รื้อคดีใหญ่-เซ็ตซีโร่กรรมการ-สรรหาเลขาฯใหม่! สารพัดปัญหาร้อนเขย่า ป.ป.ช.?
เปิด 3 สารพัดปัญหาร้อนเขย่าสำนักงาน ป.ป.ช. ถูกกดดันรื้อคดี ‘สลายแดง-เรือเหาะ’ ปธ.ยัน ไร้หลักฐานใหม่ทำไม่ได้ ปมอาจถูกเซ็ตซีโร่กรรมการ หมากที่ถูกวางไว้อยู่แล้ว สรรหาเลขาธิการฯคนใหม่ เปิดช่องรับคนนอก เผยชื่อ 3 ตัวเต็งคนใน
สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กำลังตกเป็นเป้าสำคัญจากสังคม ภายหลังถูกวิพากษ์วิจารณ์ถึงการทำงานที่ผ่านมา
โดยเฉพาะในยุคคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เรืองอำนาจ ที่มี ‘บิ๊กตำรวจ’ เข้ามานั่งเก้าอี้ประธานฯอย่าง พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ อดีตลูกน้อง ‘2 พี่น้องวงษ์สุวรรณ’ อดีตโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) จากการผลักดันของ ‘บิ๊กป๊อด’ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ อดีต ผบ.ตร. และอดีตรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ฝ่ายการเมือง ของ ‘บิ๊กป้อม’ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ในปัจจุบัน
ยิ่งทำให้ภาพลักษณ์ของสำนักงาน ป.ป.ช. ที่เป็นองค์กรหลักและสำคัญมากในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ถูกฉายภาพ ‘สีเขียว’ อยู่เนือง ๆ ?
แม้ที่ผ่านมา พล.ต.อ.วัชรพล เคยให้สัมภาษณ์ยืนยันหลายครั้งว่า ไม่เอาเรื่องส่วนตัว หรือเรื่องในอดีตเข้ามายุ่มย่ามคดีในชั้น ป.ป.ช. อย่างไรก็ดี ‘บิ๊กกุ้ย’ กลับให้สัมภาษณ์ถึงความสัมพันธ์กับสกุล ‘วงษ์สุวรรณ’ ยอมรับว่าเป็น ‘จุดอ่อน’ ของชีวิต (อ่านประกอบ : ‘วัชรพล’รับสัมพันธ์‘วงษ์สุวรรณ’คือจุดอ่อนชีวิต! ยันตอบสังคมได้ปมอุทธรณ์คดีสลาย พธม.)
ปัจจุบันสำนักงาน ป.ป.ช. กำลังถูกสังคมตั้งคำถาม-สารพัดปัญหาประดารุมเข้ามา สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org คัดเฉพาะประเด็นใหญ่ ๆ มีอยู่ 3 เรื่อง ดังนี้
หนึ่ง การรื้อคดีสั่งสลายการชุมนุมทางการเมืองปี 2553-การตีตกคดีเรือเหาะของกองทัพบกที่จัดซื้อปี 2552
หลายคนอาจยังไม่ทราบว่าคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติตีตกคดีสั่งสลายการชุมทางการเมืองเมื่อปี 2553 ไปแล้วเมื่อปี 2558 ที่ผ่านมา (ยุคนายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ เป็นประธานฯ) โดยอ้างว่า ไม่มีพยานหลักฐานเพียงพอชี้ว่านายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรี ในฐานะ ผอ.ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) และ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผบ.ทบ. ขณะนั้น (ปัจจุบันเป็น รมว.มหาดไทย) เป็นคนสั่งดำเนินการ (อ่านประกอบ : 'มาร์ค-สุเทพ-บิ๊กป๊อก'รอด! คดีสลายแดง ป.ป.ช.ยันทำตามหลักสากล, ข้อเท็จจริงคดีสลายแดงปี’53 ศาลยกคำร้อง-ป.ป.ช.ตีตก ตายเฉียดร้อยศพเอาผิดใครไม่ได้?, นปช.งัดหลักฐานใหม่รื้อคดีสลายแดง-ปัดท้าทายผู้มีอำนาจ กอดคอ พธม.ตกเป็นเหยื่อเหมือนกัน)
อย่างไรก็ดีถูกฝั่งแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) และคนเสื้อแดงอีกหลายราย ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงวิพากษ์วิจารณ์ และยื่นเรื่องขอให้ ป.ป.ช. รื้อคดีดังกล่าวมาพิจารณาใหม่หลายครั้ง แต่ท่าทีของ ป.ป.ช. เกี่ยวกับเรื่องนี้ก็เงียบมาโดยตลอด และมักอ้างว่าไม่มีพยานหลักฐานใหม่
ทว่าล่าสุดกลุ่ม นปช. ได้งัดคำพิพากษาศาลฎีกา เกี่ยวกับคดีนี้ ที่วินิจฉัยชัดเจนว่า การสั่งดำเนินการดังกล่าวมาจากนายอภิสิทธิ์ แต่พนักงานอัยการที่ได้รับเรื่องมาจากกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ไม่มีอำนาจฟ้อง ต้องให้ ป.ป.ช. เป็นคนไต่สวน และชี้มูลความผิดก่อนเท่านั้น ทำให้เรื่องนี้กลับมาเป็นที่สนใจของสาธารณชนอีกครั้งว่าท้ายสุด ป.ป.ช. จะดำเนินการเรื่องนี้อย่างไร (อ่านประกอบ : นปช.งัดหลักฐานใหม่รื้อคดีสลายแดง-ปัดท้าทายผู้มีอำนาจ กอดคอ พธม.ตกเป็นเหยื่อเหมือนกัน)
อีกคดีที่กำลังเป็นประเด็นร้อนแรงไม่แพ้กันคือ การจัดซื้อเรือเหาะประจำการณ์จังหวัดชายแดนภาคใต้เมื่อปี 2552 วงเงินประมาณ 350 ล้านบาท (จัดซื้อในสมัย พล.อ.อนุพงษ์ เป็น ผบ.ทบ. อนุมัติโดยคณะรัฐมนตรีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ) ที่ล่าสุด พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท ผบ.ทบ. คนปัจจุบัน ยืนยันว่า ได้ปลดกระจำการเรือเหาะดังกล่าวแล้ว เหลือแต่กล้องตรวจการณ์ที่ยังใช้การได้ และเตรียมจะนำไปปรับใช้กับอากาศยานอื่นต่อไป (อ่านประกอบ : เปิดหนังสือฉบับเต็ม! เรียกค่าปรับ บ.ขายเรือเหาะ สหรัฐ ก่อนปิดฉาก 350 ล.อะไรคิวต่อไป?, ยุติทางการ เรือเหาะ 350 ล.! ผบ.ทบ.ชำแหละ เอากล้องตรวจการณ์ไปใช้ ปย.อย่างอื่น)
ส่งผลให้เกิดการตั้งคำถามขึ้นมาทันทีว่า การจัดซื้อเรือเหาะดังกล่าวตั้งแต่ปี 2552 จนปัจจุบันผ่านมา 8 ปี เรือเหาะได้ใช้งานจริงไปกี่ครั้ง คุ้มค่างบประมาณมากแค่ไหน เพราะที่ผ่านมามีข่าวว่า เรือเหาะเดี๋ยวตก เดี๋ยวซ่อมมาโดยตลอด แทบไม่ได้ปฏิบัติการทางทหารแต่อย่างใด ?
