สองมาตรฐาน ยูเอ็นประณามบริษัทสวิสฯ ส่งออกพาราควอตไปประเทศกำลังพัฒนา
ผู้แทนยูเอ็นประณามบริษัทผลิตยาฆ่าหญ้าสวิสฯ กรณีส่งออกพาราควอตไปยังประเทศกำลังพัฒนา ขณะที่อียูสั่งห้ามด้วยเหตุเรื่องสุขภาพ ชี้ การกระทำดังกล่าวสะท้อนความสองมาตรฐานในการควบคุมสารเคมีร้ายแรง
(สำนักงานใหญ่ บริษัท ซินเจนทา จำกัด ผู้ผลิตพาราควอตรายใหญ่ของยุโรป, ภาพจาก: https://www.theguardian.com)
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อเร็วๆ นี้ นายBaskut Tuncak ผู้ตรวจการพิเศษด้านสิทธิมนุษยชนจากผลกระทบสิ่งแวดล้อมของวัตถุอันตราย องค์การสหประชาชาติ กล่าวว่า เป็นสิ่งที่น่าตกใจมาก เมื่ออียูมีมาตรการสั่งห้ามการใช้ปุ๋ยเคมี ยาฆ่าแมลงที่มีสารพิษรุนแรง โดยอ้างเรื่องสุขภาพและสิ่งแวดล้อม แต่กลับมีประเทศอียูที่ส่งออกยาฆ่าแมลงอันตรายเหล่านั้นไปยังประเทศกำลังพัฒนาที่ยังไม่มีมาตรการในเรื่องนี้ แบบนี้ถือเป็นการปฏิบัติสองมาตรฐาน ขอประณามการกระทำในลักษณะนี้
ด้านสื่อยักษ์ใหญ่จากอังกฤษ อย่างเดอะการ์เดี้ยน ได้เผยข้อมูลจากกลุ่มเอ็นจีโอสวิตฯ ที่ระบุว่า บริษัท ซินเจนทา จำกัด ซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ มีการส่งออกพาราควอตอยู่ราว 95% ของยุโรป ซึ่งขายในนามยี่ห้อ กรัมม็อกโซน (Gramoxone) นับตั้งแต่ปี 2015 บริษัทได้ส่งออกพาราควอตจากโรงงานในอังกฤษราว 122,831 ตัน เฉลี่ย 41,000 ตันต่อปี และนับตั้งแต่ปี 2015 เมื่อโรงงานในเบลเยี่ยมได้ยุติการส่งออกพาราควอต สารเคมีและยาฆ่าแมลงทั้งหมดมาจากบริษัท ซินเจนทา
ในรายงานระบุว่า 2 ใน 3 ของพาราควอตที่ส่งออกหรือราว 62% ถูกส่งไปยังประเทศยากจน กำลังพัฒนา เช่น บราซิล เม็กซิโก อินโดนีเซีย กัวเตมาลา เวเนซุเอลาและอินเดีย และอีก 35% ส่งไปยังสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นประเทศที่มีการควบคุมการใช้งานอย่างเข้มงวด
บริษัทซินเจนทา ผลิตพาราควอตมาเเล้ว 20 ปี มีโรงงานตั้งอยู่ในเมืองฮัดเดอร์ส์ฟิลด์ ประเทศอังกฤษ และในปี 2014 บริษัทนี้ถูกฟ้องเรียกค่าเสียหาย 200,000 ปอนด์ หลังจากที่สารเคมีกว่า 3 รั่วไหลจากอุบัติเหตุในบริเวณโรงงาน
โฆษกประจำบริษัทได้ออกมาอธิบายและเเสดงความเสียใจต่อเหตุการณ์สารเคมีรั่วไหล พร้อมทั้งระบุว่า ถึงอย่างไรก็ไม่มีใครได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต และไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากเหตุครั้งนั้น
ทั้งยังระบุอีกว่า กว่าครึ่งศตวรรษแล้วที่โลกมีการพาราควอต ซึ่งเป็นสารที่มีคุณประโยชน์อย่างมากในการกำจัดศัตรูพืช และยังช่วยให้เกษตรกรกว่าล้านรายสามารถมีผลผลิตที่ดีได้ อียูไม่ได้แบนพาราควอต เพียงแต่พาราควอตไม่ได้รับอนุญาตให้ใช้เพราะไม่เป็นไปตามระเบียบปฏิบัติของยุโรป
