- Home
- Isranews
- รายงาน-สกู๊ป
- ข้อมูล-กม.‘เซตซีโร่’องค์กรอิสระ-จับตา ป.ป.ช. ซ้ำรอย กกต. หรือรอดเพราะ‘บทเฉพาะกาล’?
ข้อมูล-กม.‘เซตซีโร่’องค์กรอิสระ-จับตา ป.ป.ช. ซ้ำรอย กกต. หรือรอดเพราะ‘บทเฉพาะกาล’?
“….นับเป็นองค์กรอิสระองค์กรเดียว (เท่าที่ตรวจสอบพบขณะนี้) ที่เขียนบทเฉพาะกาลในกฎหมายลูก หรือ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญฯ ไม่ให้รัฐธรรมนูญบังคับใช้ แตกต่างจาก กกต. และ กสม. ที่ไม่เขียนกฎหมาย หรือบทเฉพาะกาลตามนี้ ส่งผลให้ต้องถูก ‘เซตซีโร่’ ไปโดยปริยาย ? อย่างไรก็ดีประเด็นนี้ยังคงมีข้อถกเถียงกันอยู่ว่า พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญฯ มีศักดิ์เป็นเพียงกฎหมายลูก จะสามารถบังคับใช้กับรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายแม่ และมีศักดิ์ใหญ่ที่สุดในประเทศได้หรือไม่…”
ในห้วงสัปดาห์ที่ผ่านมา องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญหลายแห่งเริ่ม ‘ก้นร้อน’ ระส่ำระส่ายอยู่กันไม่สุข!
หวั่นไหวกังวลเจอแบบคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่เป็นองค์กรอิสระแรกถูก ‘เซตซีโร่’ ต้องไปสรรหากรรมการ กกต. ใหม่ เป็นผลจากที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ลงมติเสียงข้างมากผ่าน พ.ร.บ.กกต. ฉบับใหม่ ที่มีการถกเถียงกันอย่างมากถึงสถานะของ กกต. ชุดนี้ว่า ‘ควรอยู่หรือไป’ แต่ท้ายสุดก็เป็นไปตามความคาดหมาย ต้องพ้นจากตำแหน่งไป
เรียกว่าเป็นไปตามที่ผู้มีอำนาจระดับสูงในรัฐบาล หรือคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) บางรายเห็นตรงกันว่า องค์กรอิสระที่มีการปรับโครงสร้างใหม่ตามรัฐธรรมนูญปี 2560 ไม่จำเป็นต้องมี ‘ปลาสองน้ำ’ แต่ควรเป็น ‘ปลาน้ำเดียว’ เพื่อให้ทิศทางขององค์กร ‘ไม่แตกแถว’
สำหรับองค์กรอิสระแห่งที่สองที่ถูก ‘จองคิว’ ต้องถูก ‘เซตซีโร่’ เป็นรายต่อไป คือ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) หนึ่งในองค์กรที่หน่วยงานระหว่างประเทศให้ความสำคัญอย่างมาก มีทีท่าว่ากรรมการ กสม. ชุดนี้อาจต้องตามรอยกรรมการ กกต. ไป แม้ประธาน กสม. อย่าง ‘วัส ติงสมิตร’ จะออกลูกอ้อนว่า ‘ปลาสองน้ำ อร่อยกว่าปลาน้ำเดียว’ ก็ตามที
แต่ยังมีอีกองค์กรหนึ่งที่มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่า 2 องค์กรข้างต้นคือ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ที่ปัจจุบันกำลังถูกตั้งคำถามจากสังคมอย่างมากถึงวิธีการทำงาน และการไต่สวนคดีต่าง ๆ ตกลงแล้วจะต้องถูก ‘เซตซีโร่’ ไปด้วยหรือไม่ อย่างไร ?
