‘นภาลัย ไผ่สีทอง’ ตำนานนิยาย 12 บาท กับภารกิจสุดท้ายในโลกงานเขียน
The Writer เป็นแคมเปญสัมภาษณ์นักเขียนนวนิยาย 12 คน ผู้เป็นตำนานของเมืองไทย มีผลงานเป็นที่ประจักษ์ เพื่อส่งเสริมการอ่าน แรงบันดาลใจให้คนรุ่นใหม่ ร่วมกันสานต่อความฝัน สำหรับแขกรับเชิญคนที่ 4 ประจำเดือน ก.ย.คือ นภาลัย ไผ่สีทอง ที่อยากให้ทุกคนได้สัมผัสกับตัวตนอย่างที่ไม่เคยได้รู้จักมาก่อน
“ดีใจที่ ‘แม่ค้า’ได้พิจารณาหนังสือเล่มเล็ก ๆ
ให้มีคุณค่าขึ้นมาได้...”
นิยายขนาดสั้น 8 บท ปกหลากสีสัน เขียวบ้าง ชมพูบ้าง ตรงกลางเป็นภาพดาราคู่ขวัญในละคร คือเอกลักษณ์เด่นของ ‘นิยาย 12 บาท’ ครองใจแฟนนักอ่านมาหลายสิบปี
‘นภาลัย ไผ่สีทอง’ หรือ อมรรัตน์ พิศุทธิ์สินธุ์ อดีตข้าราชการครู ในวัย 65 ปี ได้รับการกล่าวขวัญยกย่องเป็นตำนานแห่งนิยายเล่มเล็กนี้ มีผลงานร่วม 300 เรื่อง (รวมนิยายเล่มใหญ่) กับ 37 ปีที่โลดแล่นอยู่ในโลกวรรณกรรม
“เริ่มเขียนหนังสือจริงจังตอนอายุ 28 ปี” นักเขียนชั้นครูผู้นี้บอกเล่า ก่อนจะขยายความถึงแรงบันดาลใจว่า ตั้งแต่เด็กเป็นคนชอบอ่านหนังสือมาก ในห้องสมุดมีกี่เล่มอ่านทั้งหมด จากนั้นจึงรู้สึกอยากเขียน โดยมีทมยันตี โสภาค สุวรรณ และวลัย นวาระ เป็นต้นแบบ
“อ่านนิยาย ‘ในฝัน’ ของทมยันตี (คุณหญิงวิมล ศิริไพบูลย์) ประทับใจมาก แต่ตอนจบ ‘เจ็บปวด’ กินข้าวไม่ได้ 3 วัน เลยลองเขียนใหม่ให้ตอนจบแบบแฮปปี้ ช่างน่าเสียดาย เล่มนั้นหายไปแล้ว”
นอกจากชื่นชอบในรสอักษร นภาลัย ยังเล่าว่า การเขียนหนังสือยังเป็นเสมือนการหาลำไพ่เสริมอีกด้วย เพราะสมัยก่อนเงินเดือนข้าราชการน้อย ไม่เพียงพอเลี้ยงครอบครัว จำได้ว่านำต้นฉบับเรื่องแรก ‘เลขาผู้น่ารัก’ ส่งไปยังสำนักพิมพ์บัวหลวง และได้รับการพิจารณาตีพิมพ์ ขายดีติดตลาด
จากเล่มละ 5 บาท ขยับขึ้นเป็น 12 บาท จนปัจจุบัน 25 บาท ความโชคดีทั้งหมดนักเขียนผู้นี้เชื่อว่าเกิดจากโชค
“นิยายเล่ม 12 บาท ใช้เวลาเขียน 1 เล่ม/เดือน จนระยะหลังติดตลาด เลยกลายเป็นใช้เวลาเขียน 2 เล่ม/เดือน ซึ่งเมื่อเริ่มชำนาญ จะยิ่งทำให้เขียนหนังสือได้เร็ว อย่างหนึ่งเพราะนิสัยรักการอ่าน จึงมีเรื่องราวในสมองมากมายอยากจะระบายออกมา แต่เมื่อได้เขียนเรื่องยาว กว่าจะได้ 85-100 หน้ากระดาษเอ 4 ยอมรับว่ายากเหมือนกัน”
นอกจากนิยาย 12 บาท จะมีราคาถูกแสนถูกแล้ว ความเข้มข้นของเนื้อหาไม่แพ้เรื่องยาวของนักเขียนคนอื่น เพราะนภาลัยมีความถนัดในการย่อความมาก จนครองใจนักอ่านตั้งแต่ระดับแม่ค้าไปจนถึงนักธุรกิจ
เธอยินดีมากที่นิยายเข้าถึงทุกกลุ่มคน “ดีใจที่แม่ค้าได้พิจารณาหนังสือเล่มเล็ก ๆ ให้มีคุณค่าขึ้นมาได้ บางคนอาจใช้คำพูดสรุปชนิดน่าทิ้งลงถังขยะ แต่สำหรับคนที่รู้ว่าทุกข์คืออะไร ไม่ต้องการจะทุกข์ตลอด 24 ชั่วโมง นิยาย 12 บาท จะทำให้พวกเขาหายทุกข์ได้สักพักหนึ่ง ช่วยสร้างกำลังใจขึ้นมาได้”
หากสรุปและกลายเป็นว่านักเขียนทำอะไรร้ายแรงกับสังคม และโยนนิยายทิ้งขยะ นภาลัย ถือว่านั่นคือการสบประมาท...น่าเสียดาย...สู้แม่ค้าในตลาดไม่ได้!