แน่นอนกรณีนี้คณะกรรมการ ป.ป.ช. (ชุดที่มีนายปานเทพ เป็นประธานฯ) ได้ตีตกคดีนี้ไปแล้วเช่นกัน โดยพยานหลักฐานชี้ว่า นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี (ขณะนั้น) นักการเมืองรายเดียวที่ถูกกล่าวหา ไม่ได้ซื้อเรือเหาะแพงเกินจริง และเรือเหาะมีความจำเป็นต้องจัดซื้อด้วยวิธีพิเศษ และภาคใต้มีฝนตกชุก จึงได้เปลี่ยนอุปกรณ์เปลือกนอกเรือเหาะแล้ว ดังนั้นจึงไม่มีความผิดตามข้อกล่าวหา (อ่านประกอบ : ‘สุเทพ-ปู’รอด! ป.ป.ช.ตีตกคดีซื้อเรือเหาะ-ใช้งบกลางประกันตัวนักโทษการเมือง, ป.ป.ช.ไม่ให้ข้อมูล‘อิศรา’ปมตีตกคดี‘สุเทพ’ปล่อย ทบ.จัดซื้อเรือเหาะแพง)
ความคืบหน้าทั้งสองกรณีนี้ พล.ต.อ.วัชรพล ยืนยันว่า หากจะมีการรื้อคดีเรือเหาะอีกครั้ง จำเป็นจะต้องมีพยานหลักฐานใหม่เท่านั้นจึงจะรื้อได้ (อ่านประกอบ : ปธ.ป.ป.ช.ยันรื้อปมเรือเหาะต้องมีหลักฐานใหม่-แปลคำตัดสินคดีจีที200จากศาลอังกฤษอยู่)
สอง เซ็ตซีโร่ 7 กรรมการ ป.ป.ช.
กรณีนี้ถูกพูดถึงมาได้พักใหญ่แล้ว โดยเฉพาะเมื่อรัฐธรรมนูญปี 2560 ถูกประกาศใช้ มีการกำหนดคุณสมบัติเพิ่มเติมของกรรมการในองค์กรอิสระเพิ่มขึ้นกว่าเดิมมาก จนทำให้กรรมการหลายองค์กรอิสระถูกเซ็ตซี่โร่ไปแล้วอย่างน้อย 2 แห่ง ได้แก่ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) กระทั่งถึงคิวกรรมการ ป.ป.ช. ที่ตรวจสอบคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญปี 2560 แล้ว มีอย่างน้อย 7 ราย ที่ไม่น่าจะผ่านคุณสมบัติ และอาจต้องพ้นเก้าอี้
ได้แก่ พล.ต.อ.วัชรพล เคยเป็นรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี เมื่อปี 2557 นั่นหมายความว่า พ้นตำแหน่งข้าราชการทางการเมืองไม่ถึง 10 ปี น.ส.สุภา เป็นรองปลัดกระทรวงการคลัง เทียบเท่าอธิบดีแต่เป็นไม่ครบ 5 ปี นายปรีชา และนายณรงค์ เคยเป็นเลขาธิการ ป.ป.ช. ตำแหน่งเทียบเท่าหัวหน้าส่วนราชการไม่ถึง 5 ปี พล.ต.อ.สถาพร เป็นจเรตำรวจ เทียบเท่าตำแหน่งอธิบดีไม่ถึง 5 ปี นายวิทยา เคยเป็นกรรมการ คตง. หมายความว่าเคยเป็นกรรมการองค์กรอิสระมาก่อน และ พล.อ.บุณยวัจน์ เคยเป็นอดีต ผอ.สำนักงบประมาณกระทรวงกลาโหม ต้องรอการตีความว่าตำแหน่งดังกล่าวเทียบเท่าอธิบดีหรือไม่ เป็นต้น (อ่านประกอบ : เผื่อใจถูกเซ็ตซีโร่!ปธ.ป.ป.ช.รับ กม.ลูกใหม่อาจส่งผล 7 กก.พ้นเก้าอี้หลังชงขออยู่ต่อ, ข้อมูล-กม.‘เซตซีโร่’องค์กรอิสระ-จับตา ป.ป.ช. ซ้ำรอย กกต. หรือรอดเพราะ‘บทเฉพาะกาล’?)
