ดูเหตุผลศาลฎีกาฯยกฟ้อง‘สมชาย-บิ๊กจิ๋ว-พัชรวาท-สุชาติ’ก่อน ป.ป.ช. อุทธรณ์แค่รายเดียว?
“…แม้ภายหลังจากการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจจะมีผู้ได้รับบาดเจ็บ และในขณะนั้นเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่สามารถนำรถยนต์บรรทุกน้ำมาใช้ฉีดในการเปิดทางได้ แต่เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ปฏิบัติตามขั้นตอนแผนรักษาความสงบ (กรกฎ/48) เท่าที่จะทำได้ในสถานการณ์เช่นนั้น พยานหลักฐานที่ไต่สวนมาจึงรับฟังไม่ได้ว่า จำเลยทั้ง 4 ราย ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ…”
คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ในฐานะโจทก์ คดีสั่งสลายการชุมนุมกลุ่มพันธมิตรฯเมื่อปี 2551 มีมติเสียงข้างมากอุทธรณ์ผลคำพิพากษาคดีดังกล่าวต่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา ตามรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 195 เพียงแค่รายของ พล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว อดีตผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (ผบช.น.) จำเลยที่ 4 แค่รายเดียว ส่วนนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตรองนายกรัฐมนตรี และ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) จำเลยที่ 1-3 มีมติเสียงข้างมากไม่อุทธรณ์ต่อ (อ่านประกอบ : ‘สมชาย-บิ๊กจิ๋ว-พัชรวาท’รอด!ป.ป.ช. ยื่นอุทธรณ์คดีสลาย พธม.แค่‘สุชาติ’รายเดียว)
สืบเนื่องจากที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีมติข้างมาก 8 : 1 เสียง ยกฟ้องคดีดังกล่าว เมื่อวันที่ 2 ต.ค. 2560 ที่ผ่านมา ส่งผลให้กลุ่มพันธมิตรฯที่เป็นผู้เสียหายโดยตรง แม้จะยอมรับและเคารพคำพิพากษา แต่ไม่เห็นพ้องด้วย จึงจี้ให้ ป.ป.ช. อุทธรณ์คดีดังกล่าวต่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาทันที
เหตุผลหลัก ๆ ของที่ พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานกรรมการ ป.ป.ช. ให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อมวลชนเมื่อวันที่ 30 ส.ค. 2560 ที่ผ่านมา จะยืนยันตามหลักการว่า ป.ป.ช. จะอุทธรณ์เฉพาะประเด็นที่คิดว่าน่าจะ ‘ประสบความสำเร็จ’ เท่านั้น แต่บรรดากลุ่มพันธมิตรฯไม่เห็นตามนั้น และเตรียมใช้ช่องทางกฏหมายส่งเรื่องให้ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ส่งต่อให้ประธานศาลฎีกา ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบคณะกรรมการ ป.ป.ช. ชุดนี้ เพื่อให้ถอดถอนออกจากตำแหน่งทั้งหมด (อ่านประกอบ : อุทธรณ์เฉพาะประเด็นที่ประสบความสำเร็จ!ปธ.ป.ป.ช.ปัดอุ้ม‘พัชรวาท’คดีสลาย พธม., พธม. เล็งฟ้องเอาผิดมาตรา 157 ป.ป.ช. ไม่อุทธรณ์ พัชรวาท-ชวลิต-สมชาย)
เพื่อให้สาธารณชนเข้าใจข้อเท็จจริงมากขึ้น สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org นำคำพิพากษากลางฉบับเต็ม เฉพาะประเด็นว่า จำเลยทั้งหมดปฏิบัติหน้าที่โดยชอบหรือไม่ สรุปได้ ดังนี้
