ยูนิเซฟ ประกาศเด็กโรฮิงญา 2แสนคน ต้องการความช่วยเหลือด่วน ทั้งด้านร่างกาย-จิตใจ
ยูนิเซฟ ประกาศเตือน มีเด็กโรฮิงญา กว่า 200,000 คน ต้องการความช่วยเหลือด่วน ทั้งด้านร่างกาย และจิตใจ หลังเผชิญกับความรุนแรง หลายคนอยู่ในสภาพย่ำแย่
(15 ก.ย.60 ) เว็ปไซต์ อินดิเพนเด้น รายงานว่า องค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูนิเซฟได้ประกาศความช่วยเหลือต่อ เด็กชาวโรฮิงญากว่า 200,000 คนในค่ายอพยพ อย่างเร่งด่วน หลังจากมีการอพยพหนีตายจากฝั่งเมียนมาเข้าในในพื้นที่ค็อกซ์ บาซาร์ จำนวนมากเป็นประวัติการณ์
โดยในรายงานระบุว่า กว่า 60% ของจำนวนผู้อพยพ 330,000 คน มีอาการบาดเจ็บ และอีกจำนวนมากได้รับการกระทบกระเทือนทางจิตใจ มีความหวาดกลัว ไม่มีปฏิกิริยาตอบโต้กับคนแปลกหน้า นอกจากนี้พวกเขายังอยู่ในภาวะขาดสารอาหาร หลังจากต้องเดินเท้าไกลติดต่อหลายวัน
นาย Jean-Jacques Simon หัวหน้าแผนกสื่อสารองค์กรยูนิเซฟ กล่าวว่า เป็นเรื่องที่ยากจะจินตนาการถึงคลื่นมนุษย์ที่อพยพออกมาจากเมียนมา และในทุกๆ วัน ยิ่งมีสัดส่วนที่เพิ่มากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งยังไม่มีวันรู้ได้เลยว่าจะจบเมื่อไหร่
นาย Simon กล่าวอีกว่า เขาได้เจอกับเด็กอายุ 3 ขวบคนหนึ่งที่เดินเท้าข้ามมายังฝั่งบังคลาเทศโดยไม่มีพ่อแม่เลย ชวนสงสัยว่าเกิดอะไรขึ้นกับครอบครัวของเขาหรือเปล่า ผู้อพยพหลายหมื่นคนต้องอาศัยในเต็นชั่วคราว สิ่งที่พวกเขาต้องการตอนนี้คือที่หลบภัยและอาหาร
“สองวันก่อนผมได้เจอกับเด็กสองคนนั่งจับมือไม่ห่างกัน โดยที่ไม่มีผู้ใหญ่ดูเเล พวกเขาต้องหลบอยู่ในโคลนเป็นเวลาหลายวันก่อนจะมาถึงที่ค่าย เป็นเรื่องน่าเศร้าอย่างมาก พวกเขาไม่พูด พอถามถึงครอบครัว คำตอบที่ได้มีเพียงการสั่นหัว ” นายSimon กล่าว
ปัจจุบัน ยูนิเซฟ ได้จัดคลีนิคเคลื่อนที่ให้บริการภายในค่ายลี้ภัย นอกจากนี้ยังมีความพยายามช่วยเหลือเด็กโดยการให้ดินสอและกระดาษเพื่อสื่อสาร กรณีที่เด็กไม่ยอมพูด ซึ่งหลายครั้งพบว่าเด็กเหล่านั้นวาดภาพความรุนแรงที่เกิดขึ้นในบ้านเกิดก่อนที่พวกเขาจะจากมา
ทั้งนี้ เมื่อวันพุธ(13 ก.ย.) ผ่านมา นาย แอนโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติ เรียกร้องเจ้าหน้าที่ในพม่าหยุดใช้ความรุนแรงกับชาวมุสลิมโรฮิงญา และยอมรับว่าคำจำกัดความที่ดีที่สุดของสถานการณ์ดังกล่าวคือ “การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์”
ด้าน แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เชื่อว่าการคุกคามและเข่นฆ่าชาวโรฮิงญาในรัฐยะไข่ของเมียนมาเข้าข่าย “การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์” อย่างชัดเจน หลังพบหลักฐานเพิ่มเติมที่ทำให้เชื่อได้ว่ากองกำลังฝ่ายความมั่นคงของเมียนมาเผาบ้านเรือนและโจมตีชาวโรฮิงญาด้วยวิธีต่างๆ อย่างเป็นขบวนการ โดยเฉพาะในช่วงสองสัปดาห์ที่ผ่านมา
