ย้อนมหากาพย์จำนำข้าว(1):จากนโยบายช่วยชาวนาจนนายกฯถูกฟ้อง ทำขาดทุน-ชาติเสียหาย?
“…หนังสือทั้ง 3 ฉบับดังกล่าว บรรยายและชี้ให้เป็นถึงสภาพปัญหา และความเสี่ยงในการดำเนินโครงการรับจำนำข้าว รวมถึงอาจเกิดการขาดทุนอันมหาศาล และทำให้เกิดความเสียหายต่อเงินแผ่นดินได้ … แต่รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ก็ยังยืนยันจุดยืนเหมือนเดิมคือ ไม่สามารถยกเลิกโครงการได้ เนื่องจากเป็นนโยบายที่แถลงต่อรัฐสภา หากยกเลิกอาจขัดต่อกฎหมายได้…”
ปฏิเสธไม่ได้ว่า เดือน ส.ค. 2560 เป็นเดือนที่อุณหภูมิทางการเมืองร้อนแรงที่สุดในรอบปี 2560 เนื่องจากเป็นเดือนที่เข้าสู่ช่วง ‘โค้งสุดท้าย’ ในการตัดสินคดีความที่มี ‘บิ๊กนักการเมือง-คนดัง’ เรียงคิวรอฟังคำพิพากษาจากศาลจำนวนหลายราย
อย่างไรก็ดีมีอย่างน้อยสองคดีที่ทุกองคาพยพในสังคมใจจดใจจ่อเป็นอย่างมาก คือ คดีไม่ระงับยับยั้งความเสียหายในโครงการรับจำนำข้าว และคดีไม่ระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) ที่มีนักการเมืองคนสำคัญถูกกล่าวหา โดยศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองนัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 25 ส.ค. 2560 พร้อมกันทั้งสองคดี
โดยเฉพาะคดีไม่ระงับยับยั้งความเสียหายในโครงการรับจำนำข้าว ที่ชื่อผู้ถูกกล่าวหาคือ ‘ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร’ ทายาทสายตรงของ ‘ทักษิณ ชินวัตร’ อดีตนายกรัฐมนตรีผู้มากบารมีและอื้อฉาวที่สุดคนหนึ่งในประวัติศาสตร์การเมืองไทย
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ย้อนรอยที่มาที่ไปของ ‘โครงการรับจำนำข้าว’ นโยบายสาธารณะที่อาจเรียกได้ว่าเป็นนโยบายเดียวที่ส่งผลสะเทือนทำให้รัฐบาล ‘นารีขี่ม้าขาว’ ต้องล้มลุกคลุกคลาน กระทั่งถูกรัฐประหารเมื่อปี 2557 จนถึงขั้นทำให้นายกรัฐมนตรี (น.ส.ยิ่งลักษณ์) ต้องถูกฟ้อง
ภายหลังรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ยุบสภาช่วงกลางปี 2554 พรรคเพื่อไทยที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นเครือข่ายของนายทักษิณ ชินวัตร ได้เดินสายหาเสียงเพื่อเตรียมลงเลือกตั้งให้ได้กลับมาเป็นรัฐบาลอีกครั้ง หลังจากร้างลาต้องเป็นฝ่ายค้านนานกว่า 2 ปีเศษ
ชูนโยบาย ‘ทักษิณคิด เพื่อไทยทำ’ ดึงตัว ‘ยิ่งลักษณ์’ นักธุรกิจไฟแรง น้องสาวคนสุดท้องของตระกูล ‘ชินวัตร’ มาตบแต่งให้เตรียมนั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรี
แล้วพรรคเพื่อไทยก็ทำสำเร็จ โดย น.ส.ยิ่งลักษณ์ ใช้ระยะเวลาหาเสียงเพียง 49 วัน สามารถก้าวสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 28 และถือว่าเป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของประวัติศาสตร์การเมืองไทย
เหตุผลหลักที่ทำให้ประชาชนเสียงส่วนมากเลือกเธอเข้ามา นอกเหนือจากบารมีของตระกูล ‘ชินวัตร’ ที่ครอบคลุมเกือบทั้งภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคเหนือแล้ว เรื่องนโยบายก็เป็นประเด็นสำคัญที่ทำให้พรรคเพื่อไทยได้รับชัยชนะเสียงข้างมาก
