หวั่นชาวบ้านเสียโอกาสงบแพทย์ฉุกเฉิน!สตง.พบร้อยเอ็ดใช้วิธีพิเศษเช่ารถพยาบาลวิ่งส่งเอกสาร
สตง. ลุยตรวจความคุ้มค่างบประมาณโครงการให้บริการการแพทย์ฉุกเฉินทั่วประเทศ ประเดิม จว.ร้อยเอ็ด พบ อบจ. ใช้วิธีพิเศษเช่ารถจากเอกชน 40 คัน เฉลี่ย 23,845.00 บาท/เดือน รวมวงเงินกว่า 32 ล. ก่อนส่งให้ อปท.ไปใช้งาน แต่หลายแห่งไม่ได้ใช้งานตามวัตถุประสงค์ เอาไปวิ่งส่งเอกสาร รับผู้ป่วยกลับบ้าน หวั่นทำปชช.เสียประโยชน์ ไม่ได้รับบริการทันท่วงที จี้เร่งแก้ไขปัญหาด่วน เผยมีหลายจังหวัดประสบปัญหาแบบเดียวกัน
การใช้งานรถพยาบาลฉุกเฉิน ภายใต้โครงการพัฒนาระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉินจังหวัดร้อยเอ็ด ของ องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ร้อยเอ็ด จำนวนกว่า 40 คัน ที่ใช้วิธีพิเศษทำสัญญาเช่าจากเอกชน ต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2557 จนถึงปัจจุบัน เพื่อแก้ไขปัญหาการแพทย์ฉุกเฉินในพื้นที่จังหวัดร้อยเอ็ดให้มีบริการการแพทย์ฉุกเฉินเพียงพอในการบริการประชาชนลดอัตราการตายของประชากรในการเกิดอุบัติเหตุ และโรคอื่นๆ ที่ต้องช่วยฟื้นคืนชีพได้ทันเวลา ถูกสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ตรวจสอบพบว่า มีปัญหาในขั้นตอนการปฏิบัติการเกิดขึ้นหลายประการ ส่อว่าจะทำให้โครงการไม่บรรลุผลสำเร็จ ตามวัตถุประสงค์ที่กำหนด โดยเฉพาะลักษณะการใช้งานรถพยาบาล ที่ถูกนำไปใช้กิจกรรมอื่นนอกเหนือจากการบริการการแพทย์ฉุกเฉินแก่ประชาชน อาทิ ส่งเอกสาร รับผู้ป่วยกลับบ้านเป็นต้น
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบพบว่า เมื่อเร็วๆ นี้ สตง. ได้เผยแพร่รายงานผลการตรวจสอบการดำเนินงานโครงการพัฒนาระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉิน จังหวัดร้อยเอ็ด ของ อบจ.ร้อยเอ็ด ระบุว่า ในปี 2557 อบจ.ร้อยเอ็ด ได้จัดทำสัญญาเช่ารถยนต์ จำนวน 40 คัน อัตราค่าเช่าคันละ 23,845.00 บาท ต่อเดือน กำหนดระยะเวลา 1 ปี สิ้นสุดสัญญาวันที่ 4 พฤศจิกายน 2558 จากนั้น อบจ.ร้อยเอ็ด ได้จัดทำโครงการพัฒนาระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉินจังหวัดร้อยเอ็ด ปีงบประมาณ พ.ศ. 2559 – 2561 เพื่อทำการเช่ารถยนต์ดัดแปลงเป็นรถพยาบาลฉุกเฉิน พร้อมอุปกรณ์ช่วยชีวิต จำนวน 40 คัน โดยได้รับอนุมัติจากผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ดให้ก่อหนี้ผูกพันได้เกินกว่าหนึ่งปีงบประมาณ และอนุมัติให้ดำเนินการเช่าโดยวิธีพิเศษ และทำการก่อหนี้ผูกพัน 3 ปี (ปีงบประมาณ พ.ศ. 2559 – 2561) เป็นเงินทั้งสิ้น 32,429,200 บาท โดย อบจ.ร้อยเอ็ด ได้ตรวจรับรถยนต์ดัดแปลงเป็นรถพยาบาลฉุกเฉิน พร้อมอุปกรณ์ช่วยชีวิต จำนวน 40 คัน และส่งมอบรถพยาบาลฉุกเฉินทั้งหมดให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ในพื้นที่จังหวัดร้อยเอ็ด
อย่างไรก็ตาม จากการสุ่มตรวจสอบการใช้รถพยาบาลฉุกเฉินที่ อปท. รับไป จำนวน 23 แห่ง พบว่า มีอปท. จำนวน 2 แห่ง ไม่มีการนำรถพยาบาลฉุกเฉินที่ได้รับการสนับสนุนจาก อบจ.ร้อยเอ็ด มาให้บริการด้านการแพทย์ฉุกเฉิน และส่งรถคืน อบจ.ร้อยเอ็ด ขณะที่ อปท. จำนวน 20 แห่ง ที่สุ่มตรวจสอบ มีการนำรถพยาบาลฉุกเฉินไปใช้ในกิจกรรมที่ไม่ใช่วัตถุประสงค์ของการแพทย์ฉุกเฉิน เช่น การส่งเอกสาร การนำรถพยาบาลฉุกเฉินออกจากหน่วยปฏิบัติการเพื่อรับผู้ป่วยกลับบ้าน การออกปฏิบัติงานอื่นที่ไม่เกี่ยวข้อง กับการแพทย์ฉุกเฉิน และบางแห่งมีการนำรถพยาบาลฉุกเฉินไปใช้ไม่เป็นไปตามประกาศคณะกรรมการการแพทย์ฉุกเฉิน เรื่อง การให้ประกาศนียบัตรและการปฏิบัติการฉุกเฉินของผู้ปฏิบัติการ พ.ศ. 2554 และไม่เป็นไปตามมาตรฐานและหลักเกณฑ์เกี่ยวกับระบบการแพทย์ฉุกเฉินเรื่อง หลักเกณฑ์เงื่อนไขการจัดชุดปฏิบัติการ