คงเหลือแค่ 2 รายที่อาจจะทำหน้าที่ต่อไปได้ คือ นายสุรศักดิ์ คีรีวิเชียร อดีตผู้พิพากษาศาลฎีกา และนางสุวณา สุวรรณจูฑะ อดีตปลัดกระทรวงยุติธรรม ที่คุณสมบัติครบตามเกณฑ์ แต่จากการคาดการณ์ของหลายฝ่าย โดยเฉพาะจาก กรธ. และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) แล้ว เชื่อว่าคงต้องถูก ‘เซ็ตซีโร่’ ใหม่หมดยกคณะ แม้ว่าจะเขียนพ่วงในบทเฉพาะกาลของร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ฉบับที่ .. พ.ศ. …. ว่า ขอให้กรรมการชุดปัจจุบันทำหน้าทีต่อ ไม่เอาบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญมาบังคับใช้ก็ตาม
หมากเกมนี้ถูกหลายฝ่าย โดยเฉพาะคนใน ป.ป.ช. มองว่า เป็นเพียงการเซ็ตขึ้นของ ‘ผู้มีอำนาจ’ ให้ ‘บางคน’ เข้ามาเป็นกรรมการ ป.ป.ช. เพื่อมาทำอะไรบางอย่างกับ ‘บางคดี’ โดยเฉพาะคดีสั่งสลายการชุมนุมกลุ่มพันธมิตรฯเมื่อปี 2551 ที่ว่ากันว่ามีกรรมการ ป.ป.ช. บางรายที่เพิ่งเข้ามาเหยียบสำนักงาน ป.ป.ช. วันแรก ก็แทงเรื่องให้เจ้าหน้าที่วิเคราะห์คดีนี้ทันทีว่า ผลจะออกมาเป็นอย่างไร ?
ปัจจุบันศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พิพากษายกฟ้องจำเลย 4 ราย ได้แก่ นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ และ พล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว ไปแล้ว แต่ ป.ป.ช. อุทธรณ์คดีต่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา แค่กรณี พล.ต.ท.สุชาติ (อ่านประกอบ : ‘สมชาย-บิ๊กจิ๋ว-พัชรวาท’รอด!ป.ป.ช. ยื่นอุทธรณ์คดีสลาย พธม.แค่‘สุชาติ’รายเดียว, เบื้องหลัง!ความพยายามสู้นอกศาลของ ‘สมชาย-พวก’ก่อนรูดม่านปิดคดีสลาย พธม.?)
สาม การสรรหาเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. คนใหม่
นายสรรเสริญ พลเจียก อดีตเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ผู้สมัครกรรมการ ป.ป.ช. 2 ครั้ง แต่ไม่ได้รับเลือก เบนหน้าออกจากสำนักงาน ป.ป.ช. ไปซบสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) กระทั่งได้รับการคัดเลือกเป็นคณะกรรมการการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) และทำเรื่องลาออกจากตำแหน่ง ‘แม่บ้าน ป.ป.ช.’ เรียบร้อยแล้ว
ส่งผลให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. จำเป็นต้องตั้งคณะกรรมการขึ้นมาสรรหาเลขาธิการฯคนใหม่ โดยคราวนี้วางตัว ‘3 ส.’ ได้แก่ นายสุรศักดิ์ คีรีวิเชียร น.ส.สุภา ปิยะจิตติ และ พล.ต.อ.สถาพร หลาวทอง เป็นโควตาฝั่ง ป.ป.ช. มีผู้ทรงคุณวุฒิ 2 ราย ได้แก่ นางเบญจวรรณ สร่างนิทร อดีตเลขาธิการ ก.พ. เป็นผู้ทรงคุณวุฒิด้านการบริหารราชการ และนายสราวุธ เบญจกุล รองเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม เป็นผู้ทรงคุณวุฒิด้านกระบวนการยุติธรรม (อ่านประกอบ : ‘สถาพร-สุภา-สุรศักดิ์’คุม!เผยชื่อ กก. สรรหาเลขาฯป.ป.ช.ใหม่-เปิดช่องคนนอกสมัครได้)
มาในคราวนี้ พล.ต.อ.วัชรพล อาศัยระเบียบสำนักงาน ป.ป.ช. เปิดช่องให้ ‘คนนอก’ สามารถเข้ามาสมัครรับการคัดเลือกได้ด้วย ซึ่งสามารถทำได้ตามปกติ อย่างไรก็ดีธรรมเนียมปฏิบัติกันมาของ ป.ป.ช. มักให้โอกาส ‘คนใน’ วัดฝีมือกันมากกว่า
ท่ามกลางกระแสซุบซิบกันของบรรดาเจ้าหน้าที่ ป.ป.ช. ว่า อาจเปิดทางให้ ‘คนนอก’ ที่เป็นคนแวดวง ‘สีกากี’ เข้ามานั่งเก้าอี้ ‘แม่บ้าน’ ตัวนี้ก็เป็นไปได้ ?