โดยเฉพาะการชูนโยบาย ‘โครงการรับจำนำข้าว เกวียนละ 15,000 บาท’ นัยว่าเพื่อช่วยเหลือ ‘ชาวนา’ ที่ถือเป็นกระดูกสันหลังของชาติให้ได้ลืมตาอ้าปากขึ้นมาอีกครั้ง หลังถูกเมินจากภาครัฐในช่วงหลายปีที่ผ่านมา
ในการแถลงนโยบายต่อรัฐสภา น.ส.ยิ่งลักษณ์ ช่วงวันที่ 23-24 ส.ค. 2554 ระบุถึงสภาพปัญหาทางเศรษฐกิจไทยที่ยังไม่เข้มแข็ง และประชาชนระดับฐานรากยังมีรายได้น้อย และขาดโอกาสในการเพิ่มรายได้ ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในสาขาเกษตรกร ทำให้ไม่มีกำลังมากพอเติบโตเป็นชนชั้นกลางที่เข้าถึงการบริโภคได้
น.ส.ยิ่งลักษณ์ แถลงถึงนโยบายเร่งด่วนที่ต้องเริ่มทำในช่วงปีแรก หนึ่งในนั้นคือโครงการรับจำนำข้าว เพื่อยกระดับสินค้าเกษตรและให้เกษตรกรเข้าถึงแหล่งเงินทุน โดยดูแลราคาสินค้าเกษตรให้มีเสถียรภาพที่เหมาะสม คำนึงถึงกลไกราคาตลาดโลก โดยใช้วิธีบริหารจัดการทางการตลาด และกลไกตลาดซื้อขายล่วงหน้า รวมทั้งผลักดันให้เกษตรกรสามารถขายสินค้าเกษตรได้ในราคาสูงเพียงพอเมื่อเทียบกับต้นทุนเริ่มต้นจากการรับจำนำข้าวเปลือกเจ้า และข้าวเปลือกหอมมะลิความชื้นไม่เกินร้อยละ 15 ที่ราคาเกวียนละ 15,000 บาท ละ 20,000 บาทตามลำดับ (อ่านเอกสารคำแถลงนโยบายต่อรัฐสภาของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ฉบับเต็ม ที่นี่)
อย่างไรก็ดีภายหลังการแถลงนโยบายต่อรัฐสภาดังกล่าว ในช่วงปี 2554-2555 ซึ่งเป็นช่วงเริ่มต้นของนโยบายรับจำนำข้าว สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้ทำหนังสือด่วนที่สุดถึง น.ส.ยิ่งลักษณ์ เบื้องต้น 3 ฉบับ (ที่มีการเผยแพร่ต่อสาธารณชน) ได้แก่
1.หนังสือสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ด่วนที่สุด ลงวันที่ 24 ส.ค. 2554 เรื่องสรุปประเด็นปัญหาและความเสี่ยงสำคัญ ที่พบจากการตรวจสอบการดำเนินงานโครงการรับจำนำข้าวเปลือก
2.หนังสือสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ด่วนที่สุด ลงวันที่ 9 ม.ค. 2555 เรื่อง ปัญหาและความเสี่ยงสำคัญที่จะส่งผลกระทบ ให้เกิดความเสียหายต่อการดำเนินโครงการรับจำนำข้าว
3.หนังสือสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ด่วนที่สุด ลงวันที่ 10 ก.ย. 2555 เรื่อง ปัญหาและความเสี่ยงสำคัญ ที่จะส่งผลกระทบให้เกิดความเสียหายต่อการดำเนินโครงการรับจำนำข้าวเปลือก
โดยหนังสือทั้ง 3 ฉบับดังกล่าว บรรยายและชี้ให้เป็นถึงสภาพปัญหา และความเสี่ยงในการดำเนินโครงการรับจำนำข้าว รวมถึงอาจเกิดการขาดทุนอันมหาศาล และทำให้เกิดความเสียหายต่อเงินแผ่นดินได้
อย่างไรก็ดีในช่วงเวลาดังกล่าวรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ยืนยันต่อ สตง. และสังคมมาโดยตลอดว่า โครงการรับจำนำข้าวคือนโยบายช่วยเหลือชาวนา และเป็นนโยบายที่แถลงต่อรัฐสภาไปแล้ว ไม่สามารถยกเลิกได้ นอกจากนี้ประเด็นเรื่องการขาดทุนต่าง ๆ ไม่สามารถนำมาคำนวณกับประโยชน์ที่ชาวนาได้รับได้ เนื่องจากนโยบายสาธารณะเกิดขึ้นเพื่อช่วยเหลือประชาชน ไม่ควรนำมาคิดผลกำไรหรือขาดทุน