เพื่อให้สาธารณชนเข้าใจมากขึ้น สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org สรุปข้อกฏหมาย-ข้อเท็จจริงต่าง ๆ เกี่ยวกับการ ‘เซตซีโร่’ องค์กรอิสระทั้งหมดให้สาธารณชนรับทราบ ดังนี้
รัฐธรรมนูญปี 2560 มีองค์กรอิสระรวมทั้งสิ้น 7 หน่วยงาน ได้แก่ 1.คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) 2.คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) 3.ผู้ตรวจการแผ่นดิน สำนักงานผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน 4.คณะกรรมการว่าการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) 6.คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) 7.ศาลรัฐธรรมนูญ
สถานะปัจจุบันแต่ละองค์กรมีดังนี้
กกต. มีกรรมการ กกต. ทั้งหมด 5 ราย (ถูก สนช. ผ่าน พ.ร.บ.กกต. ไปแล้ว ส่งผลให้ต้องพ้นจากตำแหน่งทั้งหมด)
กสม. มีกรรมการ กสม. ทั้งหมด 7 ราย (พ.ร.บ.กสม. ปัจจุบันอยู่ในชั้น กรธ. โดย กรธ. ส่งคืนให้ กสม. เพื่อขอความเห็นเพิ่มเติม ปัจจุบัน กสม. ทำความเห็นให้ กสม. แล้ว หากเป็นไปตามนี้ ต่อไปคือจะต้องเข้า สนช. เพื่อพิจารณา)
ผู้ตรวจการแผ่นดิน เหลือ 2 ราย (จากทั้งหมด 3 ราย เนื่องจากนายศรีราชา วงศารยางกูร ประธานผู้ตรวจการแผ่นดินเกษียณอายุ) ปัจจุบันส่ง พ.ร.บ.ผู้ตรวจการแผ่นดินให้ กรธ. แล้ว
คตง. มีกรรมการ คตง. เหลือ 5 ราย (จากทั้งหมด 7 ราย) ปัจจุบัน คตง. ที่เหลือ 5 ราย จะเกษียณจากตำแหน่งในวันที่ 25 ก.ย. 2560 ทั้งนี้ยังคงมีความบาดหมางระหว่าง คตง. ที่เหลือกับผู้บริหารระดับสูงบางรายใน สตง. แม้ว่าหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะออกคำสั่งเกี่ยวกับวิธีการสรรหาคตง. และผู้ว่า สตง. แล้วก็ตาม (อ่านประกอบ : ราชกิจาฯ เผยแพร่คำสั่ง คสช. แก้ปมสรรหา ‘คตง.’ ให้แล้วเสร็จภายใน 90 วัน, ผู้ว่าฯ สตง.งัดข้อ คตง.เร่ง สนช.สรรหาใหม่ ล้างบางยกชุด-เจอสวนขัด กม.)
ป.ป.ท. มีกรรมการ ป.ป.ท. ทั้งหมด 7 ราย ทั้งนี้ ป.ป.ท. เพิ่งแยกออกมาเป็นองค์กรอิสระ ขึ้นตรงกับนายกรัฐมนตรี (เหมือน คตง. และ สตง.) เมื่อเดือน เม.ย. 2559 โดยก่อนหน้านี้สังกัดกระทรวงยุติธรรม (อ่านประกอบ : มีผลแล้ว! แยก ป.ป.ท.จาก ก.ยุติธรรม เป็นองค์กรขึ้นตรงนายกฯ)
ป.ป.ช. มีกรรมการ ป.ป.ช. ทั้งหมด 9 ราย (พ.ร.บ.ป.ป.ช. ถูกส่งให้ กรธ. พิจารณาแล้ว ปัจจุบันอยู่ระหว่างการปรับแก้ของ กรธ.)
ศาลรัฐธรรมนูญ มีตุลาการทั้งหมด 9 ราย อย่างไรก็ดีจะมีอย่างน้อย 5 ราย ที่ต้องพ้นจากตำแหน่งเดือน พ.ค. 2560 แต่หัวหน้า คสช. ออกคำสั่งงดการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญไว้ชั่วคราว โดยเป็นการแก้ไขคำสั่งเดิมที่เปิดช่องให้สรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญใหม่ (อ่านประกอบ : ให้ปฏิบัติหน้าที่ต่อแม้พ้นวาระ! บิ๊กตู่ ใช้ ม.44 งดเว้นสรรหาตุลาการศาลรธน.ใหม่)
สำหรับ กกต. เป็นที่แน่นอนแล้วว่า ต้องถูก ‘โละ’ ทั้งหมด ส่วน กสม. ตามกระแสข่าวที่กำลังมาแรงขณะนี้ เป็นไปได้ว่าอาจต้องถูก ‘เซตซีโร่’ ตามรอย กกต. ไปเช่นกัน
เท่ากับว่ายังเหลือองค์กรอิสระอย่างน้อย 5 แห่ง ที่ยังคลุมเครือว่าตกลงแล้วต้อง ‘อยู่’ หรือ ‘ไป’ ?
