นักวิชาการชี้สถิติอุบัติเหตุไม่ใช่นับแค่ตาย-บาดเจ็บ ต้องลงลึกถึงสาเหตุ ปัจจัยเสี่ยง
นักวิชาการ ชี้รายงานสถิติอุบัติเหตุไม่ใช่แค่จำนวนคนตาย บาดเจ็บ แต่ต้องลงลึกระดับปัจจัยเสี่ยงต่อพื้นที่ ขณะที่โจทย์ใหญ่ของรัฐคือการทลายความไม่เชื่อมกันระหว่างหน่วยงาน แนะสร้างมาตรฐานข้อมูลชุดเดียว
รศ.ดร.เอกชัย สุมาลี ผู้อำนวยการศูนย์ Smart Cities Research Center (SCRC) สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา(www.isranews.org) ถึงกรณีการเก็บและรายงานสถิติอุบัติเหตุช่วงเทศกาลว่า รายละเอียดของข้อมูลที่เกิดขึ้น บ้านเรายังไม่มีการทำลักษณะของฐานข้อมูลอุบัติเหตุที่สามารถนำมา วิเคราะห์ถึงต้นเหตุเพื่อนำไปสู่การจัดการด้านนโยบายได้ ส่วนใหญ่เราจะบอกว่า เพราะเมา มีรถชนกี่คันอย่างช่วงสงกรานต์ปีที่เเล้ว ช่วงกลางวันจุดไหนที่คนเริ่มเหนื่อยล้า จุดไหนที่คนทำความเร็ว ซึ่งจะมีประโยชน์มากกว่ารายงานว่า จังหวัดนี้มีใครตายกี่คน เพราะบางจังหวัดเป็นจังหวัดทางผ่าน สถิติอุบัติเหตุก็แปรผันตรงกับการจราจร
รศ.ดร.เอกชัย กล่าวถึงปัญหาสำคัญคือรูปแบบการเก็บข้อมูลของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เป็นคนละอย่างกัน อีกตัวหนึ่งคือลักษณะของการ Under report หรือข้อมูลที่ตกหล่น เพราะเอาเข้าจริง อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นจะเก็บข้อมูลโดยหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งในส่วนของกระทรวงคมนาคม กระทรวงสาธารณสุข กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย(ปภ.) บางที่ยังมีหน่วยงานท้องถิ่นอีก
"เราไม่มีทางมีข้อมูลกลางที่เชื่อมสถิติพวกนี้เข้าด้วยกัน จะมีตัวเลขที่ under report มาก บางจังหวัดคนที่เข้าไปถึงจุดเกิดเหตุเร็วสุดคือ กู้ภัย ไม่มีการเก็บข้อมูลปริมาณอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นจริง บางครั้ง เราคิดว่า บางกรณีไม่ต้องบันทึกเอาไว้ ยกตัวอย่างเช่น โรงพยาบาลเก็บข้อมูลอุบัติเหตุที่บ่งชื้ถึงความรุนแรงได้ตรงกว่า เพราะบางครั้งเราบอกว่า จังหวัดนี้ตาย 20 ศพ คำว่าตาย คือตาย ณ จุดเกิดเหตุ แต่มีกรณีที่เข้าไปรักษาตัวในโรงพยาบาลแล้วหลังจากนั้นอีก 15 วันเสียชีวิต กรณีพวกนี้ก็จะไม่ได้ถูกรายงาน หรือบันทึกเข้าไปอย่างจังหวัดที่มีการใช้รถจักรยานยนต์เยอะ ก็จะมีปริมาณจำนวนคนตายสูงกว่า เป็นต้น"
รศ.ดร.เอกชัย กล่าวว่า กรณีต่างประเทศมีการใช้ข้อมูลเพื่อบ่งบอกถึงความเสี่ยงหรือในแง่ของอันตรายของถนนหรือพื้นที่ จะเทียบต่ออัตราปริมาณจราจร อย่างเช่นถนนเส้นหนึ่งมีรถวิ่งหมื่นคัน แล้วปริมาณรวมของรถที่วิ่งจนกระทั่งเกิดอุบัติเหตุมีเท่าไหร่ ซึ่งสามารถบอกได้ต่อคัน เช่น 0.01% ต่อ รถหมื่นคัน เราเรียกว่า Accident rate จะเป็นสถิติที่บ่งชี้เปรียบเทียบสัดส่วน ซึ่งบางครั้งเขาประเมินถึงขั้นว่าไม่ใช่ค่าเฉลี่ยของอุบัติเหตุต่อรถ แต่เป็นเปอร์เซ็นของความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุต่อกิโลเมตร
"ยกตัวอย่าง บางจังหวัด รถใช้เยอะ แต่เขาขับช่วงสั้นๆ แต่อีกเมืองหนึ่งขับในระยะทางที่ยาวกว่า เพราะฉะนั้น ปริมาณของการเคลื่อนที่ที่สามารถเกิดได้มีเยอะกว่า นี่คือตัวเลขเชิงสถิติที่บ่งบอกในนัยยะสำคัญกว่า” รศ.ดร.เอกชัย กล่าว และว่า สิ่งที่ควรจะดำเนินการในขั้นตอนต่อไป คือ การลงรายละเอียด การเก็บข้อมูลในรูปแบบเดียวกันทุกหน่วยงาน มีการบูรณาการข้อมูล เอามาวิเคราะห์ในเชิงต้นเหตุของปัญหา เพื่อจะนำมาซึ่งนโยบายที่สอดคล้องกับปัญหา เช่นงานวิจัยที่ผ่านมา ก็ระบุว่า เหตุเสียชีวิตหลักมาจากช่วงหลังเที่ยงคืน และจักรยานยนต์ คือ อันดับแรก สาเหตุคือเมา เป็นต้น
รศ.ดร.เอกชัย กล่าวด้วยว่า โจทย์ใหญ่ของรัฐคือ คือการทลายความไม่เชื่อมต่อกันของหน่วยงานภาครัฐ เวลาทำงานก็มีข้อจำกัดมิหนำซ้ำยังไม่มีหน่วยงานกลางที่จะรับหน้าที่ในการจัดทำมาตรฐานรูปแบบการจัดเก็บข้อมูล และหากคิดจะทำ ก็ต้องไม่ใช่มาทำแค่ช่วงเทศกาล แต่ควรเป็นรูปแบบการทำงานที่ทำทั้งปี ต้องถือว่า เป็นความท้าทายในการบริหารจัดการภาครัฐ
“บางครั้งเราไปชี้เฉพาะประเด็นใหญ่ เช่น ไปจับจุดใดจุดหนึ่งอย่างรถตู้ แต่ถ้าดูในแง่ความเสี่ยงในเชิงสถิติ รถพวกนี้ยังต่ำกว่า แต่เวลาเกิดเหตุแต่ละครั้งจะเกิดการสูญเสียมาก ทั้งนี้ ต้องยอมรับว่า มีปัจจัยเหนือน้ำอย่างเรื่องความเร็ว ถึงไม่มีอุบัติเหตุใหญ่เกิดเราก็ควรมีการกำหนด แต่รถจักรยานยนต์ซึ่งมีสถิติเกิดอุบัติเหตุสูงสุด กลับไม่โฟกัสเรื่องนั้น การที่มองภาพใหญ่มีประโยชน์ในแง่การกระตุ้นเร้าความเสี่ยง แต่นโยบายบางครั้งเราก็เกาไม่ตรงจุด"
หมายเหตุ: ภาพประกอบจาก http://nwnt.prd.go.th/