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยว่า การกระทำของจำเลยทั้ง 4 ราย เป็นความผิดฐานร่วมกันเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 หรือไม่
ข้อเท็จจริงตามทางการไต่สวนความว่า เมื่อวันที่ 18 ก.ย. 2551 มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งนายสมชาย (จำเลยที่ 1) เป็นนายกรัฐมนตรี พล.อ.ชวลิต (จำเลยที่ 2) เป็นรองนายกรัฐมนตรี หลังจากนั้นเมื่อวันที่ 25 ก.ย. 2551 นายสมชาย นำคณะรัฐมนตรีเข้าถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระมหากษัตริย์ แต่ยังไม่สามารถบริหารราชการแผ่นดินได้ เพราะตามรัฐธรรมนูญปี 2550 มาตรา 176 วรรคหนึ่ง กำหนดให้ต้องแถลงนโยบายต่อรัฐสภา และชี้แจงการดำเนินการตามแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐตามมาตรา 75 ภายใน 15 วัน นับแต่วันเข้ารับหน้าที่
ต่อมาเมื่อวันที่ 2 ต.ค. 2551 นายสมชาย มีหนังสือแจ้งนายชัย ชิดชอบ ประธานรัฐสภา (ขณะนั้น) ว่า คณะรัฐมนตรีพร้อมจะแถลงนโยบายต่อรัฐสภาตั้งแต่วันที่ 7 ต.ค. 2551 เป็นต้นไป สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร แจ้งว่า ประธานรัฐสภามีคำสั่งกำหนดให้คณะรัฐมนตรีแถลงนโยบายในวันดังกล่าวเวลา 9.30 นาฬิกา
แต่เนื่องด้วยเมื่อวันที่ 25 พ.ค. 2551 กลุ่มพันธมิตรฯ ชุมนุมเคลื่อนไหวขับไล่รัฐบาลที่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย แล้วเคลื่อนที่มาชุมนุมบริเวณเชิงสะพานมัฆวานรังสรรค์ ต่อมาเมื่อวันที่ 20 มิ.ย. 2551 กลุ่มพันธมิตรฯมาชุมนุมที่ข้างทำเนียบรัฐบาล โดยปิดการจราจรใน ถ.พิษณุโลก หลังจากนั้นเมื่อวันที่ 26 มิ.ย. 2551 กลุ่มผู้ชุมนุมบุกยึดทำเนียบรัฐบาล จนคณะรัฐมนตรีไม่สามารถเข้าไปทำงานในทำเนียบรัฐบาลได้ และย้ายไปตั้งทำเนียบรัฐบาลชั่วคราวที่ท่าอากาศยานดอนเมือง
กระทั่งช่วงเย็นวันที่ 6 ต.ค. 2551 นายสมชาย ได้รับรายงานว่า กลุ่มผู้ชุมนุมที่ทำเนียบรัฐบาลย้ายมาชุมนุมปิดล้อมอาคารรัฐสภา และได้โฆษณาชักชวนให้ประชาชนมาชุมนุมปิดล้อมอาคารรัฐสภา โดยมุ่งหมายไม่ให้รัฐบาลนายสมชาย แถลงนโยบายเพื่อจะไม่ให้คณะรัฐมนตรีเข้าบริหารราชการแผ่นดินได้
กลางคืนของวันที่ 6 ต.ค. 2551 ประธานรัฐสภาได้รับการประสานจากนายชูศักดิ์ ศิรินิล เลขาธิการนายกรัฐมนตรี (ขณะนั้น) สอบถามว่า จะเลื่อนหรือย้ายสถานที่ประชุมรัฐสภาได้หรือไม่ ประธานรัฐสภาแจ้งว่า ไม่สามารถเลื่อนหรือย้ายสถานที่ประชุมได้ เนื่องจากแจ้งเวลากระชั้นชิดเกินไป และการย้ายสถานที่ประชุมต้องได้รับการลงมติจากสมาชิกรัฐสภา
ในข้อนี้สอดคล้องกับคำเบิกความของนายคำนูณ สิทธิสมาน อดีต ส.ว.สรรหา พยานโจทก์ว่า เช้าวันที่ 7 ต.ค. 2551 พยานทราบข่าวทางโทรทัศน์ว่า มีการสลายการชุมนุมด้วยแก๊สน้ำตา มีผู้ได้รับบาดเจ็บ พยานได้ติดต่อประธานรัฐสภาเพื่อหารือการเปลี่ยนสถานที่ประชุม แต่ประธานรัฐสภายืนยันว่า ต้องมีการประชุมที่รัฐสภาโดยให้เหตุผลว่า ต้องปฏิบัติตามหน้าที่ในการประชุมรัฐสภาเพื่อให้การแถลงนโยบายของรัฐบาลดำเนินไปได้ ประเทศได้จะได้มีรัฐบาลเข้ามาบริหารราชการแผ่นดิน
ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่า ประธานรัฐสภาไม่ให้เลื่อนกำหนดและสถานที่การประชุมรับฟังการแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรีตามที่กำหนดไว้เดิม นายสมชาย จึงให้เลขาธิการนายกรัฐมนตรีเชิญรัฐมนตรีทั้งหมดเข้าร่วมประชุมที่ท่าอากาศยานดอนเมือง เวลา 23.00 นาฬิกาของวันดังกล่าว และแจ้งให้ พล.ต.อ.พัชรวาท (จำเลยที่ 3) เข้าร่วมประชุมเพื่อรายงานสถานการณ์ด้วย
คณะรัฐมนตรีประชุมแล้วมีมติมอบหมายให้ พล.อ.ชวลิต เป็นผู้ติดตามตรวจสอบสถานการณ์และกำกับดูแลการรักษาความสงบเรียบร้อยในวันประชุมสมาชิกรัฐสภา โดยให้ประสานสั่งการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) หน่วยงาน และบุคคลที่เกี่ยวข้อง และให้คณะรัฐมนตรีเดินทาไงปประชุมเพื่อแถลงนโยบายที่อาคารรัฐสภา จึงเป็นกรณีที่นายสมชาย และคณะรัฐมนตรีจะเดินทางไปประชุมที่รัฐสภา เป็นการไปปฏิบัติหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญปี 2550 มาตรา 176 วรรคหนึ่ง เมื่อพิจารณาตามรายงานการประชุมคณะรัฐมนตรีที่มอบหมายให้ พล.อ.ชวลิต ติดตามตรวจสอบสถานการณ์และกำกับดูแลการรักษาความสงบเรียบร้อยในวันประชุมร่วมกันของรัฐสภา
ทั้งข้อเท็จจริงได้ความตามทางไต่สวนอีกว่า พล.อ.ชวลิต ชี้แจงแผนดำเนินการปฏิบัติงานให้นายสมชายทราบแล้ว พล.อ.ชวลิต พร้อมคณะเดินทางไปที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) ประชุมเจ้าหน้าที่ตำรวจชี้แจงเรื่องการดำเนินการให้สมาชิกรัฐสภาเข้าประชุมสภาและออกจากรัฐสภา และ พล.ต.อ.พัชรวาท ได้แจ้งเรื่องการมอบนโยบายของ พล.อ.ชวลิต ให้ พล.ต.ท.สุชาติ (จำเลยที่ 4) ในฐานะ ผบช.น. ทราบ และมอบหมายให้เป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการในฐานะผู้บัญชาการเหตุการณ์ ตามแผนรักษาความสงบ (กรกฎ/48) กับอนุมัติให้ใช้กำลังเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานต่าง ๆ ตามที่ร้องขอ จากนั้น พล.ต.ท.สุชาติ ได้เรียกประชุมวางแผนเพื่อกำหนดแผนการปฏิบัติการตามคำสั่งของ พล.ต.อ.พัชรวาท
ในข้อนี้เห็นได้ว่า การที่ พล.อ.ชวลิต พร้อมคณะเดินทางมาที่ บช.น. เพื่อชี้แจงแผนดำเนินการปฏิบัติงานให้เจ้าหน้าที่ตำรวจระดับปฏิบัติงานไปปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรี โดย พล.ต.อ.พัชรวาท ได้มอบนโยบายให้ พล.ต.ท.สุชาติ ทราบ และมอบหมายให้รับผิดชอบดำเนินการในฐานะผู้บัญชาการเหตุการณ์ตามแผนรักษาความสงบ (กรกฎ/48) ทั้งอนุมัติให้ใช้กำลังเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานต่าง ๆ ตามที่ร้องขอ แล้ว พล.ต.ท.สุชาติ ได้เรียกประชุมวางแผนเพื่อกำหนดแผนการปฏิบัติการตามคำสั่งของ พล.ต.อ.พัชรวาท ซึ่งทุกขึ้นตอนเป็นการสั่งการและมอบหมายงานให้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจผู้รับผิดชอบในการปฏิบัติงานราชการตามอำนาจหน้าที่
