีการใช้รถพยาบาลฉุกเฉินตามระบบการแพทย์ฉุกเฉิน ในระหว่างที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นยังไม่มีการขึ้นทะเบียนชุดปฏิบัติการ หรือขึ้นทะเบียนแล้วแต่ไม่มีการดำเนินการด้านการแพทย์ฉุกเฉิน หากเกิดจากเจ้าหน้าที่กระทำหรือละเว้นกระทำในลักษณะการฝ่าฝืนหรือหลีกเลี่ยงหรือละเลยการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายหรือระเบียบที่เกี่ยวข้อง ทำให้ราชการเสียหายขอให้หาผู้รับผิดชอบและชดใช้ทางละเมิด และพิจารณาโทษทางวินัยกับเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องตามควรแก่กรณี
3. สั่งการให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องติดตามตรวจสอบให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ได้รับการสนับสนุนรถพยาบาลฉุกเฉิน ปฏิบัติตามประกาศสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ ลงวันที่11 สิงหาคม 2553 เรื่อง หลักเกณฑ์การสนับสนุนการดำเนินงานและบริหารจัดการระบบการแพทย์ฉุกเฉินท้องถิ่น พ.ศ. 2553 รวมทั้งพัฒนากลไกเพื่อผลักดันให้มีการดำเนินการตามประกาศและหรือข้อบังคับที่กำหนด
4. สั่งการให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องสำวจผลการดำเนินการด้านการแพทย์ฉุกเฉินขององค์กรปกครองครองส่วนท้องถิ่นที่ได้รับการสนับสนุนรถพยาบาลฉุกเฉิน เพื่อให้ทราบข้อมูลที่เป็นปัจจุบันและปัญหาอุปสรรค และหาแนวทางการดำเนินงานต่อไป หรือยุติการดำเนินงาน ถ้าหากมีการดำเนินโครงการในอนาคต ควรมีการสำรวจความพร้อมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่จะให้การสนับสนุนรถพยาบาลฉุกเฉิน ทั้งด้านงบประมาณ บุคลากร และอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง กำหนดกรอบระยะเวลาในการปฏิบัติงานในแต่ละขั้นตอนให้ชัดเจน มีระบบการติดตาม ควบคุม การรายงานผลการดำเนินงานปัญหาอุปสรรค และแก้ไขปัญหาอย่างต่อเนื่อง