จากการวิเคราะห์ข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียม ภาพถ่ายอื่นๆ วิดีโอจากในพื้นที่ และการสัมภาษณ์พยานหลายสิบคนทั้งในเมียนมาและที่หนีข้ามชายแดนมายังบังกลาเทศ แอมเนสตี้พบว่ามีบ้านเรือนในรัฐยะไข่ถูกเผามากกว่า 80 จุด กินพื้นที่ราว 3,300 ตารางกิโลเมตร มีการไล่ทำร้าย ปล้นสะดม และยิงใส่ชาวโรฮิงญา จนถึงตอนนี้ มีชาวโรฮิงญาต้องหลบหนีไปยังบังกลาเทศแล้วอย่างน้อย 370,000 คน ซึ่งไม่รวมประชาชนอีกประมาณ 87,000 คนที่หลบหนีออกมาก่อนหน้านี้แล้วในการคุกคามครั้งก่อนช่วงปลายปี 2559 และต้นปี 2560
แอมเนสตี้คาดว่าขอบเขตความเสียหายอาจกินวงกว้างกว่านี้มาก เนื่องจากมีเมฆหมอกปกคลุมช่วงฤดูมรสุม ทำให้ดาวเทียมไม่สามารถจับภาพเหตุเพลิงไหม้ได้ทั้งหมด และเซ็นเซอร์ของดาวเทียมสำรวจสิ่งแวดล้อมที่แอมเนสตี้ใช้ยังจับภาพได้เฉพาะเหตุเพลิงไหม้ขนาดใหญ่เท่านั้น
ด้านทางการเมียนมาได้ออกมาปฏิเสธว่ากองกำลังฝ่ายความมั่นคงไม่มีส่วนรับผิดชอบต่อเหตุวางเพลิงเหล่านี้ และอ้างว่าชาวโรฮิงญาเป็นผู้จุดไฟเผาบ้านตนเองโดยปราศจากหลักฐานที่น่าเชื่อถือ อย่างไรก็ตาม แอมเนสตี้ได้รับรายงานว่ากลุ่มติดอาวุธชาวโรฮิงญาได้เผาไหม้บ้านเรือนของกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ ในรัฐยะไข่ด้วยเช่นกัน ซึ่งกำลังอยู่ในระหว่างการตรวจสอบข้อมูลและหลักฐาน
แอมเนสตี้เรียกร้องให้ทางการเมียนมายุติปฏิบัติโจมตีและเลือกปฏิบัติต่อชาวโรฮิงญาทันที และเริ่มสอบสวนเหตุร้ายต่างๆ เพื่อนำตัวผู้กระทำผิดมาเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม นอกจากนี้ ประชาคมโลกต้องกดดันออง ซาน ซูจี และผู้นำกองทัพเมียนมามากขึ้น โดยเฉพาะคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติที่จะมีการพูดคุยเกี่ยวกับวิกฤตการณ์ดังกล่าวเร็วๆ นี้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ไม่ใช่เบงกาลี แต่คือโรฮิงญา สำนึกร่วม ประวัติศาสตร์บนพื้นที่อาระกัน
โรฮิงญาอพยพเเล้ว3 แสนคนรมต.ต่างประเทศบังคลาเทศชี้นี่คือ’ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์’
ยูเอ็นชี้วิกฤตโรฮิงญา เป็นตัวอย่างตำราฆ่าล้างเผ่าพันธุ์
นักวิชาการชี้ใช้คำ ‘เบงกาลี’ แทนโรฮิงญาเป็นการจงใจทำลายประวัติศาสตร์พื้นที่
นักวิชาการชี้ ‘ซูจี’ ไร้อำนาจเบ็ดเสร็จแก้ปมโรฮิงญา
โรฮิงญาอพยพพุ่ง 90,000 คน - "ซูจี" ถูกนานาชาติกดดันหนัก
หยุดปฏิบัติการทางทหารของพม่าต่อพลเรือนชาวโรฮิงญา
ฮิวแมนไรต์โชว์ภาพดาวเทียม ไหม้วอด 700 หลังบ้านชาวโรฮิงญา
เตือนบทบาทไทยกรณี "โรฮิงญา" รับลูก "เมียนมา" เสี่ยงหลายมิติ
รัฐบาลเมียนมา ปฏิเสธให้ยูเอ็นเข้าตรวจสอบประเด็นฆ่าล้างเผ่าพันธ์ุโรฮิงยา
กลุ่มผู้หญิงโรฮิงยาเผยกับสื่อ ชาวบ้านโดนทรมานสารพัดช่วงทหารกวาดล้าง