แม้วคิดปูทำ!อัยการชี้จำนำข้าวไร้งานวิจัยรองรับ แค่หาเสียงชาวนาเพื่อต้องการชนะเลือกตั้ง
เจาะคำแถลงปิดคดี อัยการชี้ให้เห็นนโยบายจำนำข้าว ‘ทักษิณ’ ต้นคิด ไร้งานวิจัยได้มาตรฐานมารองรับ หาเสียงกับชาวนาที่มี 3-4 ล้านครัวเรือนเพื่อต้องการชนะเลือกตั้งเท่านั้น ไม่ได้ใส่ใจช่วยเหลือเกษตรกรจริง
จากกรณีเมื่อวันที่ 16 ส.ค. 2560 พนักงานอัยการได้ยื่นคำแถลงปิดคดีโครงการรับจำนำข้าวที่อัยการสูงสุด (อสส.) เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นจำเลย ต่อองค์คณะผู้พิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองแล้ว โดยมีการยื่นสำนวนคดีระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) โดยมิชอบ ที่มีนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีต รมว.พาณิชย์ กับพวกรวม 28 ราย เข้าไปด้วย ซึ่งศาลฎีกาฯนัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 25 ส.ค. 2560 นั้น (อ่านประกอบ : คำแถลงอัยการปิดคดีข้าวยกคำท้วงติงสารพัดหน่วยงานชี้‘ปู’ไม่จริงจังป้องทุจริต-ชาติเสียหาย)
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบสาระสำคัญของคำแถลงปิดคดีฝ่ายพนักงานอัยการ พบข้อมูลตอนหนึ่งที่อ้างถึงประเด็นว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ กระทำความผิดตามคำฟ้องของพนักงานอัยการหรือไม่ และหลักการรับจำนำสินค้าเกษตร หรือจำนำข้าวที่ถูกต้องเหมาะสมควรเป็นอย่างไร
พนักงานอัยการได้อ้างถึง ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) และผู้ทำวิจัยเกี่ยวกับเรื่องข้าวมาหลายสิบปี รวมถึงข้อมูลจากพจนานุกรมศัพท์เศรษฐศาสตร์ สรุปได้ว่า การรับจำนำข้าวหมายถึงรับจำนำในราคาต่ำกว่าตลาด คิดดอกเบี้ยต่ำ ให้ชาวนาชะลอการขายข้าวเปลือกในราคาต่ำตอนต้นฤดูเก็บเกี่ยวไปขายภายหลังเมื่อมีราคาข้าวสูงขึ้น ทำให้รัฐบาลไม่มีสต็อกข้าวเหลือจำนวนมาก
อย่างไรก็ดีความหมายของการรับจำนำที่แท้จริงดังกล่าว มาเปลี่ยนสมัยรัฐบาลนายทักษิณ ชินวัตร ที่เปลี่ยนแปลงมาตรการรับจำนำข้าวจากเดิม มาเป็นนโยบายประกันราคาข้าวในราคาที่สูงกว่าราคาตลาด แต่รัฐบาลไม่เปลี่ยนชื่อ ยังใช้ชื่อจำนำข้าวเหมือนเดิม ซึ่งตามข้อมูลของทีดีอาร์ไอ และสำนักงาน ป.ป.ช. ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริง สรุปได้ว่า นโยบายใหม่นี้มีผลกระทบมากมายต่อตลาดข้าวในประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาการทุจริตของผู้ที่เกี่ยวข้อง ทั้งที่ยังมีมาตรการช่วยเหลือชาวนาแบบอื่นที่จะไม่ก่อให้เกิดการทุจริตอย่างกว้างขวาง
อัยการชี้ให้เห็นอีกว่า การดำเนินนโยบายจำนำข้าวของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ที่กำหนดราคารับจำนำสูงเกินกว่าตลาดประมาณ 50-60% จึงถือเป็นการกำหนดนโยบายที่ผิดผลาด แต่รูปการเสมือนหนึ่งเป็นการที่รัฐซื้อข้าวจากชาวนาโดยเป็นผู้ผูกขาดข้าวรายใหญ่เสียเอง โดยการเอาข้าวส่วนใหญ่ในตลาดทั้งหมดมาครอบครอง ดังจะเห็นได้จากผลวิจัยของ ม.หอการค้าไทย และหอการค้าไทย
ดังนั้นการที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ต่อสู้ว่านโยบายแบบนี้ได้ทำกันมา 30 กว่าปีแล้ว จึงเป็นการต่อสู้ที่ปราศจากการตรวจสอบข้อเท็จจริงให้ถ้วนถี่ เพราะที่ผ่านมาส่วนใหญ่รัฐบาลจะรับจำนำไม่เกิน 60-70% ของราคาตลาด มีแต่ปี 2546 สมัยรัฐบาลนายทักษิณ เป็นนายกรัฐมนตรี ที่ยกราคารับจำนำเกินกว่าราคาตลาดมาก เพียงแต่ได้จำกัดวงเงินไว้เท่านั้น