เมื่อมองไปยัง ป.ป.ท. ที่เพิ่งแยกออกเป็นองค์กรอิสระ ขึ้นตรงนายกรัฐมนตรี เมื่อ เม.ย. 2559 และเพิ่งออกกฎหมายใหม่มาใช้ด้วย คาดว่า ยังไม่น่าจะถูกจับตามองหรือทำอะไรมากนัก เพราะต้องไม่ลืมว่า ป.ป.ท. ถือเป็นอีกหนึ่งองค์กรที่มีบทบาทอย่างสูงในรัฐบาลชุดนี้ และถือเป็น ‘แนวหน้า’ ในการตรวจสอบเรื่องทุจริตของศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) ตั้งแต่สมัย ‘บิ๊กต๊อก’ พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา เป็น รมว.ยุติธรรม (ปัจจุบันเป็นองคมนตรี) ขณะที่ผู้ตรวจการแผ่นดิน ก็ไม่ได้ถูกจับตามากนัก เนื่องจากมีบทบาทน้อยอยู่แล้ว และในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ยิ่งลดบทบาทลงไปอีก
ส่วนที่เหลือคือ คตง. และ สตง. ที่ยังคงมีปัญหา ‘การเมือง’ ภายในกันอยู่ จนทำให้หัวหน้า คสช. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ต้องออกคำสั่งมาดำเนินการหลายฉบับ คงต้องแก้ไขกันไปทีละเปราะ นอกจากนี้กรรมการ คตง. ทั้งหมดจะต้องเกษียณจากตำแหน่งในเดือน ก.ย. 2560 นี้อยู่แล้ว จึงไม่มีความจำเป็นต้อง ‘เซตซีโร่’ ใหม่ เช่นเดียวกันตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ที่ปัจจุบันถูกคำสั่งหัวหน้า คสช. งดการสรรหาไว้ชั่วคราวอยู่ และมีอย่างน้อย 5 ราย ที่ต้องพ้นจากตำแหน่งตั้งแต่เดือน พ.ค. 2560 ที่ผ่านมา
นั่นเท่ากับว่าเหลือองค์กรอิสระเพียง 1 แห่ง คือ ป.ป.ช. ที่ถูกจับตามองอย่างมากว่า ต้องถูก ‘เซตซีโร่’ ตามรอย กกต. และ กสม. หรือไม่ ?
คณะกรรมการ ป.ป.ช. ชุดปัจจุบัน 9 ราย ได้แก่ พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธาน ป.ป.ช. (อดีตรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม) น.ส.สุภา ปิยะจิตติ (อดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง) นางสุวณา สุวรรณจูฑะ (อดีตปลัดกระทรวยุติธรรม) นายณรงค์ รัฐอมฤต นายปรีชา เลิศกมลมาศ (2 ลูกหม้ออดีตเลขาธิการ ป.ป.ช.) นายวิทยา อาคมพิทักษ์ (อดีตกรรมการ คตง. อดีตรองเลขาธิการ ป.ป.ช.) พล.ต.อ.สถาพร หลาวทอง (อดีตจเรตำรวจแหงชาติ) นายสุรศักดิ์ คีรีวิเชียร (อดีตอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญากรุงเทพใต้) พล.อ.บุณยวัจน์ เครือหงส์ (อดีต ผอ.สำนักตรวจสอบภายในกองทัพบก)
มีกรรมการ ป.ป.ช. ชุดเก่าก่อนหน้า คสช. จะยึดอำนาจเมื่อ พ.ค. 2557 รวม 3 ราย ได้แก่ นายณรงค์ รัฐอมฤต นายปรีชา เลิศกมลมาศ และ พล.ต.อ.สถาพร หลาวทอง
ส่วนชุดใหม่ภายหลัง คสช. ยึดอำนาจ มี 6 ราย ได้แก่ พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ น.ส.สุภา ปิยะจิตติ นางสุวณา สุวรรณจูฑะ นายวิทยา อาคมพิทักษ์ นายสุรศักดิ์ คีรีวิเชียร และ พล.อ.บุณยวัจน์ เครือหงส์
เมื่อพลิกรัฐธรรมนูญปี 2560 พบว่า คุณสมบัติของคณะกรรมการในองค์กรอิสระ ตามมาตรา 216 ระบุว่า นอกเหนือจากคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามที่บัญญัติไว้เป็นการเฉพาะในส่วนที่ว่าด้วยองค์กรอิสระแต่ละองค์กรแล้ว ต้องมีคุณสมบัติ และไม่มีลักษณะต้องห้ามดังต่อไปนี้