เห็นว่า ข้อสั่งการของ พล.อ.ชวลิต ที่แจ้งให้ที่ประชุมที่ บช.น. เช่นนั้น เนื่องด้วยได้รับมอบหมายจากคณะรัฐมนตรีให้ติดตามตรวจสอบสถานการณ์ และกำกับดูแลการรักษาความสงบเรียบร้อยในวันประชุมร่วมกันของรัฐสภา ถือว่า พล.อ.ชวลิต ในฐานะประธานที่ประชุม มีหน้าที่ต้องแจ้งมติคณะรัฐมนตรีให้เจ้าหน้าที่ตำรวจผู้รับผิดชอบในการปฏิบัติหน้าที่โดยตรงได้รับทราบ เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติงานตามอำนาจหน้าที่ต่อไป หาใช่เป็นเรื่องนอกเหนือจากอำนาจหน้าที่ของ พล.อ.ชวลิต ไม่
แม้ พล.อ.ชวลิต จะมอบหมายสั่งการให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ ซึ่งหมายรวมถึง พล.ต.อ.พัชรวาท ไปดำเนินการให้สมาชิกรัฐสภาเข้าประชุมเพื่อรับฟังการแถลงนโยบายของรัฐบาล และการผลักดันผู้ชุมนุมก็ตาม พล.ต.อ.พัชรวาท ในฐานะผู้บังคับบัญชาของข้าราชการตำรวจตาม พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2547 มาตรา 11 (2) ได้แจ้งมติคณะรัฐมนตรี การมอบหมายนโยบาย และข้อสั่งการของ พล.อ.ชวลิต ให้ พล.ต.ท.สุชาติ ในฐานะผู้บัญชาการเหตุการณ์ทราบแล้ว ข้อสั่งการของ พล.ต.อ.พัชรวาท และ พล.ต.ท.สุชาติ ดังกล่าวล้วนเป็นข้อสั่งการตามสายการบังคับบัญชาตามอำนาจหน้าที่เท่านั้น
เมื่อ พล.ต.ท.สุชาติ และผู้เกี่ยวข้องไปดำเนินการวางแผนซักซ้อมการปฏิบัติกับผู้ควบคุมกำลังภายใต้กรอบของแผนรักษาความสงบ (กรกฎ/48) ที่ สตช. กำหนดเป็นแนวทางการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจในการรักษาความสงบเรียบร้อยและปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์การก่อความไม่สงบภายในประเทศ ซึ่งมี 4 ขั้นตอน ได้แก่ ขั้นเตรียมการ (ก่อนเกิดเหตุการณ์) ขั้นป้องกัน (ขณะเกิดเหตุ) ขั้นปราบปราม และขั้นฟื้นฟูหลังเกิดเหตุ
ข้อเท็จจริงได้ความตามทางไต่สวนว่า กลุ่มผู้ชุมนุมใช้หนังสติ๊กยิงหัวนอต ลูกเหล็ก และลูกแก้ว โยนขวดน้ำ ท่อนไม้ ก้อนหิน และขว้างประทัดเข้าใส่ สอดคล้องกับที่ พล.ต.ต.ปรีชา ธิมามนตรี ได้รับรายงานจาก พ.ต.ท.นพศิลป์ พูลสวัสดิ์ รองผู้กำกับการ ศูนย์สืบสวน บช.น. ที่แฝงตัวเข้าไปในกลุ่มผู้ชุมนุมเพื่อรายงานสถานการณ์ตั้งแต่วันที่ 6 ต.ค. 2551 เวลาประมาณ 20 นาฬิกา พบว่า กลุ่มผู้ชุมนุมพกพาอาวุธ เช่น ไม้ มีด เป็นต้น นำผ้ามาปิดกล้องวงจรปิด (CCTV) ที่อยู่บริเวณนั้น นำโซ่มาล่ามคล้องประตูรัฐสภา ด้านประตูประสาทเทวริทธิ์ มีแนวลวดหนามและแผงเหล็กกั้นกลางถนน
ต่อมาเวลาประมาณ 24.00 นาฬิกา กลุ่มผู้ชุมนุมนำยางรถยนต์มาวางกั้นระหว่างแนวลวดหนามและแผงเหล็ก และใช้น้ำมันราดที่พื้นถนน นอกจากนี้นายสุชาติ ลายน้ำเงิน เบิกความว่า เมื่อวันที่ 7 ต.ค. 2551 เมื่อพยานเข้าร่วมประชุมรัฐสภา หลังจากเดินทางเข้าไปได้สักครู่หนึ่ง ไฟฟ้าในอาคารรัฐสภาดับลง การประชุมต้องใช้ไฟฟ้าสำรอง จำเลยที่ 1 (นายสมชาย) ต้องรีบเร่งแถลงนโยบายเพราะเหตุการณ์ด้านนอกมีความตึงเครียด ส่อว่าจะเกิดความรุนแรง