"จากการสุ่มสอบถามประชาชนที่เคยใช้บริการรถพยาบาลฉุกเฉินในพื้นที่ อปท. ที่ได้รับรถจาก อบจ.ร้อยเอ็ด พบว่า ประชาชนบางรายใช้บริการรถพยาบาลฉุกเฉินโดยไม่ได้มีอาการเจ็บป่วยฉุกเฉินหรืออุบัติเหตุผลกระทบ การดำเนินการไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่กำหนด อาจทำให้ประชาชนเสียโอกาสที่จะได้รับบริการด้านการแพทย์ฉุกเฉิน หากเกิดเหตุฉุกเฉินหรือมีผู้ป่วยฉุกเฉินที่ควรได้รับบริการอย่างทันท่วงที และอาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินหากเกิดอุบัติเหตุระหว่างทางทำให้ผู้ป่วยฉุกเฉินไม่ได้รับการคุ้มครองสิทธิ ในการเข้าถึงระบบการแพทย์ฉุกเฉินอย่างมีคุณภาพมาตรฐานและ อปท. อาจมีภาระค่าใช้จ่ายค่าน้ำมันที่เพิ่มขึ้น จากการให้บริการนอกเขตพื้นที่ความรับผิดชอบ" แหล่งข่าวระบุ
สตง.ยังระบุด้วยว่า สาเหตุที่ อปท. นำรถพยาบาลฉุกเฉินไปใช้ไม่ตรงตามวัตถุประสงค์ของการแพทย์ฉุกเฉิน และนำรถไปใช้นอกเขตความรับผิดชอบของชุดปฏิบัติการฉุกเฉินเนื่องมาจาก อบจ.ร้อยเอ็ด ไม่มีการติดตามตรวจสอบ และควบคุมให้อปท. ที่ได้รับรถพยาบาลฉุกเฉิน ปฏิบัติตามประกาศสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติลงวันที่ 11 สิงหาคม 2553 เรื่อง หลักเกณฑ์การสนับสนุนการดำเนินงานและบริหารจัดการระบบการแพทย์ฉุกเฉินท้องถิ่น พ.ศ. 2553 รวมถึง ประกาศคณะกรรมการการแพทย์ฉุกเฉิน ลงวันที่ 15 กันยายน 2554 เรื่อง การให้ประกาศนียบัตรและการปฏิบัติการฉุกเฉินของผู้ปฏิบัติการ พ.ศ. 2554 และไม่เป็นไปตามมาตรฐานและหลักเกณฑ์เกี่ยวกับระบบการแพทย์ฉุกเฉิน นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติการของ อปท. ได้รับการประสานหรือสั่งการโดยตรงจากผู้บังคับบัญชาให้นำรถไปใช้ไม่ตรงตามวัตถุประสงค์ของการแพทย์ฉุกเฉิน หรือนำรถไปใช้นอกเขตความรับผิดชอบของชุดปฏิบัติการฉุกเฉิน
เบื้องต้น สตง. ระบุว่า ได้แจ้งให้นายกอบจ.ร้อยเอ็ด กำชับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ได้รับการสนับสนุนรถพยาบาลฉุกเฉินให้นำรถไปใช้ให้ตรงตามวัตถุประสงค์ของระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉิน หากพบองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใดมีการนำรถพยาบาลฉุกเฉินไปใช้ไม่ตรงตามวัตถุประสงค์ของการแพทย์ฉุกเฉิน ให้ติดตามตรวจสอบและหามาตรการควบคุมให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดังกล่าวปฏิบัติตามวัตถุประสงค์ของระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉิน และสั่งการให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องติดตามตรวจสอบให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ได้รับการสนับสนุนรถพยาบาลฉุกเฉิน ปฏิบัติตามประกาศสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติลงวันที่ 11 สิงหาคม 2553เรื่อง หลักเกณฑ์การสนับสนุนการดำเนินงานและบริหารจัดการระบบการแพทย์ฉุกเฉินท้องถิ่น พ.ศ. 2553 และตามประกาศคณะกรรมการการแพทย์ฉุกเฉิน ลงวันที่ 15 กันยายน 2554 เรื่อง การให้ประกาศนียบัตรและการปฏิบัติการฉุกเฉินของผู้ปฏิบัติการ พ.ศ. 2554 และปฏิบัติตามมาตรฐานและหลักเกณฑ์เกี่ยวกับระบบการแพทย์ฉุกเฉินแล้ว
แหล่งข่าวจากสตง. ให้ข้อมูลยืนยันว่า นอกเหนือจากปัญหาการใช้งานรถแพทย์ฉุกเฉิน ที่ตรวจสอบพบในร้อยเอ็ดแล้ว ยังมีหลายพื้นที่ทั่วประเทศที่ประสบปัญหาแบบเดียวกัน
หมายเหตุ: ภาพประกอบจากไทยรัฐ