แง้มแฟ้มสอบบัญชี‘คลองจั่น’-เปลือยปัญหาทุจริตสหกรณ์ทั่ว ปท.ทำไมที่ผ่านมาแก้ไม่ได้?
“…อำนาจชี้ถูก-ชี้ผิดว่า สหกรณ์ไหนทุจริต จึงตกอยู่ในมือของนายทะเบียนสหกรณ์เพียงรายเดียว (อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์เป็นโดยตำแหน่ง) จึงไม่แปลกใจนักที่ข้อเสนอแนะของ ป.ป.ช. นอกเหนือจากปฏิรูประบบสหกรณ์แบบ ‘ยกเครื่อง’ แล้ว ยังเสนอให้ตั้ง ‘หน่วยงานอิสระ’ ขึ้นมา เพื่อกำกับ-ดูแล-ตรวจสอบ และมีอำนาจลงโทษสหกรณ์ที่ทุจริต โดยไม่ต้องผ่านมือนายทะเบียนสหกรณ์อีกต่อไป…”
“เมื่อปี 2546-2547 ผู้สอบบัญชีภาคเอกชน พบข้อบกพร่องของสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น หลายประเด็น เช่น ไม่ปฏิบัติตามระเบียบว่าด้วยการให้กู้ และดอกเบี้ยเงินกู้ ประธานบอร์ดมาช่วยปฏิบัติงานในตำแหน่งผู้จัดการ เมื่อผู้สอบบัญชีภาคเอกชนตรวจสอบพบข้อบกพร่องดังกล่าว ได้แจ้งกรมส่งเสริมสหกรณ์ทราบ แต่กรมส่งเสริมสหกรณ์ได้แจ้งต่อนายทะเบียนสหกรณ์ แต่ไม่ได้ดำเนินการใด ๆ เพียงแต่แจ้งให้สหกรณ์แก้ไขข้อบกพร่องที่เกิดขึ้น”
เป็นหนึ่งในข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ที่รวบรวมเกี่ยวกับปัญหาการทุจริต-ยักยอกเงินภายในสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น ก่อนจะมีมาตรการถึงคณะรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แก้ไขปัญหาการทุจริตภายในสหกรณ์ต่าง ๆ ทั่วประเทศ (อ่านประกอบ : พลิกข้อมูลยักยอกเงินคลองจั่นฉบับ ป.ป.ช. กรมส่งเสริมฯรู้ตั้งแต่ปี’46-นายทะเบียนเกียร์ว่าง?)
ข้อมูลเมื่อปี 2558 จากกรมส่งเสริมสหกรณ์ ระบุว่า มีสหกรณ์ถึง 277 แห่ง ทุจริต เสียหายกว่า 1.8 หมื่นล้านบาท แต่ในปี 2560 ไม่มีข้อมูลว่า สถิติดังกล่าวเพิ่มขึ้นหรือลดลงอย่างไร ?