1.มีอายุไม่ต่ำกว่า 45 ปี แต่ไม่เกิน 70 ปี 2.มีคุณสมบัติตามมาตรา 201 (1) (3) (4) และ (5) และ 3.ไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 202
สำหรับมาตรา 201 และ 202 อยู่ในหมวดคุณสมบัติ และลักษณะต้องห้ามของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ โดยมาตรา 201 ระบุว่า (1) มีสัญชาติไทยโดยกำเนิด (3) สำเร็จการศึกษาไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่า (4) มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ (5) มีสุขภาพที่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
มาตรา 202 ระบุว่า ต้องมีลักษณะต้องห้ามดังต่อไปนี้ 1.เป็นหรือเคยเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญหรือผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระใด 2.ลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 98 (เช่น เป็นบุคคลล้มละลาย ถือหุ้นในหนังสือพิมพ์ ถูกสั่งให้พ้นจากราชการโดยทุจริต เคยถูกพิพากษาร่ำรวยผิดปกติ ฯลฯ) 3.เคยได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่ในความผิดอันได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ 4.เป็นหรือเคยเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา ข้าราชการการเมือง หรือสมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่นในระยะสิบปีก่อนเข้ารับการคัดเลือกหรือสรรหา 5.เป็นหรือเคยเป็นสมาชิกหรือผู้ดำรงตำแหน่งอื่นของพรรคการเมืองในระยะสิบปีก่อนเข้ารับการคัดเลือกหรือสรรหา
6.เป็นข้าราชการซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำ 7.เป็นพนักงานหรือลูกจ้างของหน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่น หรือกรรมการ หรือที่ปรึกษาของหน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ 8.เป็นผู้ดำรงตำแหน่งใดในห้างหุ้นส่วนบริษัท หรือองค์กรที่ดำเนินธุรกิจโดยมุ่งหาผลกำไร หรือรายได้มาแบ่งปันกัน หรือเป็นลูกจ้างของบุคคลใด 9.เป็นผู้ประกอบวิชาชีพอิสระ 10.มีพฤติการณ์อันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง
ในมาตรา 232 ระบุว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช. ต้องมีคุณสมบัติอย่างใดอย่างหนึ่ง คือ 1.รับราชการหรือเคยรับราชการในตำแหน่งไม่ต่ำกว่าอธิบดีผู้พิพากษา อธิบดีศาลปกครองชั้นต้น ตุลาการพระธรรมนูญหัวหน้าศาลทหารกลาง หรืออธิบดีอัยการมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี 2.รับราชการหรือเคยรับราชการในตำแหน่งไม่ต่ำกว่าอธิบดีหรือหัวหน้าส่วนราชการที่เทียบเท่ามาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี 3.เป็นหรือเคยเป็นผู้ดำรงตำแหน่งผู้บริหารสูงสุดของรัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานอื่นของรัฐที่ไม่เป็นส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี 4.ดำรงตำแหน่งหรือเคยดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ของมหาวิทยาลัยในไทยมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี และยังมีผลงานทางวิชาการเป็นที่ประจักษ์