อย่างไรก็ดี ‘ตัวเต็ง’ ขณะนี้ที่เป็น ‘คนใน’ น่าจะมีประมาณ 2 ราย ได้แก่ นายวรวิทย์ สุขบุญ รองเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ที่นั่งมาอย่างยาวนาน เคยเป็นคู่แข่งกับนายสรรเสริญ เมื่อปี 2556 แต่พ่ายไปเนื่องจากอาวุโสน้อยกว่าเยอะ มาคราวนี้เป็นถึงรองเลขาธิการฯที่อาวุโสที่สุด มีความเชี่ยวชาญด้านการตรวจสอบบัญชีทรัพย์สินอย่างมาก ส่งฟ้องอาญา-ยึดทรัพย์คืนแผ่นดินนักการเมืองระดับชาติที่ ‘ซุกทรัพย์สิน-แจ้งบัญชีเท็จ-รวยผิดปกติ’ มาแล้วมากมาย
แต่ยังมีอีกรายหนึ่งคือ นายศักดิ์ชัย เมทินีพิศาลกุล เพิ่งขึ้นตำแหน่งรองเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. เมื่อต้นปี อายุราชการเหลืออีก 1 ปี เช่นกัน ก่อนหน้านี้เคยเป็น ‘มือขวา’ ของนายวิชา มหาคุณ อดีตกระบี่มือหนึ่งของ ป.ป.ช. มาก่อน ทำคดีสำคัญมามากมาย โดยเฉพาะคดีล่าสุดอย่างคดีจำนำข้าวของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ หรือคดีระบายข้าวจีทูจีโดยทุจริต เป็นต้น
อีกรายหนึ่งที่อาจเป็นคนสอดแทรก และได้รับความไว้วางใจจากเจ้าหน้าที่ ป.ป.ช. หลายรายคือ นายธรรมนูญ เรืองดิษฐ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ผู้บริหารผู้มากฝีมือด้านกฏหมาย เป็นคนที่คอยแก้ไขปัญหากฏหมายในชั้นการไต่สวนของ ป.ป.ช. รวมถึงการยื่นตีความข้อกฏหมายต่าง ๆ ในชั้นศาลปกครอง ที่มีปัญหาคาราคาซังเรื่องอำนาจหน้าที่การชี้มูลความผิดของ ป.ป.ช. รวมถึงการยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญในคดีต่าง ๆ ด้วย
(ซ้าย-นายศักดิ์ชัย เมทินีพิศาลกุล, ขวา-นายวรวิทย์ สุขบุญ)
ปัจจุบันเวลามีงานสำคัญของ ป.ป.ช. ที่มี พล.ต.อ.วัชรพล ไปด้วย มักเห็น ‘รองศักดิ์ชัย’ ยืนประกบ ‘บิ๊กกุ้ย’ เกือบทุกครั้ง ดังนั้นจึงน่าจับตาอย่างมากว่า ระหว่างนายวรวิทย์ และนายศักดิ์ ใครจะได้รับความไว้วางใจจาก พล.ต.อ.วัชรพล และกรรมการ ป.ป.ช. รายอื่นให้ทำหน้าที่แม่บ้านหลังนี้ ?
อาจเป็นไปได้ว่าเลขาธิการฯคราวนี้อาจเป็น 'คนใน' อีกครั้ง เพราะ พล.ต.อ.วัชรพล เคยออกปากให้สัมภาษณ์ว่า คนระดับรองเลขาธิการฯ อาจมีลุ้นเก้าอี้นี้ก็ได้ !
ทั้งหมดคือสารพัดปัญหาที่กำลังสุมไฟอยู่ในสำนักงาน ป.ป.ช. ขณะนี้ รอเวลาให้คณะกรรมการ-เจ้าหน้าที่คลี่คลายดับให้ได้โดยไว
ท้ายสุดแต่ละเรื่องจะมีบทสรุปอย่างไร คงต้องติดตามกันต่อไป อย่ากระพริบตา !