ผู้ชุมนุมขว้างน็อต-มีระเบิดปิงปอง!คำพิพากษาฉบับเต็มชี้ใช้แก๊สน้ำตาสลาย พธม.ชอบแล้ว
เจาะคำพิพากษาฉบับเต็มคดีสลาย พธม.ปี’51 พยานหลักฐานชี้ชัดกลุ่มผู้ชุมนุมขว้างน็อต-ลูกเหล็ก มีระเบิดปิงปอง ไม่ได้ชุมนุมโดยสงบตาม รธน. ฝ่าย ตร. ใช้วิธีจากเบาไปหนัก ประกาศเตือนแล้วแต่ไม่ฟัง ยันใช้แก๊สน้ำตาสลายกระทำโดยชอบ
จากกรณีศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพิพากษายกฟ้องคดีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายความมั่นคง พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) และ พล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว อดีตผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (ผบช.น.) คดีสั่งสลายการชุมนุมกลุ่มพันธมิตรฯเมื่อปี 2551 นั้น (อ่านประกอบ : 'สมชาย-ชวลิต-พัชรวาท-สุชาติ' รอด! ศาลฎีกาฯ ยกฟ้องคดีสลายพันธมิตรฯปี 51)
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบคำพิพากษาฉบับเต็มของศาลฎีกาฯ ระบุตอนหนึ่งถึงกรณีการใช้แก๊สน้ำตาสลายกลุ่มผู้ชุมนุมพันธมิตรฯ สรุปได้ว่า ข้อเท็จจริงได้ความตามทางไต่สวนว่า กลุ่มผู้ชุมนุมใช้หนังสติ๊กยิงหัวนอต ลูกเหล็ก และลูกแก้ว โยนขวดน้ำ ท่อนไม้ ก้อนหิน และขว้างประทัดเข้าใส่ สอดคล้องกับที่ พล.ต.ต.ปรีชา ธิมามนตรี ได้รับรายงานจาก พ.ต.ท.นพศิลป์ พูลสวัสดิ์ รองผู้กำกับการ ศูนย์สืบสวน บช.น. ที่แฝงตัวเข้าไปในกลุ่มผู้ชุมนุมเพื่อรายงานสถานการณ์ตั้งแต่วันที่ 6 ต.ค. 2551 เวลาประมาณ 20 นาฬิกา พบว่า กลุ่มผู้ชุมนุมพกพาอาวุธ เช่น ไม้ มีด เป็นต้น นำผ้ามาปิดกล้องวงจรปิด (CCTV) ที่อยู่บริเวณนั้น นำโซ่มาล่ามคล้องประตูรัฐสภา ด้านประตูประสาทเทวริทธิ์ มีแนวลวดหนามและแผงเหล็กกั้นกลางถนน
ต่อมาเวลาประมาณ 24 นาฬิกา กลุ่มผู้ชุมนุมนำยางรถยนต์มาวางกั้นระหว่างแนวลวดหนามและแผงเหล็ก และใช้น้ำมันราดที่พื้นถนน นอกจากนี้นายสุชาติ ลายน้ำเงิน เบิกความว่า เมื่อวันที่ 7 ต.ค. 2551 เมื่อพยานเข้าร่วมประชุมรัฐสภา หลังจากเดินทางเข้าไปได้สักครู่หนึ่ง ไฟฟ้าในอาคารรัฐสภาดับลง การประชุมต้องใช้ไฟฟ้าสำรอง จำเลยที่ 1 (นายสมชาย) ต้องรีบเร่งแถลงนโยบายเพราะเหตุการณ์ด้านนอกมีความตึงเครียด ส่อว่าจะเกิดความรุนแรง
พิจารณาข้อเท็จจริงที่ได้จากคำเบิกความพยานโจทก์และพยานจำเลย จะเห็นได้ว่า เหตุการณ์ช่วงเช้า ในส่วนของจำเลยที่ 1 เมื่อเข้าไปประชุมแถลงนโยบายจบ ได้ปีนกำแพงออกทางด้านหลังอาคารรัฐสภาด้านพระที่นั่งวิมานเมฆ สำหรับจำเลยที่ 2 (พล.อ.ชวลิต) ได้ลาออกจากตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีในวันเกิดเหตุตั้งแต่เวลา 9 นาฬิกา จำเลยที่ 3 (พล.ต.อ.พัชรวาท) สั่งการให้จำเลยที่ 4 (พล.ต.ท.สุชาติ) ดำเนินการปฏิบัติเปิดทางก็เป็นข้อสั่งการปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรี
ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงตามทางไต่สวนว่า จำเลยที่ 1-3 สั่งการให้เจ้าหน้าที่ตำรวจผู้ปฏิบัติทำร้ายกลุ่มผู้ชุมนุม สำหรับจำเลยที่ 4 ในฐานะผู้บัญชาการเหตุการณ์ หลังจากได้รับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชาแล้วประชุมวางแผนกับเจ้าหน้าที่ตำรวจผู้ปฏิบัติเพื่อให้กลุ่มผู้ชุมนุมที่ปิดล้อมรัฐสภาเปิดเส้นทางให้สมาชิกรัฐสภาเข้าประชุมฟังการแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรีต่อรัฐสภาตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ
แม้ตามรัฐธรรมนูญปี 2550 มาตรา 63 บัญญัติสรุปได้ว่า บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ แต่ตามหลักกฎหมายรัฐธรรมนูญดังกล่าว บัญญัติให้ผู้ชุมนุมมีสิทธิเสรีภาพในการชุมนุมได้ โดยอยู่ภายใต้เงื่อนไขว่า ต้องกระทำโดยสงบ และปราศจากอาวุธ