5.เป็นหรือเคยเป็นผู้ประกอบวิชาชีพที่มีกฏหมายรับรองการประกอบวิชาชีพอย่างสม่ำเสมอ และต่อเนื่องมาเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 20 ปี นับถึงวันที่ได้รับการเสนอชื่อ และได้รับการรับรองการประกอบวิชาชีพจากองค์กรวิชาชีพนั้น 6.เป็นผู้มีความรู้ความชำนาญและประสบการณ์ด้านการบริหาร การเงิน การคลัง การบัญชี หรือการบริหารกิจการวิสาหกิจในระดับไม่ต่ำกว่าผู้บริหารระดับสูงของบริษัทมหาชนจำกัดมาแล้วไม่น้อยกว่า 10 ปี 7.เคยเป็นผู้ดำรงตำแหน่งตามข้อ 1-4 และ 6 รวมกันไม่น้อยกว่า 10 ปี
และช่วงที่ผ่านมามีสื่อมวลชนหลายสำนักเขียนวิเคราะห์กันว่า มีกรรมการ ป.ป.ช. อย่างน้อย 7 ราย ที่อาจขาดคุณสมบัติ และมีลักษณะต้องห้าม เช่น พล.ต.อ.วัชรพล เคยเป็นรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี เมื่อปี 2557 นั่นหมายความว่า พ้นตำแหน่งข้าราชการทางการเมืองไม่ถึง 10 ปี น.ส.สุภา เป็นรองปลัดกระทรวงการคลัง เทียบเท่าอธิบดีแต่เป็นไม่ครบ 5 ปี นายปรีชา และนายณรงค์ เคยเป็นเลขาธิการ ป.ป.ช. ตำแหน่งเทียบเท่าหัวหน้าส่วนราชการไม่ถึง 5 ปี พล.ต.อ.สถาพร เป็นจเรตำรวจ เทียบเท่าตำแหน่งอธิบดีไม่ถึง 5 ปี นายวิทยา เคยเป็นกรรมการ คตง. หมายความว่าเคยเป็นกรรมการองค์กรอิสระมาก่อน และ พล.อ.บุณยวัจน์ เคยเป็นอดีต ผอ.สำนักงบประมาณกระทรวงกลาโหม ต้องรอการตีความว่าตำแหน่งดังกล่าวเทียบเท่าอธิบดีหรือไม่ เป็นต้น (อ้างอิงจาก ฐานเศรษฐกิจออนไลน์)
ไม่ว่าข้อเท็จจริงส่วนนี้เป็นอย่างไร กรธ. จะตีความตามนี้หรือไม่ ?
แต่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้เขียน ‘บทเฉพาะกาล’ ในร่าง พ.ร.บ.ป.ป.ช. ทำนอง ‘ดักทาง’ กรธ. ไว้แล้ว ดังนี้
มาตรา 219 ให้ประธานกรรมการ ป.ป.ช. และกรรมการ ป.ป.ช. ซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ก่อนวันที่ พ.ร.บ.ป.ป.ช. ฉบับนี้ใช้บังคับ ซึ่งไดรับการสรรหาและการแต่งตั้งโดยอาศัยคุณสมบัติตาม พ.ร.บ.ป.ป.ช. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ยังคงดำรงตำแหน่งอยู่ต่อไปจนกว่าจะถึงคราวออกตามวาระ หรือดำรงตำแหน่งต่อไปจนครบ 9 ปี โดยไม่นำบทบัญญัติมาตรา 216 และมาตรา 218 แห่งรัฐธรรมนูญมาใช้บังคับ
ในกรณีที่ตำแหน่งดังกล่าวว่างลงก่อนถึงคราวออกตามวาระหรือมีอายุครบกำหนด 70 ปีบริบูรณ์ตามที่รัฐธรรมนูญและกฎหมายบัญญัติ ให้ดำเนินการสรรหาประธานกรรมการ ป.ป.ช. หรือกรรมการ ป.ป.ช. ตาม พ.ร.บ.ป.ป.ช.ฉบับนี้ต่อไป
มาตรา 220 ให้เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ก่อน และในวันที่ พ.ร.บ.ป.ป.ช.ฉบับนี้ใช้บังคับ ยังคงดำรงตำแหน่งต่อไปจนกว่าจะครบตำแหน่งตามวาระที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.ป.ป.ช. 2542