ทั้งนี้ นิยาย ‘พาฝัน’ คือลายเซ็นของเธอ เพราะส่วนตัวไม่ชอบเรื่องราวที่หนัก เศร้า รันทด ด้วยเหตุนี้จึงมีคนตำหนิงานเขียนของนักเขียนผู้นี้ว่า เขียนหนังสือเหมือนอ่านเล่น อ่านง๊ายง่าย (เสียงสูง) ในที่นี้หมายถึง เดาตอนจบออก
ส่วนตัวอยากจะถามกลับไปว่า เธอรู้มั้ยว่า ฉันต้องใช้เวลาเท่าไหร่กว่าจะเขียนได้ถึงขนาดนี้
นภาลัย บอกว่า วิธีการเขียนหนังสือของตนเองนั้นจะไม่ลึกลับซับซ้อน ทำยังไงก็ได้ให้อ่านง่าย เข้าใจง่าย และจบง่าย
ส่วนใหญ่คนวิจารณ์ จะพูดด้วยปาก เช่น หาว่า นิยายของนภาลัย ไผ่สีทอง ‘โป๊’ เธอค้านสุดใจ งานเขียนไม่โป๊ และไม่เข้าใจว่า เพราะเหตุใดนักอ่านจึงรับงานเขียนแนวนี้ของฝรั่งได้ แต่รับของไทยไม่ได้ บางคนถึงขั้นอ้างว่า นั่นเป็นขนบธรรมเนียมของต่างชาติ
“อ่านต้องพิจารณา เรื่องราวของแฟนรักกัน จนแต่งงานเป็นครอบครัว อยู่ร่วมกันมีลูก ล้วนต่างต้องผ่านเรื่องราว ถามว่า โป๊หรือไม่ กับการที่คนเราต้องอยู่ร่วมกัน ในชีวิตจริงโป๊หรือไม่ แต่นภาลัย ไผ่สีทอง ไม่ได้เขียนถึงขั้นลึกขนาดนั้น แต่จะใช้วิธีเขียนถึงจุดเริ่มต้นทิ้งไว้ให้ผู้อ่านคิดเอง”
สิ่งเหล่านี้เธอมองว่า เป็นธรรมชาติของมนุษย์ ซึ่งวรรณกรรมของไทยเบากว่ามากเมื่อเปรียบเทียบกับฝรั่ง เพราะเรื่อง ‘กาม’ ไม่ใช่เรื่อง ‘น่ารังเกียจ’ แต่เป็นธรรมชาติของมนุษย์
นภาลัย กล่าวว่า ต่างคนต่างมีสไตล์ของตนเอง หยิบมาเขียนเถอะ เพราะนิยายไทย ไม่ทำให้คนอ่านฆ่าตัวตาย มิหนำซ้ำ นิยายไทยสร้างมากกว่าทำลายอีก
จากรับราชการครู 11 ปี ลาออกมายึดอาชีพนักเขียน จนในวัยเกษียณ นภาลัย ไผ่สีทอง หันเหตนเองเข้าสู่การปฏิบัติธรรม ยึดคำสอนตามหลักพระพุทธศาสนา ฝึกสมาธิ ภาวนา และชำระจิตใจ นำทางเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวในชีวิต
การปฏิบัติธรรมยังช่วยทำให้มีสมาธิในการเขียนนิยายมากขึ้น ไม่ว่าจะเปิดทีวีดังซักแค่ไหน หากจะอยู่ในสมาธิแล้ว ตัดข้างนอกออกให้หมด ‘เขียนหนังสือ’ ได้แน่นอน วันละ 5 บท 25 หน้ากระดาษเอ 4 เช้าจรดเย็น เป็นประจำทุกวัน
“การฝึกสมาธิอยู่ที่ใจ ไม่ใช่ชุดขาว เหลือง แดง ถ้าจะฝึกต้องทำให้ได้ ไม่เกี่ยวกับเสื้อผ้า มิฉะนั้นคนจนไม่มีชุดขาวใส่ก็จะฝึกสมาธิไม่ได้”