ข้อเท็จจริงได้ความตามทางไต่สวนอีกว่า กลุ่มผู้ชุมนุมใช้หนังสติ๊กยิงหัวนอต ลูกเหล็ก และลูกแก้ว โยนขวดน้ำ ท่อนไม้ ก้อนหิน และขว้างประทัดเข้าใส่ ทั้งนำผ้ามาปิดกล้องวงจรปิดที่อยู่บริเวณนั้น นำโซ่มาล่ามคล้องประตูรัฐสภาด้านประตูประสาทเทวริทธิ์ มีแนวลวดหนามและแผงเหล็กกั้นกลางถนน
ได้รับความจาก พ.ต.ท.กำธร อุ่ยเจริญ รองผู้กำกับการ กลุ่มงานเก็บกู้และตรวจพิสูจน์ระเบิด กองบังคับการตำรวจปฏิบัติการพิเศษ ให้ถ้อยคำต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. อีกว่า ภายหลังเข้าไปตรวจสอบภายในทำเนียบรัฐบาล พบว่า มีระเบิดดินดำ หรือระเบิดปิงปองจำนวนมาก ยิ่งเป็นข้อบ่งชี้ให้เห็นว่า การะทำของกลุ่มผู้ชุมนุมหาใช่เป็นการชุมนุมโดยสงบ และปราศจากอาวุธภายใต้บทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญดังกล่าวไม่
การที่เจ้าหน้าที่ตำรวจปฏิบัติตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชาในการควบคุมการชุมนุมเพื่อให้เกิดความเรียบร้อยตามที่บัญญํติไว้ใน พ.ร.บ.ตำรวจแหงชาติ พ.ศ. 2547 มาตรา 6 ประกอบกับการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจโดยเริ่มแต่ พ.ต.ท.สำเริง ใช้รถโมบาย (รถเย็นทั่วหล้า) ไปประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างความเข้าใจให้กลุ่มผู้ชุมนุมที่ปิดทางเข้าออกรัฐสภาบริเวณถนนราชวิถี ด้านประตูประสาทเทวริทธิ์ สลายตัว และเปิดทางให้สมาชิกรัฐสภาเข้าไปประชุม แต่ผู้ชุมนุมไม่เชื่อฟัง กลับใช้เครื่องขยายเสียงที่ติดตั้งอยู่บนรถเรียกผู้ชุมนุมอื่น ๆ ให้เข้ามาร่วมสมทบ พ.ต.ท.สำเริง จึงประกาศว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจจะใช้มาตรการควบคุมฝูงชนจากเบาไปหาหนักเพื่อเปิดเส้นทางจราจร หากเจรจาไม่เป็นผลจะใช้กำลังกดดันและใช้แก๊สน้ำตาในลำดับต่อไป
แม้ภายหลังจากการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจจะมีผู้ได้รับบาดเจ็บ และในขณะนั้นเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่สามารถนำรถยนต์บรรทุกน้ำมาใช้ฉีดในการเปิดทางได้ แต่เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ปฏิบัติตามขั้นตอนแผนรักษาความสงบ (กรกฎ/48) เท่าที่จะทำได้ในสถานการณ์เช่นนั้น พยานหลักฐานที่ไต่สวนมาจึงรับฟังไม่ได้ว่า จำเลยทั้ง 4 ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ปัจจุบันกรณีนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ว่าจะอุทธรณ์ต่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา ตามรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 195 หรือไม่
อ่านประกอบ :
คลอดคำวินิจฉัย 40 หน้า คดีสลายพันธมิตรฯ-ไม่มีเจตนาพิเศษให้ ตร.ทำร้ายผู้ชุมนุม
‘วัชรพล’รับสัมพันธ์‘วงษ์สุวรรณ’คือจุดอ่อนชีวิต! ยันตอบสังคมได้ปมอุทธรณ์คดีสลาย พธม.
ยื่น ป.ป.ช.อุทธรณ์คดีสลาย พธม.-‘วีระ’ ย้อน’บิ๊กตู่’คสช.เคยฉีก รธน.ผิดไหม
7 ส.ค.พธม.ยื่น ป.ป.ช.จี้อุทธรณ์คดีสลายชุมนุม-‘วิชา’ยันศาล ปค.ชี้แล้ว จนท.รัฐทำโดยมิชอบ
9ปีรูดม่านคดีสลาย พธม. เจาะคำพิพากษาศาลไฉนยกฟ้อง‘สมชาย-บิ๊กจิ๋ว-พัชรวาท-สุชาติ’?
'สมชาย-ชวลิต-พัชรวาท-สุชาติ' รอด! ศาลฎีกาฯ ยกฟ้องคดีสลายพันธมิตรฯปี 51
เคารพคำพิพากษาแต่ไม่เห็นพ้อง!มติ พธม.ยื่น ป.ป.ช.อุทธรณ์คดีสลายชุมนุมปี'51
ยังไม่ได้ข้อสรุปอุทธรณ์คดีสลาย พธม.!ป.ป.ช.สั่ง จนท.ดูคำพิพากษา-เชื่อทันกรอบ รธน.
‘สมชาย’แถลงปิดคดีปัดสั่งสลายชุมนุม เผย‘พัชรวาท-สุชาติ’ออกหน้าดูเอง–พิพากษา 2 ส.ค.
เบื้องหลัง!ความพยายามสู้นอกศาลของ ‘สมชาย-พวก’ก่อนรูดม่านปิดคดีสลาย พธม.?