ด้าน Laurent Gaberell จากกลุ่ม Public Eye ซึ่งเป็นภาคประชาสังคมที่เฝ้าติดตามประเด็นสาธารณะ กล่าวว่า ในแต่ละปี คนในประเทศที่กำลังพัฒนาต้องเผชิญความสูญเสียจากพาราควอตปีละพันกว่าคน ซึ่งเป็นหน้าที่ของประเทศอย่างอังกฤษที่ต้องแสดงความรับผิดชอบ ต่อสิ่งที่เกิดขึ้นจากผลกระทบของสารดังกล่าว ซึ่งถือว่าเป็นการสร้างความรุนแรงต่อสิทธิมนุษยชน
ด้านNick Mole จากเครือข่ายป้องกันยาฆ่าแมลง( the Pesticide Action Network ) อธิบายสิ่งที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ว่าเป็นการปฏิบัติสองมาตรฐาน นอกจากนี้เเล้ว จีนยังเป็นประเทศรายใหญ่ที่มีการผลิตสารชนิดนี้ ขณะที่มาตรการของจีนเองก็มีความพยายามในการควบคุมการใช้สารตัวนี้ด้วยเช่นกัน
Mole กล่าวอีกว่า ในเมื่อประเทศที่มีสั่งห้ามใช้งานพาราควอต ก็ควรมีการสั่งห้ามผลิตและส่งออกด้วย ไม่เช่นนั้น นับเป็นความล้มเหลวในการควบคุมอย่างแท้จริง แม้ว่าทางบริษัทผู้ผลิตจะมีการระบุว่า พาราควอตคือสารที่มีคุณสมบัติดีที่สุดในการกำจัดศัตรูพืช ซึ่งในความจริงเรายังมีทางเลือกอื่นอีกมาก แต่นั่นอาจหมายถึงผลกำไรที่หายไปของบริษัทนั่นเอง
นอกจากนี้ ยังมีรายงานว่าในปี 2003 มีคำตัดสินว่าสารพาราควอตนั้นไม่ตอบสนองข้อกำหนดในการปกป้องสุขภาพของมนุษย์และสัตว์ ทั้งนี้สารพิษซึ่งสามารถซึมผ่านผิวหนังได้ และยังมีรายงานว่า สารเคมีดังกล่าว มีความเกี่ยวโยงกับการเกิดโรคพากินสันด้วยเช่นกัน
ด้านโฆษกประจำกระทรวงเกษตรและชนบทของอังกฤษ (Department of Farming and Rural Affairs) เผยถึงข้อตกลงในการประชุมเรื่องสารเคมีในยาฆ่าแมลงและศัตรูพืชที่เมือง รอตเธอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ว่า ทางรัฐบาลอังกฤษมีความยินดีที่จะปฏิบัติตามข้อตกลงของนานาประเทศในการควบคุมสารเคมีในยาฆ่าหญ้า เช่น พาราควอต เป็นต้น
อ่านประกอบ
เล็งยกเลิก สารเคมีอันตราย 2 ชนิด พาราควอต และคลอร์ไพริฟอส
ขีดเส้น 1 เดือน กษ.เพิกถอนทะเบียน พาราควอต-คลอร์ไพริฟอส
ฉบับเต็ม! เอ็นจีโอเเถลงโต้ ยัน 'พาราควอต-คลอร์ไพริฟอส' อันตราย จี้เพิกถอนพ้นทะเบียน
นักวิชาการชี้ “พาราควอต” มีอันตรายขึ้นอยู่กับผู้ใช้ ยันไม่ซึมผ่านผิวหนัง ยกเว้นมีแผล
สภาเกษตรกร จี้กษ.เร่งหาสารทดแทนพาราควอตโดยเร็ว
ผอ.มูลนิธิชีววิถีชี้แบนสารพาราควอตเจตนาดีต่อสุขภาพเกษตรกรไทย
กรมวิชาการเกษตรเปิดตัวเลขไทยนำเข้ายาฆ่าหญ้า-แมลงกว่า 9 หมื่นตัน/ปี
ผอ.มูลนิธิขวัญข้าว ชี้มีเสียงค้านยกเลิก 'พาราควอต' เหตุนายทุนเสียประโยชน์