เมื่อพิจารณาจากข้อเท็จจริงตามบทเฉพาะกาลดังกล่าว หมายความว่า ประธานกรรมการ ป.ป.ช. และกรรมการ ป.ป.ช. ทั้งหมด 9 ราย ยังคงมีสถานะเป็นกรรมการ ป.ป.ช. อยู่ โดยไม่จำเป็นต้องสนว่ารัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะเขียนคุณสมบัติหรือลักษณะต้องห้ามอย่างไร
แต่หากกรรมการ ป.ป.ช. ทั้ง 9 รายขณะนี้ มีรายใดรายหนึ่งเกษียณจากตำแหน่ง หรือพ้นตำแหน่งในอนาคต ในการสรรหากรรมการ ป.ป.ช. ครั้งหน้า ถึงค่อยบังคับใช้คุณสมบัติ และลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญแทน
นั่นจึงเป็นที่มาของคำตอบจากนายสรรเสริญ พลเจียก เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ที่ตอบคำถามสื่อถึงประเด็นความกังวลในการ ‘เซตซีโร่’ ป.ป.ช. ว่า เท่าที่เห็นกรรมการ ป.ป.ช. ไม่มีความกังวลใด ๆ ต่อเรื่องดังกล่าว และยังบอกด้วยว่า ตราบใดที่ยังอยู่ในหน้าที่ ยังไม่มีข้อเท็จจริงที่จะต้องพ้นจากตำแหน่ง จะยังคงเดินหน้าทำงานอย่างเต็มที่ และปล่อยให้เรื่องนี้ผ่านไปตามกระบวนการ คงไปทำอะไรมากไม่ได้ แล้วแต่กรรมาธิการ (กมธ.) ของ สนช. จะพิจารณา ปัจจุบันส่งร่างให้ กรธ. และกรรมการ ป.ป.ช. เข้าชี้แจงต่อ กรธ. แล้ว แต่ไม่มีการพูดคุยเรื่องคุณสมบัติ ซึ่ง กรธ. บอกว่า เรื่องเหล่านี้จะนำไปพิจารณาแล้วยกร่างเลย แต่ยังไม่เห็นร่างดังกล่าวว่า มีข้อสรุปอย่างไร
แตกต่างจากท่าทีก่อนหน้านี้ที่แหล่งข่าวระดับสูงจากสำนักงาน ป.ป.ช. ยืนยันว่า กรรมการ ป.ป.ช. หลายราย ‘เครียด’ และมีการหารือกันเกี่ยวกับประเด็นคุณสมบัติแทบทุกวัน มีการซักถามกันว่า ใครบ้างที่อาจเข้าข่ายไม่มีคุณสมบัติ หรือมีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
ท้ายสุดคณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงร่างกฏหมายลูกและมีบทสรุปออกมาเป็น ‘บทเฉพาะกาล’ ข้างต้น
นับเป็นองค์กรอิสระองค์กรเดียว (เท่าที่ตรวจสอบพบขณะนี้) ที่เขียนบทเฉพาะกาลในกฎหมายลูก หรือ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญฯ ไม่ให้รัฐธรรมนูญบังคับใช้ แตกต่างจาก กกต. และ กสม. ที่ไม่เขียนกฎหมาย หรือบทเฉพาะกาลตามนี้ ส่งผลให้ต้องถูก ‘เซตซีโร่’ ไปโดยปริยาย ?
อย่างไรก็ดีประเด็นนี้ยังคงมีข้อถกเถียงกันอยู่ว่า พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญฯ มีศักดิ์เป็นเพียงกฎหมายลูก จะสามารถบังคับใช้กับรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายแม่ และมีศักดิ์ใหญ่ที่สุดในประเทศได้หรือไม่
กรธ. จะพิจารณาประเด็นคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของกรรมการ ป.ป.ช. อย่างเข้มงวด เหมือนที่ทำกับ กกต. และ กสม. ด้วยหรือไม่
เพราะต้องไม่ลืมว่าที่ผ่านมาเกิดการวิพากษ์วิจารณ์กรรมการ ป.ป.ช. บางราย ที่อาจมีความใกล้ชิดกับผู้มีอำนาจใน คสช. และรัฐบาลชุดนี้ ทำให้การปฏิบัติหน้าที่ และการไต่สวนคดีอาจไม่มีความเป็นกลางเท่าที่ควร ปลุกกระแส ‘สองมาตรฐาน’ ให้กลับมาอีกครั้งหนึ่ง ?
บทสรุปสุดท้ายจะเป็นอย่างไร กกต. และ กสม. อาจเป็นเพียง 2 องค์กรที่ถูก ‘เซตซีโร่’ หรือจะมีองค์กรอิสระอื่นเพิ่มเติมอีกหรือไม่ ต้องติดตามกันต่อไป !
หมายเหตุ : ภาพประกอบจาก เนชั่น