นภาลัยยังบอกว่า เขียนหนังสือทุกเดือน เขียนเสียจนในสมองมีเรื่องราวมากมาย คนเราเกิดมากี่ภพกี่ชาติ รู้มั้ย...หัวใจของเรา จิตของเรา ล้วนต่างเก็บเรื่องส่วนตัวไว้มากมาย แต่ละเสี้ยว แต่ละภพชาติ จนถึงเวลาถ่ายทอดออกมาที่ละเรื่อง โดยไม่รู้ตัว จนกว่าเราจะนั่งสมาธิ ภาวนา แล้วจะรู้ทันทีว่า เราเขียนไปได้อย่างไร
การปฏิบัติธรรมอย่างต่อเนื่อง จึงทำให้ภารกิจสุดท้ายในชีวิตอาชีพนักเขียน ตั้งใจจะเขียนเรื่อง ‘เนเวอร์ดายส์’ หรือ ไม่มีวันตาย เป็นนิยายเล่มสุดท้าย โดยบอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับธรรมะ ชีวิตอมตะ จะไม่มีบทรักเลย เพราะศรัทธา ‘หลวงตามหาบัว’ และเห็นว่า พระที่ปฏิบัติธรรมสามารถเป็นอรหันต์ได้จริง ๆ
ความสำเร็จที่เกิดขึ้น เคล็ดลับไม่ยาก แต่ก็ไม่ง่าย “เคล็ดลับที่จะครองใจผู้อ่านได้นั้น ต้องเขียนด้วย ‘หัวใจ’ อย่าหวังเงินทองมากเกินไป ถ้าหวังมาก บางครั้งผิดหวัง เพราะในแวดวงวรรณกรรม บางครั้งเราเขียนได้ แต่สำนักพิมพ์ไม่สามารถให้ค่าตอบแทนอย่างที่เราต้องการได้ เพราะฉะนั้นอย่าเพิ่งคิดว่าจะเป็นนักเขียนอาชีพกันง่าย ๆ จะต้องเขียนเป็นงานอดิเรกก่อน อย่าทิ้งงานประจำ ไม่ใช่เราจะเหยียบเรือสองแคม แต่จำเป็นต้องเหยียบ เพื่อสำนักพิมพ์อยู่รอด และเราอยู่รอด แบบน้ำพึ่งเรือ เสือพึ่งป่า อัชญาสัย”
สุดท้าย ‘นภาลัย ไผ่สีทอง’ ขอบคุณแฟน ๆ นักอ่านทุกคน บุญกุศลที่ทำมาทุกภพทุกชาติ จนถึงเวลานี้ ได้มอบอุทิศให้แก่นักอ่านทุกคน และผู้มีบุญคุณที่หนุนนำให้เป็นนักเขียนนิยายระดับตำนานเช่นนี้
“กรรมที่ส่งผลให้พวกเรามีชีวิตอยู่ จะดีแค่ไหน จะสูงแค่ไหน จะต่ำแค่ไหน อยู่ที่กรรม พยายามทำปัจจุบันให้ดีที่สุด และรักษาศีล 5 ให้ดี”
คือคำอวยพรของสตรีนักเขียน ‘ที่สุด’ แห่งบรรณพิภพ .
เรื่องที่เกี่ยวข้อง:The Writer#3 ‘โบตั๋น’ นางพญาสวนอักษร ผู้ปลุกชีวิต ‘นางเอก’ สู้ไม่ไหวก็ตายไปซะ
The Writer#2 เลื่อมระยับงามอักษร ‘โสภี พรรณราย’ 40 ปี โลดแล่นในโลกวรรณกรรม
The Writer#1 ราชินีนวนิยายดราม่า ‘อาริตา’ กว่าจะถึงวันนี้ไม่ง่าย