หลังจากนั้นช่วงต้นปี 2557 สตง. ได้ทำหนังสือถึง น.ส.ยิ่งลักษณ์ และนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ และ รมว.คลัง (ขณะนั้น) อย่างน้อย 2 ฉบับ ได้แก่
1.หนังสือสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (ถึง น.ส.ยิ่งลักษณ์) ด่วนที่สุด ลงวันที่ 30 ม.ค. 2557 เรื่อง การตรวจสอบและศึกษาวิเคราะห์โครงการรับจำนำข้าวเปลือกของรัฐบาล และรายงานการตรวจสอบและศึกษาวิเคราะห์โครงการรับจำนำข้าวเปลือกของรัฐบาลฉบับเต็ม
2.หนังสือสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (ถึงนายกิตติรัตน์) ด่วนที่สุด ลงวันที่ 31 ม.ค. 2557 เรื่อง การตรวจสอบโครงการรับจำนำข้าวเปลือกรัฐบาล
โดยระบุสาระสำคัญคือ ให้ปฏิบัติตามกฏหมายอย่างเคร่งครัดในการจัดหาแหล่งเงินกู้เพื่อนำมาใช้ในโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาล
“ไม่ว่าจะจัดหาเงินกู้จากแหล่งใด จะต้องดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง ไม่ขัดหรือแย้งต่อบัญญัติของรัฐธรรมนูญฯ ตลอดจนขั้นตอนการดำเนินงานที่กำหนดไว้อย่างถูกต้องโดยเคร่งครัด และรอบคอบเพราะหากการดำเนินการดังกล่าวเข้าสู่การวินิจฉัยชี้ขาดโดยองค์กรที่มีอำนาจหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญแล้วปรากฏว่าการดำเนินการไม่ถูกต้อง ผู้อนุมัติและผู้ที่เกี่ยวข้องจะต้องรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้น” หนังสือ สตง. ระบุ (อ่านประกอบ : "สตง." โชว์เต็มๆ หนังสือ 5 ฉบับเตือน"ยิ่งลักษณ์-กิตติรัตน์" คดีจำนำข้าว)
แต่รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ก็ยังยืนยันจุดยืนเหมือนเดิมคือ ไม่สามารถยกเลิกโครงการได้ เนื่องจากเป็นนโยบายที่แถลงต่อรัฐสภา หากยกเลิกอาจขัดต่อกฎหมายได้ ที่สำคัญได้พยายามปรับลดวงเงินลงแล้วเพื่อป้องกันไม่ให้เกินวงเงินงบประมาณที่วางไว้
นี่ยังไม่นับหนังสือที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เรียนถึง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ขอให้ตรวจสอบพฤติการณ์ความไม่ชอบมาพากลในโครงการรับจำนำข้าว ซึ่งเป็นผลไปถึงการทุจริตในโครงการระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) ด้วย ?
ส่วนหนังสือของ ป.ป.ช. จะระบุปัญหาและความไม่ชอบมาพากลอะไรบ้าง จนนำไปสู่การตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวน และชี้มูลความผิด น.ส.ยิ่งลักษณ์ จนเป็นชนวนเหตุให้ต่อสู้คดีในชั้นศาลฎีกาฯ โปรดติดตามตอนต่อไป
อ่านประกอบ :
ยกคำกล่าว'สัญญา ธรรมศักดิ์'แจงศาล! แถลงปิดคดีข้าว‘ปู’ฉบับเต็ม “ดิฉันไม่ได้ทำอะไรผิด"
ร่ำไห้กลางศาล!‘ปู’ครวญตกเป็นเหยื่อการเมือง-ขอตัดสินเป็นธรรมไม่ฟังคำชี้นำใคร
แม้ยุ่งยากแต่ขอโปรดเมตตา!‘ปู’ยื่นซ้ำรอบ3ขอศาลฎีกาฯส่งศาล รธน.ตีความคดีข้าว
ไม่ส่งศาล รธน.ตีความ!พิพากษาคดีข้าว‘ยิ่งลักษณ์’-พร้อมจีทูจี'บุญทรง' 25 ส.ค.นี้
ล้วงเหตุผล! ทำไม‘ปู’ต้องยื่นศาลฎีกาฯส่งศาล รธน.ตีความคดีข้าว ก่อนอัยการค้าน
แค่ประวิงเวลา!อัยการยื่นศาลฎีกาฯค้านคำร้อง‘ปู’ส่งศาล รธน.ตีความคดีข้าว-ทนายยื่นซ้ำ
หมายเหตุ : ภาพประกอบ น.ส.ยิ่งลักษณ์ จาก pantip