พิจารณาข้อเท็จจริงที่ได้จากคำเบิกความพยานโจทก์และพยานจำเลย จะเห็นได้ว่า เหตุการณ์ช่วงเช้า ในส่วนของนายสมชาย เมื่อเข้าไปประชุมแถลงนโยบายจบ ได้ปีนกำแพงออกทางด้านหลังอาคารรัฐสภาด้านพระที่นั่งวิมานเมฆ สำหรับ พล.อ.ชวลิต ได้ลาออกจากตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีในวันเกิดเหตุตั้งแต่เวลา 9 นาฬิกา พล.ต.อ.พัชรวาท สั่งการให้ พล.ต.ท.สุชาติ ดำเนินการปฏิบัติเปิดทางก็เป็นข้อสั่งการปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรี
ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงตามทางไต่สวนว่า นายสมชาย พล.อ.ชวลิต และ พล.ต.อ.พัชรวาท สั่งการให้เจ้าหน้าที่ตำรวจผู้ปฏิบัติทำร้ายกลุ่มผู้ชุมนุม สำหรับ พล.ต.ท.สุชาติ ในฐานะผู้บัญชาการเหตุการณ์ หลังจากได้รับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชาแล้วประชุมวางแผนกับเจ้าหน้าที่ตำรวจผู้ปฏิบัติเพื่อให้กลุ่มผู้ชุมนุมที่ปิดล้อมรัฐสภาเปิดเส้นทางให้สมาชิกรัฐสภาเข้าประชุมฟังการแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรีต่อรัฐสภาตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ
แม้ตามรัฐธรรมนูญปี 2550 มาตรา 63 บัญญัติสรุปได้ว่า บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ แต่ตามหลักกฎหมายรัฐธรรมนูญดังกล่าว บัญญัติให้ผู้ชุมนุมมีสิทธิเสรีภาพในการชุมนุมได้ โดยอยู่ภายใต้เงื่อนไขว่า ต้องกระทำโดยสงบ และปราศจากอาวุธ
ข้อเท็จจริงได้ความตามทางไต่สวนอีกว่า กลุ่มผู้ชุมนุมใช้หนังสติ๊กยิงหัวนอต ลูกเหล็ก และลูกแก้ว โยนขวดน้ำ ท่อนไม้ ก้อนหิน และขว้างประทัดเข้าใส่ ทั้งนำผ้ามาปิดกล้องวงจรปิดที่อยู่บริเวณนั้น นำโซ่มาล่ามคล้องประตูรัฐสภาด้านประตูประสาทเทวริทธิ์ มีแนวลวดหนามและแผงเหล็กกั้นกลางถนน
ได้รับความจาก พ.ต.ท.กำธร อุ่ยเจริญ รองผู้กำกับการ กลุ่มงานเก็บกู้และตรวจพิสูจน์ระเบิด กองบังคับการตำรวจปฏิบัติการพิเศษ ให้ถ้อยคำต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. อีกว่า ภายหลังเข้าไปตรวจสอบภายในทำเนียบรัฐบาล พบว่า มีระเบิดดินดำ หรือระเบิดปิงปองจำนวนมาก ยิ่งเป็นข้อบ่งชี้ให้เห็นว่า การะทำของกลุ่มผู้ชุมนุมหาใช่เป็นการชุมนุมโดยสงบ และปราศจากอาวุธภายใต้บทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญดังกล่าวไม่
การที่เจ้าหน้าที่ตำรวจปฏิบัติตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชาในการควบคุมการชุมนุมเพื่อให้เกิดความเรียบร้อยตามที่บัญญํติไว้ใน พ.ร.บ.ตำรวจแหงชาติ พ.ศ. 2547 มาตรา 6 ประกอบกับการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจโดยเริ่มแต่ พ.ต.ท.