นอกเหนือจากฝ่ายบริหาร และเจ้าหน้าที่ของสหกรณ์แล้ว ปฏิเสธไม่ได้ว่า เจ้าหน้าที่รัฐ โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่กรมส่งเสริมสหกรณ์ และกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ สังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ก็เป็นปัจจัยสำคัญ ที่อาจปฏิบัติหน้าที่ไม่เต็มความสามารถ หรือปล่อยปละละเลย ‘ปิดตาข้างเดียว’ ปล่อยให้การทุจริตในสหกรณ์ดำเนินการต่อไปอย่างเงียบเชียบ ไม่เข้าไปจัดการอะไร
โดยเฉพาะกรณีสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น ที่เห็นได้ชัดเจนตามข้อเท็จจริงข้างต้นว่า เมื่อปี 2546-2547 ผู้สอบบัญชีภาคเอกชนพบข้อบกพร่องหลายประเด็น แจ้งกรมส่งเสริมสหกรณ์ทราบ กรมส่งเสริมสหกรณ์แจ้งนายทะเบียน แต่นายทะเบียนไม่ดำเนินการอะไร แค่ให้สหกรณ์แก้ไขปัญหากันเอาเอง จนลุกลามกลายเป็นการทุจริตครั้งมโหฬาร เสียหายกว่า 2 หมื่นล้านบาท
ต่อมามีการยกกรณี ‘คลองจั่น’ ขึ้นมาเป็นบทเรียนศึกษา โดยสำนักงาน ป.ป.ช. ได้รวบรวมข้อมูลจากกรมส่งเสริมสหกรณ์ และกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ พบข้อเท็จจริง สรุปได้ ดังนี้
กรณีการทุจริตภายในสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น เมื่อกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ได้วิเคราะห์ และสอบทานรายงานผลการตรวจสอบกระดาษทำการของผู้สอบบัญชี เปรียบเทียบกับงานการเงินของสหกรณ์แล้ว ปรากฏพบข้อบกพร่องจากการตรวจสอบบัญชีของผู้สอบบัญชีเข้าลักษณะบกพร่อง ตามประกาศคณะกรรมการจรรยาบรรณของผู้สอบบัญชีสหกรณ์ และระเบียบกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ว่าด้วยข้อกำหนดการปฏิบัติตามจรรยาบรรณของผู้สอบบัญชีสหกรณ์ พ.ศ.2554 จึงเสนอให้คณะกรรมการจรรยาบรรณของผู้สอบบัญชีสหกรณ์ พิจารณาจรรยาบรรณของผู้สอบบัญชีสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น
คณะกรรมการจรรยาบรรณผู้สอบบัญชีสหกรณ์พิจารณาแล้ว เห็นว่า
1.ผู้สอบบัญชีสหกรณ์แสดงความเห็นต่องบการเงินของสหกรณ์อย่างไม่มีเงื่อนไข ทั้ง ๆ ที่งบการเงินของสหกรณ์สำหรับสิ้นปีสิ้นสุดวันที่ 31 ธ.ค. 2554 และ 2555 แสดงข้อมูลขัดต่อข้อเท็จจริงอันเป็นสาระสำคัญ กล่าวคือ ตั้งค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญในอัตราที่ต่ำกว่าเกณฑ์ที่กำหนดตามระเบียบนายทะเบียน ว่าด้วยการบัญชีของสหกรณ์ พ.ศ.2542
2.ไม่ได้ตรวจสอบความเพียงพอของการตั้งค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญของลูกหนี้ ในกรณีสหกรณ์ตั้งค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญโดยวิธีพิจารณาอายุหนี้ที่ค้างชำระของลูกหนี้แต่ละราย ตามแนวการสอบบัญชีกำหนดทั้ง ๆ ที่มีข้อเท็จจริงว่า ลูกหนี้ส่วนใหญ่ไม่ทราบราคาประเมิน หลักประกันมีมูลค่าต่ำกว่าจำนวนหนี้ รวมถึงลูกหนี้ผิดนัดชำระหนี้จำนวนมาก
3.การจัดทำกระดาษทำการไม่น่าเชื่อถือ
4.ไม่รายงานการดำเนินงานของสหกรณ์ที่ไม่ปฏิบัติไม่เป็นไปตามคำสั่งนายทะเบียนสหกรณ์ ที่กำหนดให้สมาชิกสมทบที่เป็นนิติบุคคลพ้นจากสมาชิกสมทบแล้ว แต่สหกรณ์ยังมีการให้เงินกู้เพิ่มในระหว่างปีไว้ในรายงานการสอบบัญชี
คณะกรรมการจรรยาบรรณของผู้สอบบัญชีสหกรณ์ จึงมีคำสั่งเมื่อปี 2556 ลงโทษผู้สอบบัญชีสหกรณ์เป็นเวลา 3 ปี
คำถามสำคัญคือ ประเด็นเหล่านี้เจ้าหน้าที่ของรัฐ โดยเฉพาะกรมส่งเสริมสหกรณ์ และกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ทำอะไรได้มากกว่านี้หรือไม่ ?
