สนข. เปิดฟังความเห็นร่างแผนแม่บท ตั้งเป้าลดการตายบนถนนเหลือศูนย์ในปี2600
สนข. ระดมความเห็นร่างแผนแม่บท จัดการปัญหาอุบัติเหตุบนถนนไทย ตั้งเป้า ลดการเสียชีวิตเป็นศูนย์ภายในปี 2600 เผยที่ผ่านมา 4 จังหวัดนำร่องถนนปลอดภัยประสบความสำเร็จ เตรียมใช้เพิ่มอีก2 แห่ง
เมื่อวันที่ 7 ส.ค. 60 ที่ โรงแรม สวิสโซเทล เลอ คองคอร์ด กรุงเทพฯ สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร กระทรวงคมนาคมจัดการประชุมรับฟังความคิดเห็น ในโครงการศึกษาจัดทำแผนปฏิบัติการเพื่อการลดอุบัติเหตุทางถนน
นายธีระพงษ์ รอดประเสริฐ ผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า ปัจจุบันปัญหาอุบัติเหตุทางถนนได้ยกเป็นวาระแห่งชาติซึ่งประกาศให้ปี 2554-2563 เป็นทศวรรษแห่งความปลอดภัยทางถนน ซึ่งจากรายงานขององค์การอนามัยโลกระบุว่า ในปี 2015 ไทยมีจำนวนผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนสูงเป็นอันดับ 2 ของโลก หรือคิดเป็น 36.2 คนต่อแสนประชากรโดยประมาณมูลค่าความสูญเสียทางเศรษฐกิจในปี 2016 สูงถึง 500,000 ล้านบาทต่อปี หรือคิดเป็นร้อยละ 3 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ภาครัฐจึงต้องให้ความสำคัญและแนวทางนำเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพเข้ามาจัดการ พร้อมทั้งบูรณาการและสร้างความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการจัดทำแผนปฏิบัติการเพื่อลดอุบัติเหตุทางถนนที่ใช้ร่วมกัน เพื่อเป็นกรอบการดำเนินงานแก่หน่วยงานในสังกัดและภาคีส่วนที่เกี่ยวข้องและให้ถือปฏิบัติเป็นไปในทิศทางเดียวกันและสามารถแก้ปัญหาได้อย่างยั่งยืน
“ ที่ผ่านมากระทรวงคมนาคมได้ดำเนินการนำร่องถนนปลอดภัย 4 จังหวัด ได้แก่ สุพรรณบุรี ขอนแก่น เพชรบูรณ์ อุตรดิตถ์ ซึ่งหลังจากได้นำไปปฏิบัติพบว่าจำนวนอุบัติเหตุลดลง โดยต่อไปจะขยายไปยังจังหวัดนนทบุรี และสมุทรปราการ ส่วนเส้นทางบางปะอิน ถึงชัยนาท จะทำภายใต้แผนปฏิบัติการโดยความร่วมมือไทย-ญี่ปุ่นภายในปี 2561นี้ ในการขับเคลื่อนถนนปลอดภัย ยานพาหนะปลอดภัย” นายธีระพงษ์ กล่าวและว่า แผนงานดังกล่าวเป็นไปตามแนวทางของสหประชาชาติ อันได้แก่ เสาหลักที่ 2 คือถนนและการสัญจรปลอดภัย เสาหลักที่ 3 ยานพาหนะปลอดภัย และเสาหลักที่ 4 คือผู้ใช้รถอย่างปลอดภัย ซึ่งเป็นหน้าที่ของกระทรวงในการดูเเล
ด้านดร.สุเมธ องกิตติกุล ผู้อำนวยการวิจัยด้านนโยบายขนส่งและโลจิสติกส์ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(ทีดีอาร์ไอ) กล่าวถึงเป้าหมายสำคัญของแผนแม่บทดังกล่าวคือการสร้างระบบการสัญจรที่ปราศจากการเสียชีวิต หรือการลดอัตราการเสียชีวิต จากอุบัติเหตุทางถนนให้เท่ากับศูนย์ในปี พ.ศ.2600 โดยครอบคลุมการจัดการด้านถนน ยานพาหนะ และผู้ใช้รถ ตามยุทธศาสตร์ 5 เสาหลักขององค์การสหประชาชาติ อันได้แก่ การบริหารจัดการความปลอดภัยทางถนนและการสัญจรอย่างปลอดภัย ยานพาหนะปลอดภัย ผู้ใช้รถใช้ถนนอย่างปลอดภัย และการตอบสนองหลังเกิดอุบัติเหตุ โดยมาตรการสำคัญได้แก่ การจัดตั้งหน่วยงานกลางเพื่อดูเเลงานด้านความปลอดภัยทางถนน ปรัปรุงระบบฐานข้อมูลด้านอุบัติเหตุให้มีมาตรฐาน และส่งเสริมการสืบค้นอุบัติเหตุเชิงลึกเพื่อหาแนวทางแก้ไขอุบัติเหตุในระยะยาว
ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า การศึกษาจัดทำแผนปฏิบัติการเพื่อลดอุบัติเหตุทางถนน ขณะนี้อยู่ระหว่าง สนข. จัดทำร่างรายงานฉบับสุดท้าย และได้มีการประชุมรับฟังความเห็นมาเเล้ว 2 ครั้ง ครั้งนี้ถือเป็นครั้งที่ 3 โดยเป้าหมายหลักเพื่อให้ประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มีส่วนร่วมในการออกแบบ และรับทราบถึงสถานการณ์อุบัติเหตุทางถนนของประเทศไทย ซึ่งการรับฟังครั้งนี้จะนำไปสู่การจัดทำแผนแม่บทและแผนปฏิบัติการเพื่อลดอุบัติเหตุทางถนนของกระทรวงคมนาคมต่อไป โดยแผนแม่บทดังกล่าวจะมีระยะเวลาสิบปี นอกจากนี้ทาง สนข.จะออกแผนปฏิบัติงานระยะเวลา 3ปี (ระหว่างปี2561-2563)
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ขับเร็วต้นตออุบัติเหตุบนถนนไทย ปี58 พบจับกว่า8 แสนราย
คนไทยขับเร็ว ตายเยอะ นักวิชาการแนะเขตเมืองวิ่งไม่เกิน 60 กม./ชม.
คนกรุงขับเร็วเกินกม.กำหนดกว่า 4 พันคดี มูลนิธิป้องกันอุบัติเหตุฯ พบนครบาล2สูงสุด
ผอ.เนคเทค เปิดข้อมูล SafeMate พบภาคเหนือขับเร็วสุด 198 กม./ชม.ทั้งที่สภาพถนนไม่เอื้อ
นักวิชาการชี้สถิติอุบัติเหตุไม่ใช่นับแค่ตาย-บาดเจ็บ ต้องลงลึกถึงสาเหตุ ปัจจัยเสี่ยง