นโยบายเหล่านี้ทำให้จำเลยได้อำนาจรัฐมาโดยง่าย ใช้นโยบายประชานิยมที่ง่ายต่อการได้ประโยชน์ เป็นเพียงนโยบายที่มุ่งหมายจะเอาชนะเลือกตั้งเท่านั้น การใช้นโยบายรับจำนำข้าวเปลือกเกวียนละ 15,000-20,000 บาท คงไม่มีชาวนาคนใดไม่เห็นชอบที่จะสามารถขายข้าวได้ราคาสูงกว่าท้องตลาดถึง 50-60%
แม้ประเด็นนี้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ พยายามต่อสู้ว่า นโยบายดังกล่าวได้ผ่านการศึกษาวิจัยมาอย่างเป็นระบบก่อนนำมาใช้ประกาศนโยบายหาเสียง แต่ตามทางนำสืบไม่ปรากฏว่า จำเลยมีเอกสารหลักฐานที่ได้ผ่านการศึกษาวิจัยที่น่าเชื่อถืออย่างเป็นระบบ ขณะเดียวกันที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ อ้างพยานหลายปากเกี่ยวกับนักวิชาการมาเบิกความในประเด็นนี้ว่า เป็นนโยบายที่คุ้มค่าแล้ว ก็เป็นการมองประเด็นมุมเดียว แต่ในมุมอื่นที่สำคัญกว่าหรือไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน หาได้มีความกลางที่จะวิเคราะห์วิจารณ์ไม่ ทั้งเป็นการเบิกความเลื่อนลอย ไม่มีพยานหลักฐานที่จับต้องได้เป็นรูปธรรม
ประกอบกับเมื่อวันที่ 23 ต.ค. 2555 นายทักษิณ ให้สัมภาษณ์กับนิตยสารฟอร์บ (Forbes) ทำนองว่า เป็นคนคิดนโยบายนี้ขึ้นเอง กรณีจึงฟังเป็นอย่างอื่นไม่ได้ นอกจากต้องฟังว่า นายทักษิณเป็นคนคิดนโยบายนี้แต่เพียงผู้เดียวโดยปราศจาการศึกษาวิจัยที่น่าเชื่อถือมารองรับ และโดยเนื้อแท้แล้วเสมือนหนึ่งการคิดนโยบายหาเสียงเพื่อชนะเลือกตั้งเท่านั้น โดยหาเสียงกับชาวนาที่มีประมาณ 3.7-4 ล้านครัวเรือน ย่อมได้เสียงมากเป็นธรรมดา พอมีปัญหาค่อยหาเหตุผลข้อเท็จจริงมาสนับสนุนในภายหลัง และเมื่อนำสโลแกนหาเสียงของพรรคเพื่อไทยที่ว่า ‘ทักษิณคิด เพื่อไทยทำ’ มาประกอบด้วยแล้ว ก็หามีความสงสัยในประเด็นนี้อีกไม่ เพราะกรรมเป็นเครื่องชี้เจตนาชัดแจ้งอยู่ในตัวว่า นโยบายจำนำข้าวนี้ มาจากนายทักษิณ ที่ยังคงมีอิทธิพลครอบงำพรรคเพื่อไทย ตามที่พรรคฝ่ายค้าน เช่น พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวอ้างในการอภิปรายไม่ไว้วางใจ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ในสภาผู้แทนราษฎร
ดังนั้นข้ออ้างของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ทำนองว่า นโยบายนี้ได้ผ่านการศึกษาวิจัยมาอย่างรอบด้านก่อนที่จะใช้หาเสียงเลือกตั้ง จึงเป็นข้อกล่าวอ้างที่เลื่อนลอย ไม่มีเหตุผลและพยานหลักฐานสนับสนุนเพียงพอ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ และพรรคเพื่อไทยได้กำหนดนโยบายนี้มาเพื่อหวังชนะเลือกตั้ง เพื่อได้เสียงจากชาวนาซึ่งมีประมาณ 3-4 ล้านครัวเรือน และเพื่อนำข้าวในตลาดทั้งหมดเข้ามาในความครอบครองของรัฐบาลเท่านั้น น.ส.ยิ่งลักษณ์ และรัฐบาล หาได้ใส่ใจต่อระบบการจำนำข้าวที่แท้จริง และการช่วยเหลือชาวนาอย่างยั่งยืนไม่
อ่านประกอบ :
ไม่ส่งศาล รธน.ตีความ!พิพากษาคดีข้าว‘ยิ่งลักษณ์’-พร้อมจีทูจี'บุญทรง' 25 ส.ค.นี้
ย้อนมหากาพย์จำนำข้าว(1):จากนโยบายช่วยชาวนาจนนายกฯถูกฟ้อง ทำขาดทุน-ชาติเสียหาย?
ย้อนมหากาพย์จำนำข้าว(2):อภิปรายจีทูจีฉาว-ป.ป.ช.ยกเหตุสอบเดี่ยว จุดตาย‘ยิ่งลักษณ์’?
ยกคำกล่าว'สัญญา ธรรมศักดิ์'แจงศาล! แถลงปิดคดีข้าว‘ปู’ฉบับเต็ม “ดิฉันไม่ได้ทำอะไรผิด"
ร่ำไห้กลางศาล!‘ปู’ครวญตกเป็นเหยื่อการเมือง-ขอตัดสินเป็นธรรมไม่ฟังคำชี้นำใคร
แม้ยุ่งยากแต่ขอโปรดเมตตา!‘ปู’ยื่นซ้ำรอบ3ขอศาลฎีกาฯส่งศาล รธน.ตีความคดีข้าว
หมายเหตุ : ภาพประกอบจาก oknation