เลื่อนซ้ำพูดคุยดับไฟใต้ - มาเลย์เสนอ "ดูนเลาะ" ถกนอกรอบ "อักษรา"
การพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเป็นการนัดหมายของคณะพูดคุยคณะใหญ่ ทั้งฝ่ายรัฐบาลไทยและกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐ ภายใต้ชื่อ "มารา ปาตานี" ถูกเลื่อนออกไปอย่างไม่มีกำหนด ทำให้ความหวังในการเดินหน้ากำหนด "พื้นที่ปลอดภัยอำเภอแรก" ยังไม่เป็นรูปธรรมเสียที
คณะพุดคุยฯชุดใหญ่ฝ่ายรัฐบาลไทย นำโดย พล.อ.อักษรา เกิดผล ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ กับกลุ่ม "มารา ปาตานี" ซึ่งเป็นการรวมตัวกันของผู้เห็นต่างจากรัฐ 6 กลุ่ม โดยมีมาเลเซียเป็นผู้อำนวยความสะดวก ได้นัดหมายหารือกันในวันที่ 27-28 ก.ย.60 ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย โดยมีวาระสำคัญที่สุดคือการกำหนด "พื้นที่ปลอดภัย" อำเภอแรกในจังหวัดชายแดนภาคใต้ร่วมกัน แต่ปรากฏว่าการพูดคุยต้องถูกเลื่อนออกไป และยังไม่มีการแจ้งวันนัดพูดคุยรอบใหม่
การกำหนด "พื้นที่ปลอดภัย" อำเภอแรกนี้ หลายฝ่ายเชื่อว่าจะเป็นจุดเริ่มต้นของกระบวนการสันติภาพในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส กับ 4 อำเภอของ จ.สงขลา คือ อ.จะนะ เทพา สะบ้าย้อย และนาทวี ที่มีความขัดแย้งและความรุนแรงมายาวนานกว่า 13 ปีเต็ม
แต่การพูดคุยในประเด็นนี้เคยล่มมาแล้วครั้งหนึ่ง เมื่อวันที่ 11-12 ก.ย.ที่ผ่านมา โดยครั้งนั้นเป็นการพูดคุยของ "คณะทำงานเทคนิคร่วม" หรือ "คณะพูดคุยชุดเล็ก" โดยทั้งสองฝ่ายไม่สามารถบรรลุข้อตกลงเรื่องการกำหนดพื้นที่ปลอดภัยอำเภอแรกร่วมกันได้ หลังจากนั้นก็มีการออกแถลงการณ์กล่าวหากันไปมาว่า สาเหตุเกิดจากความไม่พร้อมของอีกฝ่ายหนึ่ง
สำหรับการพูดคุยที่นัดกันวันพุธที่ 27 ก.ย. ก็มีข่าวจากฝ่ายความมั่นคงไทยว่า มารา ปาตานี เป็นฝ่ายขอเลื่อนการพบปะออกไปอย่างไม่มีกำหนด เพราะไม่พร้อมพูดคุยเรื่องพื้นที่ปลอดภัย ซึ่งก็เป็นไปได้ว่าสาเหตุหนึ่งมาจากการไม่สามารถตกลงกันได้ของคณะพูดคุยชุดเล็กเมื่อวันที่ 11-12 ก.ย.ที่ผ่านมาด้วย
"มารา ปาตานี" ซึ่งเป็น "องค์กรร่ม" ของกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐ 6 กลุ่ม ได้แก่ พูโล 3 กลุ่มย่อย, บีเอ็มพีพี, จีเอ็มไอพี และบีอาร์เอ็นปีกที่สนับสนุนการเจรจา ได้ร่วมโต๊ะพูดคุยเพื่อยุติความขัดแย้งและความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้มาตั้งแต่ช่วงต้นรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา โดยมีมาเลเซียเป็นผู้อำนวยความสะดวก ซึ่งเป็นกระบวนการที่เสมือนหนึ่งเดินหน้าต่อเนื่องมาจากการพูดคุยในยุครัฐบาลพรรคเพื่อไทย ตั้งแต่ปี 2555 และกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐที่เข้าร่วมโต๊ะพูดคุยบางกลุ่มในปัจจุบัน ก็เคยเป็นส่วนหนึ่งบนโต๊ะพูดคุยเมื่อปี 2555 มาแล้ว
การพูดคุยกับ "มารา ปาตานี" ดำเนินมาอย่างค่อนข้างราบรื่นตลอดมา กระทั่งมาถึงขั้นตอนของการกำหนด "พื้นที่ปลอดภัย" หรือ "เซฟตี้ โซน" ร่วมกัน เพื่อหวังให้เป็นก้าวแรกของการหยุดใช้ความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ปรากฏว่าการพูดคุยหยุดชะงักลงหลายๆ ครั้งด้วยข้ออ้างเรื่องความเห็นที่ยังไม่ลงรอยกันในรายละเอียดระหว่างคณะพูดคุยฝ่ายรัฐบาลไทยกับมารา ปาตานี
อย่างไรก็ดี เมื่อวันอังคารที่ 19 ก.ย.ที่ผ่านมา หลังการพูดคุยของคณะทำงานเทคนิคร่วมต้องยุติลงก่อนกำหนด และไม่ได้ข้อยุติเรื่องการกำหนดพื้นที่ปลอดภัยอำเภอแรก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ออกมาให้สัมภาษณ์ยืนยันว่าจะเดินหน้ากระบวนการพูดคุยต่อไป แต่การกำหนดพื้นที่ปลอดภัย จะต้องเป็นข้อตกลงร่วมกันระหว่างกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐทุกกลุ่ม หากมาร่วมตกลงเพียงบางกลุ่ม พื้นที่ปลอดภัยก็จะเกิดไม่ได้
ที่ผ่านมามีความพยายามของผู้อำนวยความสะดวก คือ มาเลเซีย ในการรวบรวมกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐให้มาพูดคุยกับรัฐบาลไทยให้ครบทุกกลุ่ม ตามนโยบายของ พล.อ.ประยุทธ์ โดยเฉพาะกลุ่มบีอาร์เอ็นที่นำโดย นายดูนเลาะ แวมะนอ ซึ่งเชื่อกันว่ามีอิทธิพลต่อกองกำลังติดอาวุธมากที่สุดในพื้นที่ชายแดนใต้ตลอดกว่าทศวรรษที่ผ่านมา แต่ปรากฏว่านายดูนเลาะยังคงปฏิเสธที่จะเข้าร่วมโต๊ะพูดคุย ทำให้ล่าสุดมีรายงานจากทางฝั่งมาเลเซียว่า ดาโต๊ะ สรี อะหมัด ซัมซามิน ฮาซิม ผู้อำนวยความสะดวก พยายามเสนอเงื่อนไขใหม่ ให้พบปะพูดคุยนอกรอบกับ พล.อ.อักษรา เกิดผล หัวหน้าคณะพูดคุยฯของรัฐบาลไทยก่อน แต่ฝ่ายนายดูนเลาะยังไม่ตกลง
--------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1 พล.อ.อักษรา เกิดผล (ภาพจากคณะพูดคุยฯ และทีมงานของ พล.อ.อักษรา)
2 ดูนเลาะ แวมะนอ (ภาพจากหมายจับของรัฐบาลไทย)
อ่านประกอบ :
ชะงักพูดคุยดับไฟใต้ "พื้นที่ปลอดภัย"ฝันค้าง
แฉเหตุ"มาราฯ"ไม่คุย"เซฟตี้โซน" จี้รัฐโชว์หนังสือรับรองปล่อยผู้ต้องขังคดีมั่นคง