ตามอำนาจหน้าที่ดังกล่าว รองนายทะเบียนสหกรณ์ และพนักงานเจ้าหน้าที่ที่แต่งตั้งจากข้าราชการกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ มีอำนาจหน้าที่รับผิดชอบตาม พ.ร.บ.สหกรณ์ พ.ศ.2542 จำกัดขอบเขตเพียงที่เกี่ยวข้องกับข้อบกพร่องทางการเงินการบัญชีเท่านั้น
กรณีเมื่อตรวจพบการทุจริตภายในสหกรณ์ หากเกิดจากการบริหารงานของคณะกรรมการดำเนินการ (บอร์ด) ฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับสหกรณ์ รองนายทะเบียนสหกรณ์ หรือพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ได้รับการแต่งตั้งจากข้าราชการ ในสังกัดกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ หรือผู้สอบบัญชีภาคเอกชน ที่ได้รับการแต่งตั้งจากนายทะเบียนสหกรณ์ มีหน้าที่ต้องรายงานข้อเท็จจริงให้นายทะเบียนสหกรณ์ทราบเพื่อพิจารณาใช้อำนาจต่อไป ข้าราชการในสังกัดกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ และผู้สอบบัญชีไม่มีอำนาจสั่งการให้บอร์ดสหกรณ์แก้ไขข้อบกพร่องกรณีนี้ได้
อธิบายให้ง่ายคือ ถ้ากรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ตรวจสอบเจอปัญหาการทุจริตจากการดำเนินงานของบอร์ดสหกรณ์ต่าง ๆ ไม่มีอำนาจลงโทษ แต่ต้องส่งเรื่องให้นายทะเบียนสหกรณ์ดำเนินการเท่านั้น
อำนาจชี้ถูก-ชี้ผิดว่า สหกรณ์ไหนทุจริต จึงตกอยู่ในมือของนายทะเบียนสหกรณ์เพียงรายเดียว (อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์เป็นโดยตำแหน่ง)
จึงไม่แปลกใจนักที่ข้อเสนอแนะของ ป.ป.ช. นอกเหนือจากปฏิรูประบบสหกรณ์แบบ ‘ยกเครื่อง’ แล้ว ยังเสนอให้ตั้ง ‘หน่วยงานอิสระ’ ขึ้นมา เพื่อกำกับ-ดูแล-ตรวจสอบ และมีอำนาจลงโทษสหกรณ์ที่ทุจริต โดยไม่ต้องผ่านมือนายทะเบียนสหกรณ์อีกต่อไป
นัยว่า เพื่อให้การตัดสินใจไม่ตกอยู่ที่บุคคลใด บุคคลหนึ่ง แต่กระจายอำนาจไปสู่รูปแบบคณะกรรมการร่วมกันพิจารณา จะโปร่งใส-ยุติธรรม มากกว่า ?
ตอนหน้ามาดูว่าข้อเสนอของหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องเพื่อแก้ไขปัญหาทุจริตสหกรณ์ต่าง ๆ ทั่วประเทศจะมีอะไรบ้าง โปรดติดตามที่สำนักข่าวอิศรา !
อ่านประกอบ :
กางหน้าที่กรมส่งเสริม-ตรวจบัญชีสหกรณ์!คลี่เงื่อนปมปัญหาไฉนทุจริตหมื่นล.แก้ไขไม่ทัน?
เจาะแฟ้ม ป.ป.ช.ไม่ใช่แค่บอร์ดบริหาร! จนท.รัฐตัวจักรสำคัญละเลยทุจริตสหกรณ์เจ๊งหมื่นล.?
ยกปมคลองจั่นฯทุจริต!เปิดมาตรการ ป.ป.ช. ชง ครม.แก้ปัญหาสหกรณ์ทั่ว ปท.ทำอย่างไรได้ผล?
ทุจริต277แห่งเจ๊ง1.8หมื่นล.!ป.ป.ช. โชว์พฤติการณ์สหกรณ์ ทั้งยักยอกเงิน-ปลอมลายมือบอร์ด
หมายเหตุ : ภาพประกอบสำนักงาน ป.ป.ช. จาก thipublica