สำเริง ใช้รถโมบาย (รถเย็นทั่วหล้า) ไปประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างความเข้าใจให้กลุ่มผู้ชุมนุมที่ปิดทางเข้าออกรัฐสภาบริเวณถนนราชวิถี ด้านประตูประสาทเทวริทธิ์ สลายตัว และเปิดทางให้สมาชิกรัฐสภาเข้าไปประชุม แต่ผู้ชุมนุมไม่เชื่อฟัง กลับใช้เครื่องขยายเสียงที่ติดตั้งอยู่บนรถเรียกผู้ชุมนุมอื่น ๆ ให้เข้ามาร่วมสมทบ พ.ต.ท.สำเริง จึงประกาศว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจจะใช้มาตรการควบคุมฝูงชนจากเบาไปหาหนักเพื่อเปิดเส้นทางจราจร หากเจรจาไม่เป็นผลจะใช้กำลังกดดันและใช้แก๊สน้ำตาในลำดับต่อไป
แม้ภายหลังจากการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจจะมีผู้ได้รับบาดเจ็บ และในขณะนั้นเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่สามารถนำรถยนต์บรรทุกน้ำมาใช้ฉีดในการเปิดทางได้ แต่เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ปฏิบัติตามขั้นตอนแผนรักษาความสงบ (กรกฎ/48) เท่าที่จะทำได้ในสถานการณ์เช่นนั้น
พยานหลักฐานที่ไต่สวนมาจึงรับฟังไม่ได้ว่า จำเลยทั้ง 4 ราย ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ
----
อย่างไรก็ดีในเวลาประมาณ 13.30 น. วันที่ 31 ส.ค. 2560 พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานกรรมการ ป.ป.ช. พร้อมด้วยคณะทำงาน จะแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนถึงข้อเท็จจริง และรายละเอียดว่า ทำไมถึงอุทธรณ์ผลคำพิพากษาคดีดังกล่าวแค่กรณี พล..ต.ท.สุชาติ รายเดียว
เหตุผลจะเป็นเช่นไร ต้องติดตามกันต่อไป
อ่านประกอบ :
ข้อต่อสู้‘สมชาย-บิ๊กจิ๋ว-พัชรวาท’คดีสลายพธม.ไขคำตอบ ป.ป.ช.อุทธรณ์ ‘สุชาติ’รายเดียว?
ป.ป.ช.ถกอุทธรณ์คดีสลาย พธม. 29 ส.ค. -ขอ 'วัชรพล'ถอนตัวหวั่นถูกวิจารณ์มีส่วนได้เสีย
เจาะคำวินิจฉัยผู้พิพากษาเสียงข้างน้อยคดีสลาย พธม. แก๊สน้ำตารุนแรงทำคนเจ็บ-ตายได้?
ผู้ชุมนุมขว้างน็อต-มีระเบิดปิงปอง!คำพิพากษาฉบับเต็มชี้ใช้แก๊สน้ำตาสลาย พธม.ชอบแล้ว
'สมชาย-ชวลิต-พัชรวาท-สุชาติ' รอด! ศาลฎีกาฯ ยกฟ้องคดีสลายพันธมิตรฯปี 51
คลอดคำวินิจฉัย 40 หน้า คดีสลายพันธมิตรฯ-ไม่มีเจตนาพิเศษให้ ตร.ทำร้ายผู้ชุมนุม
‘วัชรพล’รับสัมพันธ์‘วงษ์สุวรรณ’คือจุดอ่อนชีวิต! ยันตอบสังคมได้ปมอุทธรณ์คดีสลาย พธม.
ยื่น ป.ป.ช.อุทธรณ์คดีสลาย พธม.-‘วีระ’ ย้อน’บิ๊กตู่’คสช.เคยฉีก รธน.ผิดไหม
7 ส.ค.พธม.ยื่น ป.ป.ช.จี้อุทธรณ์คดีสลายชุมนุม-‘วิชา’ยันศาล ปค.ชี้แล้ว จนท.รัฐทำโดยมิชอบ
9ปีรูดม่านคดีสลาย พธม. เจาะคำพิพากษาศาลไฉนยกฟ้อง‘สมชาย-บิ๊กจิ๋ว-พัชรวาท-สุชาติ’?
'สมชาย-ชวลิต-พัชรวาท-สุชาติ' รอด! ศาลฎีกาฯ ยกฟ้องคดีสลายพันธมิตรฯปี 51
เคารพคำพิพากษาแต่ไม่เห็นพ้อง!มติ พธม.ยื่น ป.ป.ช.อุทธรณ์คดีสลายชุมนุมปี'51
ยังไม่ได้ข้อสรุปอุทธรณ์คดีสลาย พธม.!ป.ป.ช.สั่ง จนท.ดูคำพิพากษา-เชื่อทันกรอบ รธน.
‘สมชาย’แถลงปิดคดีปัดสั่งสลายชุมนุม เผย‘พัชรวาท-สุชาติ’ออกหน้าดูเอง–พิพากษา 2 ส.ค.
เบื้องหลัง!ความพยายามสู้นอกศาลของ ‘สมชาย-พวก’ก่อนรูดม่านปิดคดีสลาย พธม.?